อานิสงส์บูชาสิ่งแทนพระพุทธองค์


"ดูกรอานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งเหล่านี้ เป็นสถานที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา
สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน...
ดูกรอานนท์ ชนเหล่าใดจาริกไปยังเจดียสถานทั้ง ๔ แห่งนี้ มีจิตเลื่อมใสแล้ว
ครั้นทำกาละลง ชนเหล่านั้นทั้งหมดจักเข้าถึงสคติโลกสวรรค์"

(มหาปรินิพพานสูตร)

เราทราบกันดีว่า ไม่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมีพระชนม์ชีพอยู่หรือเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วก็ตาม หากบุคคลมีจิตเลื่อมใสเสมอเหมือนกับพระองค์ยังมีพระชนม์อยู่ ผลนั้นไม่แตกต่างกัน เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีอานุภาพอันไม่มีประมาณ ดังนั้น ก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธองค์จึงตรัสบอกถึงสถานที่ที่ควรเคารพบูชาและเป็นทางมาแห่งมหากุศล ซึ่งในปัจจุบันนี้มีปรากฏอยู่ที่ประเทศอินเดียและเนปาล สาธุชนจากต่างประเทศทั่วโลกผู้เลื่อมใสในพระพุทธองค์บ้างก็ไปเดินทางไปแสวงบุญกัน เพื่อสักการบูชาสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง บ้างก็ไปสวดมนต์นั่งสมาธิ บ้างก็ไปเดินเวียนประทักษิณ เพื่อระลึกนึกถึงพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณของพระบรมศาสดา

ในสมัยพุทธกาล พระบรมศาสดาได้เสด็จไปตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อสงเคราะห์เหล่าเวไนยสัตว์ ชาวกรุงสาวัตถีต่างก็ถือของหอมระเบียบดอกไม้ไปที่วัดพระเชตวันเพื่อนอบน้อมพระพุทธองค์ แต่เมื่อไม่มีโอกาสกราบสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็พากันนำเครื่องสักการะไปวางไว้ที่ประตูพระคันธกุฎี

อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้นำเรื่องนี้ไปบอกเล่าพระอานนท์ให้ช่วยไปกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคไม่ได้ประทับอยู่ที่พระวิหาร สาธุชนจะบูชาพระองค์ได้อย่างไรบ้าง พระบรมศาสดาทรงแนะนำให้บูชาพระเจดีย์ซึ่งมี ๓ อย่าง คือ พระธาตุเจดีย์ หมายถึง เจดีย์ที่ใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ บริโภคเจดีย์ หมายถึง เจดีย์หรือสถานที่ที่บรรจุสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงเคยใช้สอย เช่น บาตร จีวร เครื่องอัฐบริขาร และ อุทเทสิกเจดีย์ หมายถึง เจดีย์ที่สร้างถวายแด่พระพุทธองค์ เช่น พระพุทธรูป รวมถึงต้นพระศรีมหาโพธิ์ด้วย

พระอานนท์ทูลถามว่า "เมื่อพระองค์เสด็จไปที่อื่น พุทธบริษัททั้ง ๔ จะสร้างเจดีย์ทั้ง ๓ นี้ เพื่อเป็นการเจริญพระพุทธคุณได้ไหมพระเจ้าข้า" พระพุทธองค์ทรงตอบว่า "สำหรับพระธาตุเจดีย์ยังไม่อาจทำได้ในตอนนี้ เพราะพระธาตุเจดีย์จะมีได้ในกาลที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ส่วนต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธองค์ทรงอาศัยเป็นที่ตรัสรู้ นับเข้าเป็นอุทเทสิกเจดีย์ สาธุชนสามารถกราบไหว้รำลึกถึงพระคุณและอานุภาพอันไม่มีประมาณของพระพุทธเจ้าได้"

เพราะฉะนั้น ในครั้งสมัยพุทธกาล พุทธศาสนิกชนจึงยังไม่ได้ทำการปั้นพระพุทธรูปหรือพุทธปฏิมากร เพราะทุกคนยังสามารถจดจำพระพักตร์อันผ่องใสหรือพระสุรเสียงอันไพเราะของพระพุทธองค์ในครั้งที่ทรงแสดงธรรมได้อยู่ ทั้งถ้อยคำและอากัปกิริยาที่ทรงแสดงออกมานั้นยังตราตรึงอยู่ในใจของพุทธบริษัททั้งหลาย จึงยังไม่คิดที่จะทำรูปเหมือนของพระพุทธองค์ขึ้นมา ถ้าไม่สามารถกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกายเนื้อได้ ก็นิยมบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์อันเป็นโพธิสถานแห่งการตรัสรู้ธรรม ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์

เพราะฉะนั้น พระอานนท์จึงขออนุญาตนำต้นโพธิ์มาปลูกไว้ที่วัดพระเชตวันเพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นได้รับพุทธานุญาตว่า "ดีแล้ว อานนท์ เธอจงปลูกเถิด เมื่อเป็นเช่นนั้นในวัดพระเชตวันก็จักเป็นดังพระตถาคตประทับอยู่เป็นนิจ" พระอานนท์จึงขอร้องให้พระมหาโมคคัลลานะไปนำเมล็ดโพธิ์มาจากโพธิสถานเพื่อปลูกถวายเป็นพุทธบูชาพระมหาโมคคัลลานะก็เหาะไปยังโพธิสถานโดยนำชายจีวรรองรับผลโพธิ์ที่สุก ซึ่งหล่นลงจากขั้ว แล้วนำมามอบให้พระอานนท์

พระอานนท์เถระได้นำบุญพิเศษนี้ไปบอกให้พระเจ้าปเสนทิโกศลและเจ้าภาพผู้อุปถัมภ์มาช่วยกันประกอบพิธีปลูกต้นโพธิ์ใกล้ประตูวัดพระเชตวัน พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จมาเป็นประธาน ฝ่ายอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาอุบาสิกาวิสาขา และผู้มีศรัทธาท่านอื่น ๆ ต่างพากันเดินทางมาร่วมปลูกต้นโพธิ์กันอย่างคับคั่ง

เมื่อถึงเวลาประกอบพิธี พระราชาทรงมอบหมายให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้แทนพระองค์ในการปลูก เศรษฐีได้รวบรวมเปือกตมที่มีกลิ่นหอมแล้วฝังเมล็ดโพธิ์ไว้ในเปือกตม พอเมล็ดโพธิ์พ้นจากมือท่านเศรษฐี เหตุอัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้น คือ สายตาทุกคู่ของมหาชนเห็นลำต้นโพธิ์ประมาณเท่างอนไถสูงห้าสิบศอกแตกกิ่งใหญ่ ๕ กิ่ง ยื่นออกไปในทิศทั้งสี่และทิศเบื้องบนกิ่งละ ๕๐ ศอก อีกทั้งยังเป็นต้นไม้ที่ใหญ่กว่าต้นไม้ทุกชนิดที่มีในวัดพระเชตวัน

พระราชารับสั่งให้นำหม้อทองคำและหม้อเงิน ๘๐๐ หม้อ ใส่น้ำหอมจนเต็ม ประดับด้วยดอกบัวเขียวสูงขึ้นมา ๑ ศอก ตั้งเป็นแถวล้อมรอบต้นมหาโพธิ์ แล้วรับสั่งให้ทำแท่นรัตนะ ๗ สร้างกำแพงล้อมรอบ ทำซุ้มประตูด้วยรัตนะ ๗ ชนิด จากนั้นมหาชนก็ทยอยกันมาสักการบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์กันมากมาย เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว มหาชนก็นำต้นโพธิ์ไปเพาะปลูกที่บ้านเกิดของตัวเอง มีการสืบทอดความเลื่อมใสมาถึงยุคปัจจุบันที่มีการสักการะโพธิ์พฤกษ์กันทั่วโลกด้วยจิตที่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะปรารภต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้นด้วยจิตที่เลื่อมใส เมื่อละโลกไปแล้วทำให้มีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไปกันมากมาย

หลังจากพุทธปรินิพพานได้ไม่นาน พุทธศาสนิกชนผู้มีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัย นอกจากมีการบูชาต้นโพธิ์แล้ว ยังพร้อมใจกันสร้างพระธาตุเจดีย์หรือพระสถูปเจดีย์ขึ้น เพื่อเป็นการสักการบูชาพระพุทธองค์ พระสถูปเจดีย์ที่สร้างในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้น ล้วนเป็นไปเพื่อให้บุคคลผู้มีศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเคารพสักการะ กราบไหว้บูชา จะได้เป็นทางมาแห่งมหากุศลอันยิ่งใหญ่ และถือว่าเป็นศูนย์รวมใจของพุทธศาสนิกชนอีกด้วย บ้านเมืองไหนมีพระสถูปเจดีย์ประดิษฐานอยู่ ความสงบร่มเย็นก็จะบังเกิดขึ้น เพราะพระเจดีย์เป็นสิ่งที่จะคอยยกใจให้สูงขึ้นจากอาสวกิเลส เป็นสิ่งเตือนใจไม่ให้คิด พูด ทำอกุศลทั้งหลาย

ความเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้านับเป็นสุดยอดของความเลื่อมใสทั้งมวล เพราะพระพุทธองค์ทรงมีอานุภาพไม่มีประมาณเมื่อบุคคลเลื่อมใสในวัตถุที่ควรเลื่อมใสซึ่งเป็นสิ่งแทนพระพุทธองค์ ผลบุญจึงส่งให้ไปสู่สุคติ ในยุคปัจจุบันนอกจากต้นพระศรีมหาโพธิ์แล้ว เรายังมีพระธาตุเจดีย์ซึ่งประดิษฐานอยู่ตามพุทธสถานต่าง ๆ หลายแห่งทั่วโลกรวมถึงเจดีย์ในประเทศไทยของเราก็มีอยู่ทั่วไป เมื่อสาธุชนไปกราบไหว้ด้วยจิตที่เลื่อมใส ก็จะได้อานิสงส์เหมือนกัน ดังพุทธพจน์ที่ว่า "ชนเหล่าใดเที่ยวจาริกไปยังเจดีย์ มีจิตเลื่อมใสในพระตถาคต ครั้นทำกาละแล้ว ชนเหล่านั้นทั้งหมดเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์"

ครั้งหนึ่งในชีวิตของความเป็นชาวพุทธ หากท่านใดมีเวลา เงินตรา ก็ควรหาโอกาสเดินทางไปแสวงบุญ ณ สังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรม และปรินิพพาน เพื่อเป็นการเจริญศรัทธาในพุทธคุณ ได้ไปสัมผัสดินแดนพุทธภูมิ สถานที่อุบัติขึ้นทั้งรูปกายและธรรมกายของพระพุทธเจ้า ส่วนท่านที่ยังไม่มีโอกาสไป ถ้าหากยามใดอยากกราบไหว้พระบรมศาสดา ก็ให้หมั่นตรึกระลึกถึงพระในตัวหรือไปกราบนมัสการพระเจดียสถานต่าง ๆ ในเมืองไทย หรือไปที่พระมหาธรรมกายเจดีย์ก็ได้ พร้อมกับสวดสรรเสริญพระพุทธคุณและเจริญพุทธานุสติ มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์นี้ก็เป็นทางมาแห่งบุญใหญ่ของเราเช่นกัน

Cr. พระมหาเสถียร สุวณฺณโต ป.ธ.๙
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์

วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๙ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙









คลิกอ่านอานิสงส์แห่งบุญของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามบทความด้านล่างนี้
อานิสงส์สร้างที่ปฏิบัติธรรม (ปีก่อนหน้า)
อานิสงส์การบูชาด้วยดอกบัว
อานิสงส์การจุดประทีป ถวายเป็นพุทธบูชา
อานิสงส์บูชาพระเจดีย์ทุกวัน
อานิสงส์การบูชาเจดีย์ด้วยดอกผักตบ
อานิสงส์บูชาพระรัตนตรัยด้วยรัตนชาติ
อานิสงส์บูชาเจดีย์ด้วยดอกบัว ๘ กำ
อานิสงส์บูชาสิ่งแทนพระพุทธองค์ อานิสงส์บูชาสิ่งแทนพระพุทธองค์ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 22:33 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.