กฐิน ผ้าป่า และอานิสงส์


กฐินและผ้าป่ามีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

ผ้าป่าเราใช้อีกคำหนึ่งว่า ผ้าบังสุกุลเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของ คือเป็นธรรมเนียมของสงฆ์ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลว่า ผ้าที่พระใช้ทำเป็นจีวรเอามาจากผ้าคลุกฝุ่น  บางครั้งเป็นผ้าห่อศพก็มี  ผ้าที่ไม่ใช้แล้วก็มี พูดง่าย ๆ คือเป็นผ้าที่เจ้าของเขาทิ้งแล้ว สละแล้ว พระภิกษุก็ไปเอาผ้านั้นมาซักและมาย้อมด้วยสีจากแก่นไม้ เช่น แก่นขนุน เป็นต้น เสร็จเรียบร้อยแล้วก็เอามาทำเป็นจีวร เวลาพระภิกษุไปชักผ้าป่าจะใช้คำว่า  อิทัง วัตถัง อัสสามิกัง ปังสุกุละจีวะรัง มัยหัง ปาปุณาติ ผ้าบังสุกุลจีวรอันไม่มีเจ้าของนี้  จงสำเร็จประโยชน์แก่ข้าพเจ้าในกาลบัดนี้

ปกติแต่เดิมจริง ๆ ผ้าป่าเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของเลย  แต่ตอนหลังเป็นผ้ามีเจ้าของที่เขาเอามาพาดไว้ ซึ่งเจ้าของเขาก็กล่าวคำถวายแล้วว่า  ขอถวายแด่คณะสงฆ์ แล้วเอาไปพาดไว้  ซึ่งต่างจากเวลาถวายของอย่างอื่นที่ใช้วิธีประเคน  แต่ผ้าป่าใช้วิธีพาด บางครั้งก็พาดที่ราวไม้ไผ่บ้าง พาดอยู่บนพานบ้าง แล้วพระภิกษุก็มาจับผ้า และกล่าวว่า  อิทัง วัตถัง สัสสามิกัง ปังสุกุละจีวะรัง มัยหัง ปาปุณาติ ผ้าบังสุกุลจีวรอันมีเจ้าของนี้ จงสำเร็จประโยชน์แก่ข้าพเจ้าในกาลบัดนี้ แล้วท่านก็ชักผ้าขึ้นมาพาดไว้ที่แขน เป็นการรักษาธรรมเนียมเดิม คือยังมีการชักผ้า  ฉะนั้นการถวายผ้าป่าจึงถวายได้ทั้งปี ไม่จำกัดเรื่องเวลา และถวายพระภิกษุรูปเดียวก็ได้ ถวายเมื่อไรก็ได้ นั่นคือผ้าป่า

แต่ถ้าเป็นกฐินไม่ใช่แบบนี้  การถวายผ้ากฐินเป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ถวายแก่พระภิกษุในวัดที่มีพระจำพรรษาครบ ๕ รูป ตลอดพรรษา ๓ เดือน และถวายได้ภายในเวลา ๑ เดือน นับตั้งแต่วันออกพรรษา คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ คือวันลอยกระทงนั่นเอง หมายความว่า พระภิกษุสามารถรับผ้ากฐินได้เฉพาะในเวลาหนึ่งเดือนนี้เท่านั้น ไม่สามารถรับทั้งปี การทอดกฐินจึงถือว่าเป็นกาลทาน  คือเป็นทานที่จำกัดด้วยเงื่อนไขของเวลา ไม่ได้ทำได้ตลอดเวลา แล้วยังทำได้เฉพาะกับพระภิกษุในวัดที่มีพระอยู่จำพรรษาตลอดพรรษา และครบ ๕ รูป ถ้าวัดไหนมีพระ ๓-๔ รูป ก็รับกฐินไม่ได้ แต่ถ้าเป็นการทอดผ้าป่าสามารถทำได้  นอกจากนี้วัดหนึ่งยังรับกฐินได้แค่ปีละครั้งเดียวเท่านั้น  แต่ผ้าป่าจะทอดกี่ครั้งก็ได้

กฐินและผ้าป่ามีพิธีกรรมและสิ่งของที่ถวายเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไรในแต่ละยุคสมัย?

ในแง่หลักการสำคัญก็ต้องคงเดิมเอาไว้  แต่รูปแบบพิธีการหรือข้าวของที่ถวายอาจจะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นบ้าง แต่หลักการของผ้าป่าเป็นอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

ส่วนรูปแบบของกฐินนั้นจะไม่ประเคนหรือประเคนก็ได้ แต่ต้องไปวางไว้ที่หน้าคณะสงฆ์ เสร็จแล้วคณะสงฆ์ต้องมีการอปโลกน์กฐิน  คือตั้งพัดแล้วตัวแทนสงฆ์ ๑ รูป จะกล่าวว่า

ผ้ากฐินทานกับทั้งผ้าอานิสงส์บริวารทั้งปวงนี้ เป็นของบริสุทธิ์ประดุจเลื่อนลอยมาจากท้องนภากาศ แล้วตกลงในท่ามกลางสงฆ์  มิได้เฉพาะเจาะจงแก่ภิกษุรูปหนึ่งรูปใด แต่มีพระบรมพุทธานุญาตไว้ว่า ให้มอบแก่ภิกษุผู้มีจีวรเก่า หรือเป็นผู้มีความสามารถ  อาจจะกระทำกฐินัตถารกิจให้ถูกต้องตามวินัยบรมพุทธานุญาตได้ บัดนี้สงฆ์เห็นสมควรแก่ภิกษุรูปใด ขอจงพร้อมใจมอบแก่ภิกษุรูปนั้น เทอญ

นี่คือการอปโลกน์กฐิน เสร็จแล้วก็จะมีพระภิกษุอีกรูปหนึ่ง อาจจะเป็นรูปเดียวกันหรือคนละรูปก็แล้วแต่ ตั้งพัดในท่ามกลางสงฆ์แล้วกล่าวว่า

ผ้ากฐินทานกับทั้งผ้าอานิสงส์บริวารทั้งปวงนี้ ข้าพเจ้าเห็นสมควรแก่... (กล่าวชื่อและฉายาของพระภิกษุรูปนี้) ผู้มีความสามารถ อาจจะกระทำกฐินัตถารกิจให้ถูกต้องตามวินัยบรมพุทธานุญาตได้ ถ้าภิกษุรูปใดเห็นไม่สมควร จงทักท้วงขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ จากนั้นก็หยุดนิ่ง      นิดหนึ่งเพื่อดูว่าจะมีใครท้วงหรือเปล่า ถ้าไม่มีก็กล่าวต่อไปว่า  หากเห็นสมควรแล้ว ขอจงให้สัททสัญญา สาธุการขึ้นโดยพร้อมเพรียงกัน แล้วพระทั้งหมดก็สาธุ เป็นอันว่าเห็นชอบตามที่พระภิกษุผู้ตั้งญัตติเสนอให้มอบผ้ากฐินนี้แก่พระรูปนี้  แต่ถ้ามีสงฆ์รูปใดคัดค้านไม่เห็นด้วยแม้เพียงรูปเดียวก็ไม่ได้ มติต้องเป็นเอกฉันท์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่โดยทั่วไปมักไม่มีใครคัดค้าน

การทอดกฐินมีประวัติความเป็นมาอย่างไร?

ประเพณีทอดกฐินเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งพุทธกาล มีอยู่คราวหนึ่งพอออกพรรษาแล้ว พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ตามที่ต่าง ๆ ก็ส่งตัวแทนเดินทางมาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (เป็นธรรมเนียมของพระในครั้งพุทธกาล) เพื่อที่จะดูว่าตลอดพรรษาในปีที่ผ่านมา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยอะไรบ้าง มีพระธรรมเทศนาใหม่ ๆ อะไรบ้าง จะได้มาศึกษาเล่าเรียนและมากราบพระพุทธองค์ด้วย แล้วจะได้กลับไปถ่ายทอดความรู้ใหม่ ๆ แก่พระภิกษุรูปอื่นในท้องถิ่นของตน

มีอยู่คราวหนึ่ง พระภิกษุเมืองปาไฐยรัฐ ๓๐ รูป เดินทางรอนแรมตากแดด ตากฝน ลัดเลาะคันนาและเดินผ่านป่า ผ่านเขา  พอจีวรโดนฝนบวกกับเจอกิ่งไม้ เจอหนาม เจออะไรต่าง ๆ ก็เปื่อยขาดไปตามสภาพ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีพุทธานุญาตให้ถวายผ้ากฐินแก่พระภิกษุได้ตามเงื่อนไขดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  ตั้งแต่นั้นมาจึงเกิดเป็นประเพณีทอดกฐินขึ้น

กฐินหรือผ้าป่าเน้นในเรื่องของการถวายผ้า การนำปัจจัยที่ได้จากการทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ไปทำประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ มีความเกี่ยวเนื่องกับผ้าป่าหรือกฐินอย่างไร?

ถือว่าเป็นบริวารกฐินหรือบริวารผ้าป่า เพราะว่าทำไปเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา  เนื่องจากในช่วงวันทอดกฐิน ทอดผ้าป่า มีสาธุชนมาร่วมบุญที่วัดเป็นจำนวนมาก และเห็นว่าจะต้องบำรุงวัดด้วยปัจจัย ๔ เช่น เรื่องผ้า หรือเรื่องเสนาสนะที่เป็นอาคารสถานที่บ้าง เป็นโบสถ์ วิหาร ศาลา หรือกุฏิพระบ้าง ซึ่งแล้วแต่ว่าที่นั้น ๆ ขาดแคลนสิ่งใด จำเป็นจะต้องใช้สิ่งใด หรือว่าจะเป็นกองทุนภัตตาหาร กองทุนยารักษาโรคก็ได้  บางทีก็เป็นกองทุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณร คือสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นบริวารกฐินหรือบริวารผ้าป่าไปด้วย

ในฐานะพุทธบริษัทเราควรมีทัศนะและท่าทีอย่างไรในการชวนคนทำบุญ?

มีตัวอย่างเรื่องจริงในครั้งพุทธกาล อุบาสกท่านหนึ่งไปฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเกิดศรัทธา อยากจะเลี้ยงพระ แต่ตัวเองมีทรัพย์ไม่พอ ก็ไปชวนคนทั้งเมืองมาทำบุญเลี้ยงพระ วันหนึ่งไปเจอเศรษฐีขี้เหนียว อุบาสกก็ชวนเศรษฐีมาร่วมบุญท่ามกลางลูกค้าที่กำลังซื้อของเต็มร้าน ครั้นเศรษฐีจะไม่ทำก็กลัวคนว่าขี้เหนียว ก็เลยจำใจร่วมบุญกับเขาไป แต่ครั้นเวลาจะเอาน้ำมัน  น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเทให้เขาครึ่งแก้วก็กลัวจะเยอะเกินไป ก็เลยเปิดจุกขวด แล้วเอามือปิดไว้ กะว่าให้ออกมาสักหยดสองหยด ขอมีส่วนร่วมในบุญด้วยหยดสองหยด อุบาสกก็ไม่ได้ว่าอะไร ได้แต่กล่าวคำว่า สาธุ

บอกบุญกับเศรษฐีขี้เหนียวแล้ว อุบาสกก็ไปชวนคนอื่นทำบุญต่อไปด้วยความปีติเบิกบานตามหลักวิชชา แต่ฝ่ายเศรษฐีกลัวเขาจะไปต่อว่าทีหลัง เลยเอากริชเหน็บเอวแล้วตามไปแอบฟัง ถ้าอุบาสกคนนี้เอ่ยถึงชื่อตน แล้วทำท่าจะพูดในทางเสีย ๆ หาย ๆ  ก็จะเอากริชแทงให้ตาย

พออุบาสกไปถึงสถานที่ที่จะเลี้ยงพระ ก็หุงหาอาหาร แล้วก็เอาน้ำมัน เอางา เอาอะไรต่าง ๆ ที่ได้มาจากเศรษฐีอย่างละนิดอย่างละหน่อยใส่ลงไปทุกหม้อ หม้อนี้เม็ดหนึ่ง หม้อนั้นเม็ดหนึ่ง แล้วก็เอาไปเลี้ยงพระ แล้วกล่าวท่ามกลางหมู่สงฆ์ว่า เศรษฐีร่วมบุญมาด้วย ขอให้มีส่วนแห่งบุญทุก ๆ หม้อเลย ขอให้ได้บุญเยอะ ๆ เหมือนได้เลี้ยงพระทุกรูปเลย

เศรษฐีฟังแล้วแทบช็อก เราขี้เหนียวสุด ๆ และทำกับเขาถึงขั้นแอบมาฟังว่า เขาจะว่าอะไรเราหรือเปล่า แต่เขาดีกับเราถึงขนาดนี้  ให้เราได้บุญกับพระทุก ๆ รูป ถ้าหากเรายังทำอย่างนี้ต่อไป เราก็คงเป็นคนที่แย่ที่สุด  ขณะนั้นใจของเศรษฐีเปิดแล้ว จึงได้ร่วมบุญใหญ่  พลิกความคิดจากขี้เหนียวกลับมาเป็นผู้ให้อย่างเต็มที่เต็มกำลัง

เรื่องราวนี้แสดงให้เห็นว่า เราควรเคารพในทานของผู้อื่น ไม่ว่าเขาจะทำมากหรือทำน้อย ในใจของเราไม่ควรมีความรู้สึกตำหนิติเตียน หรือกล่าวหาว่าทำไมทำน้อย ไม่ว่าเขาจะทำมากทำน้อยก็เคารพในทานของเขา ให้เราถือหลักที่ว่ามีบุญอะไรก็ชวนให้ทั่ว ๆ อย่าไปเกรงใจ แต่อย่าไปคาดหวังว่าเขาต้องทำเท่านั้นเท่านี้ ไปอธิบายให้เขาเข้าใจ และอธิบายให้เหมาะกับภาวะของแต่ละคน  แล้วถ้าเขาร่วมบุญมา ไม่ว่าสลึงหนึ่ง บาทหนึ่ง สิบบาท ร้อยบาท หรือเท่าไรก็แล้วแต่  ให้อนุโมทนาบุญกับเขาจากใจจริง ตรงนี้คือหน้าที่ของผู้ชวน

ถ้าเราไม่ได้ไปร่วมงานทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เราจะได้รับอานิสงส์เหมือนกันหรือต่างกัน? การมอบปัจจัยผ่านคนอื่นไปถวายพระ มีอานิสงส์ต่างกับที่เราไปถวายเองอย่างไรบ้าง?

ถ้าเราได้ไปร่วมงานด้วยความตั้งใจ อานิสงส์จะเต็มที่ เพราะเราจะได้เห็นภาพพระรับของที่เราถวายกับมือ ความปีติเบิกบานในบุญจะเต็มที่กว่า  ฉะนั้นการไปทำด้วยตัวเองถึงอย่างไรก็ได้บุญเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าแน่นอน  แต่ถ้าฝากเขาไปทำก็ได้บุญเหมือนกัน  แต่ได้ตามส่วน  ถ้าทำแบบเสียไม่ได้ก็ได้บุญเหมือนกัน ได้แค่ส่วนหนึ่ง  ถ้าฝากไปและใจมีศรัทธา  แต่เนื่องจากสุขภาพไม่ดีหรือติดธุระจริง ๆ แต่ใจเลื่อมใสเต็มที่ ก่อนให้ก็จบอธิษฐานอย่างดีแล้ว บุญก็จะเพิ่มขึ้นมากกว่าคนที่ทำแบบเสียไม่ได้  สรุปแล้วอยู่ที่ความตั้งใจและความศรัทธาของเราว่ามีแค่ไหนด้วย.. 

Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
กฐิน ผ้าป่า และอานิสงส์ กฐิน ผ้าป่า และอานิสงส์ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 22:57 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.