Peace แปลว่า สันติ


หลายคนถามเกี่ยวกับเรื่องสันติภาพ แต่ก็ไม่ทราบว่า ใครจะสร้างสันติภาพขึ้นมาได้?

จริง ๆ แล้ว สันติภาพอยู่ในมือของพวกเราทุกคน สันติภาพแบ่งคร่าว ๆ ได้ ๒ ระดับ คือ ๑. สันติภาพที่เกิดขึ้นในใจของเรา ๒. สันติภาพที่เกิดขึ้นในสังคม

ในสภาวะสังคมเดียวกันถามว่าสันติหรือความสงบในใจแต่ละคนเท่ากันไหม  ความสุขของแต่ละคนเท่ากันไหม ตอบได้เลยว่าไม่เท่ากัน  อย่าว่าแต่ว่าในสังคมประเทศชาติเลย แม้ในบ้านเดียวกัน สมาชิกในบ้านยังมีความสุขไม่เท่ากันเลย  มันขึ้นอยู่กับใจของแต่ละคน  ฉะนั้นในระดับบุคคลคือว่า เมื่อไรใจสงบนิ่ง เมื่อนั้นความสุขจะเกิดขึ้น และอยู่ที่มุมมองด้วย ถ้ามองเป็น คิดเป็น ความสุขก็จะเกิดขึ้น ถ้ารู้จักฝึกปฏิบัติธรรม มีบุญหล่อเลี้ยงใจ ความสุขก็จะเกิดขึ้น

แต่ในระดับที่ ๒  สันติภาพในสังคมจะเกิดจากความเกี่ยวโยงกันของ ๒ ระดับ คือ ถ้าคนในสังคมแต่ละคนมีสันติสุขภายใน พอหลอมรวมกันมาก ๆ เข้า สังคมก็จะมีความสงบสุขไปด้วย

สันติภาพในสังคมจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยอะไรบ้าง? เมื่อใดก็ตามที่สมาชิกในสังคมหนึ่ง ๆ มีความรู้สึกว่ายุติธรรม เขาก็จะรู้สึกพอใจ  แต่ถ้าเมื่อไรเกิดความรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม เขาก็จะรู้สึกคับข้องใจ ขัดข้องใจ อย่างที่มีคำพูดว่าลำบากด้วยกันไม่มีปัญหา ทนได้ สู้ได้  แต่ถ้าเมื่อไรเริ่มสบาย  แต่ว่าสบายไม่เท่ากัน เริ่มมีปัญหาแล้ว นั่นคือปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความสบายหรือความลำบาก  แต่อยู่ที่ความยุติธรรม ถ้าทุกคนรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรม ลำบากเท่าไรก็สู้  แต่ถ้ารู้สึกว่าไม่มีความยุติธรรม ต่อให้สบายก็รับไม่ได้ 

เหมือนคนทำงานด้วยกัน ถ้าเงินเดือนไม่ขึ้นเหมือนกันหมดยังพอรับได้ อาจจะรู้สึกว่าอึดอัดบ้าง  แต่ยังพอไปไหว  แต่ถ้าเงินเดือนขึ้นไม่เท่ากัน เช่น นาย ก เงินเดือนขึ้น ๑,๐๐๐ บาท พอชำเลืองเห็นนาย ข เงินเดือนขึ้น ๒,๐๐๐ บาท ก็อาจรู้สึกว่า เอ๊ะ! เราขยันกว่าเขา ทำงานมากกว่าหรือว่าพอ ๆ กัน ทำไมเขาเงินเดือนขึ้นมากกว่าเรา แบบนี้ไม่สบายใจและชักอึดอัด รู้สึกคับข้องใจ ทั้ง ๆ ที่เงินเดือนขึ้น และถ้าข้องใจมาก ๆ ก็จะมีปัญหาขึ้นมา ประเด็นหลักของความสงบในสังคมก็คือ ความยุติธรรม

ในประเด็นนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าจะให้ความยุติธรรมเกิดขึ้น เราจะต้องไม่มีอคติ ๔ คือ ๑. ไม่ลำเอียงเพราะความรัก ๒. ไม่ลำเอียงเพราะความชัง คือ ความโกรธ ความไม่ชอบนั่นเอง ๓. ไม่ลำเอียงเพราะความหลง คือ ความไม่รู้ ถูกเขาหลอก ๔. ไม่ลำเอียงเพราะความกลัว คือ รู้อยู่ว่าความจริงเป็นอย่างไร  แต่ว่าต้องทำไปแบบผิด ๆ พลาด ๆ เพราะกลัวผู้ใหญ่จะมาเล่นงาน โดยสรุปคือ ถ้าหากไม่มีอคติ ๔ ข้อนี้แล้ว  ความยุติธรรมก็จะเกิดขึ้น แล้วความสงบสุขของสังคมก็จะเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน

ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้ด้วยความไม่มีอคติ ๔ ประการใช่ไหม?

ใช่ ถ้าเกิดอคติเมื่อไร เช่น มีความลำเอียงเพราะความรักหรือความชัง ถ้าเมื่อไรรู้สึกว่า  พวกตนเองถูกหมด ฝ่ายตรงข้ามทำอะไรผิดหมดทุกอย่าง ไม่มีอะไรดี จะทำอะไร อย่างไร ก็มองไปในทางเสียหมด อะไร ๆ ก็แย่หมดเลย อย่างนี้แสดงว่าอคติเกิดขึ้นแล้ว  ถ้าจะไม่มีอคติต้องตั้งอยู่บนจุดที่สมดุล แล้ววินิจฉัยแยกแยะด้วยสติและปัญญาของตนเอง อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าไม่ลำเอียง

ถามว่าแล้วจะทำอย่างไรให้ไปถึงจุดที่ไม่ลำเอียง ไปถึงความยุติธรรมได้ สมมุติถ้าเรารู้สึกว่าสังคมไม่ค่อยมีสันติภาพ แล้วจะทำอย่างไรสันติภาพถึงจะเกิดขึ้น ก็ต้องสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นก่อน ถามว่าเริ่มอย่างไร ให้เริ่มอย่างนี้ ในแง่ตัวเราเอง ให้ใจเรานิ่งก่อน เราต้องไม่ลำเอียงก่อน พอใจเราสงบนิ่งแล้ว สันติสุขในใจเราเกิดขึ้นแล้ว ถึงข้างนอกจะเป็นอย่างไรก็ตาม อย่างน้อยเราก็คุ้มครองความสุขในใจเราไว้ได้ แล้วเผื่อแผ่ไปถึงผู้คนในครอบครัว ในชุมชนรอบ ๆ ตัวเรา ขยายวงกว้างออกไป

ที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ การแสวงหาความยุติธรรมให้เน้นที่การใช้ปัญญา คือ การให้ความรู้กับสังคม ถ้าคนในสังคมมีความรู้ความเข้าใจตรงกันเยอะ ๆ คนที่จะมาทำอะไรไม่ยุติธรรมก็จะลำบาก และไม่กล้าทำ เพราะเขารู้ว่าคนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ  ฉะนั้นต้องเริ่มต้นที่การติดอาวุธทางปัญญา คือ ให้ความรู้แก่ผู้คน ใช้ปัญญานำหน้า แล้วทุกอย่างก็จะค่อย ๆ คลี่คลายไปสู่จุดที่ควรเป็น อาจจะใช้เวลาอยู่บ้างแต่ว่าจะยั่งยืน

ในครั้งพุทธกาลมีสิ่งที่ไม่ยุติธรรมอย่างมากเลย คือ ระบบวรรณะ เพราะว่าศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูสอนว่า คนวรรณะพราหมณ์เกิดจากปากของพระพรหม เพราะฉะนั้นเป็นวรรณะสูงสุด คนวรรณะกษัตริย์เกิดจากแขน คนวรรณะแพศย์ พวกพ่อค้า ช่างฝีมือ เกิดจากสะโพก ส่วนคนวรรณะศูทร หรือพวกกรรมกร เกิดจากเท้า เพราะฉะนั้นพวกนี้ต่ำสุด กำเนิดเกิดมาอย่างไรเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เกิดจากเท้าก็ก้มหน้าก้มตาทำงานหนักต่อไป

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นนักปฏิรูปหรือจะเรียกว่าเป็นนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ก็ว่าได้ พระองค์ทรงรื้อระบบวรรณะหมดเลย ในสังคมของพระพุทธศาสนาไม่มีวรรณะ ทุกคนเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ในสังคมสงฆ์ใครจะเกิดมาจากวรรณะไหนก็ตาม ถ้ามาบวชพระ ของเก่าก็เหลือศูนย์ มาเริ่มนับหนึ่งใหม่ในธรรมวินัย พระพุทธองค์ทรงถือตามอายุการบวช ใครบวชก่อนก็เป็นพี่ บวชทีหลังเป็นน้อง อายุ สถานภาพเดิมก่อนบวช ทุกอย่างลบทิ้งหมด ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มาก

แม้กระทั่งคนไม่บวชก็เหมือนกัน บางทีเขาถูกปลูกฝังอย่างนั้น เขาเชื่ออย่างนั้น คนวรรณะศูทรก็ต้องนุ่งห่มสีมอ ๆ และอยู่กันแบบโทรม ๆ ทำงานหนัก ๆ เพราะเขาถูกปลูกฝังตั้งแต่เกิดว่า เขาต้องเป็นอย่างนี้ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบอกว่าไม่ใช่  คนทุกคนเกิดมาถือว่าเป็นมนุษย์เหมือนกัน สิ่งที่จำแนกให้ต่างกันก็คือ สิ่งที่แต่ละคนกระทำ คนจะสูงจะต่ำไม่ได้อยู่ที่กำเนิด แต่อยู่ที่สิ่งที่เขาทำ ถ้าทำดี เขาก็จะสูง ถ้าทำสิ่งที่ไม่ดี คนนั้นก็เป็นคนต่ำ คือกรรมลิขิต ไม่ใช่พรหมลิขิต เราเคยได้ฟังโคลงโลกนิติไหม ที่ว่า

ฝูงชนกำเนิดคล้าย                   คลึงกัน       
ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ             แผกบ้าง
ความรู้อาจเรียนทัน                  กันหมด       
เว้นแต่ชั่วดีกระด้าง                   อ่อนแก้  ฤาไหว

ฝูงชนกำเนิดคล้ายคลึงกัน  เพราะว่าทุกคนก็มีจมูก มีปาก มีตา เหมือนกัน จะเป็นคนชาติไหน ภาษาไหน ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน  ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ  แผกบ้าง  ที่ต่างกันอย่างมากก็คือ ขาวบ้าง ดำบ้าง สูงบ้าง เตี้ยบ้าง หน้าตาต่างกันบ้าง  แต่อย่างไรดูแล้วก็เป็นมนุษย์ เห็นก็รู้ว่าเป็นคน  ความรู้อาจเรียนทันกันหมด ในแง่ความรู้กลับรู้สึกว่ายังเป็นเรื่องรองเสียอีก เพราะว่าสามารถเรียนทันกันได้  เว้นแต่ชั่วดีกระด้าง อ่อนแก้  ฤาไหว  แต่ความดีความชั่วที่เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าไม่แก้ก็ยากจะไปรอด

เพราะฉะนั้น พระองค์ทรงแก้โดยติดอาวุธทางปัญญาก่อน ให้เขารู้ก่อนว่าคนเราไม่ได้เกิดจากพระโอษฐ์หรือเกิดจากอะไร ความจริงก็คือ เกิดจากท้องคุณแม่เหมือนกัน แล้วจะดีไม่ดีอยู่ที่กรรมที่คุณทำ ทำกรรมดีก็เป็นคนดี สูงส่ง ทำกรรมชั่วก็เป็นคนชั้นต่ำ แล้วก็มีอบายหรือทุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า พระองค์ทรงนำความจริงมาบอก พอเข้าใจแล้ว คนวรรณะศูทรที่เคยมอ ๆ ซึม ๆ ก็มีชีวิตชีวาขึ้นมาเลย พัฒนาตัวเองทุกอย่าง

ฉะนั้น ให้เราเริ่มใช้วิธีการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ จะปรับปรุงสังคมใดก็ตาม ต้องเริ่มที่การติดอาวุธทางปัญญา ให้ความรู้ให้ทุกคนเข้าใจความจริงว่า อคติเป็นสิ่งไม่ดี อย่าถือเขาถือเรา แต่ให้ถือหลักความถูกต้อง แล้วต้องนำไปสู่ความยุติธรรมให้ได้  พอคิดอย่างนี้แล้วก็หาจุดร่วมกัน เพราะว่าความถูกต้องยุติธรรมจริง ๆ แล้ว มีอยู่จุดเดียว ถ้าทุกคนพุ่งมาตรงนี้แล้ว จะค่อย ๆ มารวมกันได้ แต่ถ้าถือเอาตามความชอบใจของแต่ละคน สุดท้ายความแตกต่างทางความคิดจะนำไปสู่ความแตกแยกมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งไม่เป็นผลดี แล้วคนในสังคมนั้นก็จะไม่ค่อยมีความสุข

ดังนั้น ดีที่สุดคือให้ความยุติธรรมสำหรับทุกคน และเมื่อทุกคนรักษาความสงบในใจเราเอง คือนั่งสมาธิอยู่กับบุญ ใจเราก็จะสงบ ถึงข้างนอกวุ่นวายแต่เราไม่วุ่นวาย เสร็จแล้วค่อย ๆ ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคมมากขึ้น  สุดท้ายเมื่อคนในสังคมเข้าใจถูกต้องตรงกัน เห็นความสำคัญของความยุติธรรม แล้วพุ่งไปสู่ทิศทางเดียวกัน จะค่อย ๆ หลอมรวมสิ่งที่แตกต่างและแตกแยกให้ใกล้เข้ามา  สุดท้ายสังคมก็จะสงบสุข ความยุติธรรมก็จะบังเกิดขึ้น ทุกคนก็อยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข

สังคมแบบที่กล่าวมานั้นเหมือนเป็นสังคมในอุดมคติ จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่? ในสมัยพุทธกาลมีสังคมแบบนี้เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ หรือไม่?

พิสูจน์แล้วในครั้งพุทธกาล อินเดียในครั้งพุทธกาลมีชนชั้นยิ่งกว่าในปัจจุบัน ถ้าใครต่างชนชั้นกัน เกิดมาก็แยกกันเลย แต่งงานกันไม่ได้ บางชนชั้นมองเห็นกันยังไม่ได้เลย เมื่อไรข้ามวรรณะมาแต่งงานกัน ลูกเกิดมาถือว่าต้องไปเป็นจัณฑาล หลุดจาก ๔ พวกไปเลย  ถ้าเป็นจัณฑาลแค่เห็นต้องเอาน้ำล้างตา ถือเป็นเสนียดจัญไร สมัยพุทธกาลเขารังเกียจกันขนาดนั้น  แต่พระพุทธองค์ทรงพลิกฝ่ามือเดียว จะเป็นจัณฑาล ศูทร แพศย์ กษัตริย์ พราหมณ์  ถ้ามาบวชแล้วเหมือนกันหมด อยู่ร่วมกันด้วยความสงบและสามัคคี ทรงทำได้จริง  ด้วยการให้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ทุกคน โดยเริ่มต้นจากหนึ่ง สอง สาม เป็นสิบ เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน แล้วคลุมไปทั้งสังคม

สังคมในอุดมคตินี้พวกคอมมิวนิสต์เขามีกันใช่ไหม

ของคอมมิวนิสต์เขาใช้การบังคับ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ความรู้ ใช้ปัญญานำหน้า คอมมิวนิสต์ใช้กำลังบังคับ ถึงคราวเลยกลายเป็นว่าเสมอภาคโดยทุกคนจนเท่ากันหมด แล้วก็มีอภิสิทธิ์ชนคือชนชั้นผู้นำของพรรค สังคมเลยไม่เจริญ  แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ความสมัครใจ โดยเอาปัญญานำหน้า ผลคือทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยความสุข เจริญทั้งจิตใจ เจริญทั้งความรู้..

Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
Peace แปลว่า สันติ Peace แปลว่า สันติ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:36 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.