เคล็ดลับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
มีวิธีใดที่จะทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายยืนหยัดต่อไปได้อย่างมีความสุข?
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
ในโลกนี้ มีบุคคลที่กลัวความตายเมื่อมัจจุราชมาอยู่ตรงหน้า
๔ จำพวก และมีอีก ๔ จำพวก ที่ไม่กลัวความตาย
คนที่กลัวความตาย ๔ จำพวก ก็คือ
๑.
คนที่ยึดติดอยู่ในเรื่องที่ตนเองผูกพัน เช่น คน สัตว์ สิ่งของ
ยึดติดในบุคคลอันเป็นที่รัก เช่น ลูก สามี หรือภรรยา
พอรู้ว่าจะต้องตายก็อาลัยอาวรณ์ผูกพันในสิ่งเหล่านี้ ทำให้กลัวตาย
๒.
คนที่ยึดติดในตัวเอง คือรักตัวเองมาก รู้สึกว่าอายุเราแค่นี้เอง ยังใช้ชีวิตไม่จุใจเลย คิดยึดติดตัวเองก็เลยกลัวตาย
๓.
คนที่ทำบุญไว้น้อย ทำบาปไว้มากกว่า
พอรู้ว่าจะตายก็หวาดกลัว เพราะไม่รู้ว่าตายแล้วจะไปที่ไหน ถ้าตกนรกจะทำอย่างไร
กลัวเส้นทางข้างหน้าที่ไม่ชัดเจนว่าจะไปสู่สุคติหรือทุคติ
๔.
คนที่ลังเลสงสัยในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า
คนเราต้องเวียนว่ายตายเกิด บุญบาปมีจริงหรือไม่
ทำให้ไม่มั่นใจในเส้นทางข้างหน้าก็เลยยึดอยู่กับปัจจุบัน แต่ปัจจุบันก็ยึดได้ไม่นาน
เพราะว่ากำลังจะจากโลกนี้ไปแล้ว จึงเกิดความไม่มั่นใจก็เลยกลัว
คน ๔ จำพวกนี้จะกลัวความตาย
พอกลัวก็จะเกิดผลตามมามากมาย คนดูแลจะปวดหัวมาก ทั้งดูแลยาก ทั้งสงสาร
หมอพยาบาลที่จะมารักษาก็ยาก มีปัญหากันหมด
แต่มีคนอีก
๔ จำพวก ที่ไม่กลัวความตาย คือ
๑.
คนที่ไม่ยึดติดในเรื่องคน สัตว์ สิ่งของ จนเกินไป
๒. คนที่ไม่ได้รักตัวเองจนเกินไป ทำใจได้ว่าถึงคราวก็ต้องตาย
คนอายุน้อยกว่าเราตายก่อนเราก็มี ไม่แน่ไม่นอน บางคนยังไม่ได้เกิด
แค่อยู่ในท้องก็แท้งไปแล้วก็มี พอทำใจได้ ความกลัวต่อมรณภัยก็จะน้อยลงไปตามส่วน
ยิ่งตัดใจได้มากเท่าไร ความกลัวก็น้อยลงไปตามลำดับ
๓.
คนที่ทำความดีไว้มากพอ มั่นใจว่าตายแล้วไปดีแน่นอน อย่างนี้ไม่กลัวตาย
๔. คนที่มีความเชื่อมั่นในพระสัทธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม เรื่องบุญและบาป โลกนี้โลกหน้ามีจริง พอมั่นใจอย่างนี้แล้ว
รู้เลยว่าชีวิตหลังความตายตนเองจะไปสู่ที่ที่ดีกว่าแน่ จะไปกลัวทำไม ก็เลยไม่กลัว
พอรู้หลักอย่างนี้แล้ว
ก็นำหลักนี้มาประยุกต์ใช้เวลาไปเยี่ยมไข้
ถ้าเป็นญาติของเราก็ต้องพยายามทำให้เขาคลายความยึดมั่นผูกพัน
ให้เขาสร้างบุญอยู่เรื่อย ๆ ถ้าเขาไม่สะดวก เราก็ไปทำให้ แล้วเอาภาพมาให้ดู
ให้เขาระลึกนึกถึงบุญบ่อย ๆ ยิ่งทบทวนบุญก็ยิ่งเพิ่มพูน และให้เขาทำสมาธิ สวดมนต์
ให้ใจอยู่กับบุญกุศล เขาก็จะยิ่งเชื่อมั่นในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วความกลัวต่อมรณภัยก็จะคลายลง และจะเป็นคนไข้ที่น่ารัก
เคยมีคนไข้ท่านหนึ่งป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย
นอนร้องโอย ๆ อยู่บนเตียง ญาติพี่น้องที่เฝ้าอยู่ก็มีแต่ความหดหู่
สงสารแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เขานับถือศาสนาอื่น
แต่มีคนรู้จักคนหนึ่งรู้จักพระวัดพระธรรมกาย ก็มานิมนต์พระให้ไปเยี่ยมเขา
พอพระไปถึงก็พูดคุยกับเขา สอนให้ทำสมาธิ
ถ้าเขานึกดวงแก้วองค์พระแล้วไม่สบายใจ ให้นึกเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาเขาก็ได้
เพื่อเป็นนิมิตในการทำสมาธิ แล้วบอกเขาตรง ๆ ว่า คนเราทุกคนตายแน่นอน
ต่างแต่เร็วหรือช้าเท่านั้น บางคนยังแข็งแรงอยู่รถคว่ำตาย
ไม่มีโอกาสเตรียมตัวด้วยซ้ำ แต่คนป่วยยังมีโอกาสเตรียมตัว โชคดีกว่ามาก
เพราะฉะนั้นจะตายเร็วตายช้า ก็ต่างกันไม่กี่ปี
ต่างแต่เพียงว่าจะไปแบบแมวหรือราชสีห์ ไปแบบแมวคือร้องครวญครางแล้วก็จากโลกนี้ไปอย่างผู้แพ้
ไปอย่างราชสีห์คือไม่หวาดหวั่นต่อมรณภัย มั่นใจในคุณความดีที่ตนเคยทำเอาไว้ เมื่อถึงคราวต้องจากโลกนี้ก็จากไปด้วยอาการแห่งผู้ชนะเหมือนราชสีห์
พอพระพูดอย่างนี้เขาก็หยุดร้อง
อยากจะเป็นอย่างราชสีห์ แต่ปวดเหลือเกิน ท่านก็เลยบอกให้ทำสมาธิ เขาก็พยายามทำ
พอใจนิ่งดีแล้ว สัญลักษณ์ศาสนาเดิมหายไป เห็นดวงสว่างขึ้นมาแทน
เขาบอกว่าลืมความเจ็บปวดเลย มีความสุข ใบหน้าเปล่งปลั่งขึ้น จากเดิมร้องโอย ๆ
ตอนนี้ไม่ร้องแล้ว เพราะนึกถึงดวงสว่างแล้วมีความสุข ลืมความเจ็บปวด ญาติ ๆ
งงเลยว่าทำไมเปลี่ยนได้ขนาดนี้ หมอก็งง เพราะหมอรู้ดีว่า
มะเร็งระยะสุดท้ายเจ็บปวดทรมานมาก
เขายังกลายมาเป็นคนที่คอยให้กำลังใจญาติ ปลอบใจคนมาเยี่ยม
และเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาในช่วงท้ายของชีวิต
แล้วยังนำความสว่างและศรัทธาที่ถูกต้องมาให้ญาติพี่น้องด้วย
ตอนแรกหมอบอกว่าจะอยู่ได้เดือนหนึ่ง สุดท้ายยืดเวลาได้เป็นปี
และจากไปด้วยอาการแห่งผู้ชนะ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักการไว้หมดแล้ว
ถ้าเราถึงจุดนั้นเมื่อไรไม่มีความกลัวแน่นอน
ถ้าหากจะพยายามยืดชีวิตให้ยาวขึ้นก็มีวัตถุประสงค์ประการเดียว
คือเพื่อให้มีเวลาในการสั่งสมบุญกุศลให้มากขึ้น
ถ้ารู้หลักการเราจะพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับทุกสิ่งด้วยความมั่นใจ
เพราะรู้ว่าจะไปสู่ภพภูมิที่ดีกว่าเดิม เสมือนนักเดินทางที่มีเข็มทิศ
รู้ว่าเป้าหมายปลายทางคืออะไร ไม่ใช่เดินสะเปะสะปะไปเรื่อย
จะตกเหวหรือเปล่าก็ไม่รู้ นี่คือความแตกต่าง
มีผู้ป่วยระยะสุดท้ายหลายรายนั่งสมาธิแล้วยืดอายุได้นานขึ้น
บางรายโรคภัยไข้เจ็บหายเป็นปลิดทิ้ง เป็นเพราะอะไร?
มีเหตุอยู่ ๒ อย่าง คือ
๑. พอผู้ป่วยได้สร้างบุญ
ได้ทำสมาธิ ผลก็คือบุญเกิดขึ้น แล้วบุญใหม่ที่ทำจะไปเหนี่ยวนำบุญเก่า
ที่สั่งสมไว้ให้เชื่อมต่อกัน บุญนั้นก็เลยส่งผล ทำให้วิบากกรรมที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย
ทุเลาลง ที่ป่วยไม่หนักจนเกินไปก็หาย ที่ป่วยหนัก ๆ ก็ยังยืดเวลาออกไปได้
เป็นเพราะบุญมาหล่อเลี้ยงทำให้วิบากกรรมเบาบางลง
๒.
คนเราประกอบด้วยกายกับใจที่ส่งผลต่อกัน เคยสังเกตไหมว่า
ข้าราชการผู้ใหญ่บางคน
พอเกษียณอายุผ่านไป ๒ ปี ป่วยตายเพราะทำใจไม่ได้
เคยมีคนมาล้อมหน้าล้อมหลังเต็มไปหมด พอเกษียณแล้วไม่มีใครสนใจเลย ทำใจไม่ได้
ก็เลยป่วย หรือบางคนที่มีเรื่องกลุ้มมาก ๆ ร่างกายจะรวนเรไปด้วย กินไม่ได้
นอนไม่หลับ เพราะใจกับกายเกี่ยวเนื่องกัน ถ้าใจแย่ อีกหน่อยร่างกายก็จะแย่ตาม
แต่ในทางกลับกันถ้าร่างกายแย่ ใจที่เคยดี ๆ อยู่บางทีก็แย่ตาม แต่ถ้ากายแข็งแรงใจก็มีแนวโน้มจะสดใส
ถ้าจิตใจสดใสสุขภาพร่างกายก็จะดีขึ้น เพราะฉะนั้นในคนไข้คนเดียวกัน
ถ้ารู้หลักการทำความดี การทำสมาธิ การสร้างบุญ เมื่อสร้างบุญแล้วใจก็จะมีพลัง
สมดุลของใจจะเกิดขึ้น พอใจมีพลังก็ส่งผลถึงทางกาย
ทำให้โรคร้ายที่มีอยู่คลี่คลายเบาบางลงไป ที่เป็นไม่มากก็หาย ที่เป็นหนัก ๆ
ก็ยืดเวลาออกไปได้
ผลบุญกับสมดุลกายใจ ๒
อย่างนี้ประกอบกันขึ้นมาทำให้สุขภาพดีขึ้น
หรือยืดเวลาอยู่ในโลกนี้ให้ยาวนานขึ้นได้
การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายต้องทำอย่างไรบ้าง?
ควรรู้หลักอย่างที่อธิบายไปแล้ว
ถ้าคนไม่รู้หลักก็หาเรื่องคุยเฮฮา ผู้ป่วยก็ฝืนยิ้มแต่ในใจไม่มีความสุข แบบนี้ผิดหลัก
ต้องหาวิธีให้คนไข้นึกถึงบุญกุศล นึกถึงความดีที่เคยทำ แล้วก็คุยแต่เรื่องที่ดีงาม
ซึ่งจะทำให้ใจผ่องใส พูดถึงการปฏิบัติธรรมก็ได้ หรือเอาหนังสือธรรมะไปให้
เอาสิ่งที่เป็นสื่อให้เขานึกถึงความดี นึกถึงบุญกุศล และทำใจให้สงบไปให้
ถ้ารู้หลักอย่างนี้การไปเยี่ยมคนไข้หรือการดูแลของเราก็เป็นประโยชน์ต่อคนไข้
ในทางพระพุทธศาสนามีข้อคิดอย่างไรในการพูดถึงความตาย
แง่คิดเกี่ยวกับความตายมี ๒ ประเภท คือ
๑. คนไม่รู้หลัก คือคนไม่รู้หลักธรรม
ไม่รู้หลักการของโลกและชีวิต พอนึกถึงความตายแล้วเศร้า หดหู่ หวาดเสียว
เพราะฉะนั้นเขาจะพยายามไม่นึก นึกแล้วมันน่ากลัว
๒. คนรู้หลัก
คือผู้ที่ได้ศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนา
รู้หลักที่พระพุทธเจ้าบอกว่าให้นึกถึงความตายบ่อย ๆ เพราะยิ่งนึกถึงแล้วจะทำให้เกิดความไม่ประมาท
แล้วก็ขวนขวายเกิดกำลังใจในการทำความดีมากขึ้น
มีอยู่คราวหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงถามพระอานนท์ว่า
นึกถึงความตายบ่อยแค่ไหน พระอานนท์กราบทูลว่านึกถึงอยู่บ่อย ๆ
พระพุทธเจ้าตรัสว่ายังประมาทอยู่ จะไม่ประมาทต้องนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก
แล้วตั้งใจทำกิจต่าง ๆ ด้วยความมีสติ ด้วยความไม่ประมาท
ขวนขวายในการสร้างความดีอย่างสม่ำเสมอ นี่คือการเจริญมรณานุสติ ยิ่งนึกถึงความตาย
ยิ่งเกิดความองอาจแช่มชื่น เกิดกำลังใจในการทำความดี
นี่คือชาวพุทธเต็มตัวที่ทำถูกต้องตามหลักวิชชา
ปัจจุบันมีโรคแปลก
ๆ เกิดขึ้นมาก รักษาก็ยาก สาเหตุมาจากอะไร?
ส่วนแรกเกิดจากสิ่งแวดล้อมปัจจุบันแย่ลง
คนมากขึ้น แล้วก็สร้างมลพิษขึ้นมาทั้งในอากาศ ในน้ำ
รวมทั้งพืชพันธุ์ธัญญาหารที่เราบริโภคเข้าไปก็ใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ย ยาเร่ง สารเคมีเหล่านี้เข้าไปสะสมในตัวมากกว่าสมัยก่อน
เลยเกิดโรคแปลก ๆ หลายอย่าง ส่วนที่สองเกิดจากเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น
คนเราก็สร้างกรรมแปลก ๆ ขึ้นมาอีกหลายอย่าง เช่น โจรกรรมคอมพิวเตอร์
สร้างไวรัสคอมพิวเตอร์ พอมีคนทำกรรมแปลก ๆ ก็เลยเกิดวิบากกรรมแปลก ๆ ขึ้นมา
ถ้าจะไปเยี่ยมใครที่เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย
เรานำซองร่วมบุญไปด้วยได้ไหม?
ได้ แต่ต้องอย่าให้เขาลำบากใจ
ความมากน้อยของปัจจัยเป็นเรื่องรอง เรื่องหลักคือให้เขาได้มีส่วนในการสร้างบุญ
ขอให้ได้ทำ ให้ใจนึกถึงบุญ อย่าเอาความเกรงใจนำหน้า
แต่ให้มุ่งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเขา
เพราะทรัพย์ที่มีอยู่อีกไม่กี่วันก็ต้องทิ้งไว้ในโลกนี้
จะติดตัวไปได้ต้องเปลี่ยนทรัพย์นั้นเป็นบุญ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “เรือน” คือร่างกาย ถูก “ไฟ” คือชาติ ชรา มรณะเผาอยู่ เรือนที่ถูกไฟเผาอยู่
ทรัพย์ใดขนออกไปได้ ทรัพย์นั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เขา
แต่ทรัพย์ใดขนออกไปไม่ได้ก็จะถูกเผาไหม้อยู่ในเรือนนั้นเอง การขนทรัพย์จากเรือน
คือขนด้วยการให้ทานย่อมแปรเป็นบุญติดตัวเขาข้ามภพข้ามชาติ
การที่เราไปแนะนำให้เขาทำบุญ เสมือนไปรักษาสมบัติให้เขา ถ้าไม่บอกให้เขาทำบุญ
ทรัพย์นั้นจะถูกเผาอยู่ในเรือนก็คือร่างกายที่สลายไป
เมื่อมีญาติเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย
ควรจะบอกหรือไม่บอกให้ผู้ป่วยรับทราบ?
ควรบอกให้ทราบ
แต่ให้ทราบเป็นขั้นเป็นตอนอย่างมีศิลปะ
เมื่อทราบแล้วเราควรให้เขารู้จักการสร้างความดี สร้างบุญกุศล
รู้พระสัทธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเท่ากับว่าให้เขามีเครื่องยึดเหนี่ยว
ถ้าบอกให้รู้แบบกะทันหันโดยที่เขาไม่รู้หลักพวกนี้เลย ชีวิตก็เคว้งคว้าง กลุ้ม
กลายเป็นกลุ่มประเภทที่กลัวความตาย ๔ ประเภท บางคนไม่ยอมรับ บางคนโกรธ
บางคนต่อต้าน แต่ถ้าให้ทราบโดยรู้หลักปฏิบัติที่ถูกต้องด้วย เขาก็จะรู้ความจริง
พร้อมกับมีหนทางว่าช่วงเวลาที่เหลืออยู่ควรจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์สูงสุด
บอกอย่างนี้จะเป็นประโยชน์แก่เขา
Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๔๖
เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
คลิกอ่านข้อคิดรอบตัวของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ฉลองปีใหม่ ตามหลักพุทธวิธี
วันมาฆบูชา : วันแห่งความรักอันบริสุทธิ์
สถานการณ์ชายไทย
อารมณ์ติดลบในหน้าร้อน
วิสาขบูชา วันสำคัญของโลก
เจ๋ง เก่ง แน่
ฟุตบอลโลก
Peace แปลว่า สันติ
กฐิน ผ้าป่า และอานิสงส์
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
พระพุทธศาสนาโกอินเตอร์
เริ่มปีใหม่ในแบบชาวพุทธ (บทความปีถัดไป)
พระพุทธศาสนาโกอินเตอร์ |
เริ่มปีใหม่ในแบบชาวพุทธ |
คลิกอ่านข้อคิดรอบตัวของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ฉลองปีใหม่ ตามหลักพุทธวิธี
วันมาฆบูชา : วันแห่งความรักอันบริสุทธิ์
สถานการณ์ชายไทย
อารมณ์ติดลบในหน้าร้อน
วิสาขบูชา วันสำคัญของโลก
เจ๋ง เก่ง แน่
ฟุตบอลโลก
Peace แปลว่า สันติ
กฐิน ผ้าป่า และอานิสงส์
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
พระพุทธศาสนาโกอินเตอร์
เริ่มปีใหม่ในแบบชาวพุทธ (บทความปีถัดไป)
เคล็ดลับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
23:33
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: