ทำไม..ต้องจัดบรรพชาที่บังกลาเทศ ?


หลายคนไม่เคยคิดจะไปบังกลาเทศเลย แถมบอกว่าถ้าเลือกได้ก็อยากไปญี่ปุ่น อเมริกาหรือประเทศแถบยุโรปมากกว่า ที่หลายคนคิดเช่นนี้ เพราะอาจยังไม่รู้ว่า บังกลาเทศนั้นเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของวัฒนธรรมที่เฉพาะเจาะจง อีกทั้งหากใครมาเยือนประเทศนี้ ก็จะสัมผัสได้ถึงธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ที่ยังไม่ถูกทำลายไป


ผู้คนในบังกลาเทศนับถือศาสนาอิสลาม ๙๐.๕ เปอร์เซ็นต์ ศาสนาฮินดู ๘.๕ เปอร์เซ็นต์ ศาสนาคริสต์ ๐.๔ เปอร์เซ็นต์ ส่วนศาสนาพุทธมีผู้นับถือแค่ ๐.๖ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เมื่อมีชาวพุทธน้อยขนาดนี้ อยากทราบเหตุผลไหมว่า..ทำไมพวกเราต้องดั้นด้นมุ่งมั่นเดินทางไปจัดพิธีบรรพชาในประเทศนี้กันให้ได้ !!!

คำตอบก็คือ แม้คนพุทธที่นี่จะน้อยมาก แต่คนพุทธจำนวนน้อยเหล่านี้มีความเป็นพุทธที่เข้มแข็งเกินกว่าที่เราคิดไว้มาก คือ ชอบทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา แล้วก็เข้าวัดปฏิบัติธรรม อีกทั้งยังมีจิตใจที่บริสุทธิ์อ่อนโยน ซึ่งคนพุทธส่วนใหญ่จะเกาะกลุ่มกันอาศัยอยู่บนเทือกเขาของเมืองจิตตะกอง มากไปกว่านั้น...ความเป็นพุทธของที่นี่จะสืบต่อกันเป็นรุ่นต่อรุ่น สืบทอดกันในตระกูล เช่น ตระกูลบารัว ตระกูลจักมา ตระกูลกัลมา...

ชาวพุทธ ณ ดินแดนแห่งนี้ คล้าย ๆ ชาวเขาบ้านเรา คือ จะมีสังคม อาหาร เครื่องแต่งกาย และวัฒนธรรมเฉพาะที่เป็นของตนเอง โดยมีพระภิกษุผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจ ซึ่งก็คือ พระสัทธนานันทะ มหาเถโร หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า บานาภันเต ซึ่งแปลว่า พระป่า ท่านเป็นพระสายปฏิบัติที่มีชื่อเสียงมาก และสามารถจัดตั้งวัดสาขาได้มากถึง ๑๐๐ กว่าสาขา บนเทือกเขาแห่งเมืองจิตตะกองนี้

ที่สำคัญ...ท่านมีลูกศิษย์ที่เก่งงานเผยแผ่มาก ๆ คือ พระศาสนรักขิตะ มหาเถโร เจ้าอาวาสวัดปันชารีสันติปูร์อรัญกุฏิ แห่งเมืองคาร์กาชารี ซึ่งเป็นผู้ดำริสร้างศาลาที่มีพื้นที่อันกว้างใหญ่ถึง ๓,๐๐๐ กว่าตารางเมตร ที่สามารถจุคนได้เป็นหมื่น ซึ่งไม่มีวัดไหนในบังกลาเทศ คิดทำแบบนี้ อีกทั้งตอนที่ท่านคิดจะสร้างศาลาหลังนี้ ก็ไม่มีทุนอะไรเลย

แต่เป็นที่น่าอัศจรรย์เหลือเกิน ที่พลังแห่งศรัทธาของชาวบ้านที่รักพระพุทธศาสนามาก ทำให้ทุกคนยอมสละทรัพย์กันคนละเล็กละน้อย ทำบุญกันอย่างสุดกำลังเพื่อร่วมแรงร่วมใจสร้างศาลาแห่งนี้จนเสร็จภายในปีเดียว

พออ่านถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากจะรู้ต่อแล้วสิว่า ทางทีมงานวัดพระธรรมกายไปช่วยจัดงานบรรพชาที่นั่นได้อย่างไร ?

ย้อนไปเมื่อ ๕ ปีที่แล้ว หลังจากที่พระศาสนรักขิตะ มหาเถโร ได้มีโอกาสบินมาศึกษาดูงานที่วัดพระธรรมกาย ซึ่งพอดูเสร็จก็ประทับใจในความเป็นระบบระเบียบงดงามของวัดพระธรรมกาย จนเกิดแรงบันดาลใจอันแรงกล้าที่อยากจะไปเผยแผ่งานพระพุทธศาสนาในบังกลาเทศให้ขยายออกไปให้มากที่สุด จากนั้นจึงได้ร่วมมือกันจัดงานอบรมอุบาสก อุบาสิกา จำนวน ๕๐๐ คน ในบังกลาเทศ ซึ่งทำให้ท่านซาบซึ้งใจในทีมงานวัดพระธรรมกายมาก เพราะโครงการนี้สามารถปลูกศรัทธาให้ชาวพุทธที่นั่นเข้มแข็งขึ้นอีก

ด้วยความมีอุดมการณ์เดียวกันนี้เอง พอมาถึงปีนี้ ก็เกิดการร่วมแรงร่วมใจกันอีกครั้ง ระหว่างวัดพระธรรมกายและคณะสงฆ์วัดราชปัณนะวิหาร เมืองรังกามาติ และวัดปันชารีสันติปูร์อรัญกุฏิ เมืองคาร์กาชารี ซึ่งต่างมาช่วยกันจัดโครงการบรรพชาสามเณร ๕๐๐ รูป ระหว่างวันที่ ๑๙ มีนาคม - ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยมีพิธีขอขมาผู้ปกครอง มอบบาตร ผ้าไตร และพิธีบรรพชาเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ณ วัดปันชารีสันติปูร์อรัญกุฏิ โดยมีพระศาสนรักขิตะ มหาเถโร เจ้าอาวาสวัดปันชารีสันติปูร์อรัญกุฏิ เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งได้ใช้พื้นที่ ณ ศาลาขนาดใหญ่ ๓,๐๐๐ ตารางเมตร ที่ท่านเป็นผู้ดำริสร้างไว้นั่นเอง

แล้วสงสัยไหมว่า..ชวนชาวบ้านกว่า ๕๐๐ คน มาบรรพชากันได้อย่างไร ?

การชวนชาวบ้านไม่ยากเลย เพราะชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเทือกเขานี้ มีความเป็นพุทธสูงอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องแจ้งข่าวไปให้ถึงพวกเขาเหล่านั้นให้ได้เท่านั้น ซึ่งการแจ้งข่าวก็จะแจ้งตอนที่พระออกไปบิณฑบาตยามเช้าตามชุมชนต่าง ๆ แล้วก็แจ้งว่าจะมีโครงการบรรพชาเกิดขึ้น ซึ่งแต่ละหมู่บ้านต่างยินดีส่งคนมาบรรพชาและมาร่วมงานบุญ เพราะชาวบ้านที่นี่นับถือพระสงฆ์และรักบุญมาก ๆ คือ ไม่ว่า..พระจะมาแจ้งข่าวบุญอะไร ทุกคนก็จะมาร่วมกันอย่างเต็มที่เต็มกำลัง เรียกได้ว่า..มาช่วยทุกอย่าง อย่างงานนี้ก็มาช่วยกันตั้งแต่ส่งคนมาบรรพชา ช่วยจัดงาน ช่วยเตรียมข้าวปลาอาหาร และถวายภัตตาหารทุกวันไม่เคยขาดเลย...

ส่วนค่าใช้จ่าย บางคนอยากรู้ว่า..ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบรรพชาไหม ?

ไม่เสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากว่าวัดพระธรรมกายได้สนับสนุนบาตร จีวร เต็นท์ ที่นอนชุดขาว รวมกระทั่งอุปกรณ์การอบรมบางส่วน เช่น เครื่องเสียง เป็นต้น

ส่วนเรื่องภัตตาหารในแต่ละวัน สามเณรก็จะออกบิณฑบาตไปตามชุมชนต่าง ๆ ประมาณ ๒-๖ กิโลเมตร โดยที่ทางวัดจะประสานงานให้แต่ละชุมชนรวมตัวกันประมาณ ๒๐๐ คน เพื่อให้ภัตตาหารเพียงพอที่จะเลี้ยงสามเณรทั้งโครงการ โดยหมุนเวียนสถานที่บิณฑบาตไปเรื่อย ๆ ซึ่งชาวบ้านแต่ละชุมชนล้วนตื่นเต้นและรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ

ลืมบอกไปว่า..ชาวพุทธบนเขาส่วนมากเป็นคนในตระกูลจักมา ซึ่งมีรูปแบบอาหารที่เป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง คือ มีผักเป็นองค์ประกอบหลัก ครั้นเมื่อพระไทยไป พวกเขาก็เอาใจใส่และให้การต้อนรับพระไทยดีมาก ๆ อีกทั้งยังกลัวพระไทยจะฉันอาหารถิ่นของจักมาไม่ได้ จึงเปิดยูทูปเพื่อทำอาหารไทยมาถวายให้พระฉันกันเลยทีเดียว ซึ่งทีมงานทุกคนประทับใจมาก

มาดูทางด้านโยมพ่อโยมแม่ของสามเณรที่มาบวชว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง ?

ทางทีมงานคุยกับพ่อแม่ของผู้มาบวชไม่ได้มาก เพราะส่วนใหญ่เขาใช้ภาษาจักมา จึงต้องใช้มือ ใบหน้า และแววตาในการสื่อสาร แต่ดูจากสีหน้าและแววตาของทุกคนแล้ว ขอบอกเลยว่า เปี่ยมล้นไปด้วยความสุขจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่แต่ละครอบครัวอยู่ห่างไกลจากวัดมาก ซึ่งตอนแรกทางทีมงานต่างคิดว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่คงเดินทางมาเข้าพิธีเวียนประทักษิณไม่ทัน แต่ที่ไหนได้ ปรากฏว่าบรรดาพ่อแม่ญาติสนิทมิตรสหายของผู้บรรพชามากันแต่เช้า พร้อมกับใบหน้าที่ยิ้มด้วยความปลื้ม ตื่นเต้น และมีความสุขอยู่เต็มหัวใจ

แล้วเกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า หลังจากสิ้นสุดโครงการบรรพชา ?

ขอบอกว่า งานนี้ช่างทรงพลังและน่าตื้นตันเหลือเกิน เพราะถือเป็นงานบรรพชาที่มีอานุภาพมาก เนื่องจากพิธีกรรมต่าง ๆ ช่างศักดิ์สิทธิ์และเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งเมื่อมีคนถ่ายภาพแล้วแชร์ออกไป ไม่นานภาพงานบรรพชานี้ก็สะพัดไปทั่วบังกลาเทศในเวลาอันรวดเร็ว เพราะเป็นภาพที่สวย แปลกตา หาดูยาก โดยเฉพาะภาพการบิณฑบาตที่เดินเป็นระเบียบมากราวกับสามเณรที่บวชมานานแล้ว

จุดนี้เอง ที่สร้างความทึ่งให้แก่พวกเราชาวพุทธและทุกคนที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่า การที่หนังสือพิมพ์อันดับ ๑ ของบังกลาเทศประโคมข่าวอันน่าศรัทธาของสามเณรที่เดินบิณฑบาตสะพัดไปทั่วประเทศ ทั้ง ๆ ที่คนส่วนใหญ่ในบังกลาเทศนับถือศาสนาอื่นนั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา

หากท่านผู้อ่านรู้สึกดีกับเรื่องราวดี ๆ อย่างนี้ โปรดแชร์ให้ชาวพุทธทั่วโลกได้ปลื้มกันเถิด เพราะปลายนิ้วคุณอาจจุดประกายให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดบนโลกใบนี้ก็ได้...


Cr. ร.ลิ่วเฉลิมวงศ์ สำนักสื่อธรรมะ
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๙๗ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒


พระศาสนรักขิตะ มหาเถโร
เจ้าอาวาสวัดปันชารีสันติปูร์อรัญกุฏิ
พระมหามิตรา วัดราชปัณนะวิหาร
(พระผู้ประสานงานโครงการ)
เมื่อมีงานบุญ เช่น ทอดกฐิน ชาวพุทธจากทุกหมู่บ้านต่างมาช่วยกันปั่นด้าย
ย้อม เย็บจีวรถวายพระ และแห่มางานบุญอย่างล้นหลาม
 


















แม้ชาวพุทธในบังกลาเทศจะเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยที่สุด
แต่กลับเข้มแข็งเป็นปึกแผ่นมากอย่างเหลือเชื่อ
 



***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/04/buad0562.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๙๗ ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ประจำเดือนของปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่นี่
คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปี (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่
ทำไม..ต้องจัดบรรพชาที่บังกลาเทศ ? ทำไม..ต้องจัดบรรพชาที่บังกลาเทศ ? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:27 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.