เมตตาบารมี เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
"ท่านพึงบำเพ็ญเมตตาบารมีให้เต็มเปี่ยม
ในสิ่งที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ พึงมีจิตเป็นอย่างเดียวกันในหมู่สัตว์
น้ำให้ความเย็นฉ่ำแผ่ซ่านไปทั้งแก่คนชั่วและคนดี ฉันใด
แม้ท่านเป็นผู้มีเมตตาจิตในสัตว์ทั้งปวง ก็จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ฉันนั้น "
พระบรมโพธิสัตว์นอกจากจะมีปัญญาเห็นทุกข์
เห็นโทษในการเวียนว่ายตายเกิดและหาทางหลุดพ้นจากสังสารวัฏแล้ว
ยังอาศัยความเมตตาอันไม่มีประมาณนี่แหละ จึงต้องอดทนสร้างบารมีอย่างน้อย ๔
อสงไขยแสนมหากัป กล่าวได้ว่า "อยากเป็นพระพุทธเจ้าเพราะเปี่ยมล้นด้วยความเมตตา
คือไม่ยอมไปนิพพานตามลำพัง แต่จะนำพาสรรพสัตว์ไปสู่ฝั่งพระนิพพานด้วย"
ดังนั้น หลังจากที่ได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว ท่านสุเมธดาบสจึงมุ่งสร้างเมตตาบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ชนิดที่ว่า ยอมตายไม่ยอมแล้งน้ำใจนั่นเอง ถ้าไม่ทรงมีพระเมตตาก็คงไม่ยอมอดทน
สร้างบารมีชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันอย่างนี้หรอก
ความเมตตาเป็นทางมาแห่งสันติสุขที่ยั่งยืน
คนมีเมตตาคือคนที่มีจิตอ่อนโยน ไม่พยาบาท
แม้จะมีผู้มาทำร้ายหมายเอาชีวิตก็ไม่คิดทำร้ายตอบ
เพราะเป็นการผูกเวรสร้างกรรมกันข้ามภพข้ามชาติ ไม่รู้จักจบสิ้น อยู่ที่ไหนก็ร่มเย็น
เป็นที่รักของมนุษย์และเทวดา ถ้ามีจิตเมตตาด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้ว
เรื่องร้ายจะกลายเป็นดี และพลิกวิกฤตเป็นโอกาสอย่างน่าอัศจรรย์
เมตตา
ทางมาแห่งสันติ
สมัยหนึ่งพระโพธิสัตว์ได้บังเกิดเป็นโอรสพระเจ้ากรุงพาราณสี
ครั้นทรงเติบใหญ่ก็ได้สืบต่อราชสมบัติ มีพระนามว่า "พระเจ้าเอกราช" ทรงเป็นพระราชาผู้ประพฤติธรรม
ทรงรักษาอุโบสถศีลและทรงหมั่นสงเคราะห์อาณาประชาราษฎร์ โดยโปรดให้สร้างโรงทานไว้ ๖
แห่ง ทรงบริจาคทรัพย์เพื่อใช้ในโรงทานถึงวันละ ๖๐๐,๐๐๐ กหาปณะ ทรงเป็นพระราชาที่เปี่ยมด้วยพระเมตตา
อยู่มาวันหนึ่ง
ได้มีอำมาตย์คนหนึ่งคิดก่อการกบฏ แต่มีหน่วยข่าวกรองรายงานให้ทราบเสียก่อน
จึงทรงเรียกอำมาตย์คนนั้นมาสอบถาม และทรงเนรเทศไปอยู่แคว้นอื่น
ถึงกระนั้นก็ยังทรงเมตตาประทานทรัพย์ติดตัวเพื่อไปสร้างฐานะที่ต่างแคว้นอีกด้วย อำมาตย์ชั่วจำเป็นต้องอพยพไปแคว้นโกศล
ได้ใช้ความสามารถเข้ารับราชการในวังของพระเจ้าทัพพเสนะผู้ครองแคว้นนั้น ต่อมา
อำมาตย์ชั่วก็คิดจะล้างแค้นพระเจ้าเอกราชที่ทรงขับไล่ออกจากแคว้น
จึงได้ทูลพระเจ้าทัพพเสนะว่า “บัดนี้กรุงพาราณสีก็เปรียบเหมือนรังผึ้งที่ไร้ตัวผึ้ง เพราะพระราชาอ่อนแอ หากจะยึดราชสมบัติก็ทำได้ง่ายดาย พระเจ้าข้า” เพื่อความมั่นใจพระเจ้าทัพพเสนะทรงใช้แผนอุบายส่งโจรไปทำการปล้นฆ่าคนในแคว้นกาสี
ทรงได้รับรายงานกลับมาว่า พระเจ้าเอกราชรับสั่งให้ปล่อยโจรเหล่านั้นไป ทั้งยังทรงมอบทรัพย์ให้พวกโจรไปตั้งตัวทำมาหากินอีกด้วย
พระเจ้าทัพพเสนะจึงทรงตัดสินพระทัยกรีฑาทัพไปแคว้นกาสีเพื่อยึดกรุงพาราณสีทันที
บททดสอบพระบารมี
ฝ่ายทหารหน่วยข่าวกรองของพระโพธิสัตว์ครั้นทราบว่าข้าศึกจะยกทัพมาตีเมือง
จึงรีบเข้ากราบ ทูลรายงานว่า "บัดนี้พระเจ้าทัพพเสนะจะยกทัพมายึดเมืองพวกเรา แต่พระองค์ไม่ต้องห่วง เพราะพวกข้าพระองค์จะจับพระเจ้าทัพพเสนะตั้งแต่ยังไม่เข้าเขตเมือง แล้วจะเฆี่ยนโบยให้เข็ดหลาบ พระเจ้าข้า”
แต่พระโพธิสัตว์ผู้เปี่ยมพระเมตตากลับ ตรัสห้ามว่า “พวกท่านอย่าต้องลำบากเลย ปล่อยให้เขามายึดเถิด” เหล่าทหารล้วนแปลกใจ แต่ก็ไม่สามารถจะทูลแย้งได้ พอฝ่ายข้าศึกยกทัพมาถึงประตูเมืองแล้ว ก็ทรงส่งสาส์นมาท้ารบว่า “พระองค์ จะมอบราชสมบัติให้ดี ๆ หรือจะรบกับเรา”
พระโพธิสัตว์ก็ทรงส่งสาส์นตอบกลับไปว่า
“เราไม่ปรารถนาจะรบ
แต่ขอให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบ ร่มเย็นเถิด ..สงครามไม่ใช่ทางสู่ความสุขที่ยั่งยืน”
พระเจ้าเอกราชทรงรับสั่งมิให้ใครปิดประตูเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้ทัพโกศลเข้ามา ส่วนพระองค์ก็ทรงประทับนั่งรออยู่บนบัลลังก์ พระเจ้าทัพพเสนะผู้กระหายสงครามจึงทรงยกทัพเสด็จเข้าเมืองอย่างง่าย
ๆ ไร้ข้าศึกต่อต้าน จากนั้นจึงทำการยึดราชสมบัติทั้งหมดและรับสั่งให้จับพระโพธิสัตว์ไปฝังกลบในหลุมให้เหลือเพียงพระศอ
(คอ)
อานุภาพแห่งเมตตา
พระโพธิสัตว์แม้จะทรงถูกลงอาญา ก็มิได้ทรงแค้นเคืองพระเจ้าทัพพเสนะเลย
ทรงเจริญเมตตาแผ่ไปยังพระเจ้าทัพพเสนะด้วยใจที่บริสุทธิ์ อานุภาพแห่งเมตตาได้ก่อเกิดเป็นฌานอภิญญา
ทำให้พระองค์ หลุดจากหลุมทรายที่กลบฝังตัว
แล้วเหาะขึ้นมาประทับนั่งขัดสมาธิลอยอยู่ในอากาศ
ทันใดนั้นเองพระเจ้าทัพพเสนะก็ทรงรู้สึกเร่าร้อนในพระวรกายถึงขั้นส่งเสียงร้องดัง
ๆ ว่า “เราโดนไฟคลอก ๆ ร้อน เหลือเกิน ๆ “
“ พร้อมกับทรงล้มกลิ้งเกลือกไปมาด้วยความทุรนทุราย ราชบุรุษรายงานว่า “ข้าแต่มหาราช
ที่เป็นเช่นนี้เพราะทรงรับสั่งให้ฝังพระเจ้าเอกราช พระเจ้าข้า” งั้นก็ให้รีบไปนำตัวพระราชาขึ้นจากหลุมเถอะ
พอทหารรีบไปดูก็ได้เห็นพระโพธิสัตว์กำลังนั่งขัดสมาธิลอยในอากาศ
จึงรีบกลับมารายงาน พระเจ้าทัพพเสนะรีบเสด็จไปขอขมาพระโพธิสัตว์ แล้วถวายราชสมบัติคืน
หลังจากนั้นรับสั่งให้ลงอาญาอำมาตย์ชั่วและเสด็จกลับแคว้นโกศลทันที..
เมื่อเหตุการณ์สงบลง พระโพธิสัตว์เบื่อหน่ายชีวิตการครองเรือน ทรงสละราชสมบัติแล้วบวชเป็นฤๅษี
ทรงสั่งสอนมหาชนให้ตั้งอยู่ในศีล ครั้นพระองค์ละโลกก็ไปบังเกิดในพรหมโลก
เราจะเห็นว่า...พลังมวลแห่งความเมตตาสามารถหยุดยั้งเรื่องร้าย
ๆ ลงได้ การมีเมตตาต่อกันและกันจะทำให้ความสงบร่มเย็นบังเกิดขึ้น
สำหรับหลักวิธีการเจริญเมตตาในพระพุทธศาสนา
ผู้ปฏิบัติต้องมีสภาวะใจที่หยุดนิ่งเป็นสมาธิก่อน
แล้วจึงแผ่เมตตาให้ตนเองเป็นอันดับแรก ถัดไปแผ่ให้บุคคลผู้ใกล้ชิดหรือคนที่เคารพ
โดยตรึกระลึกถึงคุณธรรมที่น่าเคารพของท่านก่อน จากนั้นจึงแผ่เมตตาไร้ขอบเขตให้แก่สรรพสัตว์เพื่อนร่วมวัฏสงสารโดยถ้วนหน้าในทุกทิศ
โดยมีตัวเราเป็นจุดศูนย์กลางแห่งกระแสเมตตา
จุดประสงค์การฝึกเจริญเมตตานั้น
ก็เป็นไปเพื่อให้ใจของเราผ่องใสและชุ่มเย็นอยู่ภายใน หลุดพ้น
จากโทสะและความขัดเคือง เป็นการฆ่าความโกรธในจิตใจ และทำให้ใจมีสภาวะเป็นกลาง ๆ
คือ จะรักในสรรพสัตว์เสมอเหมือนกัน ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง
อานิสงส์ของการเจริญเมตตา
๑. หลับเป็นสุข.. ดุจเข้าสมาบัติ
๒. ตื่นเป็นสุข..
แช่มชื่นดุจปทุมแย้มบาน
๓. ไม่ฝันร้าย.. ฝันแต่สิ่งดีมีมงคล
๔. เป็นที่รักของมนุษย์..
ดุจสร้อยอัญมณีเป็นที่รักที่เจริญใจผู้ได้พบเห็น
๕. เป็นที่รักของอมนุษย์..
มนุษย์รักฉันใด อมนุษย์ก็เช่นกัน
๖. เทวดาตามดูแลรักษา..
ดุจบิดามารดาดูแลบุตร
๗. ไฟ ยาพิษหรืออาวุธใด ๆ
ไม่อาจกล้ำกรายได้
๘. จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิเร็ว
๙. ใบหน้าผ่องใสเป็นปกติ
๑๐. เมื่อตายจะมีสติมั่นคงไม่ฟั่นเฟือน
๑๑. หากยังไม่หมดกิเลส..
เมื่อได้ฌานสมาบัติ ย่อมไปเกิดในพรหมโลก
มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดจากตน
ยอมสละได้แม้กระทั่งชีวิต ฉันใด บุคคลผู้ฉลาดในประโยชน์
พึงเจริญเมตตาไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น (พุทธพจน์)
Cr. เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต
ป.ธ.๙/ พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี
ป.ธ. ๙
ภาพประกอบ
: กองพุทธศิลป์
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๒๑
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕
คลิกอ่านปกิณกธรรมของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
เส้นทางสู่พระโพธิญาณ
ทานบารมี ต้นทางสู่โพธิญาณ
มหาทาน สนั่นโลกธาตุ
ศีลบารมี ยอมตายไม่ยอมเสียศีล
เนกขัมมบารมี วิถีสมณะ
ปัญญาบารมี ความรู้เพื่อการดับทุกข์
วิริยบารมี ยอมตายไม่ยอมแพ้
ขันติบารมี ตบะธรรมนำสู่นิพพาน
สัจจบารมี ยอมตายไม่ยอมคด
อธิษฐานบารมี ยอมตายไม่ยอมทิ้งเป้าหมาย
อุเบกขาบารมี ใจหยุดคือที่สุดของอุเบกขา
อธิษฐานบารมี ยอมตายไม่ยอมทิ้งเป้าหมาย |
อุเบกขาบารมี ใจหยุดคือที่สุดของอุเบกขา |
คลิกอ่านปกิณกธรรมของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
เส้นทางสู่พระโพธิญาณ
ทานบารมี ต้นทางสู่โพธิญาณ
มหาทาน สนั่นโลกธาตุ
ศีลบารมี ยอมตายไม่ยอมเสียศีล
เนกขัมมบารมี วิถีสมณะ
ปัญญาบารมี ความรู้เพื่อการดับทุกข์
วิริยบารมี ยอมตายไม่ยอมแพ้
ขันติบารมี ตบะธรรมนำสู่นิพพาน
สัจจบารมี ยอมตายไม่ยอมคด
อธิษฐานบารมี ยอมตายไม่ยอมทิ้งเป้าหมาย
อุเบกขาบารมี ใจหยุดคือที่สุดของอุเบกขา
เมตตาบารมี เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:50
Rating:
กราบนมัสการ
ตอบลบกราบอนุโมทาน อ่านแล้ว เข้าใจง่าย
สมบูรณ์ นำมาปรับใช้ได้จริง
สาธุ สาธุ สาธุ 🌿🌸🌿