มหาทาน สนั่นโลกธาตุ
"เราสละกัณหาชาลีและพระนางมัทรีเป็นทาน
บุตรทั้งสองของเรา เราไม่ได้เกลียด พระนางมัทรี เราก็ไม่เกลียด แต่สัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรายิ่งกว่า
เพราะฉะนั้น เราจึงได้ให้บุตรและภรรยาอันเป็นที่รักของเราไป"
มโนปณิธานของพระบรมโพธิสัตว์นั้นแตกต่างจากคนทั่วไป
ท่านมีจิตใจที่ยิ่งใหญ่ เสียสละเกินคาดหมายของบุคคลทั่วไป เพราะท่านมุ่งมั่นจะนำพาหมู่สัตว์ให้รอดพ้นจากภัยในสังสารวัฏ
กว่าจะได้ตรัสรู้ธรรมต้องบำเพ็ญปัญจมหาบริจาค คือ บริจาค อวัยวะ ทรัพย์ บุตร ภรรยา
และชีวิต ซึ่งผู้ไม่รู้บางคนกลับวิจารณ์ว่า การบริจาคบุตรภรรยาเป็นทาน ผิดหลักการให้ทาน
เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของคนอื่น ดังนั้น บทความนี้จึงอยากทำความกระจ่างให้เกิดขึ้น
เพื่อให้เห็นปณิธานอันยิ่งใหญ่ของผู้มุ่งสู่โพธิญาณ
ซึ่งจะก่อให้เกิดพลังศรัทธาในพุทธคุณอย่างไม่มีประมาณ ดังที่พระเจ้ามิลินท์ได้ถามพระนาคเสนเถระว่า
" ท่านนาคเสน การที่พระเวสสันดรได้ให้บุตรและภรรยาเป็นทานนั้น
ชื่อว่าให้ด้วยความยินยอมของบุตรภรรยาหรือไม่" "ขอถวายพระพร สำหรับภรรยายินยอม แต่บุตรนั้น
เนื่องจากยังเป็นเด็กอยู่ จึงร้องไห้เพราะความคิดถึงบิดามารดา ไม่อยากจากไปเป็นธรรมดา
แต่ก็ยินดีในการบริจาคทานของพระบิดา" คำว่า ยินยอม หมายความว่า
กัณหาและชาลีที่แอบหลบซ่อนอยู่ในกอบัวกลางหนองนํ้า ครั้นได้ฟังปณิธานอันยิ่งใหญ่ของบิดาที่มุ่งจะนำพาหมู่สัตว์ไปสู่นิพพาน
เห็นว่าตนจะเป็นสะพานบุญ มีส่วนในการทำให้ปณิธานของพระบิดาสำเร็จ
จึงตัดสินใจเด็ดเดี่ยว เดินขึ้นจากหนองนํ้าเพื่อเป็นปุตตทานของบิดา แสดงว่ากัณหาและชาลีไม่ได้ถูกบังคับให้ไปเป็นทาสของคนอื่น
แต่ไปด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่ถูกบังคับจิตใจ
นำทุกข์ให้คนอื่น
จะได้สุขหรือไม่
พระเจ้ามิลินท์ยังไม่คลายความสงสัย ตรัสถามต่อว่า
"คนที่ทำผู้อื่นให้เป็นทุกข์ด้วยการให้ทาน
ทานของเขาจะให้ผลเป็นสุข จะทำให้ไปเกิดในสวรรค์ได้ มีอยู่หรือ" "มีอยู่ มหาบพิตร" "ขอพระคุณเจ้าจงแสดงเหตุการณ์เปรียบเทียบด้วยเถิด"
"ขอถวายพระพร ถ้ามีสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีศีล เป็นโรค มีร่างกายอัมพาตไปซีกหนึ่ง
หรือเป็นโรคง่อยเปลี้ย เดินไม่ได้ มีผู้อยากได้บุญคนหนึ่งอุ้มท่านขึ้นรถ แล้วนำไปส่งโรงพยาบาล
ในขณะที่นำไปส่งนั้น คนป่วยได้รับความบอบชํ้าจนไม่อยากจะไป คนอุ้มจะได้บุญ
และได้ไปเกิดในสวรรค์หรือไม่" "ได้สิ พระคุณเจ้า" "ขอถวายพระพร ถ้าเช่นนั้นพระเวสสันดรทำให้พระลูกเจ้าทั้งสองต้องเป็นทุกข์
แต่ย่อมจะได้เสวยสุข แน่นอน ขอมหาบพิตรจงทรงสดับอีกเรื่องหนึ่งให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้
หากพระราชาทรงให้เก็บภาษีโดยชอบธรรม และนำมาบริจาคทานตามพระราชอำนาจที่มีอยู่
พระราชานั้นจะได้ความสุขอันเกิดจากการให้ทานนั้นบ้างหรือไม่" "ได้สิ พระคุณเจ้า
แต่ถึงกระนั้นโยมรู้สึกว่าทานที่พระเวสสันดรทรงทำเป็นอติทาน ซึ่งหมายถึง
เป็นสิ่งที่ทำเกินเลย ทำเกินดี เป็นสิ่งที่น่าตำหนิ
เปรียบเหมือนเกวียนที่บรรทุกสิ่งของหนักเกินไป เพลาเกวียนก็หัก
เรือที่บรรทุกหนักเกินไปก็จม กินอาหารมากเกินไปก็ไม่ย่อย พูดมากเกินไปก็พลาด
ท่านนาคเสน พระเวสสันดรให้ทานเกินไป ทำเกินความพอดี ทานนั้นก็ไม่น่าจะมีผล"
พระเถระวิสัชนาว่า "ขอถวายพระพร อติทาน คือ ทานอันยิ่งใหญ่
ไม่ใช่เป็นการให้เกินตัว เป็นทาน ที่ผู้รู้สรรเสริญ
นักมวยปลํ้าทำให้คู่ต่อสู้ล้มลงเพราะมีกำลังมากกว่า แผ่นดินสามารถรองรับสรรพสิ่งได้เพราะแผ่นดินยิ่งใหญ่กว่า
มหาสมุทรไม่รู้จักเต็มเพราะกว้างใหญ่กว่ามหานทีทุกสาย
อากาศไม่มีที่สุด เพราะอากาศกว้างใหญ่ยิ่ง มนุษย์และเทวดาย่อมหมอบกราบพระภิกษุ
เพราะมีศีลยิ่งกว่า พระพุทธเจ้าไม่มีผู้เปรียบเทียบ เพราะเป็นผู้วิเศษยิ่งกว่า ดังนั้น มหาทานของพระเวสสันดรจึงนับเป็นอติทาน
เมื่อเทียบกับผลทานที่ยิ่งใหญ่ไพศาล ไม่ใช่การให้ที่เกินตัวเลย อติทานนี้ได้ส่งผลให้ท่านได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ
เพราะความเป็นทานอันยิ่งใหญ่ พระเวสสันดรจึงได้เป็นพระพุทธเจ้าผู้เลิศที่สุด เป็นครูของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย"
บริจาคตัวเองแทนลูกได้ไหม
พระเจ้ามิลินท์สดับคำตอบแล้วก็ยังไม่หายสงสัย
ตรัสถามต่อว่า "พระคุณเจ้า
การที่พระโพธิสัตว์ได้ให้บุตรสุดที่รักเพื่อไปเป็นทาสของชูชก เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
ข้าพเจ้าเลื่อมใสยิ่งนัก แต่อยากรู้ว่า พระเวสสันดรผู้มุ่งความสุข
เหตุไรจึงทำทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ควรที่พระเวสสันดรบริจาคตนเองเป็นทานจะไม่ดีกว่าหรือ"
พระเถระตอบด้วยปัญญาอันเฉียบแหลมว่า “ขอถวายพระพร
เพราะท่านได้ทำสิ่งที่ทำได้ยาก จึงมี
เสียงสรรเสริญทั่วหมื่นโลกธาตุ กิตติศัพท์นั้นแสดงให้เห็นคุณของพระโพธิสัตว์ผู้มีสติปัญญา
ผู้รู้แจ้งเห็นแจ้งทั้งโลกนี้และโลกหน้า การบริจาคตนเองเป็นทานไม่ใช่การกระทำของสัตบุรุษ
คือ เมื่อเขาขอสิ่งใดก็ควรให้สิ่งนั้น เมื่อชูชกขอบุตรธิดา
ผู้เป็นทานบดีย่อมต้องบริจาคตามที่ขอมา แต่ถ้าพราหมณ์ ขอตัวของพระเวสสันดร
พระองค์ก็ต้องบริจาคพระองค์ยอมตนไปเป็นทาสอยู่แล้ว เพราะพระองค์ได้บริจาคเลือด
เนื้อ และชีวิตมานับชาติไม่ถ้วน คนอยากรวยเที่ยวแสวงหาทรัพย์ ออกเดินทางค้าขาย
ตามหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อให้ได้ทรัพย์ ฉันใด พระเวสสันดรผู้ปรารถนาสัพพัญญุตญาณ
ก็ทรงแสวงหา ด้วยการพระราชทานทรัพย์ บุตรภรรยา ตลอดถึงเลือด เนื้อ หัวใจ
กระทั่งชีวิตของพระองค์ ฉันนั้น
"ครั้นพระเวสสันดรพระราชทานลูกทั้งสองแล้ว
ได้เสด็จเข้าไปในบรรณศาลา ด้วยความรักและห่วงหาอาทรอย่างสุดซึ้งถึงกับทรงกรรแสง
ดวงหทัยได้ร้อนผ่าวขึ้น ทรงปล่อยลมหายใจร้อน ๆ ออกมาทางปาก
มีนํ้าตาเจือโลหิตไหลนองอาบสองแก้ม ด้วยความที่ทรงรักพระราชโอรสธิดาอย่างยิ่ง
แต่ได้ทรงอดกลั้นความเศร้าโศกเอาไว้ เพราะทรงดำริว่า อย่าให้ทานของเราเสียไปเลย
"
พระเจ้ามิลินท์ฟังวิสัชนาแล้วได้ให้สาธุการว่า
"พระคุณเจ้าได้ทำลายความเข้าใจผิดของโยม
โดยแสดงเหตุผลได้ชัดเจนเหลือเกิน"
ท่านสาธุชนทั้งหลาย การให้ของพระเวสสันดรนั้น
เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่และสูงสุด
การที่ทรงบริจาคลูกทั้งสองนอกจากไม่เป็นบาปแล้ว ยังเป็นทางมาแห่งบุญของทั้งสองฝ่าย
เพราะลูกจำเป็นต้องช่วยเหลือบิดามารดา แม้ชีวิตของตนก็ควรสละ
ผู้สละชีวิตเพื่อบิดามารดา ได้ชื่อว่าเป็นลูกยอดกตัญญู เป็นบุญของลูกโดยแท้
อีกทั้งผลบุญนี้ได้ส่งข้ามชาติ คือ พระโอรสได้มาบังเกิดเป็นราหุลกุมาร
ออกบวชตั้งแต่ ๗ ขวบ ได้บรรลุธรรม ส่วนพระธิดาได้มาเกิดเป็นอุบลวรรณาเถรี
อัครสาวิกาเบื้องซ้ายผู้มีฤทธิ์มาก ดังนั้น
มหาทานบารมีจึงเป็นสิ่งที่นักสร้างบารมีพันธุ์รื้อวัฏฏะต้องทำเป็นประจำ
จะได้เป็นเสบียง
ในการทำศึกในสนามรบแห่งสังสารวัฏที่มีพญามารคอยชักใยอยู่เบื้องหลัง
นอกจากจะรบชนะกิเลสแล้ว ยังต้องปราบมารให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษอีกด้วย
แล้วจะไม่ให้ทำทานชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันได้อย่างไร...
Cr. เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ.
๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙
ภาพประกอบ
: กองพุทธศิลป์
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๑๓
เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
คลิกอ่านปกิณกธรรมของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
เส้นทางสู่พระโพธิญาณ
ทานบารมี ต้นทางสู่โพธิญาณ
ศีลบารมี ยอมตายไม่ยอมเสียศีล
เนกขัมมบารมี วิถีสมณะ
ปัญญาบารมี ความรู้เพื่อการดับทุกข์
วิริยบารมี ยอมตายไม่ยอมแพ้
ขันติบารมี ตบะธรรมนำสู่นิพพาน
สัจจบารมี ยอมตายไม่ยอมคด
อธิษฐานบารมี ยอมตายไม่ยอมทิ้งเป้าหมาย
เมตตาบารมี เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
อุเบกขาบารมี ใจหยุดคือที่สุดของอุเบกขา
ทานบารมี ต้นทางสู่โพธิญาณ |
ศีลบารมี ยอมตายไม่ยอมเสียศีล |
คลิกอ่านปกิณกธรรมของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
เส้นทางสู่พระโพธิญาณ
ทานบารมี ต้นทางสู่โพธิญาณ
ศีลบารมี ยอมตายไม่ยอมเสียศีล
เนกขัมมบารมี วิถีสมณะ
ปัญญาบารมี ความรู้เพื่อการดับทุกข์
วิริยบารมี ยอมตายไม่ยอมแพ้
ขันติบารมี ตบะธรรมนำสู่นิพพาน
สัจจบารมี ยอมตายไม่ยอมคด
อธิษฐานบารมี ยอมตายไม่ยอมทิ้งเป้าหมาย
เมตตาบารมี เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
อุเบกขาบารมี ใจหยุดคือที่สุดของอุเบกขา
มหาทาน สนั่นโลกธาตุ
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
19:36
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: