ทานบารมี ต้นทางสู่โพธิญาณ



"เราจักเลือกเฟ้นธรรมที่จะทำให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ ทั่วทั้งสิบทิศ ตลอดถึงธรรมธาตุ เมื่อเราเลือกเฟ้นอยู่ในกาลนั้น ได้เห็นทานบารมีอันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๑ เป็นทางใหญ่ ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเลือกเฟ้นแล้ว จึงสอนตนว่า เธอจงบำเพ็ญทานบารมี สมาทานให้มั่น หม้อน้ำที่ใครคนหนึ่งคว่ำปากลง น้ำก็ออกจากหม้อมิได้เหลืออยู่เลย ฉันใด เธอเห็นคนมาขอสิ่งของทั้งที่เป็นชั้นต่ำ ชั้นกลาง ชั้นสูง จงให้ทานโดยไม่เหลือ เหมือนหม้อน้ำที่เขาคว่ำปาก ฉันนั้น" (นิทานกถา)

หลังจากที่ท่านสุเมธดาบสได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว ก็ตรวจตราพิจารณาว่า จะต้องบำเพ็ญความดีอะไรบ้างถึงจะได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านใช้อภิญญาระลึกชาติ สอนตนเองว่าการเกิดที่จะได้สร้างบุญบารมีได้เต็มที่ต้องใช้กายมนุษย์ แต่กายมนุษย์นี้ยังตกอยู่ในไตรลักษณ์ มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไป อยู่ได้ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ต้องมีปัจจัยสี่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง หากขาดสิ่งเหล่านี้แล้วร่างกายย่อมดำรงอยู่ไม่ได้ หากเกิดไปแล้วขาดปัจจัยสี่คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค วันเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดในชีวิตนั้น ก็ต้องหมดไปกับการแสวงหาปัจจัยสี่ ที่สำคัญ คือ ท่านไม่ได้ปรารถนาบรรลุธรรมตามลำพังแต่ต้องการให้สรรพสัตว์ข้ามพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏไปด้วย ในระหว่างการสร้างบารมีต้องมีเสบียงเพื่อหล่อเลี้ยงบริวาร มีสถานที่รองรับหมู่คณะ ยิ่งเป้าหมายใหญ่ ยิ่งต้องอาศัยสถานที่เพื่อรองรับการบำเพ็ญบารมีมากเท่านั้น เรียกง่าย ๆ คือ ทั้งที่ทีม ทุนต้องพร้อม จึงจะเผยแผ่ธรรมะได้สะดวก

ท่านสุเมธดาบสรู้ว่า ทานบารมีนี้เป็นบารมีที่สำคัญมาก ขาดทานบารมีแล้วจะเสียเวลาไปกับการ แสวงหาปัจจัยสี่ ทำให้บำเพ็ญบารมีข้ออื่นได้ลำบากตามไปด้วย ท่านจึงสอนตนเองว่า จะบำเพ็ญทาน บารมีประหนึ่งหม้อที่คว่ำ เทน้ำออกหมดไม่ให้เหลือเลย นี่เป็นความคิดอันยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่นิพพาน ซึ่งเป็นความคิดที่คนธรรมดาไม่กล้าคิดกัน

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเป็นพระราชากรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ดำรงตำแหน่งเศรษฐี ได้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือ ที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ทิศ ที่ใจกลางเมือง ๑ แห่ง และที่บริเวณประตูคฤหาสน์ของท่านอีก ๑ แห่ง ท่านได้บริจาคทานทุกวัน และ รักษาอุโบสถศีลเป็นนิจ  วันหนึ่งขณะคนรับใช้กำลังนำอาหารเช้ามีรสเลิศมาให้ท่านเศรษฐี พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ เหาะมาทางอากาศเพื่อโปรดท่านเศรษฐี


พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ยืนอยู่ที่ซุ้มประตูคฤหาสน์ ท่านเศรษฐีเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแต่ไกล และปรารถนาจะถวายทาน ทันทีที่คิดจะทำความดี มารผู้มีใจบาปทนไม่ได้ ถึงกับสั่นสะท้านคล้ายคนไข้ที่แสลงน้ำเย็น คิดว่า "พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่ได้ฉันอาหารมา ๗ วันแล้ว วันนี้หากไม่ได้อาหารก็จะต้องปรินิพพาน เราจะทำให้พระปัจเจกพุทธเจ้าพินาศให้ได้" จึงรีบตรงไปบ้านท่านเศรษฐี และเนรมิตหลุมถ่านเพลิงกว้าง ๘๐ ศอก มีเปลวไฟร้อนแรงแดงฉานลุกโพลงจากใต้พิภพ

เศรษฐีให้คนใช้ไปรับบาตรจากพระปัจเจกพุทธเจ้า คนใช้เห็นเหตุการณ์นั้นก็ตกตะลึงด้วยความ หวาดกลัว รีบกลับไปรายงานท่านเศรษฐี ท่านเศรษฐีได้ส่งคนอื่น ๆ ไปอีก ทุกคนต่างหวาดกลัวพากันหนีกลับเช่นกัน ท่านเศรษฐีจึงคิดว่า "พญามาร คือ ผู้ขัดขวางความดี ต้องการจะทำลายทานของเรา แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น วันนี้เมื่อเราตั้งใจทำความดีแล้ว เราจะต้องทำให้สำเร็จ แม้ว่าจะมีมารมาเป็นร้อย เป็นพัน หรือเป็นแสนก็ตาม ก็ขัดขวางการให้ทานของเราไม่ได้"

ท่านเศรษฐีจึงถือถาดอาหารไปยืนอยู่ที่ปากหลุมถ่านเพลิง เห็นมารยืนอยู่ในอากาศ จึงถามว่า "ท่านเป็นใคร"  "เราคือมาร"  "หลุมถ่านเพลิงนี้ท่านเนรมิตขึ้นหรือ"  เมื่อมารยอมรับ ท่านจึงถามต่อว่า "ท่านเนรมิตเพื่ออะไร" มารตอบว่า "เราต้องการทำอันตรายต่อทานของท่าน และต้องการให้ชีวิตของพระปัจเจกพุทธเจ้าดับสิ้นไป"


ท่านเศรษฐีกล่าวด้วยน้ำเสียงเด็ดเดี่ยวว่า "ใครก็ขัดขวางการให้ทานของเราไม่ได้ แม้เราจะต้องตกลงไปในหลุมถ่านเพลิงมีหัวดิ่งลง เอาเท้าชี้ฟ้า ร่างกายจะมอดไหม้เป็นเถ้าถ่านก็ตาม แต่ดวงวิญญาณของเราก็มุ่งมั่นทำความดีให้สำเร็จดังที่ได้ตั้งใจไว้" ว่าแล้วก็กราบอาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า "ขอท่านผู้เจริญได้โปรดรับภัตตาหารของข้าพเจ้าด้วยเถิด"

ท่านเศรษฐีสำรวมจิตมั่น ก้าวลงไปในหลุมถ่านเพลิงด้วยความกล้าหาญ โดยไม่หวาดหวั่นต่อมรณภัย มีใจผ่องใสตั้งมั่นอยู่ในบุญ และด้วยอานุภาพแห่งความเชื่อมั่นในบุญ ดอกบัวใหญ่ก็ผุดขึ้นมารองรับเท้าทุกย่างก้าวของเศรษฐี อีกทั้งมีเกสรดอกบัวหอมฟุ้งกระจาย โปรยปรายลงใส่ร่างกายของท่านเสมือนหนึ่งพร่างพรมด้วยละอองทองคำ

เปลวเพลิงอันร้อนแรงนั้น ไม่อาจเผาไหม้กายของท่านเศรษฐี แม้เพียงปลายเส้นขนก็ไม่ระคาย เคืองแต่อย่างใด ท่านเศรษฐีก้าวเดินไปบนดอกบัว ยืนถวายภัตตาหารอันมีรสเลิศลงในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้ารับภัตตาหารแล้ว ได้กระทำอนุโมทนา และประสงค์จะประกาศการสร้างความดีของท่านเศรษฐี จึงลอยบาตรขึ้นไปในอากาศ เมื่อมหาชนทั้งหลายออกมาดู ท่านก็เหาะขึ้นสู่เวหามุ่งไปป่าหิมพานต์เหมือนเดินย่ำไปบนกลีบเมฆ ฉะนั้น


เมื่อฝ่ายมารพ่ายแพ้ต่อความดี ก็รู้สึกเสียใจที่ขัดขวางไม่สำเร็จ จึงอันตรธานหายไป ชาวเมืองพากันมาที่บ้านของท่านเศรษฐี ต่างแซ่ซ้องสาธุการในวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ที่กล้าเอาชีวิตเข้าแลก เพื่อจะได้ถวายทานพระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านเศรษฐีจึงถือโอกาสชักชวนชาวเมืองให้อาจหาญในการทำความดี หมั่นทำทานและรักษาศีล มหาชนฟังแล้วเกิดความเลื่อมใส ต่างมีใจมุ่งมั่นในการบำเพ็ญบุญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ละโลกแล้วก็ไปบังเกิดในสวรรค์

ยอดนักสร้างบารมีทั้งหลาย พระโพธิสัตว์เจ้านั้นไม่เคยท้อแท้ในการให้ทาน เพราะทานเป็นก้าวแรกที่จะต้องทำให้เต็มเปี่ยม เพื่อสนับสนุนให้การสร้างบารมีข้ออื่นสะดวกสบายยิ่งขึ้น ทานบารมีเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ หากไม่ได้สั่งสมทานบารมีก็เหมือนรถที่ไม่มีน้ำมัน ซึ่งไม่อาจจะนำพาชีวิตเราไปสู่จุดหมายปลายทางได้ ดังนั้น ทุกท่านก็ต้องทุ่มเทสร้างมหาทานบารมีให้เต็มที่ อย่าให้ความตระหนี่มาครอบงำจิตใจ จะต้องฆ่าความตระหนี่ให้ได้  เราต้องเดินตามรอยมหาปูชนียาจารย์ ผู้มีมโนปณิธานอันยิ่งใหญ่ที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่ฝั่งนิพพานให้หมด ใจของท่านยิ่งใหญ่ขนาดนั้นทีเดียว นั่นแสดงว่าบุญบารมีในตัวท่านต้องมีมากเป็นพิเศษ เพราะท่านมองเห็นว่าทุกสิ่งเป็นไปได้ ถ้าทุ่มเทชีวิตจิตใจกันจริง ๆ และทำกันไปเป็นทีม จึงไม่แปลกใจที่พวกเราจะมีอุปนิสัยรักการสร้างมหาทานกันเป็นทีม ตามเยี่ยงอย่างท่านและทำบ่อย ๆ ไม่เคยขาดจนกลายเป็นลมหายใจแห่งการสร้างบารมีจนกว่าจะไปสู่ดุสิตบุรีกันทุกคน

......ทาน ท่านกล่าวว่าเป็นต้นเหตุของความสุข เป็นบันไดไปสู่นิพพาน ทานเป็นประดุจนาวาเพราะช่วยพาให้ข้ามทุกข์... ชนใดเล่า เมื่อได้ยินว่าทานเป็นแดนเกิดสวรรค์สมบัติแล้ว จะไม่ให้ทานอันนำไปสู่ความสุขเป็นไม่มี ทานนั้นย่อมให้สาวกภูมิ ปัจเจกพุทธภูมิ ตลอดถึงพุทธภูมิ...


Cr. เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ.๙ /
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
ทานบารมี ต้นทางสู่โพธิญาณ ทานบารมี  ต้นทางสู่โพธิญาณ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 22:56 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.