ปัญญาบารมี ความรู้เพื่อการดับทุกข์



" ดูก่อนสุเมธดาบส ท่านพึงบำเพ็ญปัญญาบารมี ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เดินบิณฑบาตตามลำดับตรอก ไม่เลือกว่าเป็นบ้านเศรษฐี หรือ คนยากไร้ ขอเพียงได้อาหารพอยังชีพก็พอ ฉันใดตัวท่านจงอ่อนน้อมเข้าหาครูทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นล่าง พึงเข้าไปหาบัณฑิตไต่ถามปัญหา จะได้เป็นพระพุทธเจ้า "

ครั้งที่แล้ว ได้กล่าวถึงการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี ฝึกตัวไม่ให้ไปยึดติดในลาภ ยศ สรรเสริญ ไม่เกาะเกี่ยวในเบญจกามคุณทั้งห้า สลัดให้หลุดจากการครองเรือน หันมาทำใจให้เกาะเกี่ยวอยู่ในกระแสของพระนิพพานอย่างเดียว ครั้นตรวจตราต่อไปก็พบว่า อวิชชา คือ ความไม่รู้ ครอบงำสรรพสัตว์ ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากภพสามไปได้ ดังนั้น จะต้องแสวงหาความรู้ ๓ อย่าง คือ  สุตมยปัญญา  คือความรู้จากการได้ยินได้ฟังจากครูอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงต่าง ๆ  จินตมยปัญญา  ความรู้จากการไตร่ตรองทดลองและพิสูจน์ด้วยตนเอง และ ภาวนามยปัญญา  ความรู้แจ้งอันเกิดจากการทำสมาธิ อยู่ในขั้นวิปัสสนามีความสว่างภายในนำไปสู่การเห็น และรู้แจ้งตามความเป็นจริง แล้วทำลายอวิชชาให้หมดสิ้นไป

แสวงหาปัญญาทางมาสู่ความรู้แจ้ง

บางภพชาติท่านเกิดในยุคสมัยที่จะหาผู้คนรู้ธรรมสักบทก็ไม่มี แต่รู้ว่าหนุ่มจัณฑาลเป็นคนมีปัญญา ก็อ่อนน้อมถ่อมตนเข้าไปเรียนวิชา ด้วยตระหนักว่า "มหาสมุทรซึ่งเป็นที่ไหลมารวมกันของน้ำจากทุกสารทิศ จะต้องมีระดับพื้นที่ต่ำกว่าพื้นที่บริเวณต้นน้ำทั้งหลาย ฉันใด ผู้ที่ต้องการจะรับการถ่ายทอดคุณความดีจากคนอื่น ก็จะต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนก่อน ฉันนั้น"  หรือบางชาติแค่คำว่า เทวธรรมคืออะไร ก็ไม่มีใครรู้  มีเพียงยักษ์ตนเดียวเท่านั้นที่มีอายุยืน เคยได้ยินได้ฟังมาจากผู้รู้ ในอดีต ถ้าอยากรู้ต้องกระโดดเข้าปากให้ยักษ์กินเป็นค่าตอบแทน พระโพธิสัตว์ก็ยินยอมโดยไม่เสียดายชีวิต ขอเพียงก่อนตายให้ได้ฟังคำว่า เทวธรรมคืออะไร  จากนั้นท่านก็ค่อย ๆ เริ่มสั่งสมปัญญาที่จะนำพาให้หลุดพ้นจากทุกข์  บางชาติท่านเกิดมาพร้อมด้วยสหชาติปัญญาที่เฉียบแหลมมาก ก็ใช้ปัญญาสร้างบารมีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

เรื่องมีอยู่ว่า ในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์กำเนิดในตระกูลพราหมณ์ ชื่อเสนกะ เมื่อโตขึ้นเรียนจบศิลปะทุกชนิดจากเมืองตักศิลาแล้ว จึงได้เป็น เสนกบัณฑิต ทำหน้าที่เป็นอำมาตย์ที่ปรึกษาของพระราชา เสนกบัณฑิตเป็นผู้แสดงธรรมได้ลุ่มลึก ไพเราะ และสมบูรณ์ด้วยภูมิปัญญาที่หาใครเทียบไม่ได้ ที่สำคัญท่านเป็นผู้รักษาศีลประพฤติธรรมเป็นปกติ

ใช้ปัญญาช่วยชีวิตชายแก่

สมัยนั้น มีพราหมณ์ชราคนหนึ่งเที่ยวขอทาน ได้เงินมา ๑,๐๐๐ กหาปณะ ก็ไปฝากไว้กับเพื่อน ครั้นเวลาไปขอเงินคืน พราหมณ์ผู้เป็นเพื่อนใช้เงินที่ฝากไว้หมดแล้ว จึงยกลูกสาวให้เป็นภริยา นางพราหมณีนั้นยังสาว นางได้เป็นชู้กับพราหมณ์หนุ่มคนหนึ่ง ต่อมา นางอยากได้คนใช้ จึงเตรียมข้าวตูจนเต็มถุง แล้วมอบให้พราหมณ์สามีออกไปเที่ยวขอเงิน

พราหมณ์ชราเที่ยวขอเงินระหว่างทาง โดยหวังว่าจะได้นำเงินไปว่าจ้างคนใช้ให้ภรรยาได้เป็นอยู่อย่างสะดวกสบาย โดยหารู้ไม่ว่าน้องนางได้นอกใจตัวเอง ช่วงบ่าย เมื่อเดินขอทานจนเหนื่อยแล้ว พราหมณ์ได้พักกินข้าวตูใต้ต้นไม้ริมธารแห่งหนึ่ง กินอิ่มแล้วก็ลงไปดื่มน้ำ ล้างหน้าล้างตาด้วยความชุ่มฉ่ำใจ จากนั้นก็รีบออกเดินทางกลับบ้านเพื่อไปหาภรรยาสาว


ระหว่างทาง เทวดาองค์หนึ่งบอกพราหมณ์ว่า "พราหมณ์เอ๋ย ถ้าวันนี้ท่านพักระหว่างทาง ท่านจะต้องตาย แต่ถ้าท่านไปถึงบ้าน ภรรยาของท่านจะต้องตาย พราหมณ์ชราฟังแล้วก็ตกใจ ครั้นจะถามต่อว่าอะไรเป็นสาเหตุให้ตัวเองต้องตาย เทวดาก็หายวับไปเสียก่อน จึงได้แต่เดินร้องไห้คร่ำครวญกลัวตายไปจนถึงประตูนครพาราณสี วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ เป็นวันที่เสนกบัณฑิตแสดงธรรม มหาชนจึงพากันไปฟังธรรม พราหมณ์ชราเห็นเข้าก็เดินตามไป แต่เนื่องจากกลัวตาย จึงได้แต่ยืนร้องไห้อยู่ข้างนอก

เสนกบัณฑิตมองเห็นพราหมณ์ชรายืนร้องไห้อยู่ จึงเรียกเข้ามาถาม ท่านรู้ด้วยปัญญาที่เฉียบแหลม สามารถไตร่ตรองต้นสายปลายเหตุได้ชัดเจนว่า ตอนที่พราหมณ์ทานข้าวเสร็จ ไม่ได้มัดปากถุงเอาไว้ขณะเดินลงไปดื่มน้ำ จึงไม่ทราบว่างูเข้าไปอยู่ในถุงกระสอบ ถ้าพราหมณ์พักระหว่างทาง ก็จักแก้ปากกระสอบแล้วสอดมือเข้าไปเอาข้าวตูออกมารับประทาน เมื่อเป็นเช่นนั้น งูพิษก็จะกัดมือเขาให้เสียชีวิตทันที แต่ถ้าพราหมณ์ไปถึงบ้าน มอบถุงกระสอบมรณะให้ภรรยา พอนางล้วงมือไปแก้ปากถุงเพื่อสำรวจของที่พราหมณ์ได้มา อสรพิษร้ายก็จะฉกกัดนางให้สิ้นใจตายทันที


เสนกบัณฑิตบอกพราหมณ์ให้วางกระสอบลง แล้วเอาไม้เคาะ พราหมณ์สงสัยว่าเสนกะจะค้นกระสอบตัวเองทำไม แต่ก็ทำตามด้วยความงุนงง ทันทีที่ปากกระสอบถูกเปิดออก งูเห่าหม้อตัวใหญ่ก็เลื้อยออกจากปากกระสอบชูคอเห่าฟู่ ๆ ทำเอามหาชนตกอกตกใจกันใหญ่ จากนั้นก็แซ่ซ้องสาธุการในปัญญาอันเฉียบแหลมของพระโพธิสัตว์ เสนกบัณฑิตบอกให้ช่วยกันจับงูไปปล่อย ส่วนพราหมณ์ก็ปีติดีใจที่ตัวเองรอดตายแล้ว

เสนกบัณฑิตบอกพราหมณ์ว่า "ท่านพราหมณ์ เอ๋ย ภรรยาของท่านยังสาว เขาคงกำลังเป็นชู้กับชายอื่น จึงส่งท่านไปขอทาน ถ้าหากท่านไปถึงบ้าน นางจะให้เงินที่ท่านหามาได้ด้วยความยากลำบากแก่ชายชู้" พราหมณ์ชรารีบเดินทางกลับบ้านเพื่อจะไปดูให้แน่ชัดว่า เมียเป็นชู้จริงหรือ ครั้นพิสูจน์ทราบดังนั้นแล้ว จึงเลิกกับนางเด็ดขาด แล้วมาขออยู่ประพฤติธรรมกับเสนกบัณฑิตจนตลอดอายุขัย

ทางมาแห่งปัญญา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้เรามีความเคารพอ่อนน้อมใน ๗ อย่าง ได้แก่ เคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ การศึกษา การทำสมาธิ ความไม่ประมาท และปฏิสันถาร เพราะสิ่งที่ควรเคารพทั้ง ๗ ประการนี้ เป็นประธานของทางมาแห่งคุณธรรม เมื่อเราสามารถตรองจนตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่ควรเคารพอย่างยิ่งนี้ ต่อไปเราก็จะสามารถตรองถึงความดีของคนอื่นและสิ่งอื่นได้ชัดเจนละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น เราย่อมจะกลายเป็นผู้รู้จริงและทำได้จริง ผู้ที่จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ได้รับการยกย่องนับถือจากคนอื่นตลอดไป จะต้องเป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่ในหัวใจ


ดังนั้น นักสร้างบารมีทั้งหลายต้องเป็นผู้มากด้วยความเคารพ มองแต่คุณงามความดีของผู้อื่น และน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ ไม่คอยจับผิด ไม่ถือทิฐิมานะ มีความอ่อนน้อมถ่อมตนในทุกสถาน คนที่อ่อนโยนไม่ใช่คนอ่อนแอ และคนที่แข็งแกร่งไม่ใช่คนแข็งกระด้าง ถ้าหมั่นแสวงหาปัญญาผ่านความเคารพอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นประจำแล้ว ต่อไปตัวเราก็จะกลายเป็นที่รวมแห่งคุณธรรมความดี ใครมีความรู้ดี ๆ ก็อยากถ่ายทอดโดยไม่ปิดบังอำพราง เหมือนมหาสมุทรเป็นที่รวมของแม่น้ำทุกสายที่ไหลมาจากทั่วสารทิศ เมื่อปัญญาบารมีเต็มเปี่ยมจะทำให้ตัวเรามีดวงปัญญาสว่างไสวดุจดวงตะวันทอแสง ขจัดอวิชชาให้หมดสิ้นจากใจได้ในที่สุด

"ผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวว่าปัญญาประเสริฐที่สุด  เหมือนดวงจันทร์ประเสริฐกว่าหมู่ดาว"         



Cr. เรื่อง: พระมหาเสถียร  สุวณฺณฐิโต  ป.ธ.๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี  ป.ธ.๙ 
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
ปัญญาบารมี ความรู้เพื่อการดับทุกข์ ปัญญาบารมี  ความรู้เพื่อการดับทุกข์ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:23 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.