วิริยบารมี ยอมตายไม่ยอมแพ้



"พญาราชสีห์มีความเพียรไม่ย่อหย่อน มีใจประคับประคองตลอดเวลาฉันใด ท่านประคองความเพียรให้มั่นในภพทั้งปวง ถึงความเป็นวิริยบารมีแล้ว จักบรรลุโพธิญาณฉันนั้นเหมือนกัน"

พญาราชสีห์ถือว่าเป็นเจ้าแห่งสัตว์สี่เท้า การเยื้องกรายจะสง่างามมาก เวลาบันลือสีหนาทสัตว์ป่า จะครั่นคร้ามขาสั่นหวั่นไหว เวลานอนก็รักษาความเป็นจ้าวป่าไว้ มีสติสัมปชัญญะ ไม่กลิ้งเกลือกนอนดิ้นไปมาเหมือนสุกร ถ้าตื่นขึ้น หากท่านอนไม่เรียบร้อยเหมือนตอนก่อนนอน แม้จะหิวเท่าไรก็จะไม่ยอมออกหากิน จะฝึกใหม่ด้วยการล้มตัวลงนอนต่อไป กระทั่งเวลาจะตะครุบเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กหรือสัตว์ใหญ่ ก็จะทุ่มเทพละกำลังโถมเข้าตะครุบเหยื่ออย่างเต็มที่ เพราะถ้าเกิดผิดพลาด สัตว์หลบหนีเอาตัวรอดไปได้ จะเสียศักดิ์ศรีของจ้าวป่า

ความเพียรที่แท้จริง

การจะได้บรรลุอภิสัมโพธิญาณก็เช่นกัน พระโพธิสัตว์ต้องมีความเพียรเป็นเลิศ คือ พากเพียรเรียนรู้ ฝึกตนไม่ยั้งหยุดจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง ยอมตายไม่ยอมละทิ้งความเพียร และกล้าเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป คือ

๑. สังวรปธาน  เพียรระวัง คือ ไม่ให้บาปอกุศลเกิดขึ้น

๒. ปหานปธาน  เพียรละ คือ หลีกเลี่ยงความไม่ดีทั้งหลาย

๓. ภาวนาปธาน  เพียรเจริญ คือ สิ่งใดที่ไม่ดี เคยชินอยู่กับสิ่งนั้น ก็ปฏิวัติใหม่ให้ดีขึ้น หรือบุญใด ที่ยังไม่ได้ทำ จะมุ่งมั่นทำให้ยิ่งยวดยิ่ง ๆ ขึ้นไป

๔. อนุรักขนาปธาน  เพียรรักษา คือ ความดีที่มีอยู่ให้รักษาไว้ ความดีอะไรที่คนในโลกไม่กล้าทำ ท่านก็กล้าทำ และทุ่มเททำชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน นี่คือวิริยบารมีของท่าน

พญาม้าโภชาชานียะ

ในสมัยพุทธกาล มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งมีความตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังมาตลอด แต่เมื่อนานวันเข้า ยังไม่เห็นผลของการปฏิบัติ จึงเกิดความท้อแท้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้กำลังใจว่าอย่าได้ท้อแท้ ในการทำความเพียรเลย เพราะนี่คือกรณียกิจของสมณะที่จะต้องเอาชนะกิเลสในใจให้ได้ ว่าแล้วก็นำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าให้ภิกษุรูปนั้นฟังว่า

ในสมัยอดีต พระโพธิสัตว์ได้ถือกำเนิดเป็นม้า ชื่อว่า  โภชาชานียะ  มีลักษณะองอาจสง่างาม สมบูรณ์ด้วยพละกำลัง มีฝีเท้าเร็วประหนึ่งสายฟ้า เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสี พระราชาทรงตั้งพญาม้าให้อยู่ในฐานะสหายของพระองค์ ทรงให้ข้าวสาลีที่เก็บไว้อย่างดีถึง ๓ ปี มีกลิ่นหอมและมีรสเป็นเลิศแก่พญาม้าโภชาชานียะ โดยใส่ไว้ในภาชนะทองคำ นอกจากนี้ ในคอกม้ายังปูลาดด้วยผ้าอ่อนนุ่ม บนพื้นโปรยด้วยดอกไม้หอม มีม่านผ้ากัมพลแดงที่ใช้เป็นฉากกั้น บนเพดานมีผ้าอันวิจิตรด้วยดาวทองระยิบระยับ ห้อยพวงดอกไม้หอมนานาชนิด

นครพาราณสีนี้มีความอุดมสมบูรณ์มาก จึงทำให้เป็นที่ปรารถนาของเจ้าเมืองอื่น เมื่อพระเจ้า-พรหมทัตทรงชราภาพ เจ้าเมืองจาก ๗ พระนคร ได้ร่วมมือกันบุกเข้าล้อมกรุงพาราณสี เพราะต้องการจะยึดเมือง และส่งทูตมาเจรจาให้พระเจ้าพรหมทัตยอมศิโรราบ


เหล่าอำมาตย์กราบทูลว่า ให้ส่งแม่ทัพม้าที่มีความสามารถออกไปทำการรบ พระราชาจึงมีรับสั่ง ให้เรียกแม่ทัพม้าเข้ามา และตรัสถามว่า “ เธอสามารถรบกับเจ้าเมือง ๗ พระนคร ได้หรือไม่” แม่ทัพม้ากราบทูลว่า “ ถ้าข้าพระองค์ออกทำการรบร่วมกับม้าสินธพอาชาไนย ชื่อโภชาชานียะแล้วละก็ อย่าว่าแต่พระราชา ๗ พระองค์เลย แม้พระราชาทั้งชมพูทวีป ข้าพระองค์ก็จักสามารถรบชนะพระเจ้าข้า” พระเจ้า พรหมทัตทรงวางพระทัย และมีพระบรมราชานุญาตตามที่ท่านแม่ทัพกราบทูล

พญาม้าโภชาชานียะทะยานออกจากพระนครไปประดุจสายฟ้าแลบ แค่ม้าของข้าศึกเห็นเข้าก็ เกรงกลัวกันแล้ว อีกทั้งความสามารถของแม่ทัพม้าก็เป็นเยี่ยม ทำให้สามารถทำลายกองทัพของเจ้าเมือง องค์ที่ ๑ จับเจ้าเมืองเป็นเชลยได้ แล้วพามามอบให้พระราชา และกลับไปจับเจ้าเมืององค์ที่ ๒ องค์ที่ ๓ ได้เรื่อยไป จนกระทั่งสามารถปราบข้าศึกได้ถึง ๖ พระนคร แต่ในขณะที่จับเจ้าเมืององค์ที่ ๖ พญาม้าได้รับบาดเจ็บเพราะถูกลูกศรของข้าศึก


ยอมตายไม่ยอมแพ้

เมื่อแม่ทัพม้ารู้ว่าพญาม้าได้รับบาดเจ็บสาหัส จึงให้นอนอยู่ที่หน้าประตูพระราชวัง ปลดเกราะออก เพื่อจะผูกเกราะให้กับม้าตัวอื่นทำการรบแทน แต่โภชาชานียะรู้ว่าไม่มีม้าตัวใด หรือแม้ม้าทั้งชมพูทวีป สามารถจะทำลายกองทัพที่ ๗ ซึ่งเป็นทัพที่แข็งแกร่งได้ นั่นหมายถึงว่า ความเพียรที่ได้ทำไว้ทั้งหมดก็จะสูญเปล่า และแม่ทัพม้าก็จักต้องตายในสนามรบ พระเจ้าพรหมทัตจะตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรู ราชวงศ์ก็จะถึงกาลอวสาน ฉะนั้น ทั้ง ๆ ที่ยังนอนบาดเจ็บอยู่นั้น พญาม้าได้กล่าวกับแม่ทัพว่า

"ท่านแม่ทัพ ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก นอกจากเราแล้ว ม้าตัวอื่นไม่อาจรบชนะ เราจะไม่ทำให้สิ่งที่เราได้เพียรพยายามทำไปแล้วเสียหาย ท่านจงพยุงเราลุกขึ้น แล้วผูกเกราะให้เราเถิด" แม่ทัพม้าร้องไห้ด้วยความสงสาร พยุงพญาม้าให้ลุกขึ้น เอาผ้าพันแผลอย่างเรียบร้อย แล้วก็ออกรบอีกครั้ง แม้พญาม้าจะได้รับความเจ็บปวดเพราะพิษร้ายของลูกศร แต่ก็อดทนบุกทะลวงกองทัพของพระราชาองค์ที่ ๗ จนได้รับชัยชนะ แล้วจับพระราชามาเป็นเชลย เมื่อบรรลุราชกิจก็กลับเข้าเฝ้าพระราชาด้วยความเหนื่อยอ่อน นอนลงที่หน้าพระลานหลวง


พระราชารีบเสด็จออกมาดูอาการของพญาม้า และถึงกับทรงหลั่งน้ำพระเนตรโทมนัสคร่ำครวญ พญาม้าทูลว่า “ ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ฆ่าพระราชาทั้ง ๗ เลย ทรงปล่อยไปเถิด อิสริยยศที่จะพึงประทานแก่ข้าพระบาท ขอทรงมอบให้ท่านแม่ทัพเถิด และอย่าได้ลงโทษท่านแม่ทัพ เพราะเหตุที่ข้าพระบาทต้องได้รับบาดเจ็บเลย ขอพระองค์จงตั้งใจบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา และครองราชสมบัติโดยธรรมเถิด เมื่อกล่าวจบม้าโภชาชานียะก็สิ้นใจ

พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุ บัณฑิตในกาลก่อน แม้ถือกำเนิดในสัตว์เดียรัจฉาน ได้กระทำความเพียรจนได้รับบาดเจ็บเห็นปานนี้ แต่ก็ไม่ละความเพียร ส่วนเธอออกบวชในศาสนานี้ ที่จะทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากทุกข์ได้ แล้วทำไมจึงละความเพียรเสีย" แล้วทรงแสดงพระอริยสัจในเวลาจบพระธรรมเทศนา ภิกษุผู้คลายความเพียรรูปนั้นได้บรรลุอรหัตผลเป็นพระอรหันต์ในที่นั้นเอง

พวกเราเหล่านักสร้างบารมีก็เช่นเดียวกัน ต้องเข้มแข็งในการสร้างบารมีต่อไป จะท้อก็ไม่ได้ ถอยก็ไม่เป็น เป็นแต่ลุยสร้างบารมี ขอเพียงมีความมุ่งมั่น เพียรพยายามอย่างถูกหลักวิชา ความสำเร็จจะตามมา ดูอย่างพระบรมศาสดา ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ พระองค์ทรงใช้ความเพียรยิ่งยวด ที่เรียกว่า "จาตุรังควิริยะ" คือแม้เนื้อและเลือดจักเหือดแห้งไป เหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที เมื่อยังไม่สำเร็จประโยชน์ที่จะพึงได้แล้ว จะไม่หยุดความเพียรนั้นเด็ดขาด ความเพียรใดเป็นไปเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน นั่นคือยอดแห่งความเพียร เมื่อทุ่มเททำเป็นอาจิณจะกลายเป็นวิริยบารมี ก่อให้กลายเป็นผู้มีธาตุทรหด มีธาตุนักรบของกองทัพธรรม สามารถย่ำยีข้าศึกคือกิเลสภายใน ให้ย่อยยับดับสิ้นไปได้ ขอให้ตอกย้ำปณิธานกับตัวเอง บ่อย ๆ ว่า ตราบที่ลมหายใจยังไม่สูญสิ้น... ตราบที่ชีวินยังไม่สลาย... ตราบที่ความหวังยังไม่พังทลาย... จะทุ่มใจกายคว้าเป้าหมายมาครอง...

วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ” (พุทธพจน์)



Cr. เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ปธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙ /
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
วิริยบารมี ยอมตายไม่ยอมแพ้ วิริยบารมี  ยอมตายไม่ยอมแพ้ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:51 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.