ศีลบารมี ยอมตายไม่ยอมเสียศีล


"ดูก่อนสุเมธดาบส หากท่านปรารถนาโพธิญาณ ก็จงบำเพ็ญศีลบารมี หางจามรีคล้องติดในที่ไหนก็ตาม ถ้าปลดขนหางออกไม่ได้ ก็ขอยอมตายในที่นั้น แม้ฉันใด ท่านจงรักษาศีลให้บริสุทธิ์ อย่าได้เห็นแม้แก่ชีวิต ฉันนั้นเถิด" (ขุ.พุทธวงศ์)

จามรี  เป็นสัตว์ที่รักขนหางยิ่งชีวิต ขนหางสวยงามมาก แต่หากขนหางไปติดที่กอหนาม มันจะค่อย ๆ ปลดจนกว่าจะหลุด โดยไม่ยอมให้ขนหางขาด สุเมธดาบสได้นำมาเป็นอุทาหรณ์สอนตนว่า ต้องรักศีลเหมือนจามรีรักขนหาง นับแต่นั้นเป็นต้นมา พระโพธิสัตว์ก็ทุ่มเทรักษาศีลไม่ให้ด่างพร้อยและเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เหมือนอุปมาที่ว่า พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต พึงสละทั้งอวัยวะ ทรัพย์ และชีวิต เพื่อรักษาศีลเอาไว้  เรียกว่ายอมตายไม่ยอมเสียศีลกันทีเดียว

การเดินทางไกลในสังสารวัฏ นอกจากจะมีเสบียงแล้ว ต้องได้เวียนวนอยู่เพียง ๒ ภูมิเท่านั้น คือ ละโลกแล้วก็ได้ไปเสวยสุขในสวรรค์และลงมาสร้างบารมีในโลกมนุษย์ต่อ การจะไม่เพลี่ยงพล้ำให้ไปเกิดในอบายภูมินั้น ต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ศีลบารมี จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ผู้รักศีลที่แท้จริงแม้ถูก เบียดเบียนถึงขั้นหมายเอาชีวิต ก็ไม่คิดทำร้ายตอบ ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ การจะบรรลุธรรมก็ทำได้ยาก ดังนั้น ศีลบารมีจึงชื่อว่ารักษาต้นทุนคือความเป็นมนุษย์ไว้นั่นเอง

มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นพญาช้างเผือกอยู่ในป่าหิมพานต์ นัยน์ตาทั้งคู่สวยงาม ราวกับแก้วมณี มีกายสง่างามมากทีเดียว ทั้งตัวเป็นสีขาวเปล่งปลั่งดังเงินยวง พญาช้างโพธิสัตว์ได้ปกครองช้าง ๘๐,๐๐๐ เชือก ให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  ต่อมาได้เกิดความเบื่อหน่ายในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ จึงหลีกออกปลีกวิเวกไปรักษาศีลอยู่ตามลำพัง เนื่องจากเป็นสัตว์ที่รักษาศีล จึงมีชื่อว่า  "สีลวนาคราช" แปลว่า พญาช้างรักษาศีล

สมัยนั้น มีพรานป่าชาวพาราณสีคนหนึ่ง ได้เข้าไปหาของป่ามาเลี้ยงชีพ เกิดพลัดหลงจำทางออก ไม่ได้ จึงหลงทางอยู่หลายวัน คิดว่าต้องอดตายอยู่ในป่านี้แน่ จึงร้องไห้คร่ำครวญให้เจ้าป่าเจ้าเขาช่วย ชี้แนะทางออกจากป่า พญาช้างได้ยินเสียงร้องไห้ของนายพราน ก็เกิดความสงสาร จึงเดินเข้าไปใกล้ ๆ แล้วพูดด้วยภาษามนุษย์ว่า ทำไมท่านถึงได้ร้องไห้อยู่ในป่าแห่งนี้ล่ะ นายพรานบอกว่า เราหลงทางอยู่ในป่ามาหลายวันแล้ว ขอท่านได้โปรดชี้ทางออกด้วยเถิด



พระโพธิสัตว์ได้ปลอบใจว่า "ท่านอย่ากลัวไปเลย ข้าพเจ้าจะช่วยท่านเอง" ว่าแล้วก็ให้นายพรานขึ้นนั่งบนหลัง แล้วพาไปหาผลไม้ให้กินจนอิ่มหนำสำราญ จากนั้นก็พาออกจากป่าไป ก่อนจากกัน พญาช้างได้ขอร้องนายพรานว่า  "พ่อหนุ่ม ถ้ามีใครถามถึงที่อยู่ของฉัน ขออย่าได้บอกเป็นอันขาดนะ"

ทว่านายพรานกลับคิดไม่ซื่อ เห็นว่าพญาช้างไม่กล้าทำร้ายใคร ยอมตายไม่ยอมเสียศีล แทนที่จะชื่นชม กลับคิดแต่อยากจะตัดงาของพญาช้างเชือกนี้ไปขาย จึงได้พยายามจดจำหนทาง เมื่อนายพรานไปถึงเมืองพาราณสีแล้วได้เห็นรูปแกะสลักต่าง ๆ ที่ทำจากงาช้าง จึงถามพวกพ่อค้าว่า "ถ้าได้งาช้างที่ยังเป็น ๆ ท่านทั้งหลายจะซื้อไหม"  พวกช่างสลักงาก็ตอบว่า " ซื้อสิพราน เพราะงาช้างที่ยังมีชีวิต มีค่ามากกว่างาช้างที่ตายแล้วหลายเท่านัก"  "ถ้ารับซื้อ  ข้านี่แหละจะนำงาช้างเป็นมาขายให้พวกท่านเอง" ว่าแล้วก็ไปหาเลื่อยขนาดใหญ่แบกเข้าป่าหิมพานต์  มุ่งตรงไปยังที่อยู่ของพระโพธิสัตว

พญาช้างเห็นนายพรานกลับเข้ามา รู้ได้ทันทีว่า ภัยมาถึงตัวแล้ว แต่ก็ทักทายปฏิสันถารกับนายพราน ด้วยความเอื้อเฟื้อเหมือนปกติ นายพรานพูดจาขอร้องว่า " ข้าพเจ้าเป็นคนยากจน ที่มานี้ก็จะมาขอตัดงาของท่าน ถ้าท่านยอมให้ จะเอางาไปขายเพื่อเลี้ยงชีวิต"  พระโพธิสัตว์รู้ว่านายพรานเป็นคนใจบาปหยาบช้า ไม่รู้จักบุญคุณของผู้อื่น แต่หวังเพื่อจะสั่งสมบารมีให้แก่รอบ จึงตกลงที่จะให้นายพรานตัดเอางาไป แล้วคุกเข่าหมอบลงให้นายพรานเอาเลื่อยตัดปลายงาทั้งคู่ พญาช้างได้ตั้งมโนปณิธานว่า  " ท่านพราน ใช่ว่าเราจะให้งาคู่นี้ด้วยคิดว่า งาเหล่านี้ไม่เป็นที่รักของเรา แต่ว่าสัพพัญญุตญาณอันประเสริฐ เป็นที่รักยิ่งกว่า การสละงาครั้งนี้ ขอจงเป็นไปเพื่อการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในอนาคตกาลด้วยเถิด"  จากนั้นให้นายพรานตัดเอางาในส่วนปลายทั้งคู่ไ

นายพรานใจบาปแบกงางามคู่นั้นเดินออกจากป่าไปขายให้พวกพ่อค้า แล้วนำเงินไปใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ดื่มเหล้าเมายา พอเงินหมดก็เดินทางกลับเข้าไปในป่าใหม่ เพื่อขอตัดงาของพญาช้างอีก นายพรานได้โกหกพญาช้างว่า "งาที่ขายได้ก็เอาเงินไปใช้หนี้หมดแล้ว ที่มานี่จะมาขอเอางาส่วนที่เหลือไปทำทุนต่อ"



พระโพธิสัตว์ก็ตกลงยินยอมให้เขาตัดงา โดยไม่มีข้อแม้และเงื่อนไข ซึ่งหากเป็นช้างทั่วไป คงอาจเอาเท้ากระทืบพรานจมธรณีไปแล้ว ส่วนนายพรานเมื่อขายงาและเอาเงินไปซื้อเหล้ากินหมดแล้ว ก็ย้อน กลับมาขอตัดงาอีกเป็นครั้งที่สาม พระโพธิสัตว์จึงหมอบลงให้นายพรานตัดตามชอบใจ พรานใจบาปปีนขึ้นไปเหยียบงวงช้าง แล้วเอาส้นเท้ากระทืบปลายงาทั้งสอง ฉีกเนื้อตรงสนับงาลงมาจากกระพอง เอาเลื่อยตัดโคนงาอย่างไร้ความปรานี พญาช้างต้องเจ็บปวดทุกข์ทรมานปางตาย แต่ก็อดกลั้นไว้ไม่ยอมให้ความโกรธเข้าครอบงำ เพราะความโกรธอาจทำให้ขาดสติถึงขั้นเอางวงรัดนายพรานแล้วฟาดลงกับพื้น ซึ่งก็จะทำให้เสียศีลไป พญาช้างจึงต้องข่มใจไว้ด้วยมีปณิธานว่าจะต้องเป็นพระพุทธเจ้าให้ได้

เมื่อพรานใจบาปได้งามาเรียบร้อยแล้ว ก็เดินออกจากป่าไป ครั้นละสายตาพระโพธิสัตว์เท่านั้น แผ่นดินได้แยกออก และมีเปลวไฟแลบออกมาจากมหานรกสูบเอาคนเนรคุณลงไปสู่อเวจีมหานรกทันที รุกขเทวดาที่สิงสถิตอยู่ ณ ราวป่าแห่งนั้น ได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ถึงกับเปล่งอุทานขึ้นว่า แม้จะให้สมบัติจักรพรรดิแก่คนชั่ว ก็ไม่อาจทำให้เกิดความพอใจได้ ถึงแม้จะให้แผ่นดินทั้งหมดแก่คนอกตัญญู ก็ไม่อาจทำให้เขาพอใจได้เช่นกัน



ท่านสาธุชนทั้งหลาย คนทั่วไปมักมองแต่ประโยชน์เฉพาะหน้าเป็นหลัก มิได้มองข้ามชาติ จึงยอมเสียศีลเสียสัตย์ ไม่ยอมให้ใครมาเบียดเบียนทำร้ายตนเอง แต่พระโพธิสัตว์ท่านเข้าใจกฎแห่งกรรม และมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ มุ่งรักษาศีลให้บริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างเดียว ท่านจึงยอมตายแต่ไม่ยอมเสียศีลเป็นอันขาด ซึ่งท่านก็ทำอย่างนี้มานับภพนับชาติไม่ถ้วน จึงถือว่าเป็นสุดยอดวีรบุรุษบุคคลต้นแบบของโลกและจักรวาล ที่นักสร้างบารมีทั้งหลายต้องดำเนินรอยตาม

...ศีลเป็นกำลังไม่มีที่เปรียบ ศีลเป็นอาวุธอันสูงสุด

...ศีลเป็นเครื่องอาภรณ์อันประเสริฐ ศีลเป็นเกราะป้องกันภัยอย่างอัศจรรย์..



Cr. เรื่อง : พระมหาเสถียร  สุวรณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ  ธมฺมสารี ป.ธ ๙
ศีลบารมี ยอมตายไม่ยอมเสียศีล ศีลบารมี  ยอมตายไม่ยอมเสียศีล Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:56 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.