ตักบาตรพระ ๓๐,๐๐๐ รูป ณ มัณฑะเลย์ ที่โลกต้องจารึก
๑๓๕
ชาติพันธุ์ ๑๘ ภาษาท้องถิ่น ๗ รัฐใหญ่ และ ๗ เขตการปกครองหลัก ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
หรือที่เราเรียกกันด้วยความคุ้นเคยฉันมิตรสนิทสนมว่า "พม่า" นั้นมีความเป็นมาที่แตกต่างหลากหลาย
แม้จะเป็นเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงกับเรามาช้านาน แต่ด้วยความที่ปิดตัวเองมานานกว่า
๖๐ ปี ทำให้เรารู้เรื่องบ้านเมืองเขาไม่มากนัก แต่สิ่งที่ทำให้ประเทศเมียนมาโดดเด่นและปลูกฝังความรักในแผ่นดินบ้านเกิดให้แก่ชาวเมียนมาทุกคนนั่นก็คือ
"พระพุทธศาสนา"
สันนิษฐานกันว่า
พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศเมียนมาเมื่อคราวที่พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดียได้ทรงอุปถัมภ์การสังคายนา
ครั้งที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖ พร้อมทั้งทรงส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่าง
ๆ แถบสุวรรณภูมิรวม ๙ สายด้วยกัน ซึ่งเมียนมาก็นับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิด้วย ทั้งนี้ชาวเมียนมายังเชื่อว่า
สุวรรณภูมิมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสะเทิม
ซึ่งเป็นเมืองของชาวมอญทางตอนใต้ของประเทศ
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
พระพุทธศาสนาก็เจริญงอกงามด้วยพลังศรัทธาของชาวเมียนมาส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น พร้อมบ่มเพาะความรักและเทิดทูนพระรัตนตรัยอย่างสุดหัวใจ
แม้จะถูกท้าทายอย่างหนักในยุคล่าอาณานิคม
ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถจะพรากเอาพระพุทธศาสนาออกไปจากหัวใจชาวเมียนมาได้
และแผ่นดินเมียนมานี้ยังเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาซึ่งเกิดขึ้นในโลกเพียงไม่กี่ครั้ง
นั่นก็คือ การทำสังคายนาพระไตรปิฎก
อันเป็นความร่วมใจพร้อมเพรียงกันของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท
ดังปรากฏหลักฐานบันทึกไว้ว่า
“ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทได้มีเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในพม่าร่วมกัน
คือ การสังคายนาพระไตรปิฎก ณ เมืองมัณฑะเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ ซึ่งเป็นการสังคายนาครั้งแรกในพม่า" (แต่ชาวเมียนมานับว่าเป็นครั้งที่ ๕ ต่อจากการจารึกลงในใบลานของลังกา)
การสังคายนาครั้งนี้ มีการจารึกพระไตรปิฎกลงในแผ่นหินอ่อน ๔๒๙ แผ่น ณ
เมืองมัณฑะเลย์ ด้วยการอุปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง โดยมีพระมหาเถระ ๓ รูป คือ พระชาคราภิวังสะ
พระนรินทาภิธชะ และพระสุมังคลสามี ผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานโดยลำดับ
มีพระสงฆ์และพระอาจารย์ผู้แตกฉานในพระปริยัติธรรมร่วมประชุม ๒,๔๐๐ รูป ใช้เวลาถึง ๕ เดือน จึงแล้วเสร็จ
ผ่านกาลเวลามายาวนานกว่า
๒,๐๐๐ ปี พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากและหลอมรวมเข้าไปเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในดินแดนนี้
จนเราสามารถพบเห็นทั่วไปทั้งการถอดรองเท้าก่อนเข้าวัดเพื่อแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย
แม้กระทั่งการถ่ายภาพกับพระพุทธรูปหรือพระสงฆ์ ชาวเมียนมาก็จะไม่หันหลังให้
แต่จะยืนหรือนั่งคุกเข่าด้านข้างพร้อมกับพนมมือด้วยความนอบน้อม
ตามถนนหนทางการเปิดฟังเสียงสวดมนต์หรือแผ่เมตตาแบบยาว ๆ ทางวิทยุหรือเครื่องเสียงแบบพกพาเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่ชาวเมียนมามักเปิดฟังกันเกือบทั้งวัน
ทุกสี่แยกจะมีป้ายประชาสัมพันธ์เป็นภาพพระอาจารย์นักเทศน์
พร้อมข้อความเชิญชวนพุทธศาสนิกชนให้ไปฟังพระธรรมเทศนาด้วยหัวข้อธรรมที่หลากหลาย
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นหลักประกันสำคัญว่าจะไม่มีอะไรมาพรากพระพุทธศาสนาไปจากหัวใจชาวเมียนมาได้อย่างแน่นอน
เพราะหัวใจของประชาชนเมียนมาและไทยฝากรวมกันไว้ที่พระพุทธศาสนา จึงทำให้ทั้ง ๒ ประเทศประสานความร่วมมือสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองแก่พระพุทธศาสนาในมิติต่าง
ๆ ตลอดระยะเวลา ๖๐ กว่าปีที่ผ่านมา และในเดือนธันวาคมนี้ รัฐบาลมัณฑะเลย์และมูลนิธิธรรมกาย
ประเทศไทยได้ร่วมกันสร้างเหตุการณ์ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาให้บังเกิดขึ้นอีกครั้งบนแผ่นดินเมียนมา
"มัณฑะเลย์" เมืองศูนย์กลางการค้าทางตอนเหนือ
ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิรวดี สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ โดยพระเจ้ามินดง
ขนานนามตามชื่อภูเขามัณฑะเลย์ที่เป็นจุดสูงสุดของเมือง
ปัจจุบันเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศรองจากมหานครย่างกุ้ง
และยังเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญบนเส้นทางเศรษฐกิจทางบกระหว่างอินเดียกับจีน นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่มีความสำคัญในทางพระพุทธศาสนา
โดยเป็นเมืองที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษามากที่สุดกว่า ๑๐๐,๐๐๐ รูป
และยังเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆนายกแห่งประเทศเมียนมาอีกด้วย
ด้วยหลักการที่ว่า
"เศรษฐกิจกับจิตใจต้องไปคู่กัน" ตลอดระยะเวลา ๕
ปีที่ผ่านมา หลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รัฐบาลมัณฑะเลย์และมูลนิธิธรรมกายได้สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันในด้านความร่วมมือทางศาสนา
ซึ่งเป็นมิติที่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับความเจริญทางเศรษฐกิจ พลวัตของโลกและประชากรในภูมิภาค ดังนั้นจึงได้เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านวิชาการและดำเนินโครงการภายใต้ความร่วมมือเพื่อสร้างความเข้มแข็ง
กระชับความสัมพันธ์ของคณะสงฆ์ทั้ง ๒ ประเทศ และสร้างความตระหนักรู้และแรงบันดาลใจแก่พุทธศาสนิกชนทั่วโลก
โดยผ่านกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาในหลากหลายโอกาส
การตักบาตรพระ
๓๐,๐๐๐ รูป ที่สนามบิน Chanmyathazi ในวันอาทิตย์ที่ ๘
ธันวาคมนี้
เป็นการจัดตักบาตรใหญ่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลมัณฑะเลย์และมูลนิธิธรรมกาย ครั้งที่
๓ ซึ่งครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘ มีพระภิกษุมาบิณฑบาต ๑๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่สองจัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๑ มีพระภิกษุมาบิณฑบาต ๒๐,๐๐๐ รูป
ซึ่งได้รับเกียรติจากพระเถรานุเถระผู้ใหญ่และผู้แทนองค์กรพระพุทธศาสนานานาชาติเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
สำหรับครั้งนี้
รัฐบาลมัณฑะเลย์และมูลนิธิธรรมกายได้มีการประชุมวางแผนร่วมกันล่วงหน้ากว่า ๖ เดือน
โดยถอดรูปแบบของงานตักบาตรพระ ๑๐๐,๐๐๐ รูป
ที่มูลนิธิธรรมกายเคยจัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙ และนำข้อมูลรายละเอียดเข้าหารือกำหนดนโยบายร่วมกับคณะรัฐบาล โดยการนำของท่าน U
Zaw Myint Maung Chief Minister (มุขมนตรี) แห่งเมืองมัณฑะเลย์
เพื่อให้งานพระศาสนาออกมาดีที่สุด และเมื่อใกล้วันงาน คณะกรรมการจัดงานได้มอบหมายให้พระอาจารย์และเจ้าหน้าที่จากวัดพระธรรมกายทำการอบรมชาวเมียนมาซึ่งมาจากสถาบันการศึกษาและสมาคมการกุศลต่าง
ๆ ในเมืองมัณฑะเลย์กว่า ๓,๐๐๐ คน ให้เป็นอาสาสมัครรับบุญในวันงาน
นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครชาวเมียนมาจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศกว่า ๓๐๐
คน มารับบุญเป็นล่ามแปลภาษาให้แก่ทีมงานแผนกต่าง ๆ ทั้งการเตรียมพื้นที่สนามบิน
ลานจอดรถ จราจร วางผังการเดินบิณฑบาต
สร้างห้องน้ำกว่า ๓๔๐ ห้อง ปูพรมทางเดินและผ้ากระสอบที่นั่งกว่า ๒๐,๐๐๐ เมตร จัดเรียงเก้าอี้กว่า ๓๕,๐๐๐ ตัว
อีกทั้งปีนี้เป็นปีที่รัฐบาลเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
โดยได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชน ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ใบปลิว
และบิลบอร์ดกว่า ๖๐ ป้าย กระจายไปทุกย่านชุมชน
เพื่อกระจายข่าวบุญใหญ่ในครั้งนี้ไปอย่างกว้างขวางและทั่วถึง
ตลอดระยะเวลาการเตรียมงาน
รอยยิ้มและเสียงสาธุการเป็นสิ่งที่อาสาสมัครทุกคนหยิบยื่นให้กันและกัน
แม้การเตรียมงานจะมีรายละเอียดมากมายภายใต้ข้อจำกัดด้านเวลา
แต่สิ่งที่ดีที่สุดและสมบูรณ์แบบที่สุด คือ ภาพหนึ่งเดียวในใจของอาสาสมัครทั้ง
๓,๐๐๐ ชีวิต ที่ตั้งใจจะทำถวายพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอันเป็นที่เคารพสูงสุดของทุกคน
เช้าวันอาทิตย์ที่
๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ตั้งแต่เวลาประมาณ ๐๔.๓๐ น.
พุทธศาสนิกชนผู้ใฝ่ในบุญฝ่าอากาศเย็นต้นฤดูหนาวทยอยเข้าสู่พื้นที่จัดงานบริเวณรันเวย์ของสนามบิน
Chanmyathazi
ซึ่งเป็นสนามบินเก่า และแม้ว่าหลายคนเดินทางออกจากบ้านมาตั้งแต่ตีสามตีสี่ก็ตาม
แต่ก็ไม่มีความเหนื่อยล้าปรากฏให้เห็น ทั้งชายและหญิงมีใบหน้าที่ฉาบทาด้วยทานาคา ประดับประดาด้วยรอยยิ้ม
พร้อมกับมีเสียงทักทายกันด้วยความเบิกบานในบุญ ยานพาหนะทั้งสองล้อ สามล้อ สี่ล้อ
ไปจนถึงสิบล้อ เต็มไปด้วยพระภิกษุและสาธุชนต่อแถวเข้าพื้นที่กันเป็นระยะทางยาวเกือบกิโลเมตร
พระมหามัยมุนี
(องค์จำลอง) หนึ่งในห้าศาสนวัตถุยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศเมียนมา
ศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวมัณฑะเลย์ ได้รับการอัญเชิญมาเป็นพระประธานในพิธี
คณะกรรมการจัดงานได้รับความเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระภัททันตะ จันทิมาภิวังสะ อัคคมหาปัณฑิตะ อภิธชอัคคมหาสัทธัมมะโชติกะธะชะ รองประธานมหาสังฆนายกสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มาเป็นประธานสงฆ์ในพิธี และพระเดชพระคุณพระภาวนาธรรมวิเทศ
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เป็นประธานสงฆ์ฝ่ายไทย พร้อมด้วยพระมหาเถระผู้นำองค์กรพุทธนานาชาติร่วมเป็นเกียรติในงานกว่า
๗๐ รูป เมื่อคณะสงฆ์มาถึงพื้นที่ครบ ๓๐,๐๐๐ รูป ประธานพิธี คือ U Zar Ni Aung ผู้แทนมุขมนตรีแห่งมัณฑะเลย์ จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย
ผู้แทนพุทธศาสนิกชนถวายพานสักการะ พระเดชพระคุณรองประธานมหาสังฆนายกเมตตาให้ศีล
ปฏิบัติธรรมร่วมกัน จากนั้นคณะสงฆ์เมตตาเจริญพระพุทธมนต์
ตามด้วยพิธีกล่าวคำแสดงตนเป็นพุทธมามกะ กล่าวคำถวายภัตตาหาร ไทยธรรม
คิลานเภสัช ยานพาหนะ และกล่าวคำอธิษฐานจิตร่วมกัน ประธานฝ่ายฆราวาสจากประเทศไทย
คือ กัลฯพรสวรรค์ เต็มดวงจิตต์ ในนามผู้แทนมูลนิธิธรรมกาย กล่าวนมัสการคณะสงฆ์และขอบคุณในความร่วมมืออย่างเต็มกำลังศรัทธาของชาวเมียนมาทุกคน
เมื่อถึงเวลาสว่าง พระภิกษุทั้ง ๓๐,๐๐๐ รูป แปรแถวรับบิณฑบาตจากสาธุชนชาวเมียนมาและชาวไทย
ซึ่งชาวเมียนมาเป็นจำนวนมากมีความตั้งใจจะใส่บาตรพระภิกษุให้ครบทุกรูป โดยจะเห็นได้จากการเตรียมไทยธรรมที่มีเป็นจำนวนมาก
และยืนเข่าใส่บาตรแถวพระภิกษุจนหมดสาย
ชาวเมียนมาหลายท่านกล่าวทั้งน้ำตาว่า ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยตักบาตรพระจำนวนมากขนาดนี้มาก่อน
รู้สึกอิ่มใจและอยากให้จัดตักบาตรแบบนี้ทุกปี
งานตักบาตรพระ
๓๐,๐๐๐
รูปในครั้งนี้ เป็นการเขียนประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญร่วมกันของพุทธศาสนิกชนชาวเมียนมาและชาวไทย
เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่ชาวพุทธทั่วโลกให้ตระหนักถึงพระคุณอันไม่มีประมาณขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
และคุณูปการของพระพุทธศาสนาอันเป็นแสงนำทางให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าถึงเป้าหมายที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์
และยังเป็นเสียงสะท้อนไปถึงชาวโลกผู้ใฝ่สันติทุกท่านให้ทราบว่า
"สันติภาพที่แท้จริงบังเกิดขึ้นได้ เมื่อทุกคนพบสันติสุขภายใน"
เรื่อง : พระมหานพพร ปุญญชโย ป.ธ.๙
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๕ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓
คลิกอ่านบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/12/boon0163.html
คลิกอ่านบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/12/boon0163.html
***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***
คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDF
https://drive.google.com/file/d/1LXoPXF9DiGdw6C-Tsi98SFSI9kHyaDHh/view
https://drive.google.com/file/d/1LXoPXF9DiGdw6C-Tsi98SFSI9kHyaDHh/view
คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202563/205%20YNB_6301/YNBJAN63__Hi.html#p=1
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๕ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้ที่นี่
http://dhammamedia.org/YNB%202563/205%20YNB_6301/YNBJAN63__Hi.html#p=1
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๕ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้ที่นี่
- ชาวอิสปานิกพบสันติสุขภายใน
- ธรรมยาตรา ๔๐๐,๐๐๐ องค์ ในพุทธกาล
- ตักบาตร ๓๐,๐๐๐ รูป ณ มัณฑะเลย์ ที่โลกต้องจารึก
- ทอดผ้าป่าต้นสมบัติจักรพรรดิ ๒๑๔ ศูนย์ส่งเสริมศีลธรรมทั่วโลก
- ปลื้มใจในโครงการอุปสมบทหมู่บูชาธรรม ๗๙ ปี หลวงพ่อทัตตชีโว
- ขอบคุณประเทศไทย
- ข่าวสารเครือข่ายคณะศิษย์
- International Forum on Tri-tradition Buddhism
- ทำอย่างไรให้การทำงานเป็นทีมประสบความสำเร็จ ?
- ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา (ตอนที่ ๒๕)
- ๕ คุณสมบัติของนายจ้างและลูกน้องที่ดี
ตักบาตรพระ ๓๐,๐๐๐ รูป ณ มัณฑะเลย์ ที่โลกต้องจารึก
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
19:04
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: