ทำอย่างไรให้การทำงานเป็นทีมประสบความสำเร็จ ?


คำถาม : ทำอย่างไรให้การทำงานเป็นทีมประสบความสำเร็จ ?

ตอบ : ในการทำงานร่วมกันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปหรือทำงานกับคนหมู่มาก เราได้ยินกันมาตลอดว่า หัวใจของความสำเร็จในการทำงาน คือ การทำงานเป็นทีม (Teamwork)

แต่แม้ว่าทั้งที่เราเข้าใจตรงกันอย่างนี้ และเมื่อทำงาน เราก็ตั้งใจทำงานร่วมกันให้เป็นทีม แต่บางครั้งก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จได้ดังหวัง แล้วก็มักสงสัยว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้การทำงานเป็นทีมประสบความล้มเหลว ถ้าหากเรารู้คำตอบนี้ เราจะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขตนเองและทีมงานให้ทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การที่หมู่คณะใดหมู่คณะหนึ่งจะทำงานเป็นทีมได้ดีนั้น จะไม่เป็นเรื่องยากเลย ถ้าหมู่คณะนั้นฝึกฝนอบรมตนเองมาดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกตนเองในเรื่องของความอดทน

พวกเราต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า พื้นฐานของความเป็นทีมที่ดีนั้นอยู่ที่ “ความอดทนของผู้ที่เข้ามาร่วมทีม” เป็นหัวใจหลักสำคัญ ส่วนเรื่องความฉลาดและความชำนาญในการทำงานนั้นยังเป็นเรื่องรองลงไป

ความอดทนที่ก่อให้เกิดความเป็นทีมได้นั้นมีอยู่  ๒ เรื่องใหญ่ คือ
๑) อดทนต่อการกระทบกระทั่ง
๒) อดทนต่อคำสรรเสริญเยินยอ

ใครก็ตามที่เข้ามาร่วมทำงานเป็นทีม ในขั้นต้น ถ้าเขาเป็นคนไม่อดทนต่อเรื่องจุกจิกที่จะไหลเข้ามาในเวลาทำงาน จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่จากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งที่แม้ว่าทุกคนจะมีความเห็นตรงกันว่า เรื่องที่ทำนั้นเป็นเรื่องที่ดี เวลาปฏิบัติงานจะต้องทำเป็นขั้นตอนอย่างนั้น ๆ แต่ก็มักจะมีเรื่องขัดใจกันจากเรื่องจุกจิกจนเป็นสาเหตุให้ทำงานร่วมกันไม่ได้

เพราะในการทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ไปด้วยกันเป็นทีมนั้น เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอรายละเอียดอื่น ๆ ซึ่งจุกจิกอีกมากมาย และไม่มีใครที่จะมีความเห็นตรงกัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไปทุกเรื่อง อาจมีความเห็นตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง โต้แย้งกันบ้าง บางเรื่องยอมกันได้ ยืดหยุ่นกันได้ ก็ต้องยอม ตราบที่ไม่เสียหายกับงานและคุณธรรมของตน  ซึ่งถ้าใครไม่อดทนต่อการกระทบกระทั่งแล้ว การร่วมทีมกันก็จะไปไม่รอด ทีมจะแตกกลางคัน

อีกพวกหนึ่งก็คือคนที่ต้องการให้ใคร ๆ เขาชมอยู่เรื่อย ๆ พอไม่ได้รับคำชม ก็มีอาการจะเป็นจะตายขึ้นมา แล้วก็กลายเป็นเรื่องจุกจิกกระทบกระทั่งกัน จนเป็นสาเหตุให้ทีมพังลงได้

หมู่คณะใดที่ทำงานเป็นทีมได้ดี นั่นแสดงว่า หมู่คณะนั้นมีผู้ร่วมทีมที่มีความอดทนต่อการกระทบกระทั่งและคำสรรเสริญเยินยอได้มากกว่านั่นเอง

บทฝึกที่จะทำให้เกิดความอดทนต่อการกระทบกระทั่งในการทำงานร่วมกันได้อย่างดีก็คือ การฝึกความละเอียดลออในการใช้ปัจจัยสี่ พวกเราเคยสังเกตไหมว่า เวลาทำงานร่วมกัน เพียงแค่สมาชิกคนใดคนหนึ่งที่อยู่ในทีมหยิบเครื่องไม้เครื่องมือไปใช้ทำงานแล้วไม่เอากลับมาไว้ที่เดิม หรือเอากลับมาไว้ที่เดิมเหมือนกัน แต่ไม่ทำความสะอาดให้เรียบร้อย เพียงแค่นี้ก็เกิดการกระทบกระทั่งกันแล้ว ทำให้งานใหญ่เกิดความเสียหายได้เช่นกัน

การที่คนใดคนหนึ่งจะเป็นผู้มีลักษณะนิสัยละเอียดลออ หยิบสิ่งของเครื่องใช้มาใช้เสร็จแล้ว ก็ทำความสะอาด นำกลับไปไว้ที่เดิมให้เรียบร้อย ไม่ทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ไม่ก่อภาระให้คนอื่นต้องมาตามล้างตามเก็บในภายหลัง ใครที่ฝึกตัวเองมาถึงจุดนี้ได้ นั่นก็หมายความว่า เขาต้องได้รับการฝึกการดูแลการใช้ข้าวของส่วนตัว ทั้งเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ก็เก็บพับเรียบร้อย รับประทานอาหารก็มีมารยาท มื้อไหนมีของอร่อยก็แบ่งปันกันให้ทั่ว ๆ ไม่ใช่เจออาหารถูกปากก็ตักกินคนเดียวหมด อาหารที่ไม่ถูกปากก็ปล่อยให้ชาวบ้านกินไป เมื่อรับประทานเรียบร้อยก็ช่วยกันเก็บล้างทำความสะอาดอย่างดี

การฝึกฝนอบรมตนเองอย่างนี้จะทำให้เป็นคนไม่เอาแต่ใจตัว เมื่อไม่เอาแต่ใจตัวก็เลยกลายเป็นคนที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและมีความอดทน ซึ่งจะป้องกันไม่ให้เกิดการการกระทบกระทั่งไปในตัว

ถ้าเราผ่านไปที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นบ้านใครหรือแผนกงานใด แค่เห็นไม้กวาดที่เขากวาดบ้านหรือกวาดพื้นถูกวางทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ สายยางรดน้ำใช้แล้วก็ไม่ขดไม่ม้วนให้เรียบร้อย ผ้าขี้ริ้วใช้แล้วก็ไม่ซักไม่ตากในที่เหมาะสม สันนิษฐานได้เลยว่า บ้านหลังนั้นจะต้องมีการกระทบกระทั่งกันอยู่เป็นประจำ

แต่ถ้าเราผ่านไปบ้านไหน ก็เห็นว่าเขาเก็บข้าวของไว้เป็นระเบียบเรียบร้อยดีหมดทุกสิ่งทุกอย่าง รู้ไว้เถิดว่าในความมีระเบียบของคนในบ้านนั้น เขาได้ฝึกฝนอบรมคนของเขาให้มีความอดทนต่อการกระทบกระทั่งเป็นอย่างดีแล้วด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่อยู่ในบ้านหลังนั้นก็เลยไม่มีการตำหนิกัน ไม่มีการจับผิดกัน อาการหิวคำชมจึงไม่เกิดขึ้น

คนที่หิวคำชมจะต้องการแต่คำสรรเสริญเยินยอ ซึ่งแสดงว่าเขาถูกด่าถูกตำหนิมามาก จึงอยากจะให้ใครมาชมเขาบ้าง แต่ถ้าใครทำทุกอย่างดีเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็มักได้คำชมเป็นปกติ ไม่เคยถูกตำหนิ จึงไม่ต้องไปโหยหาคำชมกันอีก

ถ้าใครคิดว่าตนเองยังอดทนต่อการกระทบกระทั่งได้ไม่ดีพอ ก็ให้กลับมาเคี่ยวเข็ญตนเองในเรื่องการใช้สอยปัจจัยสี่ต่าง ๆ เหล่านั้น เช่น ไปนั่งที่ไหน เมื่อเลิกนั่ง ก็เก็บเก้าอี้เก็บโต๊ะเข้าที่เดิมให้เรียบร้อย ไปกินที่ไหน เมื่อกินเสร็จแล้ว ก็จัดการกับถ้วย-ช้อน-จาน-ชามให้เรียบร้อยเหมาะสม ไปเขียนหนังสือ ไปทำงานตรงไหน พอใช้งานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เก็บเครื่องไม้เครื่องมือเข้าที่ให้เรียบร้อย ในขณะที่กำลังทำงานอยู่ ก็รู้จักใช้ของให้พอประมาณ ไม่ฟุ่มเฟือย แต่ก็ไม่ขี้เหนียว ไม่ตระหนี่ถี่ถ้วนจนเกินไป

ถ้าเราเคี่ยวเข็ญฝึกอบรมตนให้สะอาดและเป็นระเบียบตามนี้ ความอดทนต่อการกระทบกระทั่งก็จะเกิดขึ้น และช่วยยกระดับความอดทนในเรื่องอื่นให้สูงขึ้นด้วย เพราะเมื่อเรามีความอดทนต่อการควบคุมตัวเองได้สูงกว่าเดิมแล้ว ความมีน้ำใจและความอยากจะทำงานเป็นทีมก็จะเกิดขึ้นมาเอง

แต่ถ้าพื้นฐานเรื่องการใช้ปัจจัยสี่ของแต่ละคนยังดีไม่พอ ความคิดที่อยากจะให้มาร่วมทีมทำงาน ก็จะดับไปตั้งแต่ตอนต้นแล้ว หมู่คณะใดมีการทำงานเป็นทีมดีอยู่แล้ว แต่อยากปรับปรุงทีมให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก ก็ต้องมากวดขันในเรื่องการใช้ปัจจัยสี่ กวดขันในเรื่องของการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ วัสดุสิ้นเปลืองต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำงาน

เมื่อสมัยหลวงพ่อยังเป็นนิสิต ยังเรียนหนังสืออยู่ หลวงพ่อไปยืมตำรับตำราของใคร ๆ ไปยืมหนังสือของใคร หรือไปยืมเครื่องไม้เครื่องมือของใคร เจ้าของก็อยากให้ยืม เพราะว่าถ้ายืมของเขามาแล้ว  ก็ดูแลรักษาของที่ยืมมาให้อย่างดี เช่น ยืมหนังสือหรือยืมสมุดของเขามาแล้ว ขากลับใส่ปกกลับไปให้เขาเรียบร้อย วันหลังเขาก็อยากให้เรายืมอีก ในขณะที่บางคนไปยืมหนังสือหรือยืมสมุดของเขามา พอนำมาใช้ ก็ใช้หนังสือเสียจนยู่ยี่ยับเยินไปหมด เมื่อถึงเวลานำกลับไปคืน เจ้าของเห็นสภาพยับเยินแบบนั้น วันหลังก็ไม่มีใครให้บุคคลประเภทนี้ยืมอีก

เรื่องนี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการทำงานเป็นทีม ถ้าที่ใดไม่กวดขันในเรื่องการใช้ปัจจัยสี่ให้สะอาดเป็นระเบียบดังที่ว่านี้ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ การหวงสิ่งของเครื่องใช้ ไม่ยอมแบ่งปัน ทั้ง ๆ ที่เป็นของส่วนกลางก็ไม่ค่อยยอมแบ่งให้คนอื่นใช้งาน เพราะ

คนที่หวงของนั้นมีอยู่ ๒ ประเภท

๑. คนคนนั้นเป็นคนมีนิสัยละเอียดลออ แต่คนที่นำไปใช้งาน พอใช้แล้วไม่จัดเก็บให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างที่เขาเคยใช้อยู่ วันหลังเขาก็ไม่อยากให้มาใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกันอีก ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ต้องหันมามองดูตัวเองด้วย โดยเฉพาะเวลาที่เราไปใช้ข้าวของร่วมกับใครแล้ว เขาไม่อยากให้เราใช้ด้วย

๒. คนคนนั้นเป็นคนมีนิสัยหวงของจริง ๆ ไม่ว่าจะทำอะไร ทั้ง ๆ ที่ผู้ร่วมงานก็เป็นคนที่ใช้-จัด-เก็บของเรียบร้อย ขณะที่ตัวเองก็ไม่ได้จัดการดีไปกว่าเขา ถ้าในกรณีนี้ ก็ต้องมาแก้ไขปรับปรุงนิสัยหวงข้าวหวงของให้ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ต้องบริหารจัดการของส่วนรวม เพื่อนำไปใช้ร่วมกัน

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ร่วมทีมคนใดแก้ไขปรับปรุงนิสัยของเขาอย่างนี้เป็นประจำ ความอดทนต่อการกระทบกระทั่งก็จะสูงขึ้น เพราะฝึกควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ดีกว่าเดิมแล้ว จึงไม่ต้องมากระทบกระทั่งกัน ในที่สุด ทีมนั้นก็จะน่าอยู่ คนดีมีฝีมือก็อยากเข้ามาร่วมทีม ผู้ร่วมทีมก็รักที่จะอยู่ในทีมไปนาน ๆ ความเป็นทีมก็จะยิ่งแกร่งขึ้นไปทุกวัน องค์กรนั้น หน่วยงานนั้น ก็จะสามารถทำงานเป็นทีมไปได้ตลอดรอดฝั่ง ความสำเร็จต่าง ๆ ก็จะไหลมาไม่ขาดสาย เพราะมีพื้นฐานความสะอาด ความเป็นระเบียบ และความอดทนต่อการกระทบกระทั่งที่ได้ฝึกมาดีแล้วทั้งทีมนั่นเอง

เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๕ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓


คลิกอ่านบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/12/lp0163.html

***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***


คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ PDF
https://drive.google.com/file/d/1LXoPXF9DiGdw6C-Tsi98SFSI9kHyaDHh/view

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202563/205%20YNB_6301/YNBJAN63__Hi.html#p=1

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๕ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้ที่นี่

คลิกที่รูป หรือ สแกน QR-CODE เพื่ออ่านบทความนี้
ทำอย่างไรให้การทำงานเป็นทีมประสบความสำเร็จ ? ทำอย่างไรให้การทำงานเป็นทีมประสบความสำเร็จ ? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 22:22 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.