ความแตกต่างบนความเหมือนของการเกิดเป็นมนุษย์


มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ ไม่ว่าเชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์ใด หากไม่นับผู้เกิดมาผิดปกติพิกลพิการ ต่างก็ต้องมีลักษณะเฉพาะที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่ไม่แตกต่างกัน นั่นคือ มีกายที่ตั้งตรงกับพื้นโลก มีสมองเอาไว้คิด มีแขน ๒ ข้าง เอาไว้หยิบจับทำสิ่งต่าง ๆ มีขา ๒ ข้าง เอาไว้ก้าวเดินไปในที่ต่าง ๆ มีตา ๒ ตา เอาไว้มองดู มีหู ๒ หู เอาไว้ฟัง มีปาก ๑ ปาก เอาไว้สนทนาและบริโภคอาหาร มีทวารเบา ทวารหนัก เอาไว้ขับถ่ายของเสียออกมา และมีอวัยวะน้อยใหญ่ที่อยู่ภายในร่างกาย ที่เรียกว่าอาการ ๓๒  (ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, เอ็น, กระดูก, เยื่อในกระดูก, ม้าม, หัวใจ, ตับ, พังผืด, ไต, ปอด, ไส้ใหญ่, ไส้น้อย, อาหารใหม่, อาหารเก่า, น้ำดี, เสลด, น้ำหนอง, เลือด, เหงื่อ, มันข้น, มันเหลว, น้ำตา, น้ำลาย, น้ำมูก, น้ำไขข้อ, ปัสสาวะ และมันสมอง) รูปร่างและลักษณะที่ปรากฏเหล่านี้คือ สิ่งที่แยกแยะความแตกต่างระหว่างความเป็นมนุษย์กับความเป็นสัตว์ชนิดอื่น  แต่ยังมีสิ่งสำคัญที่แยกความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสรรพสัตว์ทั้งหลายได้อย่างดีที่สุด นั่นคือ ใจ  

ใจของมนุษย์นั้น เป็นใจที่สูงส่งกว่าสัตว์ทุกชนิด เพราะมีมโนธรรม รู้จักผิดชอบชั่วดี สามารถแยกแยะสิ่งที่ควรและไม่ควรได้ จึงไม่แปลกว่าทำไมสัตว์ชนิดนี้จึงเรียกตัวเองว่า มนุษย์ซึ่งแปลว่า ผู้มีใจสูง (มน=ใจ, อุสฺส=สูง) ภาษาอังกฤษเรียกว่า  “Human”  แปลว่า คนฉลาดหรือผู้รู้

แม้มนุษย์จะมีหลายสิ่ง หลายอย่าง ที่เหมือน ๆ กัน แต่มนุษย์กลับใช้สิ่งที่เหมือนกันไปทำสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่เหมือนกัน จากลักษณะพฤติกรรมและการกระทำของมนุษย์แต่ละคนที่แตกต่างกันนั้น ทำให้สามารถแยกประเภทของมนุษย์ตามการกระทำได้เป็น ๕ ประเภท ดังนี้

๑.    มนุสฺสเนรยิโก มนุษย์นรก  คือ  มนุษย์ที่มีนิสัยดุร้าย หยาบคาย โหดร้าย ชอบสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นอย่างมาก ประพฤติทุจริตมิจฉาชีพผิดมนุษย์ธรรมดา ฆ่าสัตว์ ฆ่าคน ลักขโมย  ปล้นจี้ทรัพย์ของผู้อื่นเป็นปกติ เป็นคนไร้ศีลธรรม เป็นมนุษย์แต่เพียงชื่อ  ส่วนความประพฤติทางกาย วาจา ใจ เลวทราม ประหนึ่งว่าผุดขึ้นมาจากนรก  มนุษย์พวกนี้ไม่ชอบอยู่ในบ้านอย่างคนทั่วไป แต่กลับชอบอยู่ในคุกตะราง ถูกจองจำ หมดอิสรภาพ ต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส

๒.    มนุสฺสเปโต มนุษย์เปรต  คือ  มนุษย์ผู้มากไปด้วยความโลภ มากไปด้วยตัณหา ชอบลักเล็กขโมยน้อย แย่งชิง  วิ่งราว เป็นต้น  มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก เที่ยวแสวงหาอาหารและผ้านุ่งผ้าห่มเท่านั้น กว่าจะหาได้ก็ยากลำบาก  แม้จะมีความเพียรขยันหาทรัพย์อย่างไร ก็ไม่พอใช้ พอกิน มีแต่ ความอดอยากเข้าครอบงำ มากไปด้วยความทุกข์ เขาว่าตรงไหนดี หากินสะดวกสบาย แต่พอไปถึงที่นั่นกลับไม่เจริญดังที่เขากล่าว ผู้คนมักเรียกขานคนประเภทนี้ว่า  คนกาลกิณี  เหมือนผุดมาจากภูมิเปรตที่มีแต่ความอดอยากแร้นแค้น

๓.    มนุสฺสติรัจฺฉาโน มนุษย์เดรัจฉาน คือ  มนุษย์ที่ขวางศีล ขวางธรรม มีโมหะคือความหลงมาก ไม่รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ ไม่รู้จักบุญคุณผู้มีพระคุณ เช่น บิดามารดา ครูบาอาจารย์ ไร้ศีลธรรม ทำอะไร ทางกาย วาจา ใจ ก็ขวางศีลขวางธรรม เหมือนกับสัตว์เดรัจฉานที่มีกายทอดขวาง ไม่ได้เดินตัวตั้งเหมือนมนุษย์

๔.    มนุสฺสภูโต มนุษย์แท้ ๆ  คือ เป็นคนเต็มตัว ได้แก่ คนรักษาศีล ๕ เป็นนิจ ไม่ประมาทต่อการรักษาศีล เพราะศีลเป็นมนุษยธรรม คือธรรมประจำมนุษย์ หากขาดศีลเสียแล้ว คุณธรรมความเป็นคนก็จะสูญหายไป

๕.    มนุสฺสเทโว มนุษย์เทวดา  คือ  มนุษย์ที่รู้จักว่า สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ รู้จักว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนชั่ว แล้วละเว้นสิ่งที่เป็นบาปอกุศล ตั้งใจประพฤติตนอยู่ในความดี และมีศีล ๕ เป็นปกติมิได้ขาด  มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป  ไม่กล้าทำชั่ว ใช้ชีวิตของตนเองได้อย่างมีสาระ ไม่อยู่ไปวัน ๆ เป็นมนุษย์ผู้มีใจสูง บำเพ็ญบุญกุศลอยู่เป็นประจำ ทั้งทาน ศีล ภาวนา ทั้งทำด้วยตนเองและชักชวนผู้อื่น มนุษย์ประเภทนี้เป็นประดุจเทพบุตรหรือเทพธิดา ผู้มีหิริโอตตัปปะจุติลงมายังโลกมนุษย์

การเกิดเป็นมนุษย์นั้นนับว่าเป็นความโชคดี เป็นสิ่งที่เกิดได้ยากยิ่งกว่าการถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งหลายร้อยหลายพันครั้ง  ดังอุปมาที่เปรียบด้วยเต่าตาบอดที่มีโอกาสเพียงน้อยนิดที่จะโผล่มาเจอกับห่วงที่มีขนาดพอดีกับหัวในท่ามกลางมหาสมุทรที่กว้างใหญ่  ด้วยเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ การได้อัตภาพเป็นมนุษย์เป็นการยาก

เมื่อเราโชคดีที่สุดที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ทั้งยังโชคดีที่ได้มาพบเจอพระพุทธศาสนา ก็ควรใช้กายมนุษย์นี้ทำตนให้เป็นมนุษย์เทวดา หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นมนุษย์ที่เป็นมนุษย์แท้ ๆ ที่จะสร้างคุณงามความดี และสั่งสมบุญกุศลเพื่อเป็นเสบียงในการเดินทางข้ามวัฏสงสาร ทำชีวิตนี้ให้คุ้มค่าสมกับการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ในชาติหนึ่ง


สำหรับผู้ที่ปรารถนาจะสั่งสมบุญติดตัวไว้ เดือนนี้มีบุญใหญ่ให้เราสั่งสมมากมาย ทั้งการปฏิบัติธรรมบูชาครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย การร่วมบุญสร้างอาคารพระผู้ปราบมาร การนั่งสมาธิเข้ากะทุกวัน การทำบุญตักบาตรพระในโครงการตักบาตรพระ ๒,๐๐๐,๐๐๐ รูป ๗๗ จังหวัด ทุกวัดทั่วไทย ฯลฯ และที่สำคัญอย่าลืมมาศึกษาหาความรู้ ความเป็นจริงของชีวิตใน DOU กัน เพื่อเติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์แบบ และเป็นทางมาแห่งปัญญาบารมีข้ามภพข้ามชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม..

เรียบเรียงจาก วิชา GL 102 ปรโลกวิทยา

Cr. พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ. ๙
ความแตกต่างบนความเหมือนของการเกิดเป็นมนุษย์ ความแตกต่างบนความเหมือนของการเกิดเป็นมนุษย์ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 22:49 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.