เวลากับชีวิต
คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้เอาใจใส่กับเรื่องของเวลามากนัก
และมักจะไม่ได้ให้ความสนใจว่าเวลาจะมามีผลกระทบต่อชีวิตของตนเองอย่างไร บางคนจึงปล่อยเวลาให้ผ่านไปกับสิ่งที่ไม่ใช่สาระแก่นสารที่แท้จริง
ตั้งแต่เกิดมา
เราใช้เวลาไปกับการศึกษาเล่าเรียน การบริหารร่างกาย การพูดคุย การนอนหลับพักผ่อน
การทำงาน การเที่ยวเตร่สนุกสนาน ฯลฯ
ในแต่ละวันนานหลายชั่วโมง โดยที่ไม่ได้นึกเฉลียวใจเลยว่า
ขณะที่เวลาล่วงเลยผ่านไปนั้น ก็นำสิ่งที่มีค่า
ที่สำคัญต่อการแสวงหาแก่นสารสาระในชีวิต คือการสั่งสมบุญบารมี
เพื่อบรรลุมรรค ผล นิพพาน ของเราให้ผ่านไปด้วย
มีความจริงเกี่ยวกับเวลาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ทุกคน
ไม่ว่าจะชอบใจหรือไม่ก็ตามอยู่อย่างน้อย ๕
ประการ คือ
๑) เวลาผ่านไปแล้วย่อมผ่านเลย แม้เรื่องนี้จะเป็นความจริงที่ทุกคนทราบดี
แต่กลับไม่ค่อยมีใครสังเกตว่า เวลาทุกวินาทีที่คืบคลานผ่านไปส่งผลกระทบอะไรกับชีวิตของเราบ้าง
๒)
เวลานำวัยอันสดใสและความแข็งแรงไป เมื่อเวลาผ่านไป
อายุหรือวัยของแต่ละคนก็เพิ่มมากขึ้นไปตามลำดับ แต่เรามักสังเกตไม่เห็น เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ค่อย
ๆ เป็นไปอย่างช้า ๆ ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า
“สันตติ” คือ การสืบต่อ หรือการเกิดดับต่อเนื่องกันไป
ยกตัวอย่างที่เห็นได้เป็นรูปธรรม เช่น เมื่อผมเส้นหนึ่งหลุดร่วงไป
ก็มีผมเส้นใหม่เกิดขึ้นมาแทน หรือเมื่อเซลล์ผิวหนังหลุดลอกออกไป ก็เกิดเซลล์ใหม่ขึ้นมาแทน
เป็นต้น ด้วยลักษณะความสืบต่อที่ต่อเนื่องเช่นนี้
ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตนเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานหลาย ๆ ปี
จึงสังเกตเห็นว่า วัยเราเปลี่ยนแปลงไป จากวัยทารกมาเป็นเด็กเล็ก
จากเด็กเล็กมาเป็นเด็กโต จากเด็กโตเข้าสู่วัยรุ่น จากวัยรุ่นเข้าสู่วัยทำงาน
จากวัยทำงานเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ จากวัยผู้ใหญ่เข้าสู่วัยชรา
ซึ่งกว่าจะรู้สึกว่าตนเองเปลี่ยนไป เวลาก็ผ่านไปหลายปี
พร้อมกันกับที่ความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายเริ่มเสื่อมถอยลง
๓)
เวลานำความชรามาให้ ความชราหมายถึง
ความแก่หง่อมของร่างกาย ความคร่ำคร่า
ความเสื่อมของอายุ เมื่อความชรามาถึง
คนส่วนใหญ่จะเริ่มรู้สึกได้จากทั้งความเปลี่ยนแปลงทางสรีระ และความแข็งแรงที่ลดน้อยถอยลงอย่างชัดเจน
แต่แม้อย่างนั้นก็ยังมีน้อยคนนักที่ย้อนกลับมาพิจารณาว่า
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ตนเองได้สั่งสมบุญบารมีมามากน้อยเพียงใด
หรือเป็นไปเพื่อการบรรลุเป้าหมายของชีวิตหรือไม่
๔)
เวลานำโอกาสดี ๆ ของชีวิตให้ล่วงเลยผ่านไป เพราะเวลาที่เหมาะสมและดีที่สุดที่จะสร้างบุญบารมีได้
ก็คือเมื่ออยู่ในยามหนุ่มยามสาวอันสดใส ซึ่งมีร่างกายอันสมบูรณ์แข็งแรง แต่ผู้คนจำนวนมากกลับใช้วันเวลาในระยะนี้ไปกับเรื่องที่ไม่เป็นแก่นสาร
แทนที่จะรีบขวนขวายสร้างบุญกุศลให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป บางคนถึงกับมีความเห็นผิดไปอีกว่า
ควรรอให้แก่ก่อนจึงค่อยเข้าวัดสร้างบุญบารมี ซึ่งหลายคนก็ไม่มีโอกาสมีชีวิตจนถึงตอนนั้น
หรือหากถึงก็ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำอย่างที่คิดไว้
จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ถ้าปล่อยให้โอกาสดี
ๆ ของชีวิตหลุดลอยไป เพราะความประมาทในชีวิตของตนเอง
๕)
เวลานำความตายมาให้ นี้เป็นความจริงแท้แน่นอนสำหรับทุกคน
ในขณะที่เวลาผ่านเลยไป แม้อาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
แต่ที่เหมือนกันก็คือ ทุกชีวิตล้วนกำลังเดินทางไปสู่จุดสุดท้าย
ซึ่งก็คือความตายนั่นเอง และเมื่อความตายมาถึง สำหรับผู้ที่ไม่ได้สร้างความดี
เพราะมัวปล่อยให้โอกาสดี ๆ ในชีวิตผ่านเลยไป
ก็ย่อมประสบกับวิบากที่ตนเองทำไว้ในโลกหน้า โดยไม่อาจย้อนเวลาเพื่อกลับมาแก้ตัวใด
ๆ เหมือนดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในเทวทูตสูตรว่า
ผู้ที่ประมาท ทำบาปไว้ในคราวมีชีวิต เมื่อละโลกไป พญายมจะถามเขาว่า
ตอนยังมีชีวิตอยู่ได้เห็นเทวทูตทั้ง ๕ คือ เด็กที่เกิดใหม่ คนแก่ คนเจ็บ คนที่ถูกลงโทษจองจำ
และคนตายหรือไม่ เมื่อเขาตอบว่าเห็น พญายมจะถามเตือนสติต่อไปว่า
ตัวท่านนั้นก็มีสติดี เป็นผู้ใหญ่แล้ว เคยคิดบ้างไหมว่า ตนเองก็ต้องมีความเกิด
ความแก่ ความเจ็บ การถูกลงโทษเมื่อทำความชั่ว และมีความตายเป็นธรรมดา ควรที่จะทำความดีทาง
กาย วาจา และใจ
เมื่อเขาตอบว่าไม่ได้คิดเพราะมัวประมาทอยู่ พญายมจึงกล่าวกับเขาว่า
“ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย
ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้นเหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว
ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน
ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน
ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน
ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้”
ดังนั้น เวลาจึงมีคุณค่าสำหรับทุกชีวิต
และแม้เวลาจะเดินไปโดยที่เราไม่รู้สึกตัวก็ตาม เราก็ต้องพยายามพิจารณา
เพื่อใช้เวลาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตมากที่สุด..
จากหนังสือ
SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา
Cr. พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๔๕
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗
คลิกอ่าน DOU ความรู้สากลของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
พระสถูปเจดีย์ คือ สัญลักษณ์แสดงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา
อโศกมหาราช...
ความอาภัพ ๑๘ ประการ
การทำบุญกับพระอรหันต์ในบ้าน
ความแตกต่างบนความเหมือนของการเกิดเป็นมนุษย์
การกลับมาของมหาวิทยาลัยนาลันทา... ศูนย์กลางแห่งพุทธปรัชญาเมื่อ ๘๐๐ ปีก่อน
รู้จักมนุษย์ในจักรวาลวิทยา
การกลับมาของมหาวิทยาลัยนาลันทาฯ |
รู้จักมนุษย์ในจักรวาลวิทยา |
คลิกอ่าน DOU ความรู้สากลของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
พระสถูปเจดีย์ คือ สัญลักษณ์แสดงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา
อโศกมหาราช...
ความอาภัพ ๑๘ ประการ
การทำบุญกับพระอรหันต์ในบ้าน
ความแตกต่างบนความเหมือนของการเกิดเป็นมนุษย์
การกลับมาของมหาวิทยาลัยนาลันทา... ศูนย์กลางแห่งพุทธปรัชญาเมื่อ ๘๐๐ ปีก่อน
รู้จักมนุษย์ในจักรวาลวิทยา
เวลากับชีวิต
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
19:19
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: