ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๓)


หมวดที่ ๓ ธัมมเทสนาปฏิสังยุต
ข้อ ๑ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ มีร่มในมือ
ข้อ ๒ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้มีไม้พลองในมือ
ข้อ ๓ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้มีศัสตราในมือ
ข้อ ๔ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้มีอาวุธในมือ
ข้อ ๕ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้สวมเขียงเท้า
ข้อ ๖ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ สวมรองเท้า
----------------------------------------

เป็นเรื่องของการรู้จักกาลเทศะในการตักเตือนคนหรือเทศนาสั่งสอนใครให้เขารับได้ไม่ใช่นึกอยากจะพูดธรรมะก็พูดเรื่อยไป บางคนมีความรู้ธรรมะอยากให้ใครต่อใครรู้ตามบ้างแต่ไม่รู้จักกาลเทศะในการพูด กลายเป็นการพูดเพ้อเจ้อไป บางทีกลายเป็นทำให้ธรรมะเสียค่าไปก็มี

ในสมัยโบราณ พระนักเทศน์ทั้งหลายท่านให้ความเคารพในธรรมมาก เวลาท่านจะเทศน์ ท่านต้องล้างมือให้สะอาดเสียก่อน จึงจะหยิบคัมภีร์ใบลานขึ้นมา ท่านกลัวคัมภีร์จะเปื้อน และถึงแม้ล้างมือสะอาดแล้ว แต่ยังมีกลิ่นติดอยู่ท่านก็ไม่ยอม ต้องไปล้างอีกหลายครั้ง ท่านว่าเป็นการแสดงความเคารพในธรรมด้วยกาย       

บางท่านถึงกับเอาน้ำอบไทยหยดลงไปในมือให้มีกลิ่นหอมเสียก่อน จึงไปหยิบคัมภีร์ได้

หยิบคัมภีร์แล้วท่านยังให้ความเคารพในคัมภีร์อีก พวกเราเคยเห็นสมุดใบลานที่พระใช้เทศน์ไหม แผ่นยาว ๆ มีผ้าห่ออยู่แล้วมีเชือกผูก เวลาแก้เชือกท่านไม่เอามือข้ามคัมภีร์เด็ดขาด ท่านบอกว่าเป็นการไม่ให้ความเคารพพระธรรม

พระบางรูปไม่รู้จักธรรมเนียม พอคว้าพระคัมภีร์ใบลานได้ทั้ง ๆ ที่มีผ้าห่อ มีเชือกผูกอยู่ก็ไม่ยอมแก้ ดึงออกมาทั้งปึกเลย ท่านจะตำหนิว่าจะเทศน์หรือจะชักดาบซ้อมรบ ท่านถือว่าไม่ให้ความเคารพในพระธรรม

พระอาจารย์ในอดีต ปู่ย่า ตายายของเราให้ความเคารพแม้กระทั่งคัมภีร์ถึงปานนี้ แม้ที่สุดคนสมัยนี้ที่อายุ ๖๐-๗๐ ปีขึ้นไปก็ยังทำอยู่ คือถ้าจะหยิบหนังสือธรรมะมาอ่านต้องกราบเสียก่อน ๓ ครั้ง อ่านเสร็จแล้วก็ต้องกราบอีก ๓ ครั้ง แล้วจึงเอาไปไว้ที่เดิม

พวกเราเดี๋ยวนี้หยาบกันมาก หนังสือสวดมนต์ที่แจกไปพอสวดเสร็จก็พับครึ่งยัดเข้ากระเป๋าหลัง นั่งทับ อย่างนี้ทั้งชาติไม่มีทางเห็นธรรมหรอก ก็ใจหยาบอย่างนั้น ขนาดมีรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่หน้าปกยังพับเสียบก้นได้ แค่หยิบหนังสือธรรมะก็พอจะบอกได้ว่าเมื่อไรจะเห็นธรรม

เรามาดูกันต่อไปว่า วิธีที่จะทำความเคารพในพระธรรมหรือในการอบรมสั่งสอน เขามีธรรมเนียมอย่างไรบ้าง จะได้ทำอย่างถูกต้อง

ข้อ ๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ มีร่มในมือ

ถ้าเขายังเห็นแก่ความสบาย ถือร่มกันแดดกันลม ก็แสดงว่าเขายังไม่เห็นคุณค่าของการฟังธรรม ยังไม่ให้ความเคารพต่อธรรมะเท่าที่ควร ยังไม่พร้อมจะฟังธรรม

ข้อ ๒. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ มีไม้พลองในมือ

ใครถือไม้พลอง ไม้ตะพด อย่าได้ไปเทศน์อะไรให้ฟัง เพราะโดยทั่วไปคำสอนที่ถูกต้องมักจะไม่เป็นที่ถูกใจคนพาล และถ้าไม่ถูกใจเมื่อใด ไม้พลอง ไม้ตะพด จะเพ่นกบาลเราเข้า อย่าเชียวนะ! คนที่มีอาวุธอยู่ในมือ อย่าไปเทศน์ไปเตือนเด็ดขาด เดี๋ยวจะเจ็บตัว

ข้อ ๓. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ มีศัสตราในมือ

ข้อ ๔. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ มีอาวุธในมือ

คำว่า ศัสตรากับ อาวุธต่างกันอย่างไร?

ศัสตรา หมายถึงของมีคม

อาวุธ หมายถึงของไม่มีคม เช่น ลูกปืนไม่มีคม ถือเป็นอาวุธแต่ไม่ใช่ศัสตรา ถ้าดาบเป็นศัสตรา แต่เดี๋ยวนี้เราใช้ปนกัน เรียกศัสตราวุธคลุมไปทั้ง ๒ อย่าง

โบราณท่านพูดง่าย ๆ คนที่มีศัสตราหรืออาวุธอยู่ในมือ จะเป็นหอก เป็นดาบ เป็นธนู เป็นตะพด อย่าไปเตือน คุณแม่บ้านทั้งหลายถ้าสามีกำลังกินเหล้าอย่าเพิ่งไปเตือนอะไรเดี๋ยวขวดเหล้า แก้วเหล้า จะลอยมาลงหัวเอาแม้คำเตือนจะเป็นความจริงและมีประโยชน์สักเท่าใดก็อย่าเตือน เช่น ไปเตือนว่าคุณพี่ขาเหล้าไม่ดีนะคะ อย่ากินเลยค่ะ เสียสุขภาพหมดต่อให้พูดเสียงอ่อนเสียงหวานอย่างไรก็ไม่แคล้วเจ็บตัวเหมือนกัน เพราะเขากำลังเมา

แม้พระภิกษุก็เช่นกัน ถ้าจะเตือนใคร เห็นเขามีศัสตราวุธอยู่ในมืออย่าเพิ่งเตือน พวกเราที่บอกบุญก็เหมือนกัน ถ้าเขากำลังพกมีดพกปืนอยู่ อย่าเพิ่งไปเตือนสติ ไปพูดธรรมะ ถ้าไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเจ็บตัว เพราะว่าโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว อะไรที่ถูกต้องมักไม่ค่อยถูกใจ การไปเตือนเป็นความถูกต้อง แต่การถูกเตือนไม่ถูกใจศัสตราวุธจะแล่นมาเล่นงานเอาง่าย ๆ

ข้อ ๕. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ สวมเขียงเท้า

ข้อ ๖. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ สวมรองเท้า

เขียงเท้า คือ เกี๊ยะ จริง ๆ คือ ประเภทเดียวกันกับรองเท้า

โบราณให้ความเคารพในพระธรรม ถ้าจะฟังธรรมจากใครต้องให้ผู้นั้นอยู่ในที่สูงกว่า เพราะฉะนั้นแม้จะขึ้นมาฟังเทศน์เขาก็ถอดรองเท้าเสียก่อน แต่ปัจจุบันทำผิด ๆ พลาด ๆ บางคนสวมรองเท้าเข้าไปในโบสถ์ก็มี

พระเจ้าพิมพิสารแม้เป็นโสดาบันแล้วก็ตามยังถูกโอรสของพระองค์เองเอามีดโกนผ่าเท้าจนตาย ถามว่ามีกรรมอะไร พบว่าในอดีตชาติพระองค์ทำความผิดพลาดไว้ประการหนึ่ง คือเวลาเข้าโบสถ์เข้าวิหารไม่ถอดรองเท้า ไม่ให้ความเคารพสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ให้ความเคารพพระอรหันต์ซึ่งกำลังเทศน์อยู่ในโบสถ์ ถึงเวลาก็เดินเข้าไปเลย

ด้วยกรรมนั้นติดตัวมาเลยถูกผ่าเท้า ในที่สุดก็ตาย สำหรับพวกเราก็ขอฝากไว้ด้วย อย่าใส่รองเท้าเข้าโบสถ์หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อย่าว่าแต่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนาอันเป็นสิ่งเคารพสูงสุดของเราเลย แม้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาอื่นก็ไม่ควรใส่รองเท้าเข้าไป จะเป็นการดูหมิ่นศาสนาของเขา

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๗ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙







คลิกอ่านต้นบัญญัติมารยาทไทย ตอนที่ ๑-๑๕  ของวารสารอยู่ในบุญ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๙)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๐)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๓) ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๓) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:42 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.