ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๔)


หมวดที่ ๓ ธัมมเทสนาปฏิสังยุต
ข้อ ๗ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ไปในยาน
ข้อ ๘ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้อยู่บนที่นอน
ข้อ ๙ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้นั่งรัดเข่า
ข้อ ๑๐ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้พันศีรษะ
ข้อ ๑๑ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้คลุมศีรษะ
ข้อ ๑๒ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรานั่งอยู่บนแผ่นดิน จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้นั่งบนอาสนะ
ข้อ ๑๓ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรานั่งบนอาสนะต่ำจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้นั่งบนอาสนะสูง
ข้อ ๑๔ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรายืนอยู่ จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่
ข้อ ๑๕ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราเดินไปข้างหลัง จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้เดินไปข้างหน้า
ข้อ ๑๖ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราเดินไปนอกทาง จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้ไปในทาง

-------------------------------------------------

ข้อ ๗. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ไปในยาน

ยาน ในที่นี้หมายถึง คานหาม ถ้าเรายืนอยู่แล้วเขานั่งอยู่บนคานหาม มาขอให้เทศน์ให้ฟัง อย่าไปเทศน์ เพราะเขายังไม่ให้ความเคารพ ไม่ให้ความเลื่อมใสในพระธรรมเลย พูดไปก็เหมือนเอาธรรมะไปยัดเยียด เมื่อไรลงมาแล้วจึงจะสอนให้ ยกเว้นเขาป่วยพะงาบ ๆจำเป็นต้องหามกันมา อย่างนั้นเทศน์ให้ฟังได้เป็นกรณีพิเศษ เพราะลงมาไม่ไหวแล้ว

ข้อ ๘. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้อยู่บนที่นอน

คนที่อยากรู้ธรรมะแต่ยังนอนไขว่ห้างอยู่ไม่เคารพในธรรม ไม่ใส่ใจพอ แล้วยังมาขอให้เทศน์ให้ฟัง อย่างนี้ไม่สมควรเทศน์ ยกเว้นคนไข้นอนอยู่บนเตียงหรือลุกแล้วจะเกิดอาการเจ็บไข้อย่างนั้นให้นอนฟังเทศน์ได้ หลวงพ่อเองเวลาไปเยี่ยมคนไข้ที่โรงพยาบาล ยืนเทศน์ให้คนไข้ฟังเป็นชั่วโมงก็ยอม แต่ถ้าอยู่ดี ๆ มานอนเอกเขนกขอให้เทศน์ให้ฟัง อย่ามาพูดเลย ไม่ทำ

เรื่องนี้ขอเตือนไว้ด้วย เล่ากันมาแต่โบราณแล้ว คือ มีโยมคนหนึ่ง แต่เดิมเป็นพระมหาเปรียญหลายประโยค เคยบวชอยู่หลายพรรษา ต่อมาสึกออกไป โยมคนนี้ไม่มีความเคารพในพระธรรม แต่จำธรรมะได้ดี คงเป็นเพราะความไม่เคารพในธรรมนี้เองจึงสึก

ความที่ยังคุ้นเคยกับวัด ต่อมาก็มาวัดอีก แต่เนื่องจากมีความทะนงตนว่ารู้ธรรมะมากเวลาที่พระบวชใหม่ ๆ ขึ้นเทศน์ แกไม่นั่งฟังเหมือนคนอื่นเสียแล้ว นอนฟังอยู่กลางศาลากระดิกเท้าดิ๊ก ๆ พอละโลกไปแล้ว ด้วยกรรมที่แกไม่มีความเคารพในพระธรรม ตายแล้วไปเกิดเป็นงูเหลือม พวกเราอย่าไปเป็นอย่างนั้นนะ

ข้อ ๙. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้นั่งรัดเข่า

คนกอดเข่า รัดเข่า คือ คนเจ้าทุกข์ ถ้าจะเทศน์จะสอนอะไร ต้องให้เลิกอาการกอดเข่าเสียก่อน จึงค่อยพูดค่อยสอนกัน ไม่อย่างนั้นไม่ไหวหรอก เสียเวลาเปล่า ใจเขายังไม่เปิดรับ

ข้อ ๑๐. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้พันศีรษะ

ถ้าเป็นแขกก็พันศีรษะ คนไทยก็สวมหมวกคนที่โพกศรีษะอยู่ ไมเจ็บไข้ได้ป่วยอะไร มาขอให้เทศน์ให้ฟัง อย่าเทศน์

ข้อ ๑๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้คลุมศีรษะ

คนนั่งคลุมโปง ไม่เต็มใจ ไม่พร้อมจะฟัง ป่วยการเทศน์

ข้อ ๑๒. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรานั่งอยู่บนแผ่นดิน จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้นั่งบนอาสนะ

ถ้าคนฟังนั่งอยู่ในที่สูง ปล่อยให้ผู้เทศน์นั่งอยู่ข้างล่าง อย่าเทศน์ ในสมัยโบราณ กษัตริย์จะไปเรียนวิชาสำคัญ ๆ จากยาจก หรือพวกขอทาน (ขอทานบางคนมีความรู้พิเศษหรือมีเวทมนตร์) ยังต้องยอมนั่งอยู่ต่ำกว่า หรืออย่างน้อยต้องสูงเท่ากัน ถ้ากษัตริย์นั่งอยู่ข้างบนบังคับให้เขานั่งสอนอยู่ข้างล่าง เขายอมตายดีกว่า ไม่ยอมสอนเด็ดขาด ถึงสอนให้ก็นำไปใช้ไม่ได้ผล เพราะเกิดความดูถูกครูผู้สอน

การสอนธรรมะก็เช่นกัน ถ้าเขายังไม่แสดงความเคารพในธรรม ยังถือยศถาบรรดาศักดิ์อยู่ เรียนรู้ไปก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ นำไปใช้ไม่ได้

ข้อ ๑๓. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรานั่งบนอาสนะต่ำจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้นั่งบนอาสนะสูง

แม้ที่สุดแล้ว อย่าว่าแต่ปล่อยให้เรานั่งกับพื้นเลย ต่อให้นั่งเก้าอี้ด้วยกัน ถ้าเก้าอี้เราต่ำกว่า ท่านว่าอย่าไปสอน

ข้อ ๑๔. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรายืนอยู่ จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่

ถ้าจะฟังเทศน์ทั้งที่ปล่อยให้เรายืนเทศน์แล้วเขานั่งฟัง แต่โบราณมาแล้วท่านไม่ยอม มาบัดนี้เรามีธรรมเนียมใหม่เกิดขึ้น เพราะมีความสะดวกกว่า เช่น การแสดงปาฐกถาธรรมต่าง ๆ ผู้แสดงธรรมมักนิยมยืน เพราะเวลาอธิบายหรือยกตัวอย่างอะไรก็ค่อนข้างคล่องตัวอย่างนี้สมควรยกเว้น

ผู้ที่บุกเบิกในเรื่องนี้ คือ ท่านปัญญานันทภิกขุ เมื่อเริ่มใหม่ ๆ ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากเพราะผิดพระวินัย แต่ตอนหลังกลับกลายเป็นอนุโลมไป ในกรณีที่คนฟังนั่ง พระจะยืนเทศน์ก็ไม่ผิดอะไร

ข้อ ๑๕. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราเดินไปข้างหลัง จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้เดินไปข้างหน้า

ถ้าผู้ฟังเดินข้างหน้า ผู้แสดงธรรมเดินตามหลัง อย่างนี้อย่าเทศน์อย่าสอนกันเลยเพราะเขายังไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมจะฟัง

ขอฝากไว้อีกอย่างหนึ่งด้วย เรื่องการเดินเวลาเดินกับผู้ใหญ่หรือพระสงฆ์ มีข้อแม้อยู่นิดหนึ่งที่เป็นธรรมเนียมของไทย คือ ทุกอย่างเริ่มต้นจากทางขวามือ มีทางขวาเป็นใหญ่ เวลาผู้ใหญ่เดิน เราเป็นผู้น้อยอย่าไปเดินอยู่ข้างขวาของผู้ใหญ่ จะกลายเป็นว่าเราใหญ่กว่าท่านยกเว้นบางกรณี เช่น จำเป็นต้องเดินนำทาง

เวลาต้อนรับพระผู้ใหญ่ แม้เป็นพระภิกษุด้วยกันพอเข้าไปกราบท่านเสร็จแล้ว พอท่านเดินนำหน้า พระภิกษุที่ตามมาต้องเดินอยู่ทางซ้ายมือท่าน ยกเว้นเวลาเดินเป็นขบวนต้องทำตามที่เขากำหนด เวลาอยู่ในที่ทำงานก็เหมือนกันเราต้องอยู่ทางซ้ายมือของท่าน เวลาท่านจะหยิบอะไรส่งให้ก็สะดวก

ข้อ ๑๖. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราเดินไปนอกทาง จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้ไปในทาง

ทาง ในที่นี้หมายถึง ทางเท้า ถ้าฆราวาสเดินในทางเท้า ปล่อยให้พระเดินในที่รก ๆ แล้วจะให้เทศน์ให้ฟัง อย่างนี้ไม่สมควรทำ เพราะเขาไม่ให้ความเคารพหรือไม่ให้ความสำคัญในพระธรรม ถ้าเป็นอย่างนี้เราเทศน์ก็เหนื่อยเปล่า ดีไม่ดีจะกลายเป็นเราดูถูกพระธรรมอีกด้วย

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๘ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙


ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๕)






คลิกอ่านต้นบัญญัติมารยาทไทย ตอนที่ ๑-๑๕  ของวารสารอยู่ในบุญ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๙)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๐)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๔) ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๔) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:11 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.