ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๕)


ต้นบัญญัติมารยาทไทย
ตอนที่ ๕ บ่อเกิดของมารยาทไทย
หมวดที่ ๑ สารูป (ข้อ ๒๑-๒๖)
---------------------------------------------------

ข้อ ๒๑-๒๒ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า  เราจะไม่เอามือค้ำกายไปในบ้าน-นั่งในบ้าน

เอามือค้ำกายก็คือ เอามือเท้าเอว การเดินเท้าเอวไม่เหมาะ ยิ่งคุณผู้หญิงถ้าเดินเท้าเอวยิ่งไม่น่าดู แม้บางครั้งเมื่อยมากอาจยืนเท้าเอวหรือนั่งเท้าเอวบ้าง ก็ขอให้เป็นแค่บางครั้ง อย่าบ่อยนัก

การเท้าเอวมีทั้งดูแล้วพองามและไม่งามแต่บางคนเท้าไม่เป็น ภาษาชาวบ้านบอกว่าน่าหมั่นไส้ สำนวนพระบอกว่าดูแล้วไม่สำรวม คือ เวลาเท้าเอว ถ้าคล้อยไปทางข้างหลังแล้วหงายท้องแขน แอ่นหน้านิด ๆ หย่อนขาข้างหนึ่งเมื่อไร แสดงว่าจะเอาเรื่องกันแล้ว เหมือนที่แม่ค้าในตลาดเขาเตรียมตั้งท่าด่ากันนั่นแหละไม่ดี อย่าไปทำ ถ้าเท้าเอวในลักษณะคว่ำแขนกำมือแบบนักกีฬา อย่างนั้นพอสู้ แต่ก็ดูให้พอดี ๆ อย่าออกท่ามากนัก

คราวนี้มาถึงคำว่า นั่งค้ำการนั่งค้ำ หมายรวมไปถึงนั่งเท้าแขนด้วย การเท้าแขนนี้ถ้าไม่จนใจจริง ๆ อย่าทำ ไม่งามเลย ส่วนมากเรานั่งเท้าแขนตอนนั่งพับเพียบ ตามธรรมดาเวลาเรานั่งก็เอามือขวาทับมือซ้ายวางไว้บนหน้าตัก ไม่ว่านั่งพับเพียบหรือนั่งขัดสมาธิ แต่ถ้าเมื่อยเหลือกำลังจะเท้าที่เข่าข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างเลยก็ยังดูเรียบร้อย บุคลิกยังไม่เสียเพราะคอยังตั้งตรง ไม่ตก ไม่ตะแคง แต่พอเอามือไปเท้าข้าง ๆ ตัวเมื่อไร ก็เริ่มตะแคงเป็นเรือบินปีกหัก บอกอาการว่าชักจะไม่ไหวแล้ว บางทีคอตกไปเลย ต้องรีบแก้ไขกันเสีย

ที่ถูกแล้วต้องฝึกนั่งให้ตัวตรง ๆ นั่งตัวตรงดีอย่างไร ดีมาก เพราะตอนนั่งสมาธิจะหาศูนย์กลางกายได้ง่าย บางคนนั่งเลื้อย นั่งเลื้อยก็แบบนั่งพับเพียบนี่แหละ แต่ว่าขายืดถ่างมากเกินไป แขนเท้าค้ำไปข้างหน้า ขาเหยียดชี้ไปข้าง ๆ ใกล้ท่านอนเข้าไปทุกที ไม่งามเลย

ถ้าจะถามว่า เรื่องเท้าเอวเท้าแขนไม่มีผิดตกยกเว้นบ้างหรือ? ก็มีบ้าง

๑. คนแก่อายุสัก ๙๙ ปี
๒. คนป่วยหรือเพิ่งหายป่วย อย่างนี้ไม่ว่ากัน นอกนั้นไม่ควร แต่ถึงจะแก่หรือจะป่วยถ้าจะเท้าก็เท้าให้สวย เขามีท่าของเขา ไม่ต้องจับเข่า เท้าลงไปที่พื้นก็ได้ แต่ให้ปลายนิ้วทั้งหมดเรียงกันชี้ไปข้างหน้า อย่าแอ่นท้องแขน จะกลายเป็นดัดจริตไป เท้าแขนแอ่นแต้ อย่าไปทำ

โบราณท่านว่าไว้ ใครมีลูกสั่งลูก มีหลานสั่งหลาน มีเหลนสั่งเหลนว่า ลูกเอ๊ยหลานเอ๊ย... เหลนเอ๊ยคนนั่งเท้าแขนพรรค์นี้อย่าได้เอามาทำพืชทำพันธุ์ เสียสกุลเราหมดเพราะลักษณะส่อว่าเป็นคนขี้เกียจ คนที่ไปไหนแล้วนั่งเท้าแขน ไม่ต้องตามไปดูถึงบ้านหรอก เห็นท่านั่งก็บอกได้เลยว่า คนนี้อยู่บ้านไม่ชอบทำงาน เพราะอะไรจึงรู้ ไม่ยาก ก็ขนาดตัวเองยังตั้งไม่ไหว ต้องเอาแขนมาค้ำ แล้วจะไปทำอะไรกินได้

ฉะนั้น เท้าแขนก็ไม่เอา เท้าเอวก็ไม่เอาแม้ที่สุดเท้าคางก็อย่าทำ เคยเจอคนไปนั่งโต๊ะอาหาร นั่งเท้าคาง แบบนี้หลังยาวผิดปกติอยู่นะ ประคองหลังไม่ไหวต้องคอยเท้าเอาไว้

ขอแถมอีกนิดเถิด นั่งอยู่บนศาลาเห็นบ่อย ๆ จะพูดหลายทีไม่มีโอกาส วันนี้ขอเหมาก็แล้วกัน คุณผู้หญิงเวลาลุก เวลานั่ง หรือแม้เวลาจะหยิบของ ขออภัยมักจะก้มลงไปทั้งตัวโดยที่เข่าไม่ย่อ แล้วเป็นอย่างไร บั้นท้ายของเรา ลองให้เพื่อนทำให้ดูก็ได้

ท่าก้มตัวนั่งที่งาม ๆ เขาทำกันอย่างไร สังเกตพระภิกษุก็แล้วกัน เวลาท่านจะนั่ง ท่านจะย่อเข่าแล้วลงทีละขา เวลาลุกก็เหมือนกันจะขึ้นทีละขาแล้วค่อยลุก พระภิกษุท่านเป็นผู้ชาย ท่านยังฝึกได้ เรียบร้อยเสียด้วย พวกเราผู้หญิงไปแก้ไขกันเสีย เดี๋ยวเขาจะว่านี่หรือคนเข้าวัด เสียชื่อหมด ไปหัดกันเสีย สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่หัดแล้วค่าตัวจะตก และสร้างความรำคาญให้ผู้อื่นอีกด้วย

หลวงพ่อใช้วิธีดูอย่างนี้แหละ ไม่ต้องไปผูกดวงกับใคร เห็นท่านั่งก็บอกได้เลย คนนี้ขี้เกียจ อย่ารับเข้ามา แล้วถูกทุกที ร้อยทั้งร้อยบางคนถามว่าหลวงพ่อไปเรียนโหราศาสตร์มาจากไหน ไม่เคยเรียนหรอก มองด้วยเหตุผลก็มองออก ขนาดนั่งยังต้องเอาอะไรมาค้ำ

ข้อ ๒๓-๒๔ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอาผ้าคลุมศีรษะไปในบ้าน-นั่งในบ้าน

ถ้าเราเป็นฆราวาสจะนำข้อนี้ไปใช้อย่างไรดูอย่างนี้ก็แล้วกัน ไปบ้านใครละก็ อย่าแต่งตัวให้รุ่มร่าม แม้เป็นเพื่อนสนิทหรือญาติสนิทก็อย่าไปทำ เดี๋ยวเป็นขี้ปากชาวบ้าน เพื่อนเราอาจไม่นึกอะไร แต่พ่อเขา แม่เขา น้องเขา พี่เขา สามี-ภรรยาเขา จะนึกตำหนิเอาได้ แม้ที่สุดเป็นธรรมเนียมเลยว่า เข้าบ้านใครหรือเข้าไปในอาคารตึกรามที่ไหนต้องถอดหมวกออก ขืนไม่ถอดมีหวังถูกค้อนหรือพูดกระแทกแดกดันว่าหัวล้าน หัวโล้น ไปโน่น

ข้อ ๒๕ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เดินกระโหย่งเท้าไปในบ้าน

เดินกระโหย่งเท้าก็คือ เดินเขย่งปลายเท้า สำหรับพระภิกษุห้ามทำเด็ดขาด แต่สำหรับพวกเราชาวบ้านไม่ห้าม เวลาเดินผ่านหน้าผู้ใหญ่ที่ท่านกำลังสนทนาหรือกำลังทำอะไรกันอยู่ หรือเวลาเราต้องการเดินให้เสียงเบา ๆ เราอาจจะกระโหย่ง แต่จริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้นก็ได้ เดินเต็มฝีเท้านี่แหละ แต่อย่าลงส้นแล้วก้มหลังสักนิดหนึ่งพองาม อย่าเขย่งเก็งกอยไม่ค่อยน่าดู

ข้อ ๒๖ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่นั่งรัดเข่าในบ้าน

คนนั่งรัดเข่าก็คือ นั่งชันเข่าขึ้นมาชิดอกกอดเข่าเจ่าจุก คอตกเข่าท่วมหัว คล้ายจะบอกว่าคราวนี้ตายแน่ ๆ คือเป็นอาการของคนเจ้าทุกข์ เราเข้าวัดกันมาขนาดนี้แล้ว มีอะไรกระทบกระทั่งใจขนาดไหนก็ต้องคุมสติให้มั่น ยืดคอตั้งบ่าเอาไว้ แล้วค่อยคิดค่อยพิจารณากัน เดี๋ยวก็มีทางแก้ไขจนได้ อย่าไปนั่งเป็นคนเจ้าทุกข์เสียหายหมด

โบราณท่านว่า เวลาเราทุกข์หนักอย่าไปกอดเข่าเจ่าจุก ให้เตือนตัวเองว่า ยิ่งมืดแสดงว่ายิ่งดึก ยิ่งดึกก็แสดงว่ายิ่งใกล้สว่างแล้ว” เพราะฉะนั้นที่ทุกข์เจียนตายอย่างนี้ก็แสดงว่าเกือบจะพ้นทุกข์พ้นอุปสรรคแล้ว เตือนใจตัวเองได้อย่างนี้เดี๋ยวก็ยืดคอขึ้นมาสู้อุปสรรคได้ มัวไปนั่งกอดเข่าเจ่าจุกอย่างนั้น เสียเวลาเปล่า ๆ

อีกทางหนึ่ง ทุกครั้งที่เราประสบปัญหาชีวิต ไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษาใคร ให้ทำอย่างนี้นะ นั่งหลับตาลงไปเฉย ๆ วางใจนิ่ง ๆ ที่ศูนย์กลางกาย ทีแรกใจจะยังไม่ยอมนิ่งหรอก ก็ปล่อยไปก่อน มันจะซัดจะส่ายอย่างไรก็ช่าง ฝืนนั่งไปสักพัก ถ้ายังฟุ้งนักก็มีวิธีแก้ เช่น มันคิดได้ให้มันคิดไป ดูสิจะคิดไปได้สักแค่ไหน เดี๋ยวมันจะเขิน หยุดคิดไปเอง

บางทีมันไม่ยอมหยุดจะทำอย่างไร ก็ลองเอาลิ้นดันเพดาน กลั้นลมหายใจ พอจะตายก็ลืมความทุกข์หมด ลืมความฟุ้งซ่าน แล้วจะเกิดความโล่งตามมาทีเดียว คราวนี้เราก็เอาใจวางเข้าศูนย์กลางกายได้ พอใจวางเข้าศูนย์กลางกายได้แล้ว เดี๋ยวก็เป็นสมาธิสว่างโพลง ปัญหาที่ว่าแก้ไม่ได้ เดี๋ยวก็เห็นช่องทางแก้ไขจนได้ ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำ อย่างนี้จึงจะถูกวิธี

ยังมีบางกรณีสอนก็ไม่เชื่อ ห้ามก็ไม่ฟัง มีเรื่องกลัดกลุ้มตีโพยตีพายมาเชียว คราวนี้ต้องตายแน่ ๆ ไม่มีใครในโลกจะทุกข์เท่าเราอีกแล้ว อยากตายให้รู้แล้วรู้รอดไป ถ้าอย่างนี้มีวิธีแก้อีก ๒ วิธี หลวงพ่อเคยใช้ได้ผลมาแล้ว

บางคนมีเรื่องทุกข์มากเลยอยากตาย มาถึงหลวงพ่อ

ลูกอยากตาย

เอ้าอยากตายจริง ๆ หรือ?”

เขาก็บอกว่าอยากตายจริง ๆ มันเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น พูดกันไม่รู้เรื่องแล้ว

หลวงพ่อก็เลยบอกว่า อยากตายจริง ๆ เดี๋ยวหลวงพ่อจะช่วย เอาไอ้นี่ไปกิน ๒ เม็ด ไม่เกิน ๑๕ นาทีตาย เอาไหม?” หมอนั่นใจถึง ส่งให้กินก็กิน กินอะไรเข้าไป ยาถ่าย พอกินเสร็จบอกให้กินน้ำอุ่น ๆ ตามไปมาก ๆ ๑๕ นาทีเท่านั้นแหละ วิ่งตั้ก ๆ เข้าห้องน้ำไป แล้วพอมันพรวดออกมา ๒ พรวดเท่านั้นแหละความเครียดหาย เดี๋ยวก็พูดกันรู้เรื่อง

อีกวิธีหนึ่ง ให้กินก็ไม่กิน หาว่าเราหลอกเสียนี่ หลวงพ่อก็บอกไปเลยว่า ตายขณะใจเศร้าหมองอย่างนี้ตกนรกนะ ตายแล้วตกนรกยิ่งทุกข์กว่านี้อีก เอาอย่างนี้สิ เอาชนิดตายแล้วไปสวรรค์เอาไหม? มีบางคนบอกว่าเอา ตายแล้วได้ไปสวรรค์ชอบ

ถ้าอย่างนั้นเข้าไปในโบสถ์ จุดธูปเทียนอธิษฐานตรงหน้าพระประธานเลยว่า ข้าพเจ้าจะนั่งตายอยู่อย่างนี้แหละพักเดียวเมื่อยกลัวตาย ลุกขึ้นกลับบ้าน บางคนนั่งได้พักหนึ่งใจสงบ เห็นช่องทางแก้ไข กลับมากราบหลวงพ่อ ขอบคุณครับ ผมคิดได้แล้วอย่างนี้ก็มี

วิธีแก้ไขมีมากมาย ฉะนั้นห้ามเด็ดขาดเลยว่า อย่าไปนั่งกอดเข่าเจ่าจุกอย่างนั้น ถึงจะมีเรื่องเดือดร้อนหนักหนาสาหัสอย่างไร ก็อย่าไปทำ ตั้งแต่เด็กแต่เล็กมาแล้ว หลวงพ่อไม่เคยทำเลย คอยังยืดตั้งอยู่บ นบ่าตลอดเวลา พวกเราอย่าไปเป็นกันนะ รักษาบุคลิกลักษณะของเราไว้ให้ดี

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๕๙ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙








คลิกอ่านต้นบัญญัติมารยาทไทย ตอนที่ ๑-๑๕  ของวารสารอยู่ในบุญ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๕) ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๕) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 03:26 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.