ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑)


ต้นบัญญัติมารยาทไทย
ตอนที่ ๑ บ่อเกิดของมารยาทไทย
-----------------------------

เรามักเข้าใจกันว่า มารยาทเป็นเรื่องของการปรับตัวให้เข้ากับสังคม เพื่อความงดงามน่าดู เพื่อการยอมรับเข้าเป็นหมู่คณะเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วมีเรื่องเบื้องหลังลึกซึ้งเกี่ยวกับต้นบัญญัติมารยาทที่เรายอมรับกันอยู่ในปัจจุบันนี้

ถ้าเราย้อนกลับมาสำรวจตัวเอง เราจะพบว่า ในตัวของเรานั้นมีแต่สิ่งที่ไม่งามทั้งสิ้น ของเสียที่ขับออกจากร่างกายทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่ไม่น่าพิสมัยทั้งนั้น จึงเป็นปัญหาว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้ความไม่น่าดูเหล่านั้นไปรบกวนผู้ที่อยู่รอบข้างเรา และจะทำอย่างไรจึงจะป้องกันการกระทบกระทั่งอันเกิดจากความไม่งามของสิ่งเหล่านั้น

จากปัญหานี้จึงได้มีการบัญญัติมารยาทขึ้น เพื่อเป็นกฎเกณฑ์ใช้สืบต่อกันมา ซึ่งต้นบัญญัติของมารยาทต่าง ๆ ที่เก่าแก่และถือเป็นต้นแบบของมารยาทในปัจจุบันก็คือ เสขิยวัตรซึ่งเป็นหมวดพระวินัยในพระพุทธศาสนานั่นเอง

ความงามสง่าในศีลาจารวัตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า    ได้ยังความเลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้ที่พบเห็น และพระพุทธองค์ทรงอบรมสั่งสอนพระภิกษุสงฆ์ให้มีศีลาจารวัตรงดงามเรียบร้อย โดยทรงบัญญัติหมวดพระวินัย เสขิยวัตรขึ้น

ครั้นพระภิกษุสงฆ์ปฏิบัติตามพระวินัยหมวดนี้แล้ว ทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย สงบ สำรวม งามสง่า และทำให้ผู้พบเห็นเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัย

ตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลึกลงในประเทศไทย ชนชาติไทยคุ้นเคยกับศีลาจารวัตรอันงดงามของพระภิกษุสงฆ์ จนซึมซับและถ่ายทอดกิริยามารยาทที่นุ่มนวลนั้นไปอบรมสั่งสอนลูกหลานสืบต่อกันมา

เสขิยวัตรจึงเปรียบเสมือนเพชรน้ำหนึ่ง ที่ทำให้คนไทยเป็นคนพิเศษ มีความน่ารัก นุ่มนวล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีในชนชาติอื่น จึงสมควรที่ลูกหลานไทยยุคปัจจุบันจะต้องกลับมาทบทวนฝึกตนเองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าและเป็นเอกลักษณ์ของชนชาวไทย
---------------------------------------------------------------------------------------------

ต้นบัญญัติของมารยาทไทย

เรื่องที่นำมาฝากในวันนี้ คือ บ่อเกิดของมารยาทไทย

เราสงสัยกันมานานว่า มารยาทไทยตลอดจนขนบธรรมเนียมที่เราใช้กันอยู่ ซึ่งมีความแตกต่างไปจากชนชาติอื่นและมีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา แล้วยังเป็นที่ประทับใจของคนทั่วโลกนี้ ได้มาจากไหนกันแน่ ก็พบว่า มารยาทและขนบธรรมเนียมประเพณีไทยได้มาจากพระพุทธศาสนา

มารยาทไทยที่จะกล่าวถึงในวันนี้เป็นการยกเอา หมวดพระวินัยหมวดหนึ่งในวินัยของพระสงฆ์ ที่เรียกว่า หมวดเสขิยวัตรว่าด้วยมารยาทอันงดงามของพระภิกษุ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำมาจากมารยาทของกษัตริย์ เพราะพระองค์ทรงเป็นเจ้าชายในราชวงศ์ของกรุงกบิลพัสดุ์มาก่อน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำมารยาทของกษัตริย์ที่ดีงามมารวมกับมารยาทของนักบวชที่ดีงามในยุคนั้น ซึ่งพระองค์ทรงพิสูจน์มาแล้วว่าดีจริง ๆ แล้วทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติม จนกลายเป็นมารยาทของพระภิกษุ จากนั้นได้กลายมาเป็นมารยาทของชาวไทยเราด้วย

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ทำไมจึงต้องฝึกมารยาทกัน เหตุผลในขั้นพื้นฐานก็คือ

๑. เพื่อปกปิดความไม่งามในร่างกายของเรา
๒. เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งกัน

ในตัวของเรานี้ไปดูเถิด ไม่ว่าของแข็ง ของเหลว ไม่ว่าลมที่ออกจากตัวเรา แม้เสียงที่ออกจากตัวเรา จริง ๆ แล้วไม่น่ารักสักอย่าง และน่าสะอิดสะเอียนทั้งนั้น

น้ำที่ออกมาจากตัวเรา เช่น น้ำมูก น่าดูเสียเมื่อไร หรือน้ำลาย ลองใครบ้วนน้ำลายให้เรากินสักถ้วย จ้างก็ไม่เอา เคืองตายเลย ที่เห็นจะพอดูได้ก็น้ำตาของบางคน ดูสวยดี หยดเหมือนน้ำค้าง แต่พอเข้าไปใกล้ไม่ไหว ยิ่งน้ำปัสสาวะเลิกพูดกัน นี้คือของเหลวที่ออกจากร่างกาย เอาเข้าจริง ๆ จัง ๆ แล้ว น่าสะอิดสะเอียน ของแข็งที่ออกจากร่างกายยิ่งไม่ต้องอธิบาย ของตัวเองยังรังเกียจ ยังรำคาญเลย ออกมาแล้วต้องรีบล้างรีบเช็ด

กลิ่นที่ออกจากตัวเราก็ไม่มีดี พอเหงื่อออกแล้วต้องหาน้ำอบน้ำหอมมาชโลมกันเอาไว้ มิฉะนั้นกลิ่นไม่ดีในร่างกายเป็นต้องรบกวนชาวบ้าน สีของตัวเราก็เหมือนกัน ไม่ค่อยมีดี ยิ่งพอโกรธแล้ว หน้าเขียว หน้าดำ ปากสั่น หน้าเป็นผีเลย เห็นเป็นยักษ์ไปเลย ทั้งเนื้อทั้งตัวเรานอกจากคุณธรรมแล้ว จะเอาของดี ๆ หายาก

ทั้งเนื้อทั้งตัวเรามีของไม่ดีอย่างนี้ ถ้าเราไม่ระวังก็ไปก่อความรำคาญให้ชาวบ้าน เมื่อก่อความรำคาญให้ ใครล่ะจะรัก ความน่ารักหมดไปเลย แม้ไม่ได้ทำอะไร แค่นั่งอยู่เฉย ๆ แต่นั่งไปท้องร้องจ๊อก ๆ ไป คนข้าง ๆ ก็รำคาญ นี้คือเสียงที่ออกจากตัวเราก็ไม่ใช่เสียงที่ไพเราะอะไร       บางคนยิ่งเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เราไม่อยากเข้าใกล้ หายใจเข้าหายใจออกเสียงดังครืดคราด คล้ายเสียงแมวกรน ยิ่งบางคนนอนกรนเสียงเหมือนโรงสีไฟ ครืดคราด ๆ

เสียง กลิ่น ของแข็ง และของเหลวที่ออกจากตัวเราไม่ต้องมากหรอก อาหารที่ตั้งบนโต๊ะ แหม!  น่ากิน หอมเชียว ตักใส่ปากเคี้ยวสัก ๓-๔ ที พอคายออกมาใหม่ แล้วบอกให้ตักเข้าไปอีกที ไม่เอาแล้ว กลายเป็นสิ่งที่ไม่น่ากิน ไม่น่าดู นี้คือตัวของเรา เพราะฉะนั้นที่ส่องกระจกทุกวันว่า แหม! ฉันนี่สวยจริง หมุนอยู่หน้ากระจก ๕ รอบ ๑๐ ตลบน่ะ หลงตัวเอง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงมองทะลุปรุโปร่งหมดเลย ทรงบัญญัติมารยาทให้พระภิกษุหมวดหนึ่ง เรียกว่า เสขิยวัตรเพื่อป้องกันความน่าสะอิดสะเอียนในตัวของเราให้หมดไป แล้วในเวลาเดียวกันก็ช่วยส่งเสริมบุคลิกให้ดี ให้น่าเคารพรักขึ้นมา

หมวดธรรมหมวดนี้ ต่อมากลายเป็นพื้นฐานของมารยาทไทย ฉะนั้นวันนี้เรามาศึกษา         เสขิยวัตรเพื่อว่าถ้าเรามีข้อบกพร่องอะไรในตัว จะได้รู้และแก้ไขทัน

คนบางคนทำงานเก่ง พูดจาก็เพราะ พรรคพวกเพื่อนฝูงก็รักในเชิงของการทำงาน ในการพูดจา แต่พอถึงเวลากิน มีงานเลี้ยง เขาไม่เคยเชิญเราไปเลย เราก็อดนึกเคืองไม่ได้ อะไรกัน ทีงานหนักมาตามเรา ทีจะกินไม่ตาม ชักโมโห แท้ที่จริงมารยาทในการรับประทานอาหารของเราแย่จริง ๆ กินเหมือนหมูกิน เขาเลยไม่เชิญไป เอ๊ะ! ความรู้เราก็ดี ความสามารถก็ดี แต่ทำไมพวกเพื่อน ๆ ไม่รักเรา เข้าไปคุยกับเขาทีไรหนีทุกทีเลย อ๋อ! กลิ่นตัวของเราแรงจริง ๆ หรือเวลาพูดน้ำลายกระเซ็นเชียว เพื่อนทนไม่ไหวจริง ๆ หนีหน้าหมด บางคนอะไร ๆ ก็ดี ท่านั่งก็ดี ท่ายืนก็ดี แต่เวลาเดิน     เสียบุคลิกหมด ไม่น่าดู เดินขาถ่าง ๆ หมาวิ่งลอดได้สบาย ฯลฯ

เพื่อแก้ความไม่น่าดู ควรมาศึกษา เสขิยวัตรซึ่งมีอยู่ ๔ หมวดด้วยกัน แม้เป็นมารยาทของพระภิกษุ แต่จะขยายความว่าจะนำเอามาใช้กับประชาชนได้อย่างไร

หมวดที่ ๑ เรียกว่า สารูปแปลว่า ธรรมเนียมที่ควรประพฤติเวลาเข้าบ้าน ตามธรรมดา พระอยู่ในวัด แต่ถึงเวลาจะเข้าบ้านประชาชนหรือไปในหมู่บ้านต่าง ๆ ควรจะปฏิบัติอย่างไร

เรื่องนี้นำมาใช้ปรับปรุงตัวเราเองได้ เวลาอยู่บ้านเราจะทำตัวอย่างไรก็ได้ แต่ออกนอกบ้าน    จะต้องทำอย่างไรบ้าง เอามาเปรียบเทียบกันกับพระภิกษุ

หมวดที่ ๒ เรียกว่า โภชนปฏิสังยุตแปลว่า ธรรมเนียมในการรับบิณฑบาตและการฉันอาหาร ซึ่งจะเอามาปรับใช้เป็นมารยาทในการกินอาหาร

หมวดที่ ๓ ธัมมเทสนาปฏิสังยุตว่าด้วยธรรมเนียมของการแสดงธรรม ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ วิธีที่จะอบรมลูก ๆ หลาน ๆ หรือตักเตือนคนให้ได้ผลอยู่ตรงนี้ ใครที่อบรมลูกอบรมหลานไม่ค่อยได้ผล ลองศึกษาดูว่าพระท่านทำอย่างไร ใครเตือนพรรคพวกเพื่อนฝูง เตือนลูกน้องไม่ค่อยได้ผล มาดูสิว่า พระท่านทำอย่างไร แล้วแก้ไขเสีย

หมวดที่ ๔ ปกิณณกะว่าด้วยธรรมเนียมในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ทรงสอนหมด ขออภัยไม่มีศาสดาที่ไหนในโลกจะมาสอนลูกศิษย์ว่า การถ่ายอุจจาระควรทำอย่างไร การถ่ายปัสสาวะควรทำ อย่างไร ไม่มีศาสดาไหนในโลกสอน แต่พระพุทธเจ้าทรงสอน สอนละเอียดด้วย ซึ่งต่อมากลายมาเป็นธรรมเนียมในการใช้ห้องน้ำห้องท่า และการรักษาความสะอาดบ้านเรือนของพวกเรารวมไปในนั้นด้วย

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๕๕ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘



คลิกอ่านต้นบัญญัติมารยาทไทย ตอนที่ ๑-๑๕  ของวารสารอยู่ในบุญ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๒)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๓)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๔)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๕)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๖)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๗)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๘)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๙)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๐)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๑)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๒)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๓)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๔)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๕)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑) ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:11 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.