ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๐)


หมวดที่ ๒ โภชนปฏิสังยุต
ข้อ ๙   ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ขยุ้มข้าวสุกแต่ยอดลงไป
ข้อ ๑๐ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่กลบแกงหรือกับข้าวด้วยข้าวสุกเพราะอยากจะได้มาก
ข้อ ๑๑ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า ถ้าเราไม่เจ็บไข้จักไม่ขอแกงหรือข้าวสุก เพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน
ข้อ ๑๒ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ดูบาตรของผู้อื่นด้วยคิดจะยกโทษ
ข้อ ๑๓ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่นัก
-------------------------------------------

ข้อ ๙. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ขยุ้มข้าวสุกแต่ยอดลงไป

บางคนมีนิสัยแปลก ๆ จะตักจะกินอะไรชอบเจาะตรงกลางก่อน ตักข้าวหรือกับข้าวในจาน ก็เจาะควักตรงกลางแบบเดียวกัน มองไปเห็นเป็นสะดือกลวงโบ๋ไปหมด นิสัยอย่างนี้ควรแก้ไขเสียเพราะไม่งาม ลำพังของที่อยู่ในจานของเราก็ยังไม่ค่อยน่าดู ถ้ากินรวมถาดเดียวกันแบบชาวอินเดียถาดละ ๔-๕ คน ใครขืนเจาะตรงกลางแบบนี้ เพื่อนฝูงคงไม่ชอบใจแน่ ๆ

ยิ่งเป็นพระ ญาติโยมเห็นท่านเจาะฉันข้าวในบาตรเป็นปล่องเป็นช่องกลวงโบ๋อย่างนั้น เขาคงนึกว่า พระองค์นี้ทำอะไรพิลึก ครอบครัวไหนปล่อยให้ลูกหลานทำตามใจตัวอย่างนี้ พอลูกโตขึ้นไปเข้าสังคมไหน จะมีปัญหาถูกเพื่อนฝูงรังเกียจ

สิ่งละอันพันละน้อยอย่างนี้อย่ามองข้ามเพราะเป็นมารยาทที่ส่งเสริมบุคลิกและกำจัดความน่ารังเกียจทั้งหลาย ข้าวสุกที่ทายกตักใส่บาตรหรือจานกองพูนเป็นยอดสูง  เมื่อพระภิกษุจะฉันควรเกลี่ยให้ต่ำลงหรือเสมอกันก่อน แล้วจึงลงมือฉัน ส่วนอาหารอื่น ๆ เช่น ขนมไม่เป็นของที่พึงขยุ้มอยู่แล้ว จึงไม่ได้เอ่ยถึง

ข้อ ๑๐. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่กลบแกงหรือกับข้าวด้วยข้าวสุกเพราะอยากจะได้มาก

ข้อนี้ชัดอยู่แล้วไม่ต้องขยายความ อีกเรื่องอย่างนี้มักเกิดในหมู่ลูกศิษย์วัดจอมแก่นทั้งหลาย ในคราวที่อยู่ร่วมกันมาก ๆ และข้าวปลาอาหารค่อนข้างอัตคัดขาดแคลน วิธีซ่อนกับข้าว ซ่อนขนมของพวกเขาแยบยลน่าดู บางทีหลงนึกสงสารว่า โถ! แย่งเขาไม่ทัน ไปนั่งซุกกินข้าวเปล่า ๆ อยู่คนเดียว ที่แท้เจ้านั่นแหละตัวแสบ!

ข้อ ๑๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า ถ้าเราไม่เจ็บไข้จักไม่ขอแกงหรือข้าวสุก เพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน

คือ พระภิกษุต้องพยายามอย่างที่สุดที่จะทำตัวให้เลี้ยงง่าย ถ้าไม่เจ็บไข้ได้ป่วยจะไม่เอ่ยปากขอใคร ถ้าเมื่อใดพระภิกษุเอ่ยปากขอ ก็แสดงว่าท่านป่วยหนักแล้ว จำเป็นต้องได้อาหารแบบนั้นแบบนี้ ญาติโยมช่วยจัดให้ท่านตามที่ขอด้วยเถิดนะ

ข้อนี้อยากจะเตือนพวกเราบางคน ที่แม้ตั้งใจเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่จนแก่เฒ่าเป็นอย่างดี อุตส่าห์หาคนมารับใช้ดูแล สั่งเสียเรียบร้อยว่าถ้าท่านอยากจะได้อะไรให้บอก กะว่าจะเป็นแก้วสารพัดนึกบันดาลทุกอย่างให้ท่าน แต่แล้วก็พลาด เพราะมองข้ามบางเรื่องที่เป็นธรรมดาของท่านผู้เฒ่าไป บางทีกว่าจะรู้ท่านก็ป่วยเป็นโรคขาดอาหารไปเสียแล้ว เคยอ่านวารสารทางการแพทย์พบว่า แม้แต่บ้านเศรษฐีหลาย ๆ บ้านยังเจอปัญหาท่านผู้เฒ่าในครอบครัวเป็นโรคขาดอาหาร

ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น มีเหตุที่นำมาอธิบายได้ว่า

๑. ท่านเคยจนมาก่อน แม้ในภายหลังจะมีฐานะดี แต่เวลากินข้าวปลาอาหาร ท่านยังติดนิสัยขี้เหนียวเหมือนเดิม ถ้ารู้ว่าอะไรแพงสักหน่อยจะไม่ยอมกิน ขืนซื้อมาให้ท่านต้องถูกบ่น ๗ วัน ๗ คืนไม่เลิก ผลสุดท้ายแม้มีเงินเป็นล้านอยู่ในบ้าน ท่านก็ยังเป็นโรคขาดอาหารจนได้

๒. ไม่ใช่ขี้เหนียว แต่คนไทยเวลากินข้าวปลาอาหาร มักไม่ค่อยคำนึงถึงคุณค่าอาหารแต่กลับคำนึงถึงรสอร่อยถูกใจ ปลาร้า ปลาเค็ม น้ำพริก อย่างนี้ท่านผู้เฒ่าชอบนัก กินซ้ำ ๆ อยู่อย่างนั้น ไปเซ้าซี้ให้ท่านกินเนื้อกินหมู เนื้อปลาเนื้อไก่บ้าง ท่านก็ไม่เอา บอกว่าไม่แซบ สู้ของพวกนั้นไม่ได้ ท่านว่าทำให้กินข้าวได้หลายจาน แต่จริง ๆ แล้วคุณค่าไม่พอ เพราะของที่ท่านชอบไม่ค่อยมีคุณค่าทางอาหาร ในที่สุดท่านก็เลยเป็นโรคขาดอาหาร

ผู้เฒ่าบางคนโชคไม่ดี ไดลู้กหลานที่ไม่รู้ใจทำกับข้าวไม่ถูกปาก ท่านเกรงใจเขา ไม่บอกไม่บ่น แล้วในที่สุดก็เป็นโรคขาดอาหาร เพราะได้อาหารไม่ถูกใจ กินไม่ลง

ระวัง ๆ หน่อยนะ พ่อแม่มีได้ครั้งเดียวคือมีพ่อคนเดียว มีแม่คนเดียว ท่านตายแล้วไปหาคนอื่นมาแทนไม่ได้ เราอุตส่าห์ทำงานหาเงินหาทอง ก็หวังจะตอบแทนบุญคุณท่านให้เต็มที่ แต่ว่าถ้าเราส่งแต่เงินไปให้ ไม่ได้ตามไปดูรายละเอียดว่าท่านนำไปกินไปใช้อย่างไรเดี๋ยวท่านก็เป็นโรคขาดอาหาร เป็นลมเป็นแล้งไป เรานั่นแหละจะต้องเสียใจไปตลอดชีวิต

ฉะนั้น การที่ใครคนใดคนหนึ่งมีฐานะดีส่งเงินไปให้พ่อแม่ใช้แล้วไม่ตามไปดู ถือว่าเสี่ยงมาก วันดีคืนดีกลับบ้านพาลูกพาเมียไปกราบท่าน อาจพบว่าท่านนั่งเข่าท่วมหัว ผอมโกรกใส่เสื้อผ้าเก่าขาดกะร่องกะแร่งคล้ายขอทาน เงินทองที่ลูกส่งไปให้ยังอยู่ครบถ้วนในกำปั่น

เรื่องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มนี้ ผู้เฒ่ากี่ราย ๆ เป็นเหมือนกันหมด เพราะท่านไม่ห่วงแล้วว่าจะสวยไหม ใช้จนเก่าเป็นผ้าขี้ริ้วก็ยังไม่อยากเปลี่ยน โยมพ่อของอาตมาก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน กลับไปเยี่ยมท่านทีไรต้องแอบเอาเสื้อผ้าชุดเก่า ๆ ไปทิ้งเสียบ้าง ไม่อย่างนั้นไม่ยอมใช้ชุดใหม่

บางทีกลับไปเจอท่านอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ใคร ๆ ก็หาสาเหตุไม่พบ ยังดีที่อาตมาพอจะรู้ใจท่านว่าชอบอาหารรสจัด แต่คนในบ้านเห็นว่าท่านสูงอายุแล้ว ไม่ควรกินอาหารรสจัดเลยทำอาหารแบบจืด ๆ ให้ ท่านเป็นคนอดทนไม่บ่นเลย ไม่ชอบท่านก็กินน้อย เลยเป็นโรคขาดอาหาร ต้องให้น้ำเกลือ พอแข็งแรงขึ้นมาหน่อย ท่านกลับไม่ยอมรับน้ำเกลือเสียแล้วเพราะเสียดายสตางค์ ลูก ๆ ต้องชี้แจงเหตุผลว่าขืนไม่ยอมรับน้ำเกลือจะเป็นนั่นเป็นนี่ ท่านจึงยอม

นิสัยตระหนี่ถี่เหนียวที่เกิดกับผู้สูงอายุฟ้องว่าตั้งแต่หนุ่มสาวท่านไม่ค่อยจะทำบุญทำทาน พอแก่ตัวลงผลกรรมจึงตามมาให้ท่านไม่อยากใช้ไม่อยากจ่ายอะไรทั้งสิ้น มีเงินก็ยังพอใจอยู่อย่างอด ๆ อยาก ๆ

พวกเราดูแลผู้เฒ่าต้องช่างสังเกตหน่อยนะบั้นปลายชีวิตคนแก่มักจะกลับเป็นเด็กอีกครั้งเพราะลูก ๆ ต่างคนต่างออกไปทำงาน เหลือเด็ก ๆ ไว้ให้ท่านเลี้ยง ตกลงวันหนึ่ง ๆ ท่านไปไหนไม่ได้ก็คุยกับหลานกับเหลน ผลสุดท้ายทั้งหลานทั้งเหลนก็เลยกลายเป็นเพื่อนเล่นของท่านไป

ผลที่ตามมาไม่ค่อยจะดีนัก เพราะเด็กที่คนแก่เลี้ยงมักจะดื้อ พูดปดเก่ง เจ้ามารยาสารพัด เพราะรู้อยู่ว่า ย่ายายกำลังเหงา จะอ้อนเอาอะไรก็ได้ทั้งนั้น ถ้าไปอ้อนกับแม่เดี๋ยวโดนตีต้องใช้วิธีไปอ้อนกับย่ากับยาย เดี๋ยวย่ายายก็ไปบังคับให้แม่ไปซื้อของมาให้จนได้

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากได้ลูกหลานดื้อ ๆ ต้องไม่ปล่อยให้ปู่ย่าตายายเอาไปผูกขาดเลี้ยงเสียเอง ผู้เฒ่าทั้งหลายก็อย่าไปวุ่นวายเลี้ยงหลานอยู่ทั้งวัน ช่วยดูบ้างบางครั้งบางคราว เอาเวลาส่วนใหญ่ไปถือศีลเจริญภาวนาดีกว่า

ส่วนพวกลูก ๆ ทั้งหลายก็อย่าละเลยพ่อแม่ ท่านอยากกินอะไรก็ช่วยจัดมาให้ อย่าไปนึกว่าท่านจู้จี้ เพราะเมื่อเราเด็ก ๆ เราสารพัดจะอ้อนท่าน ท่านก็อุตส่าห์ไปซื้อหามาให้ เพราะฉะนั้นตอนนี้รีบตอบแทนท่านเสีย

เวลาจัดให้ก็ต้องทำด้วยความเต็มใจ ถ้าทำด้วยความไม่เต็มใจ ผู้เฒ่าสังเกตออกแล้วจะน้อยใจ ถ้าคนแก่น้อยใจแล้วจะอายุสั้น จำเอาไว้ ถ้าอยากให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายายอายุยืน อย่าไปทำให้ท่านน้อยใจ

ข้อ ๑๒. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ดูบาตรของผู้อื่นด้วยคิดจะยกโทษ

เวลาฉันอาหาร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้พระภิกษุดูบาตรคนอื่น คือ ไม่ให้ดูว่าพระรูปโน้นได้กับข้าวดีกว่าเราหรือเปล่า ได้มากหรือได้น้อย เพราะดูแล้วอดเอามาเปรียบเทียบไม่ได้ บางทีเผลอพูดกระทบใจกันเข้าอีก

เรื่องแบบนี้ ถ้าครอบครัวใดไม่ฝึกอบรมลูกหลานให้ดีจะเกิดปัญหา คือ ลูก ๆ ไปบ้านคนอื่นแล้วไปเที่ยวดูกับข้าวกับปลาของเขา ครั้นเห็นเขาอยู่ดีกินดีกว่าตัวก็อิจฉาตาร้อน ไปว่าเขาเป็นพวกศักดินาบ้าง นายทุนบ้าง ดีไม่ดีถึงขนาดอยากเปลี่ยนแปลงการปกครองไปโน่นเป็นผลต่อไปในอนาคต กระทบกระเทือนถึงระดับแผ่นดิน เพราะไม่อบรมลูกไว้แต่ต้นนั่นเอง

ข้อ ๑๓. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่นัก

ความจริงเรื่องนี้ไม่น่าจะต้องมาพูด แต่เห็นอยู่เป็นประจำ แล้วอยากบอกให้รู้เรื่องบางอย่างเมื่อก่อนหลวงพ่อยังมีเวลา พอฉันเสร็จเรียบร้อยก็ออกเดินไปเยี่ยมทุกคนที่กินอาหารอยู่ เห็นบางคนตักคำเบ้อเร่อ บางคนก็ตักคำเล็ก ๆ แต่พองาม บางคนตักคำเล็กไปเหมือนเด็กเล่น

หลวงพ่อเองไม่ใช่หมอดู ไม่เคยผูกดวงให้ใคร แต่เห็นอย่างนั้นก็พอจะเดาได้ว่า ใครก็ตามที่ตักข้าวคำโต ๆ จนล้นปาก แสดงว่าคน ๆ นั้นมีลักษณะดังนี้ คือ

๑. เป็นคนทำอะไรแล้วไม่รู้จักประมาณ ทำอะไรก็หยาบ ๆ แค่ปากตัวเองยังประมาณไม่ถูก เพราะฉะนั้นวิชาด้านศิลปะอย่าได้ไปเรียนเลย แค่ตักข้าวยังไม่รู้จักประมาณ เรื่องอื่น ๆ ประมาณไม่เป็นหรอก

๒. พ่อคนนี้แม่คนนี้จะต้องเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เพราะข้าวคำโตนั้นอย่างไรเสียฟันก็เคี้ยวไม่ละเอียด ได้แค่เคี้ยวพอขย้ำ ๆ ก็กลืนเอื๊อกลงไป ลำไส้ก็ต้องทำหน้าที่หนัก แม้ไม่ตามไปดูในห้องน้ำก็รู้เลยว่า ยายนี่ตานี่ถ่ายออกมาหยาบเป็นขี้ช้างเลย ระบบลำไส้เสียหมดผลต่อมาอายุไม่ยืน และถึงแม้อายุยืนก็จะมีโรคระบบทางเดินอาหารติดตัวไปจนตาย

หลวงพ่อเห็นเขาแค่ตักคำข้าวก็รู้เลยว่าเจ้าคนนี้ควรมอบหมายงานประเภทบู๊ บุก ลุยให้ทำ งานประณีต ๆ อย่าได้มอบเลย ไม่มีทางทำได้ แต่ในเวลาเดียวกันคนที่ตักข้าวทีละเม็ดสองเม็ด เจ้านี่ตัวขี้เกียจ ทำอะไรยืด ๆ ยาด ๆ เป็นโรคบิดหลังติดเสื่อ การงานเหม็นเบื่อ ข้าวปลากินได้ อย่างนี้อย่าได้ไปใช้งานอะไรเลยทำไม่สำเร็จหรอก ลองไปสังเกตกันนะ

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๔ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙


คลิกอ่านต้นบัญญัติมารยาทไทย ตอนที่ ๑-๑๕  ของวารสารอยู่ในบุญ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๒)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๓)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๔)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๕)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๖)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๗)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๘)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๙)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๑)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๒)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๓)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๔)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๕)
ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๐) ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๐) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:09 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.