เมื่อจะศึกษาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรมีสิ่งใดเป็นข้อเตือนใจให้ระลึกถึงความสำคัญของธรรมะอย่างแท้จริง?

ภาพจาก : http://faith.haijai.com/
ในการศึกษาธรรมะอันเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงทุ่มเทเอาชีวิตเป็นเดิมพันสร้างบารมีเพื่อการตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เอง แล้วนำมาเทศน์สอนโปรดชาวโลกทั้งหลายให้รู้ตามนั้น มีสิ่งที่ต้องเตือนใจกันไว้ทุกครั้ง คือ การได้โอกาสอันยากแสนยาก เพราะกว่าโลกจะมีการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์นั้นยากยิ่งนักอย่างน้อยที่สุดก็ต้องใช้เวลานานกว่า ๒๐ อสงไขย ๑ แสนมหากัป (๑ มหากัป เท่ากับอายุของโลกตั้งแต่กำเนิดจนกระทั่งแตกดับกลับไปเป็นหมอกเพลิง)

ดังนั้น ความรู้จริงในธรรมะต่าง ๆ เช่น อริยสัจ ๔ นิพพาน ภพสาม โลกันตร์ กฎแห่งกรรม กฎไตรลักษณ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นความลับของโลกและชีวิตที่ถูกปกปิดมานานแสนนาน จึงเกิดขึ้นได้ยากแสนยาก ถ้าหากไม่มีพระองค์มาตรัสรู้ ก็ยากยิ่งที่ธรรมะหรือความจริงเหล่านี้จะเปิดเผยขึ้นมาในโลกได้

ผู้ที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ได้เกิดมาศึกษาพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา และได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ จึงเป็นผู้มีโชคมหาศาล และควรใช้โอกาสที่หาได้ยากยิ่งนี้ ทำให้เกิดประโยชน์กับตนเองสมกับที่ได้โอกาสแห่งความยากนั้น

โลกจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นเป็นความยากอย่างยิ่ง

การเกิดเป็นมนุษย์นั้นยาก แต่การบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายากยิ่งกว่า

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องความยากของการเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อเตือนใจทุกคนไม่ให้ประมาทเผลอประพฤติผิดพลาดแล้วไปบังเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานไว้ว่า หากเราเจอสัตว์เดรัจฉานไม่ว่าสัตว์สองเท้า สี่เท้า สัตว์มีเท้าหรือสัตว์ไม่มีเท้าก็ตาม ขอให้ทราบว่าสัตว์เหล่านี้ล้วนเป็นอดีตมนุษย์ที่ทำบาปกรรมไว้ในอดีตชาติ เมื่อมาเกิดในชาติปัจจุบัน วิบากกรรมฝ่ายบาปจึงส่งผลให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน และโอกาสที่จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์นั้นยากยิ่ง พระพุทธองค์ทรงอุปมาความยากนี้โดยเปรียบกับเต่าตาบอดทั้งสองข้างตัวหนึ่ง ที่มีปกติดำน้ำในมหาสมุทรที่ลึกและกว้างใหญ่ ทุก ๑๐๐ ปี จะโผล่ขึ้นมาหายใจสักครั้งหนึ่ง แล้วก็ดำลงไปอีก ในมหาสมุทรนั้นมีห่วงกลมอันหนึ่งขนาดพอดีกับหัวของเต่าลอยล่องอยู่ โอกาสที่เต่าตัวนั้นจะโผล่ขึ้นมาหายใจแล้วสอดหัวเข้าไปในห่วงตาเดียวที่ลอยอยู่ได้พอดีเป็นเรื่องยากเย็นขนาดไหน โอกาสที่สัตว์เดรัจฉานจะเกิดเป็นมนุษย์ยากกว่านั้น

การเกิดเป็นมนุษย์ธรรมดาว่ายากแล้ว แต่การเกิดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายากกว่านั้นเป็นล้าน ๆ ๆ ๆ เท่า เพราะกว่ามนุษย์ธรรมดาจะฝึกฝนอบรมตนเองจนสามารถสั่งสมความรู้ที่ถูกต้อง ตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกข้ามภพข้ามชาติ จนกระทั่งเตือนตัวเองได้ว่าการบวชนั้นดี และตั้งใจบวชตั้งใจค้นคว้าหาความรู้ในการปราบกิเลส จนกระทั่งหมดกิเลสด้วยตนเอง เป็น พระปัจเจกพุทธเจ้าโดยไม่มีผู้ใดมาสอนนั้น ก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว แต่การฝึกฝนตนเองต่อไปจนกระทั่งมาเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ พระบรมครูที่สอนชาวโลกให้รู้แจ้งเห็นจริงหมดกิเลสตามพระองค์ไปด้วยนั้น ย่อมยิ่งยากมากขึ้นไปอีก

การเตรียมการสอนของพระบรมครู

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงระลึกชาติย้อนหลังไปถึงครั้งยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ที่ทรงได้พบกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า พระทีปังกรพุทธเจ้า และทรงได้รับพุทธพยากรณ์ว่า ในอนาคต อีก ๔ อสงไขย กับ ๑ แสนมหากัป จะทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต

ในชาตินั้น พระองค์ทรงออกบวชเป็นดาบสมีนามว่า สุเมธดาบส ทรงบำเพ็ญบารมีมาเป็นเวลานานถึง ๑๖ อสงไขยแล้ว ความจริงแล้วด้วยระยะเวลาเท่านี้ ในวันที่ทรงพบกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ถ้าพระองค์ตั้งพระทัยจะเป็นพระอรหันต์ ก็ทรงเป็นพระอรหันต์ได้ในครั้งนั้นเลยทีเดียว

แต่พระองค์ทรงมานึกว่า กว่าจะทรงมาถึงวันนี้ ทรงใช้วันเวลาอบรมบ่มบารมีผ่านความยากเข็ญมาไม่รู้เท่าไร ถ้าตัดสินพระทัยเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็จะต้องทรงดับขันธ์เข้าพระนิพพานไปในชาตินี้ แต่ยังมีสัตวโลกอีกมากมายที่ยังไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับความจริงของชีวิต พระองค์จึงทรงยืนยันความตั้งใจเดิมว่าจะทรงไปเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต เพื่อทรงช่วยชาวโลกให้หมดทุกข์ตามไปอีกให้ได้มาก ๆ จึงตัดสินพระทัยขออยู่ฝึกวิชาครู เตรียมการเทศน์ การสอน การอบรมชาวโลก ต่อไปอีก ๔ อสงไขย กับ ๑ แสนมหากัป

เมื่อทรงฝึกฝนอบรมวิชาครูได้ครบกำหนดแล้ว ในพระชาติสุดท้ายก็เสด็จมาบังเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ครั้นเมื่อพระชนมายุ ๒๙ พรรษา เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ และทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงรู้แจ้งด้วยพระองค์เอง ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมครูของพวกเรา

ความอัศจรรย์ของธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้วทรงนำมาเทศน์สอน

เนื่องจากทรงเตรียมการเทศน์สอนมายาวนานนับ ๔ อสงไขย กับ ๑ แสนมหากัป ฉะนั้น คำสอนของพระองค์จึงมีความอัศจรรย์ คือ

๑) ธรรมะทุกคำสอนมีความสมบูรณ์บริบูรณ์พอดี

ทุกข้อธรรมมีถ้อยคำครบ ไม่ขาด ไม่เกิน เป็นความจริง เกิดประโยชน์ต่อผู้ตั้งใจศึกษาปฏิบัติตาม ที่สำคัญหัวข้อธรรมยังมีความลุ่มลึกเรียงไปตามลำดับ ไม่มีกระโดดข้ามขั้นตอน ดังมีปรากฏอยู่ในบทสวดมนต์ทำวัตรว่า อาทิกัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปะริโยสานะกัลยาณังแปลว่า ธรรมซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในเบื้องปลาย

เนื้อหารายละเอียดความลึกซึ้งเรียงกันไปทั้งเบื้องต้น กลาง และปลาย ลาดลุ่มไปตามลำดับ ๆ เหมือนเดินจากชายหาดลงไปในทะเล ทะเลเริ่มต้นจากตื้น ๆ ท่ามกลางก็ลึกลงไปเบื้องปลายจึงลึกที่สุด คำสอนของพระพุทธองค์ก็เป็นเช่นนั้น คือลุ่มลึกไปตามลำดับ ๆ ไม่มีกระโดดไปมา ไม่เป็นเช่นขุนเขาที่มีโกรก มีชัน มีเหว เดี๋ยวลึก เดี๋ยวสูง

ดังนั้น ในการศึกษาธรรมะ แม้ว่าบางครั้งด้วยกำลังสติปัญญาของเราอาจเข้าใจได้บ้างไม่เข้าใจบ้าง ข้อสำคัญที่จะปล่อยผ่านไม่ได้คือ ไม่คิดเอาเองตามความเข้าใจแล้วสลับข้อธรรมเป็นเด็ดขาด หากสลับข้อธรรมเมื่อไรจะพลาดทันที เพราะจะต่อไม่ติดในความหมายทั้งหมดของธรรมนั้น ๆ ความรู้จะต่อกันไม่ติด

๒) ธรรมะทุกข้อนั้น เมื่อใดตั้งใจปฏิบัติตามอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้ว จะมีอานิสงส์หรือผลดีว่า ธรรมะข้อนั้น ๆ จะสามารถปราบกิเลสให้หมดสิ้นไปจากใจ เป็นพระอรหันต์ เข้าพระนิพพานตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปได้

การเอาชีวิตเป็นเดิมพันปฏิบัติตามธรรมนั้นคือ สิ่งใดที่ทรงห้าม ก็ตั้งใจไม่ทำด้วยชีวิตถ้าจะให้ไปทำบาปทำเลวไม่ทำเด็ดขาด แม้ตัวจะตายก็ยอม หรือสิ่งใดที่ทรงสอนให้ทำ ก็ทำด้วยชีวิต ถ้าทำยังไม่ดีจะไม่เลิก ทำไม่เสร็จก็ไม่ยอมเลิก ทำยังไม่ได้ก็ไม่ยอมเลิก ต้องใช้ความเพียรพยายามทำไปจนกว่าจะได้ดี ทำจนสำเร็จ เช่นนี้จึงจะเรียกว่า การปฏิบัติธรรมอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน

๓) ธรรมะเหล่านั้นจะเกิดประโยชน์เต็มที่ก็ต่อเมื่อ ได้ศึกษาจนเข้าใจ แล้วนำไปปฏิบัติจนกระทั่งกลายเป็นนิสัย

ประโยชน์เต็มที่คือ ทั้งปิดนรก เปิดสวรรค์ และถางทางไปพระนิพพานทำให้หมดกิเลสได้ ถ้าเพียงแต่เข้าใจธรรมะดี แต่ยังไม่นำไปปฏิบัติจนกระทั่งเป็นนิสัยแล้ว ธรรมะนั้น ๆ ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์เท่าที่ควรจะเป็นเหมือนคนที่ท่องตำราว่ายน้ำได้ แม้จะได้ตำราที่แสนวิเศษอย่างไร ต่อให้มีภาพประกอบสามมิติเคลื่อนไหวให้ดูทุกท่าทาง เข้าใจได้ทั้งทฤษฎีและท่าปฏิบัติ แต่ไม่ได้ฝึกกล้ามเนื้อจนกระทั่งสามารถว่ายน้ำได้ ปล่อยให้โดดลงไปในสระแล้วจะให้ว่ายน้ำได้ในทันที คงเป็นไปไม่ได้ การเรียนธรรมะก็เช่นกัน ต้องนำไปฝึกจนกระทั่งกลายเป็นนิสัย หากเพียงแต่ท่องจำได้ ก็คงจะไม่ต่างจากนกแก้วนกขุนทอง ที่คนสอนให้มันพูดเพราะได้ แต่มันหาได้เข้าใจความหมายและกาลเทศะที่ควรพูดไม่

ดังนั้น การศึกษาธรรมะ คือการเรียนเพื่อรู้และเข้าใจธรรมะนั้น จะเกิดผลก็ต่อเมื่อนำไปประพฤติปฏิบัติเอาไว้แก้ไขพฤติกรรม ถ้ากล่าวให้ลึกซึ้งก็คือ ธรรมะมีไว้เพื่อดัดสันดานของตัวเราให้ดีขึ้น จึงจะปิดนรก เปิดสวรรค์ ถางทางพระนิพพานให้แก่ตนเองได้เป็นผลสำเร็จ สมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตัดสินพระทัยไม่เป็นพระอรหันต์เมื่อตอนทรงบำเพ็ญบารมีได้ ๑๖ อสงไขย แต่ตั้งพระทัยบำเพ็ญบารมีสั่งสมวิชาบรมครูยาวนานอีก ๔ อสงไขยเศษแสนมหากัป เพื่อโปรดสัตวโลกให้หมดทุกข์ตามพระองค์ไป..  

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๓๗ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗


ทำอย่างไรจึงจะฝึกตนให้เป็นคนมีเหตุผล
เตรียมงานสงกรานต์
                     
                    
                 




คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
จะดำเนินการอย่างไร การพัฒนาวัดจึงจะสำเร็จตามเป้าหมาย?
ทำอย่างไรจึงจะฝึกตนให้เป็นคนมีเหตุผล สร้างงาน สร้างเงิน สร้างคนเป็น?
เตรียมงานสงกรานต์
การเกิดขึ้นของนิสัยดี นิสัยชั่วมีที่มาอย่างไร ?
ทำอย่างไรทุกคนจึงจะมีความสุขในการทำงานร่วมกัน?
มีหลักธรรมใดทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้นบ้าง?
เราจะใช้ทรัพย์คือเวลาอย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด?
เหตุใดชาวพุทธแม้มีหลายนิกาย ก็ยังอยู่ร่วมกันได้โดยไม่กระทบกระทั่งกัน?
พ่อแม่ควรเริ่มต้นฝึกลูกอย่างไรดี?
เพราะเหตุใดคำสอนเรื่องอริยสัจ ๔ จึงสำคัญต่อชาวโลกมาก?
เหตุใดพระพุทธศาสนาจึงมุ่งเน้นที่การสอนให้แสวงหาปัญญาด้วยการฝึกสมาธิ...?
เมื่อจะศึกษาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรมีสิ่งใดเป็นข้อเตือนใจให้ระลึกถึงความสำคัญของธรรมะอย่างแท้จริง? เมื่อจะศึกษาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรมีสิ่งใดเป็นข้อเตือนใจให้ระลึกถึงความสำคัญของธรรมะอย่างแท้จริง? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:29 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.