พ่อแม่ควรเริ่มต้นฝึกลูกอย่างไรดี?


พ่อแม่รักลูกที่ตนให้กำเนิดมา หวังจะเลี้ยงดูและมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูก เมื่อถึงคราวจะฝึกลูก พ่อแม่ควรเริ่มต้นฝึกลูกอย่างไรดี?

เมื่อเราเป็นพ่อเป็นแม่คนแล้ว เราต้องมีความรับผิดชอบ ต้องเลี้ยงดูทายาทให้เจริญเติบโตเป็นผู้คนโดยสมบูรณ์ แต่ก่อนที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น เราต้องรู้และเข้าใจหลักการให้ชัดเจนก่อนจะลงมือทำ

เป้าหมายการฝึกลูก พ่อแม่ควรทำอะไร?

พระพุทธศาสนาสอนว่า  อัตตา หิ อัตตโน นาโถ  แปลว่า  ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน

แต่ความสามารถทุกอย่างไม่ได้สืบทอดทางสายเลือด ความสามารถทุกอย่างล้วนได้มาจากการฝึกอบรมที่ดี พ่อแม่จึงมีส่วนสำคัญในการอบรมเลี้ยงดูลูกให้มี คุณสมบัติพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้  นั่นคือเป้าหมายหลักในการฝึกลูก

คุณสมบัติของบุคคลที่พึ่งตนเองได้

หลักธรรมที่แสดงถึงคุณสมบัติของบุคคลที่พึ่งตนเองได้ก็คือ  ฆราวาสธรรม ซึ่งเป็นหลักธรรมที่บ่งบอกถึงการเป็นผู้ที่สามารถพึ่งตนเองได้

ฆราวาสธรรม ๔ ประการ ได้แก่  สัจจะ  ทมะ  ขันติ จ าคะ

สัจจะ    มีความซื่อสัตย์ เป็นคนตรง เป็นคนจริง
ทมะ      รักการฝึกตัวเองให้ดียิ่งขึ้น
ขันติ     มีความอดทน
จาคะ    มีความเสียสละ เห็นแก่ความผาสุกของหมู่คณะ เห็นแก่ส่วนรวม

บุคคลที่พึ่งตนเองได้  คือคนที่มีความสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้จริงด้วยตนเอง จึงทำให้เป็นคนที่มีสัจจะ คือคนที่พูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ทำอย่างไรก็พูดอย่างนั้น มีความรับผิดชอบต่อคำพูดและการกระทำที่ตรงกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง นี่คือลักษณะของคนที่มีสัจจะ

ในทางตรงกันข้าม คนที่ไม่สามารถทำอะไรได้จริงด้วยตัวเอง เขาย่อมกลัวคนอื่นจะรู้ว่า  ตัวเองทำไม่ได้ กลัวคนอื่นจะมาซักถามในสิ่งที่เขาพูดเกินจริง เขาก็จะหาทางเอาตัวรอดด้วยการโกหก หัดมีเล่ห์เหลี่ยม คดโกง หลอกลวง ผู้เป็นพ่อแม่ต้องหาทางป้องกันลูกจากนิสัยไม่ดี นิสัยชั่วเหล่านี้ ด้วยการฝึกลูกให้เป็นคนซื่อสัตย์ มีสัจจะ เมื่อทำการงานใดก็ต้องหัดให้ทำให้ได้ ต้องทำให้ได้ดี และต้องทำให้ทันเวลาด้วย

ลักษณะของคนมีสัจจะ

คนมีสัจจะ เรียกอีกอย่างได้ว่า คนซื่อสัตย์ คนซื่อตรง หรือคนจริง

คนเราต้องจริงต่อ ๕ เรื่อง ถึงจะเรียกว่ามีสัจจะหรือมีความซื่อสัตย์ ได้แก่

•  จริงต่อหน้าที่  หน้าที่คือความรับผิดชอบ จริงต่อหน้าที่คือรับผิดชอบในหน้าที่ของตนให้ครบถ้วน ทำได้ชอบ แล้วก็รักษาไว้ และทำให้ดียิ่งขึ้น ทำผิดไว้ก็ยอมรับและแก้ไขปรับปรุงใหม่ให้ดีขึ้น ไม่ผิดอีกต่อไป

•   จริงต่อการงาน  การงานคือสิ่งที่ต้องทำภายในหน้าที่ความรับผิดชอบ ต้องตั้งใจทำการงาน ไม่ละทิ้ง ทำจนกว่าจะสำเร็จ

•  จริงต่อบุคคล  ทำการงานสิ่งใดก็คำนึงถึงบุคคลอื่น ไม่ทำความเดือดร้อน ไม่เบียดเบียนใคร ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเกื้อกูลประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น

•    จริงต่อวาจา  รักษาคำพูด  พูดในสิ่งที่ทำได้จริง

•  จริงต่อความดี  เป็นจริงที่สำคัญที่สุด  แม้ว่าจะทำจริง พูดจริง แต่ถ้าทำแบบไม่เลือกดีเลือกชั่วก็เสียคนอื่น คนจริงต้องทำจริง พูดจริง และเลือกทำแต่ความดีจริง

นอกจากนี้แล้ว  สัจจะยังแบ่งตามลักษณะจริงได้ ๓ ลักษณะ คือ

•   จริงจัง  เป็นลักษณะของจริงต่อหน้าที่ จริงต่อการงาน  คือรู้จริงว่าตนมีหน้าที่อะไร มีการงานอะไรบ้าง และทำงานเป็น  ทำการงานสิ่งใดต้องเสร็จ ต้องดี และต้องทันเวลาทุกครั้งไป

•   จริงใจ  เป็นลักษณะของจริงต่อบุคคล จริงต่อวาจา  นอกจากจะทำเป็นแล้ว ยังมีน้ำใจพร้อมจะช่วยคนอื่น ไม่เอาเปรียบใคร ไม่โกหกใคร พูดคำไหนคำนั้น

•  จริงแสนจริง  เป็นลักษณะของจริงต่อความดี กล้ามองข้อบกพร่องของตนเอง คิดแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง จึงเลือกทำแต่สิ่งที่ดีจริง 

การฝึกลูกให้เป็นคนมีสัจจะ

๑. สอนลูกให้รู้จักหน้าที่ของลูก

๑.๑   ใฝ่รู้  คนเราถ้าไม่รู้จักหน้าที่ของตัวก็จะทำอะไรไม่เป็น  คือไม่รู้จะทำอะไรดี คนทุกคนเกิดมาใหม่ในโลกนี้ ลืมของเก่าหมด ทุกอย่างต้องมาเริ่มต้นเรียนรู้กันใหม่ พ่อแม่คือครูคนแรกที่จะต้องสอนลูก เพราะลูกยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรในโลกนี้  จึงต้องมาเรียนรู้เพื่อจะได้หายจากความไม่รู้หรือความโง่ และพ่อแม่คือครูคนแรกที่จะสอนความรู้พื้นฐานของชีวิตให้ลูก

๑.๒    ใฝ่ดี  ความรู้ที่ลูกได้เรียนรู้แล้ว ลูกต้องนำมาใช้ในทางที่เกิดประโยชน์ ที่นำความสุข มาให้แก่ตัวเอง แก่ผู้อื่นด้วย

๑.๓   ดูแลรักษาสุขภาพเป็น  การทำหน้าที่ทั้งใฝ่รู้และใฝ่ดีต้องทำด้วยกายและใจ ไม่มีใครหายใจแทนกันได้ ไม่มีใครกิน นอน หรือเจ็บป่วยแทนกันได้ ลูกต้องตระหนักว่าต้องเรียนรู้วิธีดูแลสุขภาพให้ดี ลูกจึงจะทำหน้าที่ได้เต็มที่และทำได้ดี

๒.  หัดลูกให้ทำการงานในหน้าที่ให้เป็น

๒.๑   ทำการงานพื้นฐานให้เป็น

๒.๒   ทำการงานให้ดี

ความรู้พื้นฐานของชีวิตที่พ่อแม่จะถ่ายทอดให้ลูก คือความรู้เกี่ยวกับการใช้ปัจจัย ๔ เพราะชีวิตอยู่ได้ด้วยปัจจัย ๔ ได้แก่ อาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และสุขภาพการออกกำลังกาย หรือยารักษาโรค

ตัวอย่างเช่น  ในบ้านของเรา ในห้องนอนของเรา พ่อแม่ต้องไปดูว่ามีงานอะไรในห้องนอนที่ลูกต้องทำ ถ้าลูกทำได้ถูกแล้ว ต่อไปจะเป็นนิสัยดีติดตัว ให้สอนให้หัดลูกให้ทำได้ ทำเป็น อะไรที่เด็กทำผิดไปแล้ว ต่อไปจะเป็นความชั่วติดตัว จะได้ห้ามลูกตั้งแต่ต้น ยกตัวอย่างเช่น  แค่ไม่เคี่ยวเข็ญลูกให้นอนตรงเวลาเท่านั้น พ่อแม่ทำให้ลูกเสียสุขภาพไปแล้ว ทำให้ลูกเรียนไม่ทันเพื่อน เมื่อตื่นสายก็พร้อมจะสร้างเรื่องโกหก

งานพื้นฐานในห้องนอน  คืองานทำความสะอาด ปัดกวาดหยากไย่ เช็ดถูพื้น ซักผ้า พับผ้า ปูที่นอน เป็นต้น พ่อแม่ต้องฝึกให้ลูกทำเป็น จะได้ช่วยเหลือตนเองได้ แล้วสอนให้ลูกทำดีในห้องนอน เช่น เมื่อลูกยังเล็กนอนห้องเดียวกับพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่เข้านอนแล้ว ลูกเข้านอนทีหลังไม่ควรทำเสียงดังให้พ่อแม่ตื่น ถ้าจะทำดียิ่งกว่านั้น ลูกควรเป็นฝ่ายมาจัดเตรียมปูที่นอน หมอน ผ้าห่ม ไว้ให้พ่อแม่ให้เรียบร้อย เมื่อถึงเวลาท่านก็เข้านอนได้เลย

ความดีที่ยกใจลูกให้สูงขึ้นทำในห้องนอนได้ หากพ่อแม่สอนให้เขาสวดมนต์ ไหว้พระ นั่งสมาธิ ทบทวนบุญก่อนนอน หรือกราบเท้าขอพรพ่อแม่ก่อนเข้านอน การนอนในคืนนั้นย่อมเป็นสิริมงคลแก่ตน เป็นการหลับอยู่ในบุญ เมื่อตื่นก็จะตื่นด้วยจิตใจที่ปลอดโปร่งแจ่มใส

ภาพรวมการฝึกลูกเป็นอย่างนี้  แต่พ่อแม่จะฝึกลูกได้ดีแค่ไหนนั้น จะต้องคิดหาวิธีฝึกลูก  และการให้เหตุให้ผลแก่ลูก การฝึก การเคี่ยวเข็ญลูกให้ทำให้ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ อย่าปล่อยตามใจลูก เพราะนั่นเท่ากับผลักให้ลูกทำความชั่วเป็น  เพราะพอลูกทำอะไรไม่เป็น จะทำให้เขาหาทางเอาเปรียบเก่ง โกหกเก่ง หรือถ้าลูกสุขภาพไม่ดี ทำอะไรนิดหน่อยก็เหนื่อย ก็จะเลิกทำงานเสียกลางคัน 

หากลูกทำผิดพลาดพลั้งเผลอ การลงโทษเพื่อให้ลูกจดจำไม่ทำอีก ไม่ต้องใช้ไม้เรียว ไม่ต้องให้ใครบาดเจ็บ แต่ให้ใช้กุศลวิวัฒน์  คือเพิ่มการทำความดี  เพิ่มงานให้ลูกทำมากขึ้น ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่ลูก ลูกจะจดจำ ทำได้ และมีความชำนาญ แล้วลูกก็จะได้บทฝึกคน  เมื่อโตขึ้นมา เขาจะช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ ช่วยเลี้ยงน้อง สอนน้อง ถึงเวลาเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีครอบครัว  ลูกก็จะมีบทฝึกลูกของเขาต่อไป..  


Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว



วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๔๔  เดือนตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๕๗


เหตุใดชาวพุทธแม้มีหลายนิกาย







คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
พ่อแม่ควรเริ่มต้นฝึกลูกอย่างไรดี? พ่อแม่ควรเริ่มต้นฝึกลูกอย่างไรดี? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 17:32 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.