ทำอย่างไรจึงจะฝึกตนให้เป็นคนมีเหตุผล สร้างงาน สร้างเงิน สร้างคนเป็น?
คนมีเหตุผล
คือผู้ที่สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้
เนื่องจากมีความเห็นถูกตามมาตรฐานของผู้รู้จริง คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เอง
ความเห็นถูก ภาษาพระเรียกว่า สัมมาทิฐิ หมายถึง
ความเห็นถูกหรือความเข้าใจถูกในเรื่องของกรรม
หลักเหตุและผลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน คือ
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ซึ่งเป็นไปตามกฎแห่งกรรม
ที่มีผลบังคับต่อทุกสรรพชีวิตในโลก ไม่ว่าใครจะรู้หรือไม่รู้กฎนี้ก็ตาม
พระพุทธองค์ทรงค้นพบกฎนี้ที่มีอยู่ก่อนแล้ว
เมื่อรู้แล้วก็นำมาเปิดเผยให้ชาวโลกทราบ ความจริงเรื่องนี้
เพราะทรงมีมหากรุณาจะช่วยชาวโลก แม้ว่ายังต้องอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมก็ตาม
แต่ทรงต้องการให้รู้เท่าทัน จะได้เลือกดำเนินชีวิตแต่ในส่วนที่เป็นกรรมดี
เวลาที่กฎแห่งกรรมส่งผล ก็จะได้ส่งผลในทางที่ดี ที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต
พระพุทธองค์ทรงสอนให้ชาวโลกเป็นผู้มองการณ์ไกล เพราะชีวิตยังต้องดำเนินต่อไปอีกยาวนาน
จากชาตินี้ภพนี้สู่ชาติหน้าภพหน้า สู่ชาติต่อ ๆ ไป จนกว่าจะกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้สำเร็จ
ดังนั้น ทุกจังหวะของชีวิต จะตัดสินใจทำอะไร
ไม่ทำอะไร จะดำเนินชีวิตไปสู่จุดไหน
จำเป็นต้องคิดและชั่งน้ำหนักให้ดีถึงผลดีผลเสียของการกระทำ
ในคราวใดที่ได้รับผลร้ายของการกระทำที่ทำผิดพลาดไว้ในอดีต
จะต้องไม่มัวแต่หาคนผิด เพราะเรานั่นเองคือผู้รับผิดชอบการกระทำของตัวเรา
สิ่งที่ควรจะทำคือยอมรับและแก้ไข คือ ทำใหม่ให้ดีกว่าเดิม
อย่าให้ผิดพลาดอีก เราจึงจะเป็นผู้ที่ลิขิตชีวิตที่ดีให้แก่ตนเองได้
สิ่งสำคัญของผู้ที่จะเข้าใจกฎแห่งกรรมได้ดีจริง
ๆ คือ คน ๆ นั้นจะต้องได้ทำความดีมาจนคุ้นในระดับหนึ่ง
เพราะถ้าไม่เคยทำความดีมาก่อน หรือไม่เคยเห็นผลแห่งความดีที่ทำมาก่อนเลย เขาจะไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่า
ทำดีได้ดีเป็นอย่างไร ทำชั่วได้ชั่วเป็นอย่างไร ผลสุดท้ายเขาก็เลยแยกแยะไม่ได้ ว่าอะไรคือ
ถูก-ผิด ดี-ชั่ว บุญ-บาป ควรทำ-ไม่ควรทำ ตามความเป็นจริง
สำหรับการฝึกฝนเรื่องนี้ต้องเริ่มตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
โดยเริ่มจากผู้ใหญ่ในครอบครัว ได้แก่ คุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย
คุณลุงคุณป้า หรือคุณน้าคุณอา ควรจะทำตัวเป็นแบบอย่าง
และนำให้ลูกหลานทำความดีจนคุ้น เพราะตัวอย่างที่ดีย่อมมีค่ากว่าคำสอนที่ดี แต่ไม่ทำเป็นตัวอย่างให้เด็กดู
แม้กระทั่งในโรงเรียน
ถ้าผู้อำนวยการสถานศึกษาลงมานำคณะครู นักเรียน ลูกจ้าง ภารโรง ให้ทำความดีร่วมกัน
เป็นแบบอย่างให้เห็นจนคุ้นตาคุ้นใจ ก็จะเป็นการปลูกฝังให้ทุกคน
ได้คุ้นเคยกับการทำความดีและเห็นผลแห่งการทำความดีเช่นกัน
เพราะการทำงานทุกอย่างที่ร่วมมือกันทำด้วยความรับผิดชอบร่วมกัน
จะก่อให้เกิดความสามัคคี ความมีวินัย ความอดทน และความเคารพ แล้วคุณธรรมความดีต่าง
ๆ จะเกิดตามมาเป็นขบวน เริ่มต้นที่ฝึกความรับผิดชอบ
ทำงานอะไรขอให้รับผิดชอบงานนั้น เพียงเท่านั้นคุณธรรมความดีต่าง ๆ
จะหลั่งไหลสู่ใจคนทำมากมาย
สิ่งสำคัญที่ทุกคนจะต้องฝึก คือ
๑) ฝึกเป็นคนรู้จักให้ เพื่อเป็นพื้นฐานการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคน
ความดีเบื้องต้นที่ควรจะปลูกฝังและทำให้คุ้นเคยเริ่มจาก
‘ทาน’ คือ ‘การให้’
เริ่มเรียนรู้การ ‘ให้’ โดยฝึกเอาศักยภาพที่ตนมีออกมาใช้ให้ได้
เอาเรี่ยวแรงมาทำทาน เอาสติปัญญาความรู้มาทำทาน
เอาออกมาช่วยกันทำงานของส่วนรวม รวมทั้งเอาทรัพย์ออกมาทำทานด้วย
เมื่อฝึกใช้ศักยภาพที่มีไปถึงจุดหนึ่ง
เขาจะมองเห็นเองว่า ยิ่งให้ออกไป ก็ยิ่งได้รับ ยิ่งให้ ก็ยิ่งรวย คือรวยทั้งเรี่ยวแรงพละกำลัง
รวยเพื่อนฝูง รวยน้ำใจ รวยความคิดสร้างสรรค์
คนที่เติบโตขึ้นมาจากการฝึกเช่นนี้
ไม่ต้องห่วงว่า ในอนาคตเขาจะสร้างงาน สร้างเงิน
สร้างคนไม่ได้
การสร้างงาน สร้างกิจกรรม
เพื่อฝึกเรื่องการทำทาน เรื่องของการสงเคราะห์เพื่อนร่วมโลกยามที่ประสบทุกข์ยาก
แต่ละบ้านแต่ละโรงเรียนก็คงจะพอมีช่องทางที่จะฝึกลูกหลานเยาวชนให้คุ้นเคยกับการทำความดีเช่นนี้กันได้
แต่ยังมีความดีเบื้องต้นอีกประการที่ขาดไม่ได้
นั่นคือ การเคารพบูชาหรือการยกย่องคนดี
๒) ฝึกความเคารพ เพื่อเป็นพื้นฐานการจับดีและความคิดสร้างสรรค์
เรื่องความเคารพนี้เป็นเรื่องลึกซึ้ง
หากผู้ใหญ่ไม่ได้สอนลูกหลานให้เข้าใจซาบซึ้งว่า เราให้ความเคารพทำไม
เด็กจะเข้าใจแต่เพียงผิวเผินว่าเป็นเพียงการแสดงกิริยาอาการภายนอกตามมารยาท
ถ้าเด็กเข้าใจแค่นี้
เด็กจะไม่ได้อะไรที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตัวของเขาเลย
ผู้ใหญ่ต้องสอนให้เข้าใจลึกถึงที่มาของความเคารพว่าเรากราบเราไหว้กันทำไม
เรื่องของการเคารพ เรื่องของการบูชา
เป็นเรื่องของการ ‘ค้นหา’ ความดีของคนอื่น เมื่อรู้ว่าเขาดีอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว ก็ ‘ยอม’ เขาคนนั้นได้ ไม่ต่อต้าน แล้วยัง ‘รับ’ คือ รับว่าดี
อย่างนั้นอย่างนี้จริง และ ‘นับ’ คือ
นับจำนวนความดีของเขาว่ามีกี่ข้อที่ค้นเจอ แล้วสุดท้าย ‘ถือ’ คือ นำไปประพฤติปฏิบัติตาม
ทำความดีตามเขาไป เพื่อว่าสักวันหนึ่งตนก็จะเป็นคนที่มีคุณความดีในตัวเช่นเขาคนนั้นบ้าง
ดังนั้น เรื่องของการไหว้ การเคารพพระรัตนตรัย
พ่อแม่ ครูอาจารย์
เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องรีบสอนรีบทำให้เป็น
เพราะเป็นทางไหลมาแห่งคุณความดีในตัว
หากไม่ทำเช่นนั้นแล้ว อาจจะเกิดผลตรงข้าม
เพราะคนเรานั้นมีทางเลือกอยู่ ๒ ทาง คือหากไม่ยอมรับคนอื่น
ก็ดูถูกเขา ถ้าไม่จับจ้องในคุณความดีของเขา ก็จ้องจับผิด
ซึ่งคนเราทั่วไปก็ยังมีข้อบกพร่องกันอยู่ทั้งนั้น การกระทำก็มีทั้งทำถูกและทำผิด ถ้าคนเราจ้องจับผิดกันแล้ว จะแก้ไขนิสัยให้มาจับจ้องความดีแทนนั้นยาก การเริ่มต้นที่ง่ายและถูกต้อง
คือสอนให้เริ่มจับจ้องแต่คุณความดีของผู้อื่น
เพื่อจะรับเอาความดีนั้นมาปฏิบัติเป็นทางแห่งความดีความเจริญของตน
๓) ฝึกมองผลกรรมในอนาคต เป็นพื้นฐานของความมีวิสัยทัศน์
เมื่อใครก็ตามมีโอกาสทำความดีจนคุ้นเช่นนี้
จะเข้าใจเรื่องของกรรมว่า ‘ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว’ อย่างลึกซึ้ง
จะเป็นคนมองการณ์ได้ไกลว่า ประกอบเหตุอย่างไรจะส่งผลอย่างไรต่อไปอีก
กรรมที่ทำในชาตินี้ ไม่ได้แค่ส่งผลในชาตินี้
แต่ยังส่งผลไปถึงชาติหน้า ละโลกไปแล้วยังส่งว่าจะไปนรกหรือสวรรค์ พอได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็ยังตามมาเป็นที่พึ่งให้เราอีก
ตามมาเป็นพวกพ้องได้อีก
เป็นโปรแกรมชีวิตให้อีก
หากเรามองเห็นภาพรวมของชีวิตเช่นนี้
เราจะมองเห็นว่า บนเส้นทางชีวิตอันยาวไกลนี้ ทุกสิ่งที่เราทำให้แก่ตนเองในแต่ละวัน
ตั้งแต่ตื่นเช้าจรดเข้านอน เราควรประกอบเหตุเช่นไร เพื่อผลในอนาคตอย่างไร
ดังนั้น
ทุกอย่างในอนาคตจึงเป็นไปได้ตามศักยภาพของเรา เราต้องลิขิตเอง เลือกเอง และลงมือทำเอง แล้วในที่สุดความเป็นคนมีเหตุมีผล
ไม่เป็นคนเชื่อง่าย ไม่ถือมงคลตื่นข่าว สร้างงานเป็น
สร้างเงินเป็น สร้างคนเป็น ก็จะเกิดขึ้น ด้วยเหตุที่เราได้ทำความดีมาจนคุ้น
และได้ศึกษากฎแห่งกรรมจนเข้าใจนี้เอง..
Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๓๖
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๗
คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
จะดำเนินการอย่างไร การพัฒนาวัดจึงจะสำเร็จตามเป้าหมาย?
เมื่อจะศึกษาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรมีสิ่งใดเป็นข้อเตือนใจให้ระลึกถึงความสำคัญของธรรมะอย่างแท้จริง?
เตรียมงานสงกรานต์
การเกิดขึ้นของนิสัยดี นิสัยชั่วมีที่มาอย่างไร ?
ทำอย่างไรทุกคนจึงจะมีความสุขในการทำงานร่วมกัน?
มีหลักธรรมใดทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้นบ้าง?
เราจะใช้ทรัพย์คือเวลาอย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด?
เหตุใดชาวพุทธแม้มีหลายนิกาย ก็ยังอยู่ร่วมกันได้โดยไม่กระทบกระทั่งกัน?
พ่อแม่ควรเริ่มต้นฝึกลูกอย่างไรดี?
เพราะเหตุใดคำสอนเรื่องอริยสัจ ๔ จึงสำคัญต่อชาวโลกมาก?
เหตุใดพระพุทธศาสนาจึงมุ่งเน้นที่การสอนให้แสวงหาปัญญาด้วยการฝึกสมาธิ...?
จะดำเนินการอย่างไร การพัฒนาวัดฯ |
เมื่อจะศึกษาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฯ |
คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
จะดำเนินการอย่างไร การพัฒนาวัดจึงจะสำเร็จตามเป้าหมาย?
เมื่อจะศึกษาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรมีสิ่งใดเป็นข้อเตือนใจให้ระลึกถึงความสำคัญของธรรมะอย่างแท้จริง?
เตรียมงานสงกรานต์
การเกิดขึ้นของนิสัยดี นิสัยชั่วมีที่มาอย่างไร ?
ทำอย่างไรทุกคนจึงจะมีความสุขในการทำงานร่วมกัน?
มีหลักธรรมใดทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้นบ้าง?
เราจะใช้ทรัพย์คือเวลาอย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด?
เหตุใดชาวพุทธแม้มีหลายนิกาย ก็ยังอยู่ร่วมกันได้โดยไม่กระทบกระทั่งกัน?
พ่อแม่ควรเริ่มต้นฝึกลูกอย่างไรดี?
เพราะเหตุใดคำสอนเรื่องอริยสัจ ๔ จึงสำคัญต่อชาวโลกมาก?
เหตุใดพระพุทธศาสนาจึงมุ่งเน้นที่การสอนให้แสวงหาปัญญาด้วยการฝึกสมาธิ...?
ทำอย่างไรจึงจะฝึกตนให้เป็นคนมีเหตุผล สร้างงาน สร้างเงิน สร้างคนเป็น?
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:08
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: