เหตุใดชาวพุทธแม้มีหลายนิกาย ก็ยังอยู่ร่วมกันได้โดยไม่กระทบกระทั่งกัน?


คนในโลกนี้มีหลากหลายความเชื่อ บางครั้งก็มีความเห็นไม่ลงรอยกัน แต่...เหตุใดชาวพุทธแม้มีหลายนิกาย ก็ยังอยู่ร่วมกันได้โดยไม่กระทบกระทั่งกัน?

ศาสนิกต่างศาสนาท่านหนึ่งได้พบกับหลวงพ่อ ได้สนทนากัน เขาเอ่ยความในใจขึ้นมาว่า ทุกคนในโลกต่างก็อยากเห็นชาวโลกเป็นสุขด้วยกันทั้งนั้น แต่ในข้อปฏิบัติต่าง ๆ หรือวิธีตัดสินใจต่าง ๆ โดยรายละเอียดมักจะมีข้อขัดแย้งกันอยู่เป็นประจำ แม้แต่ในศาสนาเดียวกันก็ยังไม่วายมีข้อขัดแย้งกัน

เขารู้อีกว่า ในพระพุทธศาสนาของเราก็มีหลายนิกายเหมือนกัน แต่ทว่าในพระพุทธศาสนาแม้มีหลายนิกายก็ไม่ได้ทะเลาะกัน ไม่ถึงกับยกพวกมาลุยกันหรืออะไรอย่างนั้น ตรงนี้เขาเห็นแล้วก็ชื่นชม แล้วก็เลยถามมา ซึ่งเป็นคำถามที่หลวงพ่อประทับใจว่าเขาเข้าใจถาม มีประโยชน์ แล้วคำตอบก็น่าจะได้รู้ทั่วกันทั้งชาวพุทธและชาวโลก

เขาถามว่าชาวพุทธแม้ต่างนิกาย ทำไมจึงไม่มีการกระทบกระทั่งกัน เห็นมาร่วมกันทำบุญ หลวงจีนก็นุ่งห่มแบบหลวงจีน หลวงเกาหลีคล้ายหลวงจีน แต่ก็มีส่วนที่แตกต่างอยู่บ้าง หลวงลามะจากทิเบตก็อีกอย่างหนึ่ง

ในความแตกต่างอย่างนี้ มีวิธีที่จะทำความเข้าใจและก่อให้เกิดความสมัครสมานกันขึ้นมาได้อย่างไร ที่เขาถามอย่างนี้ก็เพื่อว่า เมื่อรู้แล้วจะได้ใช้หลักเดียวกันนี้ในกลุ่มศาสนาเดียวกันกับของเขา เพราะเขาก็ไม่อยากเห็นผู้ที่นับถือศาสนาเดียวกันกับเขาขัดแย้งกัน แล้วก็อยากจะเห็นทั้งศาสนาที่เขานับถือกับศาสนาพุทธของเราอยู่ร่วมกันด้วยดี  แต่จะมีวิธีจัดการอย่างไรในส่วนที่ไม่ตรงกัน  ซึ่งหลวงพ่อให้ข้อคิดกับเขาไปตั้งแต่เริ่มต้นว่า

๑) คนเหมือนกัน เกิดเป็นคนต่างก็มีคุณค่า

คนเราไม่ว่าจะนับถือศาสนาไหน เป็นชนชาติเผ่าพันธุ์อะไรก็ช่างเถิด เขาก็เป็นคน เราก็เป็นคน แล้วก็มีองค์ประกอบเหมือน ๆ กัน คือ

•    มีกายที่ประกอบด้วยเลือดด้วยเนื้อเหมือนกัน

•    มีใจใส ๆ ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าใจไม่ใส แล้วไม่ได้สร้างบุญมามากพอ ไม่ได้เกิดเป็นคนหรอก

ในโลกนี้ถ้าเราเทียบกันระหว่างจำนวนมนุษย์กับสัตว์ทั้งหลาย เมื่อเทียบกันแล้วจำนวนมนุษย์น้อยกว่าสัตว์ตั้งเยอะ อย่าว่าแต่เอามาเทียบกันทั้งโลกเลย เอาแค่เทียบที่บ้านตัวเอง จำนวนคนในบ้านต่อให้ครอบครัวใหญ่ก็มีไม่กี่สิบคน  แต่เมื่อนับจำนวนสัตว์ในบ้านดู บางคนอาจจะบอกว่า ที่บ้านไม่เลี้ยงสุนัข ไม่เลี้ยงแมว แล้วคุณเคยนับมดไหมว่าทั้งบ้านมีสักกี่ตัว จิ้งจกกี่ตัว ตุ๊กแกกี่ตัว ยุงกี่ตัว แมลงต่างๆ กี่ตัว ถ้าอย่างนี้ก็จะเห็นได้ว่าระหว่างมนุษย์กับสัตว์เทียบสัดส่วนกันไม่ได้เลย ไม่ว่าบ้านไหนสัตว์ก็มากกว่าคน ไม่ว่าในประเทศไหน ๆ สัตว์ก็ต้องมากกว่าคน หรือแม้กระทั่งในโลกทั้งโลกนี้ สัตว์ก็มีมากกว่ามนุษย์ชนิดเทียบกันไม่ได้เลย

ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ เมื่อเกิดมาแล้วอย่างไหนจะสร้างคุณประโยชน์ให้กับตัวเอง สร้าง     คุณประโยชน์ให้กับโลกได้มากกว่ากัน ใครที่มีใจเป็นกลางก็ต้องมองเห็นว่า ถึงอย่างไรมนุษย์ก็สร้างคุณประโยชน์ให้กับตัวเอง ให้กับชาวโลก ให้กับโลกใบนี้ได้มากกว่าสัตว์เป็นแน่แท้

ถามว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์กับการเกิดเป็นสัตว์ อย่างไหนจะโชคดีกว่ากัน? ถึงอย่างไรมนุษย์ก็โชคดีกว่าสัตว์อย่างแน่นอน

การที่จะเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสัตว์ ขึ้นอยู่กับอะไร? ในศาสนาอื่นเขาบอกว่า ศาสดาของเขาสอนว่าใครจะเกิดมาเป็นมนุษย์ ใครจะเกิดมาเป็นสัตว์ ขึ้นอยู่กับความปรารถนาของผู้สร้างโลกที่เขานับถือ

ในพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ทั้งคนและสัตว์มีส่วนที่เหมือนกัน คือล้วนรักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน  คนพูดภาษาสัตว์ไม่ได้  สัตว์ก็พูดภาษาคนไม่ได้  แต่ดูได้จากลักษณะท่าทางของเขาก็รู้ว่า รักสุขแล้วเกลียดทุกข์เหมือนกัน

ในพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาทรงเป็นผู้ค้นพบความจริงของสรรพสิ่งทั้งหลาย ในการค้นพบนั้น ทรงค้นพบจากการทำสมาธิ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงฝึกพระองค์อย่างนี้ ทรงทำสมาธิเพื่อทำให้ใจใส ๆ ส่วนระยะเวลาที่ฝึกก็ไม่ใช่แค่เป็นวัน ไม่ใช่แค่เป็นเดือน  แต่ทรงฝึกสมาธิอย่างต่อเนื่องมานับภพนับชาติไม่ถ้วน แม้ในชาติสุดท้ายก็ทรงฝึกนานหลายปี

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้ความจริงของทุกสิ่งทุกอย่างโดยอาศัยการทำสมาธิให้ใจใส ๆ พอใสแล้วใจจะสว่าง สว่างแล้วก็จะเห็นความจริง พระพุทธองค์ทรงพบว่า คนทุกคนนั้น ถึงคราวละโลกไปก็ยังมีชีวิตหลังความตาย ไม่ได้ตายแล้วสูญ ถ้าตั้งใจทำความดี ความดีที่ทำไว้ก็จะส่งผลให้เปลี่ยนตัวเองจากคนไปเป็นเทวดา นางฟ้า ไปอยู่ในภพภูมิใหม่ที่เป็นสุข ที่เรียกว่า สวรรค์  คนที่ทำไม่ดี ตายแล้วก็ไม่สูญ แต่ว่าผลของความเลวจะส่งเขาไปอยู่ในภพภูมิที่เดือดร้อน ไปอยู่แล้วเป็นทุกข์ เรียกว่า นรก

บางคนถึงจะเป็นคนเลว แต่ก็ยังไม่เลวสุด ๆ ผลของความเลวส่งให้ไปเกิดแค่เป็นสัตว์เท่านั้น แทนที่จะไปถึงนรก ถ้าไม่เลวเกินไปจนกระทั่งไปเป็นสัตว์นรก ก็มาเป็นสัตว์เดรัจฉานอย่างที่พวกเรา เห็น เช่น มด ปลวก เป็นต้น

๒) เกิดเป็นคนย่อมต้องการโอกาสกลับเนื้อกลับตัว

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบอีกว่า หลังจากที่รับโทษไปแล้ว พวกที่ไปตกนรกและรับโทษพอสมควรแล้ว ก็มีโอกาสกลับมาแก้ตัวอีก  ในระหว่างที่เกิดเป็นสัตว์ ถ้าระมัดระวังตัวดี ไม่ใช่สัตว์เกเร ความไม่ดีก็ค่อย ๆ คลายตัวไป พวกนี้มีโอกาสกลับมาเกิดเป็นคนอีก

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพบว่า คนสามารถไปเกิดเป็นสัตว์ และสัตว์ก็สามารถกลับมาเกิดเป็นคนได้  การเกิดเป็นคนทำให้มีโอกาสกลับมาแก้ตัวใหม่  ถ้ากลับเนื้อกลับตัวได้ ก็จะมีความสุขมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องกลับไปเกิดเป็นสัตว์อีก แต่การกลับเนื้อกลับตัวได้นั้น ไม่ใช่ว่าคนโน้นคนนี้ไปเสกให้ แต่เขาต้องปรับปรุงตัวเอง

การดำเนินชีวิตในวิถีชาวพุทธจึงมีคำว่า ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่วดังนั้นผลของกรรมดีก็คือ เวลาทำดีก็ต้องได้รางวัลกันบ้าง  ส่วนผลของกรรมชั่วก็คือ เวลาทำชั่วก็ต้องลงโทษกันบ้าง  แต่เมื่อพ้นโทษแล้วก็ให้โอกาสกลับตัวใหม่ เพราะทุกชีวิตในโลกนี้ต่างยังตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม คือกฎแห่งการรับผลการกระทำที่คน ๆ นั้นได้ทำไว้นั่นเอง

๓) ให้เวลาแต่ละคนแก้ไขตัวเอง

พระพุทธศาสนาสอนให้มุ่งมั่นทำความดีเรื่อยไป ส่วนที่เป็นความดีก็ทำไปมาก ๆ ส่วนที่ยังไม่ดีก็ปล่อยเวลาให้เขาได้มีเวลาแก้ไขตัวเอง เพราะคิดอย่างนี้ชาวพุทธแม้ต่างนิกายก็ไม่ทะเลาะกัน เพียงแต่ว่าความเชื่อยังไม่ตรงกัน ต่างคนก็ไปฝึกสมาธิให้ใจใส ๆ พอใจใสแล้ว เดี๋ยวก็เห็นความจริงตรงกัน

๔) ใจใส ๆ จากสมาธิทำให้เห็นความจริงตรงกัน

ความที่คนในโลกนี้ต่างก็เป็นคนเหมือนกัน ทำให้แม้ต่างศาสนากันก็นั่งสมาธิด้วยกันได้  เมื่อนั่งสมาธิให้ใจใส ๆ แล้ว เดี๋ยวก็ต้องเห็นตรงกัน  ธรรมชาติของใจที่สะอาดบริสุทธิ์จะปรับเข้าหากันได้เองโดยธรรมชาติ เหมือนน้ำบริสุทธิ์ที่ไม่ว่าจะอยู่บนยอดเขา บนท้องฟ้า ในแม่น้ำ เมื่อนำมารวมกันก็ย่อมมีความเข้ากันได้  สิ่งนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า แม้ต่างศาสนา เราก็เป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นเพื่อนนั่งสมาธิร่วมกันได้  ขอเพียงต่างคนต่างทำความดีให้มาก ๆ ส่วนข้อบกพร่องต่าง ๆ ปล่อยให้ต่างคนได้แก้ไขตัวเอง แล้วนั่งสมาธิกันไปทุกวัน พอนั่งสมาธิใจใสก็จะอยากปรับตัวปรับใจเข้าหากันเอง เห็นตรงกันเอง

ดังนั้น ถ้าอยากจะให้ชาวโลกอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ไม่ขัดแย้งกัน ไม่เบียดเบียนกัน ก็ช่วยกันชวนชาวโลกทั้งหมดมาเป็นเพื่อนนั่งสมาธิกัน..  

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว


พ่อแม่ควรเริ่มต้นฝึกลูกอย่างไรดี?
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๔๓  เดือนกันยายน  พ.ศ. ๒๕๕๗


เราจะใช้ทรัพย์คือเวลาอย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด?







คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
เหตุใดชาวพุทธแม้มีหลายนิกาย ก็ยังอยู่ร่วมกันได้โดยไม่กระทบกระทั่งกัน? เหตุใดชาวพุทธแม้มีหลายนิกาย ก็ยังอยู่ร่วมกันได้โดยไม่กระทบกระทั่งกัน? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 23:21 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.