เหตุใดพระพุทธศาสนาจึงมุ่งเน้นที่การสอนให้แสวงหาปัญญาด้วยการฝึกสมาธิ...?


เหตุใดพระพุทธศาสนาจึงมุ่งเน้นที่การสอนให้แสวงหาปัญญาด้วยการฝึกสมาธิเจริญภาวนามากกว่าวิธีการอื่น ?

เจ้าชายสิทธัตถะทรงเรียนเก่งมาตั้งแต่เล็ก เมื่อสมัยที่มีพระชนมายุได้เพียง ๗ พรรษา  พระองค์ก็ทรงเก่งขนาดที่ว่าพออาจารย์พูดจบ ก็ทรงทำตามได้ทันที ทรงเรียนอยู่กับอาจารย์เป็นเวลา ๗ วัน ก็ทรงเจนจบทั้งหมดของความรู้ที่อาจารย์สอน

เพราะเหตุใดพระองค์ถึงทรงมีพระปรีชาสามารถมากขนาดนั้น นั่นก็เพราะเมื่อตอนมี          พระชนมายุ ๗ พรรษา พระองค์ทรงมีโอกาสทำสมาธิตามลำพังที่โคนต้นหว้าในวันพิธีแรกนาขวัญ ซึ่งในครั้งนั้นทรงบรรลุปฐมฌาน คือเข้าถึงดวงปฐมมรรค ซึ่งมีลักษณะเป็นดวงธรรมกลมใส ๆ อยู่ภายในกายของพระองค์เป็นครั้งแรก

หลังจากนั้น เมื่อพระองค์เสด็จออกผนวช ก็ทรงใช้ประสบการณ์จากการเข้าถึงปฐมฌานเมื่อตอน ๗ พรรษา มาต่อยอดความรู้ คือทรงแน่พระทัยว่า ธรรมะที่ใช้ดับทุกข์ให้สิ้นไปอย่างถาวรนั้นต้องซ่อนอยู่ภายในตัวอย่างแน่นอน

เมื่อพระองค์ทรงมีความมั่นพระทัยอย่างนั้นแล้ว ก็ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า แม้เลือดเนื้อจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่เอ็นและหนังหุ้มกระดูกก็ตามที ตราบใดที่ยังไม่ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ก็จะไม่ทรงลุกขึ้นจากที่ประทับคือโพธิบัลลังก์แห่งนี้  จากนั้นพระองค์ก็ทรงนั่งทำสมาธิอย่างแน่วแน่ ทรงมองเข้าไปในกายที่ยาววา หนาคืบ กว้างศอก เพียงอย่างเดียว ตั้งแต่ปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม ตลอดคืนยันรุ่ง

ในที่สุดพระองค์ก็ทรงรู้จักตัวเองชัดเจนขึ้นตามลำดับ ๆ จนกระทั่งทรงมองเห็นใจของพระองค์เอง มองเห็นกิเลสที่เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ที่คอยบีบคั้นบงการใจ มองเห็นธรรมะที่ใช้ดับกิเลสดับทุกข์ได้คือนิพพาน และมองเห็นกระบวนการที่ธรรมะคือนิพพานนั้นกำจัดกิเลสออกจากใจรอบแล้วรอบเล่า จนกระทั่งกิเลสสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ เป็นสมุจเฉทปหาน ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในเช้าตรู่วันรุ่งขึ้นของวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือวันวิสาขบูชานั้นเอง

คนทั้งโลกไม่มีใครเห็นใจตัวเอง แต่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชไม่นานก็ทรงเห็นใจของพระองค์เองได้ แล้วทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้รู้  ผู้ตื่น  ผู้เบิกบาน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพุทธบริษัททั้ง ๔ ให้พิจารณาเข้าไปข้างในเนือง ๆ เพื่อรู้จักตัวเองให้มากที่สุด ไม่ต้องไปห่วงเรื่องรู้จักคนอื่น เพราะเมื่อรู้จักตัวเองแล้วก็จะรู้จักคนทั้งโลกเอง

การที่หลวงพ่อยกพุทธประวัติขึ้นมาเล่าให้ฟังตั้งแต่แรก ก็เพราะว่าก่อนที่จะตอบคำถามนี้ เรามีเรื่องพื้นฐานที่จะต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน นั่นคือ คนที่ยังไม่เคยฝึกสมาธิหรือเพิ่งเริ่มฝึกสมาธิใหม่ ๆ จะพบปัญหาว่าเขาไม่คุ้นกับการประคองใจให้มองกลับเข้ามาในตัวเอง เพราะเขาชอบมองออกไปนอกตัวเป็นปกตินิสัย ใจของเขาจึงไปติดอยู่กับเรื่องนอกตัวอยู่ตลอดเวลา นาน ๆ จะดึงใจกลับเข้ามาในตัวได้สักที ทำให้เขามีสมาธิกระท่อนกระแท่น และทำให้เขาไม่ค่อยเชื่อว่า การฝึกสมาธิเป็นเรื่องที่ดี

ตรงนี้คือความแตกต่างกับคนที่ฝึกสมาธิอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะคนที่ฝึกสมาธิหยุดใจนิ่งจนกระทั่งเห็นดวงปฐมมรรคในกลางกายอย่างชัดเจนแล้ว เขาจะมีความสามารถพิเศษประจำตัวเกิดขึ้นมาเป็นปกติวิสัย นั่นคือการมองเข้าไปในตัวเองเป็นปกติ ใจของเขาจึงไม่ไปยึดมั่นถือมั่นอยู่กับเรื่องนอกตัว 

คนที่มีปกติมองเข้าไปในตัวหรือหมั่นตรึกดวงธรรมในกลางกาย จะมีนิสัยว่าเวลามองอะไรก็ตามจะมองจากข้างในเป็นหลัก หรือหากมีเรื่องต้องครุ่นคิดตัดสินใจก็จะไม่ปล่อยใจไปข้างนอก แต่จะทำใจนิ่ง ๆ แล้วพิจารณาจากข้างใน เพราะเมื่อใจบริสุทธิ์ แหล่งความคิดก็บริสุทธิ์ ความคิดก็จะถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ซึ่งเท่ากับทำให้คำพูด การกระทำ การประกอบอาชีพการงานถูกต้องตรงตามหนทางแห่งความสำเร็จไปโดยปริยาย

เมื่อสมัยที่คุณยายอาจารย์ฯ ยังมีชีวิตอยู่ หลวงพ่อเคยมีโอกาสสนทนาธรรมกับท่าน คุณยายท่านถามให้ได้คิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมได้ด้วยการเดินทางตระเวนไปรอบโลก หรือว่าทรงตรัสรู้ธรรมได้ด้วยการมองเข้าไปในตัวของพระองค์เอง?

คำตอบคือ มองเข้าไปในตัวเอง ซึ่งก็คือพระองค์ทรงตรัสรู้ธรรมได้ด้วยการฝึกทำสมาธิ  เจริญภาวนากระทั่งใจหยุดนิ่ง มองเข้าไปในศูนย์กลางกายของพระองค์เอง จนกระทั่งทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ 

เนื่องจากพวกเราเองก็ยังถือว่าเป็นผู้ฝึกใหม่กันอยู่ แล้วงานทำภาวนาก็เป็นงานที่ต้องทำกันอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายภพหลายชาติ กว่าจะตรัสรู้ได้เช่นเดียวกับพระพุทธองค์  ดังนั้นการมองเข้าไปในตัว ซึ่งเป็นก้าวแรกของการบรรลุธรรมนั้น จึงเป็นสิ่งที่เราทิ้งไปไม่ได้

สำหรับข้อดีในเบื้องต้นของการมองเข้าไปข้างในนั้น

ข้อแรก  คือ จะทำให้เรารู้จักตัวเอง คือเมื่อหมั่นมองเข้าไปข้างในก็จะเห็นกายตัวเอง

ข้อสอง  คือ เมื่อเห็นกายตัวเองแล้ว ก็จะเห็นนิสัยของตัวเราเอง ทำให้เราแก้ไขปรับปรุงตัวเอง ได้ถูกจุดมากขึ้นตามลำดับ

ข้อสาม  คือ เมื่อมองข้างในกลางกายของเราบ่อย ๆ ก็จะเริ่มมองเห็นใจของตัวเอง

ลำพังแค่การเห็นนิสัยตัวเองได้ทะลุปรุโปร่ง ก็จะทำให้เราเข้าใจนิสัยคนทั้งโลกได้เลยทีเดียว และสามารถทำความเข้าใจได้ว่า สาเหตุที่เขามีนิสัยอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นเพราะเขาฝึกตัวเองมาอย่างไร หรือถูกสิ่งแวดล้อมหล่อหลอมให้เติบโตมาอย่างไร กลายเป็นปัญญาที่เกิดจากความเข้าใจนิสัยตัวเอง ก่อให้เกิดความเข้าใจนิสัยเพื่อนมนุษย์ขึ้นมาได้เลยทีเดียว

ดังนั้น ถ้าลูกต้องการที่จะมีปัญญาเฉียบจริง ๆ ก็ต้องฝึกนะลูกนะ ฝึกมองเข้าไปข้างในศูนย์กลางกายของเราเองบ่อย ๆ ในที่สุดลูกก็จะรู้จักนิสัยตัวเอง เมื่อเห็นนิสัยทั้งดีและไม่ดีของตัวเองแล้ว ลูกก็จะแก้ไขได้ และจะเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดา เพราะลูกจะเป็นคนที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจเราไปใส่ใจเขา ด้วยการหมั่นมองเข้าไปข้างในตัวเอง ปัญญาที่เกิดจากการสังเกตตัวเองก็จะเพิ่มพูนขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นปัญญาที่มีความละเอียดลออ เข้าใจตัวเอง เข้าใจเพื่อนมนุษย์ เข้าใจโลก แล้วลูกก็จะเข้าถึงธรรมในตัวไปตามลำดับ ๆ ในสักวันหนึ่ง 


Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๔๖  เดือนธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๕๗ 

เพราะเหตุใดคำสอนเรื่องอริยสัจ ๔ ฯ 

  
การไม่รู้จักตัวเองจะก่อให้เกิดผลเสียต่อชีวิตของเราอย่างไร? 

คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
เหตุใดพระพุทธศาสนาจึงมุ่งเน้นที่การสอนให้แสวงหาปัญญาด้วยการฝึกสมาธิ...? เหตุใดพระพุทธศาสนาจึงมุ่งเน้นที่การสอนให้แสวงหาปัญญาด้วยการฝึกสมาธิ...? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 18:25 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.