การปลูกฝังความรับผิดชอบ


โดย หลวงพ่อทัตตชีโว

เมื่อวานนี้ (๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๖) หลวงพ่อได้มีโอกาสไปเยี่ยมวัดสาขาที่ต่างจังหวัด เห็นหลวงพี่ท่านตั้งใจฝึกลูกพระ ลูกเณรที่บวชใหม่ก็ดีใจ แต่ดูแล้วก็เกรงว่า ท่านอาจจะฝึกพระเณรได้ครบตามที่แนะนําไว้ในส่วนเฉพาะปฏิบัติการและวิธีการเท่านั้น แต่โดยหลักการไม่แน่ใจว่า จะเข้าใจจริงหรือไม่ ก็เลยชี้ให้ท่านดูในวันนี้ หลวงพ่อเลยถือโอกาสนําเรื่องการฝึกความรับผิดชอบของตัวเองและลูกหลานมาฝาก

ความหมายของคำว่าเล่าเรียน ฝึกฝน อบรม
ในเรื่องของการศึกษา ปู่ย่าตาทวดของเราท่านแปลคำนี้ว่า “เล่าเรียน” บางแห่งใช้คําว่า “ร่ำเรียน” ที่แปลเช่นนี้ เพราะอุปกรณ์การสอนในสมัยนั้น ตำรับตําราไม่มีอย่างสมัยนี้ เวลาสอนต้องมาเล่าเรื่องอย่างที่หลวงพ่อกำลังเล่าให้ฟังนี้ รวมกระทั่งมีเรื่องอะไรต่ออะไรในอดีตมากน้อยเท่าไรก็เอามาเล่า แล้วสิ่งที่เล่านั้นก็กลายเป็นบทเรียนไป

นอกจากเล่าเรียน ร่ำเรียนเขียนอ่านกันเรียบร้อยแล้ว ยังมีคําว่า “ฝึกฝน” “อบรมตามมาอีกด้วย เราได้ยินคํานี้จนเคย แล้วก็มองข้ามไป

คําว่า “ฝึก” กับ “ฝน” “อบ” กับ “รม” เป็นคํากริยา แปลไม่เหมือนกัน

“ฝึก” แปลว่า ฝึกทําให้เป็น เช่น ไปเรียนวิชาว่ายน้ำก็ต้องทําให้ได้ ทําให้เป็น

“ฝน” แปลว่า ทําให้แหลม ทําให้คม เช่น ดาบต้องการความคม กระบี่ต้องการความแหลม ต้องเอามาฝนแล้วฝนอีกให้มันคม ให้มันแหลม

“อบ” แปลว่า ทําให้หอม เช่น อบเสื้อผ้าให้หอม

“รม” แปลว่า ทําให้ติด ทําให้ฝังเข้าไป เช่น พระพุทธรูปรมดำ

พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ นอกจากจะให้ความรู้แก่ลูกในวิชาการด้านต่างๆ แล้ว ยังต้องให้ศีล ให้ธรรมะอีกด้วย ต้องฝึกลูกจนกระทั่งเป็นและชํานาญ ฝนจนกระทั่งสามารถเอาความรู้ไปใช้ในแง่มุมต่างๆ ได้ ทั้งเฉียบ ทั้งคม ทั้งแหลม ส่วนนิสัยใจคอก็อบแล้วรมจนกระทั่งฝังลงไปในสันดาน อย่างนี้จึงจะครบของคําว่า การศึกษา การเล่าเรียน หรือการร่ำเรียน

นี้คือภาพรวมๆ ของการศึกษาที่ปู่ย่าตาทวดของเรามอง แต่ปัจจุบันนี้เรามองกันไม่ครบ ส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนแล้วก็เป็นเรื่องของครูสอนแล้วก็จบกัน อย่างนี้มองพลาดไป

ฝึกฝน อบรมอย่างไร ให้มีความรับผิดชอบ
มีญาติโยมคนหนึ่งมาถามหลวงพ่อว่า คนชนิดไหนเหมาะกับการฝึก การฝน การอบ การรม ที่เหมาะจะรับเอาไว้ และประเภทไหนที่ไม่เหมาะจะรับไว้

ตอบเขาไปว่า คนมีทั้งฝึกขึ้นและไม่ขึ้น คนที่มีความรับผิดชอบ คนอย่างนี้ฝึกขึ้น ส่วนคนไหนไม่มีความรับผิดชอบ คนอย่างนี้ฝึกไม่ขึ้น

การที่จะฝึกให้ใครมีความรับผิดชอบนั้น ต้องฝึกมาจากนิสัยที่เกิดจากการย้ำคิด ย้ำพูด ย้ำทําในเรื่องดีๆ เพราะนิสัยของคนในโลกนี้เกิด จากปัจจัยสี่ กิจวัตรประจําวัน และการทํางานหาเลี้ยงชีพ เนื่องจากต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ทุกวันตลอดชีวิต เมื่อทําบ่อยๆ ก็กลายเป็นนิสัยประจําตัวขึ้นมา โดยมีข้อแม้ว่า ต้องตรงต่อเวลา และต้องทําให้ดีด้วย

หลวงพ่อถูกฝึกให้มีความรับผิดชอบ ตั้งแต่หัวเท่ากําปั้นจากโยมพ่อโยมแม่ จะเล่าให้ฟัง แล้วลองไปเทียบเคียงกับตัวเองดู

โยมพ่อของหลวงพ่อเป็นชาวสวน ชาวไร่ และเลี้ยงสัตว์ไปด้วย ส่วนโยมแม่มีอาชีพค้าขาย จากการที่ท่านมีอาชีพอย่างนี้ ตั้งแต่เด็กเลยถูกบังคับให้ต้องตื่นตีสี่ครึ่ง เพื่อมาอ่านหนังสือ จนกระทั่งตีห้าครึ่งต้องรีบไปช่วยพ่อเตรียมอาหารที่จะให้เป็ด ไก่ และหมู จากนั้นก็ลงไปทําไร่ แล้วไปตัดกล้วย และอ้อยในไร่ เพื่อเอาให้แม่ไปขายที่ตลาด

ประมาณเจ็ดโมงครึ่งกินข้าวกินปลา พร้อมกับดูแลสัตว์ที่เลี้ยง เสร็จแล้วรีบอาบน้ำ ให้เสร็จภายในแปดโมงครึ่ง แล้วรีบขี่จักรยานไปโรงเรียน ทันเวลาเคาะระฆังที่ ๑ พอดี จากนั้นเรียนหนังสือ

สี่โมงครึ่งเลิกเรียน กลับมาถึงบ้านมีเวลาเล่นหนึ่งชั่วโมง พอถึงหกโมงต้องช่วยแม่ทําขนม กว่าจะเสร็จประมาณสองทุ่มครึ่ง อาบน้ำอาบท่าเสร็จสามทุ่ม จึงมีเวลาเป็นของตัวเอง มาทําการบ้าน ดูหนังสือ ห้าทุ่มจึงเข้านอน

นี้คือความรับผิดชอบที่หลวงพ่อมี ไม่ว่าเรื่องเสื้อผ้า เรื่องปัด กวาด เช็ด ถูบ้าน เรื่องข้าวปลาอาหาร ขัดห้องน้ำ ถูกฝึกกันมาตั้งแต่เล็ก ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องส่วนตัว

จากความรับผิดชอบที่บ้าน ก็กลายมาเป็นความรับผิดชอบที่โรงเรียนโดยปริยาย และเมื่อมีเหตุอะไรเกิดขึ้นกับพรรคพวกเพื่อนฝูง ก็ถูกดึงตัวไปช่วย จนกลายเป็นความรับผิดชอบต่อพรรคพวกเพื่อนฝูงไปด้วย

ครั้นมาเจอหลวงพ่อธัมมชโย และคุณยายอาจารย์ ท่านก็จ้ำจี้จ้ำไชในเรื่องความรับผิดชอบมาก เวลามีงานเร่งจะรีบทําลวกๆ ก็ไม่ได้ ถึงแม้รีบทําก็ต้องทําให้ประณีต ทําให้ดี ทำให้ได้

ลักษณะของผู้ที่มีความรับผิดชอบ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ลักษณะของพระภิกษุที่เหมาะแก่การฝึก ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึงการมีความรับผิดชอบที่ดีด้วย มี ๕ ข้อ คือ มีศรัทธาดี มีสุขภาพดี ไม่มีมายา มีความเพียร และมีปัญญา

คนที่มีศรัทธา จิตใจเขาจะเบิกบานไม่หงุดหงิด มีความตื่นตัว มีเหตุผลดี

คนที่สุขภาพดี ต้องบริหารเวลาได้ดีเยี่ยม กินเป็นเวลา นอนเป็นเวลา ตรงต่อเวลา

คนที่ไม่มีมายา คือ คนที่มีสุขภาพจิตดี ไม่ขี้โม้ ไม่โอ้อวด ตรงไปตรงมา

คนที่มีความเพียร คือ คนที่หนักเอาเบาสู้

คนที่มีปัญญา คือ คนที่คิดเป็น ตัดสินได้ว่าอะไรดี ชั่ว ผิด ถูก ควร ไม่ควร

เพราะฉะนั้น การที่คนใดคนหนึ่งจะต้องถูกปูพื้นฐานให้รับผิดชอบนั้น เท่ากับมีการฝึกให้มีศรัทธา ฝึกสุขภาพ ฝึกการคิดเป็นระบบ ฝึกความตรงต่อเวลา ฝึกการตัดสินใจ และตัดใจอยู่ในนั้น แล้วกําลังใจของเขาก็จะพอกพูนขึ้นมาทุกวันๆ

มาช่วยกันปลูกฝังความรับผิดชอบ
ในขณะนี้อบายมุขกำลังท่วมโลก อะไรที่ได้ชื่อว่าอบายมุขแทบจะถูกกฏหมายทั้งสิ้น ทั้งสุรา นารี พาชี กีฬาบัตร แต่พวกเรากลับสวนกระแส ไม่หลงไปตามอบายมุข กลับหันหน้ามาทําความดี ทําบุญทําทานกันอย่างเต็มที่

เพราะฉะนั้น พวกเรามาช่วยกันเอาบทฝึกความรับผิดชอบนี้ไปใช้ฝึกทั้งตัวเองและลูกหลานให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ภพชาติต่อไปจะได้พบคนรอบข้างมีแต่นิสัยดีๆ ไม่ต้องพูดมากกันอีก

เรื่อง : พระธรรมเทศนาหลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๘ ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖

***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ PDF
https://drive.google.com/file/d/1EtUZWpKVqgo1SJnen3GzV7mfQqehpHia/view

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202546/08YNB_4606/08YNB_4606.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๘ ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้ที่นี่
การปลูกฝังความรับผิดชอบ การปลูกฝังความรับผิดชอบ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:29 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.