คัมภีร์ใบลานราษฎร์ ร่วมสืบศาสน์และชาติไทย
พระพุทธศาสนาเริ่มเข้ามาประดิษฐานในแผ่นดินสุวรรณภูมิเป็นครั้งแรก
ราวปีพุทธศตวรรษที่ ๓ เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์เมารยะ
มหาราชผู้ยิ่งใหญ่แห่งอินเดีย โปรดเกล้าฯ ให้พระโสณเถระและพระอุตตรเถระเดินทางจากแคว้นมคธมาเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ณ ดินแดนแถบนี้ ซึ่งช่วงเวลานั้นประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุวรรณภูมิ
ที่มีอาณาเขตกว้างขวาง และมีศูนย์กลางสำคัญอยู่ที่จังหวัดนครปฐม
ตามข้อสันนิษฐานจากหลักฐานทางโบราณคดี นับแต่นั้นพระพุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้ก็เจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ
มีการสร้างศาสนสถานและถาวรวัตถุมากมาย
รวมถึงมีการจารึกเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอีกด้วย
ในดินแดนแหลมทองของเรานี้
มีการจารจารึกคัมภีร์พระไตรปิฎกลงบนใบลานเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๒๐
ตรงกับสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งนครพิงค์เชียงใหม่ อาณาจักรล้านนา
พระเจ้าติโลกราชทรงเลื่อมใส ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
และทรงอุปถัมภ์ให้มีการสังคายนาตรวจชำระและจารจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน ณ
วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอด) เมืองเชียงใหม่
พระไตรปิฎกฉบับที่สอบชำระในสมัยของพระองค์นี้ ถือเป็นคัมภีร์ที่เป็นหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งของพระพุทธศาสนาในล้านนาที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน
พระสถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราช สถานที่ถวายพระเพลิงพระศพของ พระเจ้าติโลกราช ณ วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอด) |
ธรรมเนียมการสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกถวายไว้ในพระศาสนา
เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
ถือเป็นราชธรรมเนียมของกษัตริย์ทุกพระองค์ในการสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานถวายเป็นพุทธบูชา
คัมภีร์ใบลานที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างหรือโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง
รวมถึงคัมภีร์ที่พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนขุนนางชั้นผู้ใหญ่สร้างขึ้น เรียกว่า คัมภีร์ใบลานฉบับหลวง
หรือ ฉบับของหลวง
ซึ่งคัมภีร์แต่ละฉบับจะมีลักษณะเฉพาะรวมทั้งสัญลักษณ์บ่งบอกถึงสมัยและรัชกาล อาทิ
ฉบับล่องชาด เป็นคัมภีร์ใบลานสมัยรัชกาลที่ ๔ หรือ
ฉบับทองทึบเป็นคัมภีร์ใบลานสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้น
การที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นหลักสำคัญในการสร้างคัมภีร์บันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สำเร็จเป็นมาตรฐาน
ถือเป็นการวางรากฐานทางวัฒนธรรมที่ทำให้สถาบันพระพุทธศาสนามั่นคง และจรรโลงจิตใจ
ปลูกฝังศีลธรรมอันดีงามแก่เหล่าพสกนิกรใต้ร่มพระบารมี
ให้อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์บนแผ่นดินธรรม
โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจให้ทั้ง ๓ สถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา
และพระมหากษัตริย์อยู่คู่ผืนแผ่นดินไทย
ป้ายฉลากไม้อักษรธรรมล้านนาระบุว่า คัมภีร์ใบลานฉบับนี้เป็นพระไตรปิฎกบาลี ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สร้างโดยครูบากัญจนอรัญญวาสีเถระและเหล่าศิษยานุศิษย์ ณ เมืองน่าน เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง |
ในขณะเดียวกันฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ สามเณร อุบาสก
อุบาสิกา หรือราษฎรทั่วไปที่หวงแหนพระธรรมคำสอน ก็เกิดจิตศรัทธาสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลาน
ซึ่งเรียกว่า คัมภีร์ใบลานฉบับราษฎร์ หรือ ฉบับเชลยศักดิ์ เพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาและสืบทอดศีลธรรมให้หยั่งรากลึกอยู่คู่แผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนไปควบคู่กัน
คัมภีร์ใบลานฉบับราษฎร์ ที่สร้างขึ้นมีเพียง ๕
ฉบับ เท่านั้น คือ ฉบับทองทึบ ฉบับล่องชาด
ฉบับล่องรัก ฉบับรักทึบ ฉบับลานดิบ เป็นที่น่าสังเกตว่า
แม้มีชื่อเรียกฉบับเหมือนกับฉบับของหลวง แต่คัมภีร์ใบลานที่สร้างโดยสามัญชน ไม่มีสัญลักษณ์ที่สามารถบ่งบอกสมัยหรือรัชกาลได้เหมือนคัมภีร์ใบลานฉบับหลวง
คัมภีร์ใบลานฉบับทองทึบ ขอบคัมภีร์ทาทองทึบทั้ง ๔ ด้าน |
คัมภีร์ใบลานฉบับล่องชาด ขอบคัมภีร์ด้านข้างทางยาวทาชาด ตรงกลางทาทองขนาบ ๒ ข้าง
|
คัมภีร์ใบลาน ฉบับลานดิบ ขอบคัมภีร์ ไม่มีการตกแต่ง |
หากพิจารณาจากความวิจิตรประณีต พิถีพิถัน
ตั้งแต่การคัดสรรใบลาน ฝีมือการจาร เนื้อผ้าห่อคัมภีร์ วัสดุที่ใช้ทำไม้ประกับ
และป้ายชื่อคัมภีร์ จะเห็นว่าคัมภีร์ใบลานฉบับหลวงมีความสมบูรณ์ ถูกต้อง และงดงามกว่าคัมภีร์ใบลานฉบับราษฎร์
แต่กระนั้นคัมภีร์ใบลานทั้ง ๒ แบบ ต่างก็มีความสำคัญและทรงคุณค่าสูงสุด
ด้วยกลั่นออกมาจากจิตใจและความเคารพเทิดทูนพระศาสนา
ใบปกหน้า
คัมภีร์ใบลานฉบับหลวง |
คัมภีร์ใบลานฉบับราษฎร์ |
หน้าใบลาน
คัมภีร์ใบลานฉบับหลวง |
คัมภีร์ใบลานฉบับราษฎร์ |
ไม้ประกับ
คัมภีร์ใบลานฉบับหลวง |
คัมภีร์ใบลานฉบับราษฎร์ |
พุทธศาสนิกชนในแผ่นดิน
ไม่ว่าจะยิ่งด้วยยศศักดิ์อย่างพระเจ้าอยู่หัว ผู้ปกครองประเทศ
หรือสามัญชนคนธรรมดาอย่างอาณาประชาราษฎร์ ต่างก็มีใจที่รักและเทิดทูนพระพุทธศาสนา หวงแหน
ปกปักรักษา สืบทอดคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
คำสอนอันทรงคุณค่าต่อจิตใจให้คงอยู่ต่อไป
ท่านทั้งหลายเหล่านั้นไม่ว่าจะกี่ยุคสมัยจึงหลอมรวมดวงใจเป็นหนึ่งเดียวกัน
เก็บรวบรวมคำสอนล้ำค่านี้บันทึกไว้ในคัมภีร์ใบลานส่งทอดสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน การสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกถวายไว้ในพระศาสนา
จึงมิใช่เป็นเพียงแค่ธรรมเนียม มิใช่เป็นเพียงเพราะปฏิบัติสืบต่อกันมา
แต่เป็นความเพียรอุตสาหะที่กลั่นจากความรักและศรัทธา ที่ปรารถนาจะให้สมบัติล้ำค่านี้สืบทอดต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน
คัมภีร์ใบลานหลวงและราษฎร์จึงทรงความงดงามและมีคุณค่ายิ่ง เป็นมรดกของแผ่นดิน
ให้แผ่นดินไทยได้ชื่อว่าเป็น “แผ่นดินธรรม”..
Cr. Tipitaka
(DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๓๖
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๗
คลิกอ่านบทความพิเศษของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
คัมภีร์แห่งกษัตริย์.. สมบัติแห่งแผ่นดิน
เตรียมแผ่นลาน จารพระธรรม
หอไตร...กลางสายธารแลสายธรรม
จดจำ จรดจาร
สมุดไทย ใบลาน...งานศาสน์งามศิลป์
ไข (ใบ) ลาน...กาลเวลา
สนองคุณพระศาสน์ บทบาทสตรีไทย
ย้อนวันคืน...ฟื้นรอยจาร
พระไตรปิฎกฉบับธรรมชัย... ก้าวไกลสู่เวทีโลก
รักษ์ศาสน์ วาดศิลป์ แผ่นดินสยาม
แลใบลาน ก่อนกาลล่วงเลย
คัมภีร์แห่งกษัตริย์.. สมบัติแห่งแผ่นดิน |
เตรียมแผ่นลาน จารพระธรรม |
คลิกอ่านบทความพิเศษของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
คัมภีร์แห่งกษัตริย์.. สมบัติแห่งแผ่นดิน
เตรียมแผ่นลาน จารพระธรรม
หอไตร...กลางสายธารแลสายธรรม
จดจำ จรดจาร
สมุดไทย ใบลาน...งานศาสน์งามศิลป์
ไข (ใบ) ลาน...กาลเวลา
สนองคุณพระศาสน์ บทบาทสตรีไทย
ย้อนวันคืน...ฟื้นรอยจาร
พระไตรปิฎกฉบับธรรมชัย... ก้าวไกลสู่เวทีโลก
รักษ์ศาสน์ วาดศิลป์ แผ่นดินสยาม
แลใบลาน ก่อนกาลล่วงเลย
คัมภีร์ใบลานราษฎร์ ร่วมสืบศาสน์และชาติไทย
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
03:07
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: