คัมภีร์แห่งกษัตริย์.. สมบัติแห่งแผ่นดิน


ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมีสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวหลอมรวมจิตใจของชนชาวไทยมาอย่างยาวนาน  สถาบันทั้ง ๓ ต่างเกื้อหนุนค้ำจุนซึ่งกันและกัน จนทำให้ประเทศชาติอยู่รอดเป็นเอกราชมาได้จนปัจจุบัน

พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยจวบจนกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงนับถือและมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกเสมอมา และถือเป็นราชธรรมเนียมปฏิบัติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์จะทรงสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกถวายเป็นพุทธบูชา ฝากฝังไว้ในพระพุทธศาสนาให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน

สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก พระองค์และสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงประกาศต่อคณะสงฆ์ว่า


ครั้งนี้ขออาราธนา พระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง จงมีอุตสาหะในฝ่ายพระพุทธจักร ให้พระไตรปิฎกบริบูรณ์ขึ้นให้จงได้ ฝ่ายทั้งอาณาจักร ที่เป็นศาสนูปถัมภกนั้น เป็นพนักงานโยม โยมจะสู้เสียสละชีวิตบูชาพระรัตนตรัย สุดแต่จะให้พระปริยัติบริบูรณ์ เป็นมูลที่จะตั้งพระพุทธศาสนาจงได้

คัมภีร์ใบลานที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง หรือโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง รวมถึงคัมภีร์ที่พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนขุนนางชั้นผู้ใหญ่สร้างขึ้น เรียกว่า คัมภีร์ใบลานฉบับหลวง หรือ ฉบับของหลวง ส่วนคัมภีร์ใบลานที่พระภิกษุสงฆ์หรือราษฎรสร้างขึ้น เรียกว่า คัมภีร์ใบลานฉบับราษฎร์ หรือ ฉบับเชลยศักดิ์

คัมภีร์ใบลานฉบับเทพชุมนุม จำนวน ๑๐ ผูก จารด้วยอักษรขอม
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาไว้สำหรับวัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม


แบบหน้าปกและลวดลายสีสันขอบลานคัมภีร์ใบลานฉบับหลวงมีรูปแบบเฉพาะตัวและมีชื่อเรียกต่างกันไป ซึ่งสามารถใช้บอกยุคสมัยและรัชสมัยต่าง ๆ ได้

สมัย
ฉบับคัมภีร์ใบลาน
อยุธยา
ฉบับชาดทึบ   ฉบับข้างลาย  ฉบับข้างลายรดน้ำดำ      
ฉบับข้างลายรดน้ำแดง
กรุงธนบุรี
ฉบับชาดทึบ  ฉบับล่องชาด
รัชกาลที่ ๑
ฉบับทองใหญ่  ฉบับทองชุบ  ฉบับชุบย่อ  และฉบับรองทรง
รัชกาลที่ ๒
ฉบับรดน้ำแดง
รัชกาลที่ ๓
ฉบับรดน้ำโท  ฉบับรดน้ำดำเอก  ฉบับรดน้ำลายเทพชุมนุม
ฉบับชุบย่อ  และฉบับทองน้อย
รัชกาลที่ ๔
ฉบับล่องชาด
รัชกาลที่ ๕
ฉบับทองทึบ


คัมภีร์ใบลานฉบับทองใหญ่ ไม้ประกับทองทึบ ฉลากทอ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

คัมภีร์ใบลานฉบับรดน้ำแดง ไม้ประกับลายทองจีน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย


คัมภีร์ใบลานฉบับรดน้ำ ลายเทพชุมนุม ไม้ประกับประดับมุก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  

คัมภีร์ใบลานฉบับล่องชาด ไม้ประกับลายกำมะลอ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้คัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับหลวงจะมีลักษณะเฉพาะ คือ จะเขียนรูปสัญลักษณ์ประจำรัชกาลให้ปรากฏอยู่ในใบรองปก ซึ่งสามารถจำแนกได้ ๒ แบบ คือ

ถ้าเป็นคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับที่สร้างสำหรับรัชกาลนั้น ๆ รูปสัญลักษณ์ประจำรัชกาลจะอยู่ที่ด้านขวาและซ้ายของใบลาน



ถ้าเป็นคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับที่สร้างซ่อมเพิ่มเติมฉบับของรัชกาลก่อนที่ขาดหรือสูญหายไป รูปสัญลักษณ์ประจำรัชกาลก่อนจะอยู่ด้านซ้ายของใบลาน ส่วนรูปสัญลักษณ์ประจำรัชกาลในขณะนั้นที่สร้างขึ้นมาใหม่จะอยู่ด้านขวาของใบลาน เช่น  พระไตรปิฎกฉบับรัชกาลที่ ๔ สร้างซ่อมฉบับในรัชกาลที่ ๓ จะมีรูปสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ ๓ อยู่ทางด้านซ้าย และมีรูปสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ ๔ อยู่ทางด้านขวา

ใบรองปกคัมภีร์พระไตรปิฎก ฉบับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างซ่อมแซมฉบับเดิม
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ดังนั้นรูปสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ ๓ จึงอยู่ด้านซ้าย
และรูปสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ ๔ อยู่ด้านขวา

พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงสร้างคัมภีร์ใบลานเพื่อบันทึกรักษาคำสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนถือปฏิบัติเป็นราชประเพณีอันดีงามสืบมา  ประเทศไทยของเราในวันนี้จึงยังคงมีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ดำรงมั่นคงเป็นปิ่นแก้วของประเทศได้ด้วยพระบารมีแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ และบูรพมหากษัตราธิราชเจ้าแห่งแผ่นดินสยามทุก ๆ พระองค์ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  ซึ่งล้วนแล้วแต่ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ดังพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระเจ้ากรุงธนบุรี ว่า



อ้างอิง

ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และวิรัตน์ อุนนาทรวรางกูร. คัมภีร์ใบลานฉบับหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๖.


คัมภีร์แห่งกษัตริย์.. สมบัติแห่งแผ่นดิน คัมภีร์แห่งกษัตริย์.. สมบัติแห่งแผ่นดิน Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 23:55 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.