สมุดไทย ใบลาน...งานศาสน์งามศิลป์
สมุดไทยบันทึกพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ |
ปลายพู่กันนฤมิตวิจิตรศิลป์ มรดกแผ่นดินถิ่นสยาม
สืบแนวทางสุนทรีย์ความดีงาม ประกาศนามให้โลกลือเราคือไทย
ทุกจังหวะปากไก่คือสายหมึก จากศรัทธาจารึกอักษรสมัย
ทุกสีสันเน้นวาดพิลาสพิไล คือแรงใจสร้างสรรค์จากบรรพชน
บุญเตือน ศรีวรพจน์
เมื่อครั้งที่อุตสาหกรรมผลิตกระดาษยังไม่เจริญแพร่หลาย
ผู้คนสมัยโบราณได้ใช้การเขียนบันทึกลงบนวัสดุต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวสำคัญ
ไม่ว่าจะเป็นจารึกบนแผ่นศิลา เปลือกไม้หรือภาชนะดินเผา แม้วัสดุดังกล่าวจะคงทนถาวร
แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องน้ำหนักของวัสดุ ขนาดเนื้อที่ และความยากในการจารจารึก
แต่ด้วยภูมิปัญญาของบรรพชนไทยจึงได้นำเอาส่วนประกอบของต้นไม้มาทำเป็นกระดาษเพื่อบันทึกเหตุการณ์สำคัญ
ซึ่งมีข้อดีคือน้ำหนักเบา บันทึกเรื่องราวได้มาก และเคลื่อนย้ายสะดวก
ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือราชอาณาจักรสยามของราชทูตฝรั่งเศสนามว่า
มองซิเออร์เดอ ลา ลูแบร์
ที่เข้ามายังราชสำนักกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ความตอนหนึ่งว่า “...ชาวสยามทำกระดาษจากผ้าฝ้ายเก่า ๆ และยังทำจากเปลือกต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อต้นข่อยอีกด้วย...”
สมุดข่อยเรียกอีกอย่างว่าสมุดไทย
เป็นหนังสือโบราณที่เกิดจากการสร้างสรรค์ด้วยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย
โดยการนำเปลือกของต้นข่อยมาทำเป็นแผ่นกระดาษ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ต่อเป็นแผ่นยาว แล้วพับทบกลับไปกลับมาเป็นเล่มสมุด รูปทรงเป็นปึกหนา
มีความยาวและจำนวนหน้าตามต้องการ เวลาเปิดต้องเปิดจากด้านล่างขึ้นไปด้านบน
ซึ่งต่างจากสมุดในปัจจุบันซึ่งเปิดจากขวามาซ้าย มี ๒ สี คือ สีขาว และสีดำ
เรียกว่า สมุดขาว และ สมุดดำ
ตัวอย่างสมุดไทยเขียนอักษรด้วยหมึกสีต่าง ๆ จากธรรมชาติ อาทิเช่น สีขาวจากดินสอพอง สีดำจากเขม่าไฟ สีแดงจากชาด สีเหลืองจากรง (ยางไม้) และหรดาล (หินแร่) หรือสีทอง จากทองคำเปลว เป็นต้น |
แต่เดิมสมุดไทยมีไว้สำหรับบันทึกหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา
ต่อมาจึงใช้บันทึกข้อมูลความรู้เกี่ยวกับวิทยาการด้านต่าง
ๆ ซึ่งบรรพบุรุษไทยสร้างสรรค์ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ
นอกจากบันทึกเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว บางเล่มโดยเฉพาะสมุดข่อยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
ยังมีภาพจิตรกรรมประกอบเรื่องราวอยู่ด้วย
ซึ่งล้วนเป็นภาพงดงามตามคตินิยมของวิจิตรศิลป์ไทยที่จิตรกรในแต่ละยุคสมัยได้บรรจงฝากไว้เพื่อรักษาและเผยแผ่พระศาสนาด้วยความเคารพบูชา
ผลงานที่ออกมาจึงเป็นศิลปะที่งดงามวิจิตรบรรจง
เปี่ยมด้วยคุณค่าทางด้านสุนทรียศาสตร์ ในขณะเดียวกันก็สะท้อนคตินิยมในแต่ละยุคสมัยอีกด้วย
สมุดภาพ ๒ เล่ม ของวัดปากคลอง จ.เพชรบูรณ์ เรื่องพระมาลัย ๑ เป็นสมุดไทยขาว เขียนด้วยหมึกสีดำ ตัวอักษรขอม เป็นภาพชายตัดฟืนกำลังเก็บดอกบัวเพื่อถวายแก่พระมาลัย
นอกจากเปลือกของต้นข่อยแล้ว คนไทยโบราณยังนำใบของต้นลานมาทำหนังสือ
แต่ต่างกันตรงที่ใบลานนิยมใช้บันทึกเรื่องราวทางพุทธศาสนามากกว่าเรื่องอื่น
จึงเรียกกันทั่วไปว่า “คัมภีร์ใบลาน” ที่พระภิกษุมักใช้เวลาเทศน์สอนพุทธศาสนิกชน
ทั้งนี้เพราะใบจากต้นลานมีคุณสมบัติที่เบาและบาง
สามารถเก็บรักษาหรือเคลื่อนย้ายได้สะดวกที่สำคัญคือคงทนถาวรมาก
แม้ว่าคัมภีร์ใบลานจะไม่มีภาพสีประกอบแบบสมุดไทย
ทว่าความวิจิตรงดงามก็สามารถเห็นได้จากการตกแต่งขอบคัมภีร์
ใบปกหน้า ปกหลัง และไม้ประกับรวมถึงผ้าเนื้อดีที่ใช้ห่อใบลาน แม้แต่ฉลากก็นิยมประดิษฐ์ให้งดงามด้วยวัตถุชนิดต่าง
ๆ เช่น งาหรือไม้ จำหลักด้วยศิลปะนูนต่ำเป็นลวดลายต่าง ๆ เป็นต้น
สมุดไทยและคัมภีร์ใบลานเป็นสมบัติล้ำค่า
เป็นเอกสารโบราณของชาติที่นับวันจะหาดูได้ยากยิ่ง
เส้นสายและลายสีที่ปรากฏล้วนเกิดจากการบรรจงสรรค์สร้างของจิตรกรเอกและยอดนักปราชญ์แห่งยุค
สมุดไทยและใบลานจึงบรรจุทั้งถ้อยคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สอดผสานกับภาพวิจิตรงดงามที่บ่งบอกถึงจิตใจที่เปี่ยมศรัทธาและอ่อนโยนยิ่งของชาวพุทธ
จนเป็นศิลปะในงานพระพุทธศาสนาที่งดงามชิ้นหนึ่งของโลก
ทั้งล้ำค่าในงานพระศาสน์และทรงคุณค่าด้วยความงามแห่งศิลป์
พุทธศาสนิกชนเช่นเราจึงมิควรแค่ภูมิใจในศรัทธาและภูมิปัญญาของบรรพชนเท่านั้น แต่ควรแสดงพลังศรัทธาช่วยกันสืบทอดงานศาสน์และสืบสานงานศิลป์นี้ให้ดำรงอยู่คู่ชาติและพุทธศาสนาตลอดไป..
อ้างอิง
บุญเตือน ศรีวรพจน์,
ประสิทธิ์ แสงทับ. สมุดข่อย.
กรุงเทพ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๔๒.
Cr. Tipitaka
(DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๔๐
เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๗
คลิกอ่านบทความพิเศษของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
คัมภีร์แห่งกษัตริย์.. สมบัติแห่งแผ่นดิน
คัมภีร์ใบลานราษฎร์ ร่วมสืบศาสน์และชาติไทย
เตรียมแผ่นลาน จารพระธรรม
หอไตร...กลางสายธารแลสายธรรม
จดจำ จรดจาร
ไข (ใบ) ลาน...กาลเวลา
สนองคุณพระศาสน์ บทบาทสตรีไทย
ย้อนวันคืน...ฟื้นรอยจาร
พระไตรปิฎกฉบับธรรมชัย... ก้าวไกลสู่เวทีโลก
รักษ์ศาสน์ วาดศิลป์ แผ่นดินสยาม
แลใบลาน ก่อนกาลล่วงเลย
จดจำ จรดจาร |
ไข (ใบ) ลาน...กาลเวลา |
คลิกอ่านบทความพิเศษของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
คัมภีร์แห่งกษัตริย์.. สมบัติแห่งแผ่นดิน
คัมภีร์ใบลานราษฎร์ ร่วมสืบศาสน์และชาติไทย
เตรียมแผ่นลาน จารพระธรรม
หอไตร...กลางสายธารแลสายธรรม
จดจำ จรดจาร
ไข (ใบ) ลาน...กาลเวลา
สนองคุณพระศาสน์ บทบาทสตรีไทย
ย้อนวันคืน...ฟื้นรอยจาร
พระไตรปิฎกฉบับธรรมชัย... ก้าวไกลสู่เวทีโลก
รักษ์ศาสน์ วาดศิลป์ แผ่นดินสยาม
แลใบลาน ก่อนกาลล่วงเลย
สมุดไทย ใบลาน...งานศาสน์งามศิลป์
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
01:41
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: