พระไตรปิฎกฉบับธรรมชัย... ก้าวไกลสู่เวทีโลก
พระไตรปิฎก คือ
คัมภีร์ที่บันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยรวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่
สืบทอดผ่านการสวดทรงจำโดยเหล่าพุทธสาวก
และจารจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกลงในคัมภีร์ใบลาน เมื่อครั้งกระทำสังคายนา ครั้งที่ ๕ ราว ๆ ปี
พ.ศ. ๔๐๐ เศษ ณ อาโลกเลณสถาน ประเทศศรีลังกา
ผ่านกาลเวลามา ๒,๐๐๐ กว่าปี ปัจจุบันมีคัมภีร์พระไตรปิฎกบาลีหลายฉบับทั้งรูปแบบหนังสือและอิเล็กทรอนิกส์
แต่ส่วนใหญ่เป็นพระไตรปิฎกสายจารีตที่ใช้คัมภีร์เฉพาะสายของตนเป็นข้อมูลในการจัดทำสืบต่อกันมา
มีเพียงพระไตรปิฎกฉบับสมาคมบาลีปกรณ์ (PTS) ฉบับเดียวเท่านั้น ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น “พระไตรปิฎกฉบับวิชาการ” เพราะใช้คัมภีร์ใบลานจากหลายสายจารีตมาเป็นข้อมูล
โดยไม่ได้ยึดเฉพาะสายจารีตใดจารีตหนึ่งเหมือนฉบับอื่น ๆ แต่พระไตรปิฎกฉบับนี้จัดทำขึ้นมาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน
ซึ่งในสมัยนั้นยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เช่น การรวบรวมใบลานจำนวนมากยังเป็นไปได้ยาก
ขาดเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก ๆ อีกทั้งตำรับตำรา
พจนานุกรมด้านบาลีก็ยังมีไม่เพียงพอ เป็นต้น จนปัจจุบันคัมภีร์ใบลานเริ่มผุกร่อนสูญหายไปตามเวลา
อีกทั้งยังมีเสียงเรียกร้องจากนักวิชาการในวงการบาลีโลก
อยากให้มีการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับวิชาการขึ้นมาใหม่อีกครั้งให้เสร็จสมบูรณ์อย่างแท้จริง
การจัดทำพระไตรปิฎกฉบับวิชาการ
จึงมีความสำคัญและเป็นความจำเป็นทั้งแก่วงการวิชาการและวงการพระพุทธศาสนา
พระไตรปิฎกฉบับสมาคมบาลีปกรณ์ (PTS) อักษรโรมัน |
พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ อักษรไทย |
พระไตรปิฎกฉบับพุทธชยันตี อักษรสิงหล |
พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคีติ อักษรพม่า |
พระไตรปิฎกฉบับลาวรัฐ อักษรลาว |
พระไตรปิฎกฉบับกัมพูชา อักษรขอม |
โครงการพระไตรปิฎก วัดพระธรรมกาย
จึงมุ่งมั่นที่จะจัดทำพระไตรปิฎกฉบับวิชาการ ที่สมบูรณ์ขึ้น
โดยเริ่มจากการบันทึกภาพถ่ายคัมภีร์สายจารีตที่สำคัญอย่างสิงหล พม่า ขอม ธรรม และมอญ จำนวนหลายพันคัมภีร์
เก็บเข้าระบบเป็นข้อมูลดิจิทัล จากนั้นคณะนักวิชาการจะทำการคัดเลือกตามหลักวิชาคัมภีร์โบราณจากคัมภีร์ใบลานหลายพันฉบับให้เหลือเพียงสายละ
๓-๕ ฉบับ เพื่อคัดตัวแทนคัมภีร์ชุดที่ดีที่สุดของสายจารีตนั้น ๆ
แล้วนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ
ทำให้สามารถเชื่อมโยงความเหมือนและความแตกต่างข้ามสายจารีตได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
และในที่สุดผลงานแห่งความภาคภูมิใจ คือ คัมภีร์ทีฆนิกาย
สีลขันธวรรค เล่มสาธิต
ก็เสร็จสมบูรณ์และเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖
ที่ผ่านมา และขณะนี้ทางโครงการกำลังดำเนินการจัดทำให้ครบทั้ง
๔๕ เล่ม ทั้งรูปแบบหนังสือและอิเล็กทรอนิกส์
ภาพคัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกบาลีฉบับเก่าแก่ที่สุดของแต่ละสายอักษร ที่โครงการนำมาใช้ในการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับวิชาการ ยิ่งคัมภีร์ใบลานมีความเก่าแก่เท่าไร ยิ่งเข้าใกล้คำสอนดั้งเดิมมากขึ้นเท่านั้น
คัมภีร์ใบลานอักษรธรรม ยมกะ (อภิธรรมเล่มที่ ๖) พ.ศ. ๒๐๔๐ อายุ ๕๑๗ ปี -วัดไหล่หินหลวง จ.ลำปาง ประเทศไทย |
คัมภีร์ใบลานอักษรขอม ทีฆนิกาย (มหาวรรค) สมัยอยุธยา ช่วงปี พ.ศ. ๑๘๙๓-๒๓๑๐ -สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
คัมภีร์ใบลานอักษรพม่า อังคุตรนิกาย (เอกาทสกนิบาต) พ.ศ. ๒๑๘๓ อายุ ๓๗๔ ปี - ห้องสมุดวิจัย มหาวิทยาลัยปริยัติศาสนาแห่งชาติ เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา |
คัมภีร์ใบลานอักษรมอญ ทีฆนิกาย (สีลขันธวรรค) สมัยรัชกาลที่ ๔ ช่วงปี พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๑ -สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
คัมภีร์ใบลานอักษรสิงหล ทีฆนิกาย (สีลขันธวรรค) พ.ศ. ๒๒๘๗ อายุ ๒๗๐ ปี -ริดีวิหาร เมืองคุรุเนกาลา (Ridiviharaya in Kurunegala) ประเทศศรีลังกา |
คัมภีร์ใบลานอักษรมอญพม่า พระวินัย (จูฬวรรค) พ.ศ. ๒๓๑๓ อายุ ๒๔๔ ปี -ห้องสมุดวิจัย มหาวิทยาลัยปริยัติศาสนาแห่งชาติ เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา |
และเมื่อวันที่ ๑๘-๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
ที่ผ่านมา ดร.อเล็กซานเดอร์ วีน (Dr. Alexander Wynne) หัวหน้าฝ่ายวิชาการ
โครงการพระไตรปิฎก วัดพระธรรมกาย ได้เข้าร่วมบรรยายในหัวข้อเรื่อง การจัดทำพระไตรปิฎกฉบับวิชาการ
ณ วัดพระธรรมกาย (The Critical Edition of the Pali
canon being prepared at Wat Phra
Dhammakaya) ในงานประชุมพุทธศาสตร์นานาชาติ (IABS) ครั้งที่ ๑๗ จัดโดยมหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย
ซึ่งถือเป็นงานประชุมวิชาการด้านพุทธศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นทุก ๆ ๓ ปี
มีนักวิชาการด้านพุทธศาสตร์เดินทางไปนำเสนอผลงานวิชาการของตนในเวทีระดับนานาชาติ
เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้สนใจ มีทั้งการบรรยายห้องรวมและการจัดเสวนากลุ่มย่อย
โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ ๕๐๐ คน นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ตัวแทนของโครงการได้นำผลงานแห่งความภาคภูมิใจออกสู่สายตาชาวโลกอีกครั้งหนึ่ง
ดร.อเล็กซานเดอร์ วีน ชาวอังกฤษ หัวหน้าฝ่ายวิชาการประจำโครงการ |
การบรรยายนี้ชี้ให้นักวิชาการทั่วโลกเห็นว่า
การจัดทำพระไตรปิฎกฉบับวิชาการที่ใครหลายคนมองว่าเกินกำลังที่จะทำให้สำเร็จลงได้ แต่ด้วยความมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่โครงการและผู้ที่มีส่วนสนับสนุนทุกคน
ได้แสดงให้ทั่วโลกประจักษ์แล้วว่า เราทำได้จริง
จากนี้ พระไตรปิฎกฉบับธรรมชัย ผลงานแห่งความภาคภูมิใจจะเป็นประหนึ่งธรรมเจดีย์ที่เก็บบันทึกพระธรรมคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และจะเป็นอีกหนึ่งแหล่งอ้างอิงที่สำคัญสำหรับให้นักวิชาการทั่วโลกเข้ามาศึกษาค้นคว้าต่อไปในอนาคต..
Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่
๑๔๔ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
คลิกอ่านบทความพิเศษ พระไตรปิฎก ของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
คัมภีร์แห่งกษัตริย์.. สมบัติแห่งแผ่นดิน
คัมภีร์ใบลานราษฎร์ ร่วมสืบศาสน์และชาติไทย
เตรียมแผ่นลาน จารพระธรรม
หอไตร...กลางสายธารแลสายธรรม
จดจำ จรดจาร
สมุดไทย ใบลาน...งานศาสน์งามศิลป์
ไข (ใบ) ลาน...กาลเวลา
สนองคุณพระศาสน์ บทบาทสตรีไทย
ย้อนวันคืน...ฟื้นรอยจาร
รักษ์ศาสน์ วาดศิลป์ แผ่นดินสยาม
แลใบลาน ก่อนกาลล่วงเลย
ย้อนวันคืน...ฟื้นรอยจาร |
รักษ์ศาสน์ วาดศิลป์ แผ่นดินสยาม |
คลิกอ่านบทความพิเศษ พระไตรปิฎก ของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
คัมภีร์แห่งกษัตริย์.. สมบัติแห่งแผ่นดิน
คัมภีร์ใบลานราษฎร์ ร่วมสืบศาสน์และชาติไทย
เตรียมแผ่นลาน จารพระธรรม
หอไตร...กลางสายธารแลสายธรรม
จดจำ จรดจาร
สมุดไทย ใบลาน...งานศาสน์งามศิลป์
ไข (ใบ) ลาน...กาลเวลา
สนองคุณพระศาสน์ บทบาทสตรีไทย
ย้อนวันคืน...ฟื้นรอยจาร
รักษ์ศาสน์ วาดศิลป์ แผ่นดินสยาม
แลใบลาน ก่อนกาลล่วงเลย
พระไตรปิฎกฉบับธรรมชัย... ก้าวไกลสู่เวทีโลก
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
23:21
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: