จดจำ จรดจาร


โปตฺถกาทีนิ  เขตฺตํว            บุคคลพึงประพฤติตนดังต่อไปนี้ คือ
เลขานิ  ยุคนงฺคลํ                   ทำใบลานเป็นต้นให้เป็นเสมือนนา
อกฺขรานิ  พีชํ  กตฺวา             ทำเหล็กจารให้เป็นเสมือนแอกและไถ
จรนฺโต ปณฺฑิโต ภเว             ทำตัวอักษรให้เป็นเสมือนข้าวปลูก
                                               จึงจะนับว่าเป็นบัณฑิตได้”

ราชบัณฑิตยสถาน. ราชนีติ-ธรรมนีติ. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๖.

บัณฑิตทางพระพุทธศาสนา หมายถึง บุคคลผู้ทรงความรู้  มีจิตใจที่งดงาม และมีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง การเป็นบัณฑิตที่แท้ได้ต้องมีธรรมะเป็นพื้นฐาน โดยอาศัยแนวทางจากหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมวินัยที่พระภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนิกชนยึดถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเริ่มต้นสืบเนื่องมาจากการเรียบเรียงคำสอนดั้งเดิมเป็นหมวดหมู่และท่องจำต่อกันมาตั้งแต่คราวปฐมสังคายนา หลังพระพุทธปรินิพพานได้ ๓ เดือน

ในครั้งนั้นเหล่าพระอรหันตสาวกจำนวน ๕๐๐ รูป มีพระมหากัสสปเถระเป็นประธานในการสังคายนาครั้งแรก ณ ถ้ำสัตบรรณคูหา เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยนำพระธรรมวินัยที่เคยสดับฟังเมื่อครั้งพระบรมศาสดายังทรงพระชนมชีพมาซักถามกันในที่ประชุม มีพระอุบาลีเป็นผู้ตอบแก้พระวินัย และมีพระอานนท์เป็นผู้ตอบแก้พระธรรม เมื่อได้มติจากที่ประชุมแล้ว จึงให้พระภิกษุอรหันต์ทั้งหมดร่วมสวดพร้อมกันเพื่อทรงจำกันเป็นแบบแผนต่อไป


การสังคายนาด้วยการสวดทรงจำแบบ  มุขปาฐะ เป็นวิธีที่ใช้เรื่อยมาจนถึงการสังคายนาครั้งที่ ๕ ในราวปี พ.ศ. ๔๐๐ เศษ จึงเปลี่ยนเป็นวิธี  บันทึกเป็นลายลักษณ์ กล่าวคือ เมื่อหมู่สงฆ์ตรวจชำระจนมีมติเห็นพ้องกันว่าถูกต้องแล้ว จึงจารพระธรรมวินัยนั้นลงในใบลาน  เป็นภาษาบาลีด้วยอักษรสิงหล นับเป็นการจารคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับแรกของพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายเถรวาท ซึ่งเป็นต้นแบบของคัมภีร์ที่มีการนำไปปริวรรตถ่ายถอด และคัดลอกจากอักษรสิงหลเป็นอักษรต่าง ๆ โดยยังคงภาษาบาลีดั้งเดิมไว้

สำหรับประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่ามีการจารคัมภีร์พระไตรปิฎกบาลีลงบนแผ่นลาน โดยถ่ายถอดมาจากอักษรสิงหลตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในยุคนั้นนิยมจารคัมภีร์ด้วยอักษรขอม ต่อมาจึงมีการจารด้วยอักษรอื่น ๆ เช่น อักษรมอญ อักษรธัมม์ล้านนา อักษรธัมม์อีสาน เป็นต้น  ก่อนลงมือจารช่างจารจะตีเส้นบรรทัดเป็นแนวไว้ เพื่อช่วยให้จารได้เป็นระเบียบสวยงาม โดยส่วนใหญ่จะมี ๕ บรรทัด จากนั้นจึงใช้เหล็กจารเขียนให้ตัวอักษรห้อยอยู่ใต้เส้นบรรทัด


รอยเส้นบรรทัดตีเป็นแนวโดยใช้วิธีดีดเส้นด้ายชุบเขม่าไฟผสมน้ำมัน
แล้วใช้เหล็กจารเขียนให้ตัวอักษรห้อยอยู่ใต้เส้นบรรทัด

ขณะจารต้องฝนปลายเหล็กจารให้คมอยู่เสมอเพื่อให้เส้นจารคมชัด ไม่เป็นเสี้ยน นับว่าต้องอาศัยความชำนาญของผู้จารเป็นอย่างมาก เพราะต้องลงน้ำหนักมือให้พอดี เนื่องจากต้องจารอักษรทั้ง ๒ ด้านของใบลาน
 หากลงน้ำหนักน้อยเกินไปจะเห็นตัวอักษรไม่ชัด แต่หากลงน้ำหนักมากเกินไป ลานอาจทะลุหรือเห็นเป็นรูปอักษรบนอีกหน้าหนึ่งได้

การจารคัมภีร์ใบลาน  ผู้จารจะใช้มือขวาจับเหล็กจาร  ใช้มือซ้ายจับสนับ
ใช้นิ้วหัวแม่มือรองรับเหล็กจารและช่วยดันเหล็กจารให้เคลื่อนที่อย่างสะดวก

นอกจากความชำนาญแล้ว  ผู้จารยังต้องเป็นผู้มีความอดทน มีสมาธิ และมีความรู้เรื่องที่จะจารเป็นอย่างดี จึงจะทำให้งานออกมาประณีต สวยงาม ไม่ผิดพลาด เพราะหากจารผิดจะไม่สามารถลบหรือแก้ไขได้ แต่จะใช้วิธีการแก้ไขโดยการป้ายด้วยยางไม้หรือทำเครื่องหมายไว้ตรงอักษรที่จารผิด ทำให้แลดูไม่สวยงาม  ความศักดิ์สิทธิ์ที่มีต่อพระธรรมคำสอนก็อาจจะลดทอนลงไป


จากเสียงสวดทรงจำแต่ครั้งพุทธกาลของเหล่าภิกษุอรหันตสาวก หมวดธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์  ได้รับการสืบทอดผ่านอักษรที่ช่างจารสรรค์สร้างด้วยความเคารพบูชา จรดเหล็กจารอักษรแต่ละตัวบนแผ่นใบลานที่ว่างเปล่า ก่อเกิดเป็นคัมภีร์พระไตรปิฎกบาลีสูงค่า เป็นแหล่งความรู้ให้ภิกษุสามเณรและผู้สนใจเข้ามาศึกษา  เกิดปัญญากระจ่างแจ้งด้านปริยัติ นำไปปฏิบัติต่อยอด จนสามารถเข้าถึงปฏิเวธ   เป็นบัณฑิตที่แท้จริงทั้งทางโลกและทางธรรม..

Cr. Tipitaka (DTP)
จดจำ จรดจาร จดจำ จรดจาร Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:19 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.