เป้าหมายชีวิตของมนุษย์
เป้าหมายชีวิตนั้นมีความสำคัญมาก
เพราะเป็นจุดหมายปลายทางของการดำเนินชีวิตของเรา หากเรามีเป้าหมาย ความคิด คำพูด
และการกระทำทุกอย่างในแต่ละวันจะมุ่งไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งไว้
หากเราไม่ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ เราก็จะไม่ต่างอะไรกับนกกาที่หากินเพื่อความอยู่รอดไปวันหนึ่ง
ๆ เมื่อหมดอายุขัยก็ตายจากโลกนี้ไป คนมีเป้าหมายชีวิต เปรียบเสมือนเรือเดินสมุทรที่มีหางเสือ
มีกัปตันคอยชี้ทางว่าจะนำเรือมุ่งหน้าไปทางไหน
เรือเดินสมุทรลำนี้จึงต่างจากขอนไม้ที่ล่องลอยอย่างไร้จุดหมายอยู่กลางทะเล
ถูกคลื่นลูกนั้นลูกนี้ซัดไปมาให้เคว้งคว้าง และผุพังจมไปตามกาลเวลา
เป้าหมายชีวิตของมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนั้น มีอยู่ ๓ ระดับ คือ ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ สัมปรายิกัตถประโยชน์ และ ปรมัตถประโยชน์ โดยทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ หมายถึง
เป้าหมายชีวิตในชาตินี้หรือเป้าหมายชีวิตในระดับต้น สัมปรายิกัตถประโยชน์ หมายถึง
เป้าหมายชีวิตในชาติหน้าหรือเป้าหมายชีวิตในระดับกลาง ส่วนปรมัตถประโยชน์ หมายถึง
เป้าหมายชีวิตในภพชาติสุดท้ายหรือเป้าหมายชีวิตในระดับสูงสุด
๑)
เป้าหมายชีวิตในระดับต้น คือ การสร้างตัวสร้างฐานะให้มั่นคงได้ในชาตินี้
ความสำคัญของการสร้างตัวอยู่ตรงที่มีคุณสมบัติของผู้ครองเรือนที่ดี
และการสร้างฐานะอยู่ที่การมีอาชีพการงานมั่นคง สุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม จะเป็นอาชีพอะไรก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน
ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ แพทย์ ครู พ่อค้า
ชาวนา ชาวไร่ เมื่อตั้งเป้าหมายชีวิตแล้ว ก็มุ่งมั่นฝึกฝนตนเอง
สร้างตัวสร้างฐานะให้บรรลุเป้าหมายชีวิตในระดับต้นให้ได้ โดยมีหลักการว่า “ต้องสร้างตัวสร้างฐานะไปพร้อมกับการสร้างศีลธรรมในตน” เพื่อให้เส้นทางชีวิตในชาตินี้ของตนไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใคร
และยังทำประโยชน์ใหญ่ให้แก่ผู้อื่นที่ยังลืมตาอ้าปากไม่ได้ในสังคมอีกด้วย
๒)
เป้าหมายชีวิตในระดับกลาง คือ การตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์ในชาติหน้า
คือ นอกจากจะพยายามตั้งฐานะของตนให้ได้แล้ว ก็จะตั้งใจสร้างบุญกุศลอย่างเต็มที่ในทุก
ๆ โอกาสที่อำนวยให้ เพื่อสะสมเป็นเสบียงในภพชาติต่อไป เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วไม่สูญ
ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส ก็ยังต้องเกิดใหม่เรื่อย ๆ ต่อไปอีก
และขุมทรัพย์อย่างเดียวที่คนเราจะนำติดตัวไปสร้างความเจริญในภพชาติใหม่ได้ ก็คือ “บุญ” เท่านั้น แต่เพราะบางคนขาดความเข้าใจความจริงในเรื่องนี้
จึงคิดแต่จะหาประโยชน์เฉพาะในชาตินี้ โดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ในชาติหน้า
ตั้งใจเพียงสร้างฐานะให้ได้เท่านั้น ไม่สนใจการสร้างบุญสร้างกุศล
ชีวิตเช่นนี้จะมีคุณค่าสักเพียงใด หากพิจารณาดูให้ดีก็ไม่ต่างไปจากนกกา
ที่โตขึ้นมาก็ทำมาหากินเลี้ยงตัว แล้วก็แก่เฒ่าตายไปเหมือนกัน
แต่ชีวิตของคนมีร่างกายที่เหมาะกับการสั่งสมคุณความดีมากที่สุด
เมื่อสามารถสร้างตัวสร้างฐานะได้แล้ว ต้องคิดที่จะสร้างคุณค่าให้แก่ชีวิต
ด้วยการตั้งใจสั่งสมความดีทุกรูปแบบเพื่อเป็นเสบียงในการเดินทางข้ามภพข้ามชาติ
และเป็นปัจจัยในการบรรลุเป้าหมายชีวิตขั้นสูงสุด
จึงจะคุ้มค่ากับการเกิดมาเป็นมนุษย์
๓)
เป้าหมายชีวิตในระดับสูงสุด คือ
การตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง ได้แก่
การตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อปราบกิเลสให้หมดสิ้น แล้วเข้าพระนิพพานตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย
ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ทุกชีวิตเมื่อยังไม่หมดกิเลสก็ยังต้องประสบทุกข์
ต้องเจอกับปัญหาความยากจน ความเจ็บ ความโง่
มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไปตามกรรมที่ได้กระทำไว้
หากดำเนินชีวิตผิดพลาดก็จะประสบทุกข์มาก แต่หากรู้วิธีดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มีเป้าหมายชีวิตเช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์แล้ว
ก็จะหมดทุกข์ตามท่านไป
การจะหมดทุกข์ได้ต้องมีความเพียรหมั่นฝึกฝนอบรมตนเองอย่างยิ่งยวดนับภพนับชาติไม่ถ้วน
เรียกว่า การสร้างบารมี ๑๐ ทัศ คือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี
วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี
อันเป็นหลักสูตรสากลของผู้ฝึกตนเพื่อมุ่งหลุดพ้นจากวัฏสงสารที่เรียกว่า “นักสร้างบารมี” ดังเช่น พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้น
ผู้ที่มีเป้าหมายสูงสุดเช่นนี้ ในระหว่างที่ฝึกตนเพื่อบำเพ็ญบารมีอยู่
ย่อมต้องต่อสู้ฟันฝ่ากับอุปสรรคมากมายคือ “กิเลสตน” “กิเลสคนอื่น” และ “วิบากกรรมชั่ว” ที่ตนเคยทำผิดพลาดไว้ในอดีตไปตลอดเส้นทาง
จนกว่ากิเลสจะหมดสิ้น วิบากกรรมจะมลายสูญ และบารมีเต็มเปี่ยมบริบูรณ์
จึงบรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิต คือ การกำจัดทุกข์ได้หมดสิ้น เป็น “พระอรหันต์”
ผู้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร
ไม่ต้องย้อนกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
ดังนั้น คนฉลาดที่คิดได้เร็ว
มีความเข้าใจที่ถูกว่า เป้าหมายสูงสุดของชีวิตคืออะไร
ในระหว่างที่กำลังสร้างตัวสร้างฐานะอยู่นี้ ก็ต้องรีบเร่งขวนขวายทำความดี สั่งสมบุญกุศล
หมั่นให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอย่างเต็มที่
และในการทำความดีทุกอย่างให้อธิษฐานว่า ให้เป็นปัจจัยสู่การบรรลุเป้าหมายสูงสุด
คือ การเข้าสู่พระนิพพานเอาไว้ด้วย
เพื่อให้เป็นอุดมการณ์สูงสุดของชีวิตที่ติดเป็นนิสัยข้ามภพข้ามชาติไป
อันเป็นการออกแบบชีวิตในภพชาติเบื้องหน้า
ให้มีเหตุปัจจัยเกื้อหนุนคํ้าจุนให้สามารถดำเนินไปในหนทางที่ถูกต้องของการสร้างบารมีแต่เพียงอย่างเดียว
จนในที่สุดชาติใดชาติหนึ่งเบื้องหน้า
ความเพียรทั้งหมดในการสร้างบารมีที่ผ่านมาเต็มเปี่ยมบริบูรณ์
เหมือนน้ำที่หยดลงตุ่มทีละหยดจนกระทั่งเต็มตุ่มได้สำเร็จ
ก็ย่อมสามารถหมดกิเลสได้เข้าสู่พระนิพพานตามพระพุทธองค์ไป
จากหนังสือ
GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
Cr. พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ. ๙
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๕๕
เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘
คลิกอ่าน DOU ความรู้สากลของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ตามรอยมหาปูชนียาจารย์
วัดโบสถ์บน สถานที่บรรลุวิชชาธรรมกายของพระผู้ปราบมาร
อภิชาตบุตรของพ่อแม่
|
คลิกอ่าน DOU ความรู้สากลของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ตามรอยมหาปูชนียาจารย์
วัดโบสถ์บน สถานที่บรรลุวิชชาธรรมกายของพระผู้ปราบมาร
อภิชาตบุตรของพ่อแม่
เป้าหมายชีวิตของมนุษย์
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:04
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: