คลายเครียดอย่างถูกวิธี

คลายเครียดอย่างถูกวิธี

ถาม :
เวลางานของผมมีปัญหา ผมชอบใช้ยาระงับประสาท แต่ก็ไม่หาย ผมลองไปเที่ยวผับ เที่ยวเธคกับเพื่อน หวังจะช่วยให้หายเครียดได้ แต่ก็แค่ทําให้ลืมปัญหาไปช่วงหนึ่งเท่านั้น พอวันรุ่งขึ้นไปทํางาน กลับเครียดกับงานหนักกว่าเก่าเสียอีก ทําอย่างไรให้ผมหายเครียดได้อย่างแท้จริง ?

ตอบ :
คนส่วนมาก เมื่อเกิดความเครียดจากหน้าที่การงานแล้ว มักใช้ยาระงับประสาทคลายความเครียดบ้าง บางทีก็เล่นไพ่หวังจะคลายความเครียดบ้าง หรือไม่ก็หันหน้าเข้าไปหาอบายมุขตามผับ ตามเธคกันบ้าง เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้คลายเครียด แต่จริงๆ แล้ว กลับไม่ทําให้คลายเครียดเลย กลับยิ่งทําให้เกิดความเครียดสะสมหนักเข้าไปใหญ่

วิธีคลายความเครียดที่ถูกต้องจะต้องมีผลให้การทํางานทางจิตมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ทนต่อความเครียดได้ เมื่อถึงเวลาใช้ความคิด ก็คิดได้นาน คิดได้ต่อเนื่องโดยไม่มีอาการอ่อนล้า คิดได้ลึกซึ้งละเอียดลออ รอบคอบ ซึ่งวิธีคลายเครียดที่จะให้ได้ผลอย่างนี้ มีอยู่วิธีเดียว คือการทําสมาธิเป็นประจํา

การแก้เครียดด้วยการเสพอบายมุข เป็นการแก้ที่ไม่ถูกจุด กลับกลายเป็นการสะสมความเครียดลึกๆ เอาไว้ในใจ เพราะนอกจากทําให้เสียเงินเสียทองแล้ว ยังเสียสุขภาพ เสียเวลา มีโอกาสติดหนี้สิน ถลำลึกเข้าไปเป็นทาสของยาเสพย์ติตได้ เสี่ยงตายโดยไม่จําเป็น และในบางครั้ง ถ้าไม่ระมัดระวังให้ดีไปดูเรื่องที่ไม่สมควรเข้า เช่น เรื่องเสื่อมเสียศีลธรรมต่างๆ ก็จะยิ่งเพิ่มความเครียด ความขุ่นมัว ความหยาบของใจเข้าไปอีก ซึ่งก็อาจเสียคนในที่สุด

การใช้ยาระงับประสาทก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่ระมัดระวังก็จะเป็นผลเสียต่อสุขภาพ ทําให้ประสิทธิภาพการทํางาน ประสิทธิภาพการคิดต่ำลง

แม้ที่สุดการพนันแบบเล่นๆ ไม่เอาเงินเอาทองกัน ก็ไม่ควร เพราะเป็นการเพิ่มความเครียดอีกรูปแบบหนึ่งโดยไม่รู้ตัว รวมทั้งอาจเพาะนิสัยมีเหลี่ยมมีคูเพิ่มขึ้นมาอีกก็ได้

การทําสมาธิมีอยู่หลายวิธี แต่วิธีหนึ่งที่ทําได้ง่ายๆ คือ ทุกคืนก่อนนอนให้นั่งในท่าที่สบายที่สุด อาจจะเป็นนั่งเก้าอี้ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิก็ได้ แต่ไม่ควรนั่งพิง แล้วก็หลับตานิ่งๆ ทําความรู้สึกเหมือนกับว่าเรานั่งอยู่ลําพังคนเดียวในโลก จากนั้นก็นึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งที่เราจำได้อย่างติตตาติตใจ นึกอาราธนาพระพุทธรูปนั้นให้มาอยู่ในกลางตัวเรา โดยที่องค์พระนั้นนั่งหันหน้าไปทางเดียวกับเรา เป็นพุทธานุสติ ก็ย่อมทําได้ง่ายๆ

แล้วให้นึกถึงองค์พระพุทธรูปนี้ ต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสาย คือนึกซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วก็นึกอย่างเบาๆ โดยไม่ใช้ความพยายาม ทํานองเดียวกับนึกถึงบ้าน นึกถึงหน้าคุณพ่อคุณแม่ของเรา เป็นการนึกจากในกลางท้อง ไม่ใช่นึกจากสมอง

เมื่อนึกแล้วจะเห็นภาพองค์พระหรือไม่ก็ตาม ไม่ต้องกังวล ขอแต่เพียงให้ได้นึก แล้วใจก็จะสงบลงเอง ความเครียดก็จะค่อยๆ มลายหายไป

ในขณะที่กําลังนึกถึงองค์พระองค์นี้อยู่ ถ้ามีเรื่องอะไรสอดแทรกเข้ามาในความคิด ก็ให้มีสติรู้ทัน และอย่าไปต่อต้าน ทําเฉยๆ มิฉะนั้นจะเกิดความหงุดหงิด ให้ถือเสียว่าเมื่อมาเองได้ ก็ย่อมไปเองได้เช่นกัน

ต่อเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว ๕-๑๐ นาที เรื่องที่สอดแทรกเข้ามา ยังไม่ไป ยังรบกวนอยู่ จึงค่อยทําบริกรรมภาวนา คือท่องในใจว่า “สัมมาอะระหัง ๆ ๆ” ก็ได้ ประคององค์พระให้นิ่งๆ ไปช้าๆ โดยทําความรู้สึกว่า แม้คําว่า “สัมมาอะระหัง” นั้น ก็คล้ายกับว่าเสียงนั้นยังผุดขึ้นมาจากกลางองค์พระในกลางท้องของเรา

เมื่อประคองใจไปอย่างนี้เรื่อยๆ ไม่ช้า เรื่องที่มารบกวนก็จะหายไป แม้แต่คําว่า สัมมาอะระหัง ก็จะเลือนไปเองโดยอัตโนมัติ คงมีแต่องค์พระอยู่ในมโนภาพเท่านั้น ในไม่ช้า ใจก็จะสงบลง ความเครียดก็จะหายไป

นอกจากจะนั่งสมาธิอย่างนี้ทุกคืน ไม่ว่าจะนั่งแค่ครึ่งชั่วโมงหรือถึงหนึ่งชั่วโมงแล้วก็ตาม ในเวลาทํางานถ้ารู้สึกเครียดขึ้นมาเมื่อไร ก็ให้วางงานทิ้งไว้เสียชั่วคราว นั่งหลับตาทำสมาธิในที่ทํางานนั้นแหละ สักพักหนึ่งอาจจะ ๑๐-๑๕ นาที ก็จะหายเครียดเอง แล้วจึงค่อยทํางานต่อไป การงานก็จะก้าวไกล อนาคตก็จะแจ่มใส จิตใจก็เบิกบาน แล้วเราก็จะเป็นที่รักของทุกๆ คน

เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๕ ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/08/blog-post_36.html

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ PDF
https://drive.google.com/file/d/1b--R6PBGKVpP21fPah6HSAPzJFtzjOjA/view

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202546/05YNB_4603/05YNB_4603.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๕ ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้ที่นี่
คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปี (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่
คลายเครียดอย่างถูกวิธี คลายเครียดอย่างถูกวิธี Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 03:13 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.