จำรัส เศวตาภรณ์ ทำไม.?? เขาต้องทำเพลงเพื่อตอบโจทย์ในสิ่งที่มนุษยชาติค้นหา...


หากเราหลบชีวิตที่ต้องรีบเร่ง กดดันจนเหนื่อยล้า มาหยิบเก้าอี้หวายสบายๆ สักตัว แล้วนั่งท่ามกลางความสุขที่ธรรมชาติบรรจงมอบให้ โดยการทอดสายตาไปยังธารน้ำ ที่กําลังไหลกระทบก้อนหินน้อยใหญ่ ที่ลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ และยังคงระรินเรื่อย กระเซ็น โดนใบอ่อนของแมกไม้ที่ต่างทยอยกันผลิใบเล็กๆ ออกมาสัมผัสกับละอองน้ำ ราวกับจะรับรู้ถึงความปรารถนาดีที่สายน้ำมอบให้ ในขณะที่หมู่นกน้อยต่างช่วยกันร้องรับขับกันเป็นลำนำดนตรี

อืม..ถึงเวลาแล้วที่จะสูดลมหายใจลึกๆ หลับตาเบาๆ นำใจให้หลุดพ้นจากพันธนาการทั้งปวง

ความรู้สึกเช่นนี้แหละ เป็นความละเมียดละไมทางดนตรีที่ศิลปินผู้นี้ สามารถถ่ายทอดสู่ผู้ฟังได้ด้วยดนตรีของเขา “จํารัส เศวตาภรณ์” ศิลปินผู้มีปรัชญาชีวิตที่แตกต่าง จนทําให้ดนตรีของเขากลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในชนอีกกลุ่ม ที่ปรารถนาจะแสวงหาคําตอบที่สําคัญที่สุดของชีวิต

จากชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ วัด สายน้ำมาโดยกําเนิด ประกอบกับการได้รับถ่ายทอดศิลปะทางการดนตรี จากคนรอบๆ ข้างทีละนิด จนซึมซับเข้ามาเป็นตัวเขาโดยไม่รู้ตัว แล้วในที่สุดก็ก้าวเข้าสู่การเป็นนักร้องวง Grand'EX ที่ร้องเพลงคู่นก และได้แยกตัวออกมาทําอัลบั้มนกเจ้าโผบิน หยาดฝน บทเพลงและความฝัน ตลอดจนดนตรีประกอบบทละคร และภาพยนตร์ หลายเรื่องที่เป็นที่รู้จักกัน เช่น น้ำเซาะทราย ความรักครั้งสุดท้าย ซึ่งเขาเปิดเผยถึงความรู้สึกลึกๆ บางอย่างว่า

“ผมทําเพลงมามาก ร้องมาก็เยอะ ซึ่งโดยสายอาชีพ ทําให้ผมต้องเล่นดนตรีตอนกลางคืน ตามไนท์คลับ ตามบาร์ ตามคอฟฟี่ชอฟ เล่นอยู่ ๔ ปี เลยทําให้มานั่งคิดว่า เอ้...ทําไมเราไม่เหมือนคนอื่นเขา คนอื่นเขาทํางานตอนกลางวัน ส่วนผมต้องมาทํางานกลางคืน ซึ่งชีวิตกลางคืนก็มีแต่อบายมุข ..คนมาฟังเพลงที่เราร้อง เขามาเต้นจนเหนื่อย มาดื่มจนเมา บางทีก็ทะเลาะ ชกต่อยกัน บางคนฟังเพลงของเราแล้ว เขาเศร้า ร้องไห้ นึกถึงความหลัง อยากฆ่าตัวตายก็มี ฟังแล้วใจไม่สงบ..พอฟังอีก ก็ร้องไห้อีก ฟังอีก ก็เศร้าอีก... เหมือนไปสร้างโจทย์เพิ่มให้เขา อย่างนี้ไม่น่าจะใช่ความสุข"

จากความรู้สึกลึกๆ เช่นนี้เอง กลับกลายเป็นแรงบันดาลใจครั้งสําคัญ ที่ทําให้เขาหันตัวเองออกมาทําดนตรีแนวความสุขล้วนๆ และทําให้มาค้นพบตัวเองว่า เขาถนัดและมีความสุขกับการทําเพลงแนวนี้มากกว่า โดยเรียกดนตรีแนวนี้ว่า Green Music เป็นดนตรีที่ปราศจากมลภาวะ แสดงถึงจิตวิญญาณทางตะวันออก ซึ่งก็คือจิตวิญญาณทางพุทธ เป็นแนว Relaxing, Healing and Meditation ซึ่งต่อมาผลงานของเขา กลับกลายมาเป็นที่นิยมกันมากในชนอีกกลุ่ม และคงความเป็นสากล อมตะ ได้มากกว่าดนตรีแนวเดิมที่เขาทำ

“..ดนตรีแนวนี้ เหมือนไปตอบโจทย์ในชีวิตของคนฟัง ที่เขาต่างแสวงหาคําตอบมาทั้งชีวิตแต่ไม่พบ คือ ทุกชีวิตแท้จริงต้องการความสุข แต่บางทีฟังเพลงบางอย่างแล้ว กลับทําให้หวนระลึกนึกถึงความหลัง ร้องไห้ ซึ่งไม่ใช่อาการของสิ่งที่บ่งบอกว่า มันคือความสุข แต่เพลงแนว Green Music นี้ฟังแล้วนึกถึงธรรมชาติ ผ่อนคลาย รู้สึกถูกบําบัด รู้สึกทําให้จิตใจสงบเป็นสมาธิ เป็นแนวสร้างสรรค์ ที่ผู้ฟังจะสามารถให้คําตอบกับตัวเองได้ว่า ชีวิต..มีอะไรที่มากกว่านี้นะ ชีวิตในวันพรุ่งนี้จะต้องดีกว่า แล้วพอผมทำดนตรีแนวนี้ขึ้นมา ได้เห็นคนฟัง ทําชีวิตตัวเองให้มีคุณค่าขึ้น มีความสุขขึ้น บางคนฟังขณะฝึกสมาธิ ซึ่งช่วยให้ใจสงบ แล้วเขาก็ค้นพบความสุขที่แท้จริง พอเห็นภาพนี้แล้ว ผมยิ่งมีความสุข รู้สึกตัวเองมาถูกทาง”

มีศิลปินหลายคนไม่กล้ามาทําเพลงแนวนี้ เพราะรู้สึกไม่ถนัด หรือเข้าถึงยาก แต่สําหรับคุณจํารัสแล้วเขาบอกว่า “จริงๆ ผมว่าเพลงหรือทํานองที่ผมแต่งขึ้น เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่ผมไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน อาจจะอยู่ในอากาศ สวรรค์ หรือที่ไหนสักที่ ผมเป็นเพียงทางผ่านให้สิ่งเหล่านี้ถ่ายทอดมาที่ตัวผมแค่นั้น แล้วผมถ่ายทอดออกมาอีกที ซึ่งจะถ่ายทอดได้ดีหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับใจเราว่าจะปรับคลื่นให้ตรงกับสิ่งนั้น และรับมาได้รึเปล่า ที่เชื่ออย่างนั้นเพราะบ่อยมากที่ผมนอนหลับ แล้วได้ฝันไปว่า ได้ยินทํานองเพลงที่เพราะมาก พอตื่นขึ้น ก็ถ่ายทอดเพลงนั้นออกมา ซึ่งบางทีผมไม่ได้คิดหรือแต่งเพลงนั้น เพียงแต่ผมไปได้ยิน แล้วกลายเป็นผู้ถ่ายทอด และยิ่งในช่วงหลังที่มาเข้าวัดพระธรรมกายมาฝึกสมาธิเป็น ๑๐ กว่าปีนี้กลับทําให้เห็นได้ชัด คือ ผมหลับตาทําสมาธิ หลังจากที่ใจสงบสบาย พอคิดที่จะแต่งเพลง ทํานองมันออกมา จนคีย์แทบไม่ทันเลย ซึ่งเพลงที่ทําออกมาเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น แล้วไม่ต้องใช้เวลานานในการแต่ง

จากความยากของการแต่งเพลงที่หลายคนคิดนี่เอง จึงทําให้มีคนสงสัยว่า จริงหรือเปล่า? ที่ศิลปินจะทํางานศิลปะได้ดีต้องกินเหล้า สูบบุหรี่ หรือเสพยา เพื่อให้ตัวเองหลุดจากโลกธรรมดา อารมณ์ธรรมดา เพื่อคิดในสิ่งที่แหวกแปลกออกไป แล้วจะได้ผลงานที่ไม่ธรรมดาเกิดขึ้นได้ แต่สําหรับคุณจํารัสแล้ว งานที่ไม่ธรรมดาของเขา เกิดจากใจที่เป็นสมาธิ

“ผมว่างานที่ดีต้องเกิดจากใจที่ดี ใจที่มีสติสัมปชัญญะ มีสมาธิในงานมากกว่า ดังนั้นการเปลี่ยนจากการเสพยา ซึ่งทําลายสุขภาพ มาเป็นการฝึกสมาธิ เพื่อให้หลุดจากความวุ่นวาย ก็จะได้สภาพใจที่ไม่ธรรมดา มาสร้างสรรค์งานได้ดีกว่า เพราะอยากแต่งเพลงเอง ต้องทําหน้าที่ทั้งสองบทบาทไปพร้อมๆ กัน คือ เป็นผู้แต่งเพลง ซึ่งต้องมาคิดว่า เราจะให้อะไรกับผู้ฟัง แล้วในทางกลับกันต้องถอยตัวเองออกมาเป็นผู้ฟัง ว่ารู้สึกอย่างไรกับเพลงที่แต่งขึ้น การถอยไปถอยมาระหว่างสองความรู้สึกนี้ ซึ่งถ้าเสพยา มึนๆ งงๆ ผมว่า ไม่น่าจะทําได้ดี”

จากข้อคิดในชีวิตหลายข้อ ที่เราได้มีโอกาสรับรู้ ขณะนั่งพูดคุยกับศิลปินท่านนี้ เรายังสัมผัสได้อีกว่า เขาไม่ได้เป็นเพียงแต่ศิลปินธรรมดาๆ แต่เขาเป็นศิลปินที่สามารถผสมผสานระหว่างพุทธศาสตร์ ดนตรี ธรรมชาติ ให้ผสมกลมกลืนและเป็นหนึ่งเดียวในตัวเขาอย่างมีดุลยภาพ ด้วยเหตุนี้กระมัง จึงทําให้เขากลายเป็นศิลปินที่มีวิถีชีวิตที่สูงส่ง สงบสุข และประสบความสําเร็จดังเช่นทุกวันนี้...

วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๕ ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2019/08/blog-post_60.html

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ PDF
https://drive.google.com/file/d/1b--R6PBGKVpP21fPah6HSAPzJFtzjOjA/view

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202546/05YNB_4603/05YNB_4603.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๕ ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้ที่นี่
คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปี (ฉบับ PDF) ได้ที่นี่



จำรัส เศวตาภรณ์ ทำไม.?? เขาต้องทำเพลงเพื่อตอบโจทย์ในสิ่งที่มนุษยชาติค้นหา... จำรัส เศวตาภรณ์ ทำไม.?? เขาต้องทำเพลงเพื่อตอบโจทย์ในสิ่งที่มนุษยชาติค้นหา... Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 03:13 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.