Carpenters เมืองไทย เปิดใจ เผยเคล็ดลับที่ทำให้จิตใจไม่อ่อนไหว
จำเป็นไหม..? ที่นักร้องทุกคนต้องอ่อนไหว อ่อนโยน และอ่อนแอหรือเป็นเพียงเหตุผลที่ทำให้แฟนเพลงรู้สึกใกล้ชิดเธอยิ่งขึ้น
..แต่ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไรก็ตาม เจ้าของฉายา "Carpenters เมืองไทย" ผู้นี้ กำลังจะเผยเคล็ดลับ "ความหนักแน่น" ที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จดังเช่นทุกวันนี้ !!
-----------------------------------
Sensitive หรือ การไวต่อความรู้สึก เป็นสภาพทางจิตใจที่ทำให้ซึมซับอารมณ์ได้เร็วกว่าปกติ แล้วมีผลทำให้อ่อนไหวได้ง่าย ซึ่งจะสังเกตเห็นได้จากอาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่เร็ว เช่น อาการน้ำตาไหลง่าย น้อยใจบ่อย หัวเราะง่าย หรือพูดให้เข้าใจมากขึ้นก็คือ อาการดีใจเสียใจง่ายนั้นเอง ซึ่งถ้ามากเกินไป จะทำให้คนผู้นั้นกลายเป็นคนคิดมาก ขี้กังวลเกินเหตุ แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
มีหลายคนเข้าใจไปว่า คนมีอารมณ์ Sensitive เช่นนี้ มักจะเป็นพวกศิลปิน นักร้อง นักแสดง นักประพันธ์ จิตรกร ฯลฯ เพราะข้อดีของความ Sensitive จะทำให้ผู้นั้นเป็นคนมีนิสัยละเอียดอ่อน มีสุนทรียภาพ มีความคิดลึกซึ้ง จินตนาการ กว้างไกล อ่อนโยน เอาใจเขามาใส่ใจเรา มีลางสังหรณ์และจะสามารถทำงานด้านศิลปะได้ดี
แต่ทว่า.. ก็ไม่ได้หมายถึง การมีบุคลิก Sensitive จะทำให้บุคคลนั้นเป็นศิลปินที่ดีที่สุดได้เสมอไป เพราะจริงๆ แล้ว การที่จะเป็นศิลปินที่ดีได้นั้น ต้องสามารถทำให้สภาพจิตใจมีคุณภาพเพียงพอที่จะนำเฉพาะข้อดีของความ Sensitive มาใช้ได้ และมีหลักยึดเพื่อให้เกิดความหนักแน่น ที่มากพอที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่น และมั่นใจในตัวเอง ซึ่งสามารถสะท้อนออกมาให้เห็นจากการดำเนินชีวิต ที่เป็นสุขและประณีตขึ้น
ดังเช่นชีวิตของคุณกรองทอง ทัศนพันธุ์ หรือคุณแหม่ม นักร้องที่มีชื่อเสียง ที่ผู้คนต่างรู้จักกันในนามของ "Carpenters เมืองไทย" เพราะเธอร้องเพลงได้คล้ายกับ Karen Carpenters ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก ในสมัยที่เธอสังกัดอยู่ในวง Professional และเธอยังได้รับฉายา เมื่อครั้งที่ร่วมงานกับคุณเต๋อ (เรวัต พุทธินันท์) สังกัดในวง "The Oriental Funk" ว่าเป็น "ราชินีดิสโก้" และยังมีผลงานที่น่าภาคภูมิใจครั้งสำคัญในชีวิตที่เธอได้เป็นตัวแทนคุณพ่อ รับรางวัล เพลงเซียมซีเสี่ยงรัก เนื่องในงานกึ่งศตวรรษ เพลงลูกทุ่ง สืบสานคุณค่าวัฒนธรรมไทย ประจำปี พ.ศ.๒๕๓๘ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และรางวัลเพลงเพื่อเยาวชนดีเด่น ประจำปีพ.ศ. ๒๕๓๘ จากสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีท่านรองนายกรัฐมนตรีประจวบ สุนทรางกูร เป็นผู้มอบรางวัลนี้ให้ ในบทเพลงมิตรแห่งความดี ในฐานะที่คุณกรองทองเป็นผู้ขับร้องและคุณพ่อได้รับรางวัลในฐานะเป็นผู้ประพันธ์ และมากไปกว่านั้นที่หลายคนคงคุ้นหูมากกับเสียงอันทรงพลัง และไพเราะในเพลงบูชาพระมงคลเทพมุนี ที่เธอเป็นคนร้อง และคุณพรชัยเป็นคนประพันธ์ เธอบอกถึงความปีติเป็นที่สุดที่ได้ร้องเพลงนี้ บูชาธรรมหลวงปู่วัดปากน้ำ...
"แหม่มเริ่มร้องเพลงเป็นอาชีพ มาตั้งแต่ ๑๔ ขวบ อาจเป็นเพราะครอบครัวแหม่มเป็นนักร้อง จึงได้ซึมซับสิ่งนี้จากคุณพ่อ (สมยศ ทัศนพันธุ์) และพี่สาว (กรองแก้ว ทัศนพันธุ์) แล้วก็ได้ตามคุณพ่อไปร้องเพลงกับวงดนตรีของคุณพ่อบ่อยมาก ประกอบกับใจรักในการร้องเพลงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เลยทำให้พัฒนามาเป็นอาชีพ ตั้งแต่นั้นมาถึงปัจจุบัน"
ความสามารถในการร้องเพลงในตัวเธอมิได้หยุดอยู่แค่นั้น แต่ยังคงโด่งดังไปถึงต่างประเทศ ซึ่งในครั้งที่ไปร้องเพลงที่ประเทศเกาหลี ก็คว้ารางวัลเพลงดีเด่น (Rainbow) กลับมาได้ และยังได้มีโอกาสไปร้องเพลงที่ประเทศอเมริกาหลายครั้ง
"..ถึงแม้แหม่มจะได้รับรางวัล มีชื่อเสียงโด่งดัง มีรายได้ มีครอบครัวที่ดี แต่ความรู้สึกลึกๆ แหม่มมีความคิดว่า ชีวิตเราน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น คนเราเกิดมาแค่นี้เองรึ คนเรานี่ไม่ว่าจะรวยจะจนแค่ไหน ก็มีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น แต่ทุกข์กันคนละแบบ ซึ่งปกติเขาไม่มาบอกกันหรอก ซึ่งแหม่มเองก็ยอมรับค่ะว่า เราเดินหลงทางมามาก แต่พอมาเจอวัดพระธรรมกาย มาพบพระเดชพระคุณหลวงพ่อ มันทำให้แหม่มพบคำตอบทั้งหมดที่แสวงหา รู้เป้าหมายชีวิต..."
และด้วยความเป็นศิลปินนี่เอง ทำให้บุคลิกภาพของเธอบางครั้งดูเหมือนเป็นคน Sensitive แต่เธอกลับสามารถพบทางออกที่ดีมากๆ จนกระทั่งปัจจุบัน เธอมีบุคลิกภาพที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่นมากกว่าเดิม แต่ยังคงความสุนทรียภาพและอ่อนโยน ไว้ในแววตาและรอยยิ้มอันอบอุ่นและเป็นกันเอง
"เมื่อก่อนยอมรับเลยค่ะว่า เป็นคนร้องไห้เก่งมาก อะไรมากระทบหน่อยก็น้ำตาไหล บางทีขณะร้องเพลงอยู่มีใครมาพูดผิดหู เราจะแสดงออกทางสีหน้าทันที ซึ่งเราเก็บมันไว้ไม่อยู่ ตรงนี้แหม่มเองก็อยากแก้ไข จนกระทั่งได้มาเข้าวัดปฏิบัติธรรมเป็นประจำ นั่งสมาธิสม่ำเสมอ แม้ขณะที่แหม่มเองขับรถไปทำงานทุกวันนี้ก็จะสวดมนต์ ทำสมาธิไปด้วย จนกระทั่งเราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างเห็นได้ชัด"
ปัจจุบัน เธอมีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากเมื่อก่อนมาก แม้เธอยังดำรงอาชีพการร้องเพลงอยู่ และมีผลงานเพลงละคร เพลงโฆษณาต่างๆ เข้ามา แต่เธอก็ไม่ยอมเสียเวลาไปกับเรื่องที่ให้สาระน้อยกับชีวิต จนเพื่อนหลายคนต้องกลับมาถามเธอว่า..ทำไม เดี๋ยวนี้ไม่เที่ยว ไม่ดูหนัง ไม่ใช้ชีวิตอย่างเมื่อก่อน แล้วหรือ..?
"เดี๋ยวนี้อะไรๆ ที่เคยชอบก็ไม่ชอบแล้ว ..ไม่จำเป็นเสมอไปที่คนเราจะทำอะไรมา แล้วต้องทำอย่างนั้นไปทั้งชีวิต ในเมื่อถ้ามาเจอสิ่งที่ดีกว่า เราก็ควรจะเปลี่ยนให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วทุกวันนี้ แหม่มเองก็มีความสุขมาก เป็นสุข ผิดกันคนละแบบกับเมื่อก่อนเลย คือ ใจมันสบาย ใจสงบ มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก อย่างเมื่อก่อนเรามีอาชีพนักร้อง เราต้องมีความมั่นใจในตัวเองมาก เพราะอาชีพนี้ต้องอาศัยความมั่นใจ เดี๋ยวนี้เรากลับมีความมั่นใจมากขึ้นอีก แต่เป็นคนละแบบกัน เหมือนว่าเป็นความมั่นใจแบบภูมิใจว่า นอกจากเรามีความสามารถแล้ว เรายังมีความดี มีศีล ตรงนี้มันทำให้เราเคารพตัวเอง สิ่งไม่ดีไม่ทำ..."
ปัจจุบันเธอหันมาศึกษาพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้น แล้วยังนำหลักธรรมไปใช้กับอาชีพได้อย่างสมดุลและไม่ขัดกัน จนเราต้องแอบมาถามเคล็ดลับจากเธอว่า เธอมีหลักอะไรที่ทำให้เธอเปลี่ยนไป แล้วไม่ Sensitive แต่กลับมีความหนักแน่น และมีความสุขดังเช่นทุกวันนี้
เทคนิคที่ ๑ ยอม
เป็นธรรมดาปกติที่มนุษย์ทุกคนย่อมมีปัญหา แต่ถ้าเป็นปัญหาในเรื่องของความไม่เข้าใจกัน ความขัดแย้งกัน เราต้องเป็นฝ่ายยอมก่อนในเบื้องต้น อย่าไปถือสา อย่าไปเอาเรื่อง ในภาวะที่กำลังอารมณ์ขุ่นด้วยกันทั้งคู่ แต่พอใจใสแล้ว ถ้าเราเป็นฝ่ายถูก เราก็ค่อยๆ ใช้เหตุผลในการอธิบายด้วยใจที่ปรารถนาดี
เทคนิคที่ ๒ หยุด
หยุดในที่นี้หมายถึง การหยุดใจ คือ หยุดใจให้นิ่ง ข้อนี้สำคัญที่สุด และใช้ได้ผลที่สุด ซึ่งเราจะทำใจให้เป็นสมาธิ โดยการนั่งสมาธิ ซึ่งสิ่งนี้จะได้ผลดีมากๆ ก็ต่อเมื่อเราได้ฝึกสมาธิอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ แล้วเราจะพบการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คือไม่ว่าจะมีเรื่องอะไรเข้ามาก็ตาม จิตใจเราจะมีสภาพที่หนักแน่น ไม่หวั่นไหวง่ายในเรื่องใดๆ
เทคนิคที่ ๓ เย็น
เป็นผลที่ได้จาก การหยุดใจ คือ เมื่อเราเย็นสภาพจิตใจเราเป็นปกติ เราจะสามารถพบทางออก สามารถจับแง่คิดในเรื่องนั้นๆ ได้อย่างถูกต้องแล้วจะสามารถพบคำตอบของทุกปัญหาได้หมดเพราะปัญญาเกิด
เทคนิคที่ ๔ เปลี่ยนจากผู้ต้องการกำลังใจ เป็นผู้ให้กำลังใจ
เมื่อก่อนเราอาจจะคิดว่าเราต้องการกำลังใจจากผู้อื่น ซึ่งทำให้เราไปคาดหวังว่าเราต้องได้จากเขา พอไม่ได้เราก็ผิดหวัง เราต้องเปลี่ยนจากความรู้สึกของผู้รอรับกำลังใจ มาเป็นผู้ให้กำลังใจ ถ้าเบื้องต้นเราเปลี่ยนความคิดว่าเราจะต้องเป็นผู้ให้ได้ เราจะรู้สึกว่าเราเข้มแข็งขึ้นมาทันที เพราะใจเราจะคิดอยู่เสมอว่า เราต้องเป็นผู้ให้แล้วนะ แล้วใจเรามันจะมีกำลังใจขึ้นมาเอง ซึ่งกำลังใจนี่ก็แปลกที่ยิ่งให้เราจะยิ่งได้.. แล้วเราจะกลายเป็นผู้ที่มีกำลังใจที่ไม่มีที่สิ้นสุด
ถ้าเราทำได้อย่างนี้ เราจะพบว่า นอกจากเราจะเป็นคนมีความหนักแน่นขึ้น มีเหตุผลมากขึ้น และเรายังสามารถให้กำลังใจกับผู้อื่นได้อีกด้วย...
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๙ ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***
คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ PDF
https://drive.google.com/file/d/1-GH37LtVWV9JrKJ74Brr0UuJgVWg1W_d/view
คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202546/09YNB_4607/09YNB_4607.html
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๙ ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้ที่นี่
คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202546/09YNB_4607/09YNB_4607.html
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๙ ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้ที่นี่
- ความเพียร โอวาทพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
- ผู้อยู่เบื้องหลัง
- เครือข่ายคนดีสัมพันธ์
- ความเคารพ อดทน และมีวินัย ทำให้คุณยายเป็นผู้มีคุณธรรมสูงสุด
- Carpenters เมืองไทย เปิดใจ เผยเคล็ดลับที่ทำให้จิตใจไม่อ่อนไหว
- วิธีป้องกันบริษัทล้มละลาย
- รวย! กะทันหันทันใช้
- เหล่ากอสมณะ...ผู้ได้โอกาส
- เปิดบันทึก รำลึกกฐิน
- เลิกบุหรี่ สุราเมรัย คือความภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ
- ลูกพระราชฯ รวมใจบูชาธรรม สร้างอาคาร ๖๐ ปี พระราชฯ
- ประวัติท่านคุณานันทะ
- สมาธิ... พลังสู่ความสำเร็จ
- วิธีเพิ่มคุณค่าให้ชีวิต
Carpenters เมืองไทย เปิดใจ เผยเคล็ดลับที่ทำให้จิตใจไม่อ่อนไหว
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
03:17
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: