กตัญญูบูชา สถาปนาหล่อรูปเหมือนทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
แม้พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ใช่ว่าชาวโลกจะหมดสิ้นหนทางที่จะประพฤติปฏิบัติตามแบบอย่างพระพุทธองค์ เพื่อบรรลุสู่บรมสุขนี้ได้ ทั้งนี้ เพราะเมื่อ ๘๐ กว่าปีที่ผ่านมา พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หรือหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้ค้นพบการปฏิบัติเพื่อการเข้าถึงธรรมกาย อันเป็นกายแห่งการตรัสรู้ธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การค้นพบครั้งนี้ท่านจึงได้ชื่อว่า เป็นบุคคลสําคัญอย่างยิ่ง เพราะการค้นพบของท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่เหนือการค้นพบใดๆ ที่เคยปรากฏมา ด้วยเป็นแนวทางอันประเสริฐที่จะนําพาชาวโลกทั้งหลายที่กําลังแสวงหาได้พบกับสันติสุขที่แท้จริง
และเป็นที่ประจักษ์ว่า การบังเกิดขึ้นของท่านได้ทําให้เกิดปรากฏการณ์อันสําคัญแห่งพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย และเป็นการจุดประกายความรุ่งโรจน์ของพระพุทธศาสนา ในอันที่จะนำธรรมที่สามารถทั้งรู้และเห็นได้นี้ ไปยังความสงบสุขให้แก่ผองชนชาวโลกทั้งหลาย หาใช่จะแสวงหาความหลุดพ้นแต่เพียงลำพัง แม้ท่านจะมรณภาพไปแล้ว แต่บารมีธรรมของท่านก็ยังคงอยู่ ยังคอยปกป้อง คุ้มครองรักษาเหล่าศิษยานุศิษย์และผู้ประพฤติปฏิบัติตามอยู่เสมอ สิ่งที่ท่านได้ประกอบกรณียกิจอันเป็นมรดกธรรมทั้งหลาย ล้วนเป็นการวางรากฐานเพื่อการเผยแผ่และสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาทั้งด้านการศึกษาพระปริยัติธรรมและธรรมปฏิบัติ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลังทั้งที่เป็นพระภิกษุ และฆราวาสเป็นเอนกอนันต์
อย่างไรก็ตาม การจะกล่าวสรรเสริญคุณของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หรือหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญนั้น จึงเป็นสิ่งที่ยากจะกล่าวได้จบสิ้น หากจะกล่าวพรรณนาได้ ก็เพียงส่วนเล็กน้อยตามภูมิรู้ภูมิธรรมที่ตนมีอยู่ เสมือนหิ่งห้อยที่จะแสดงความสว่างของพระอาทิตย์ได้เพียงแสงอันริบหรี่ที่มีในตน หรือเสมือนนกน้อยจะบอกความกว้างของท้องฟ้าก็ได้เพียงสุดช่วงปีกทั้งสองของตนเท่านั้น ด้วยบุญบารมีธรรมอันยิ่งใหญ่ของท่าน นับตั้งแต่การอุทิศชีวิตทุ่มเทปฏิบัติธรรมจนค้นพบวิชชาธรรมกายก็ไพศาลเกินประมาณคุณแล้ว ท่านยังนําเอาสิ่งที่เลิศ ประเสริฐนี้ออกเผยแผ่ อบรม สั่งสอนให้บุคคลทั้งหลายได้รู้และเห็นตามโดยไม่ปิดบัง นอกจากนี้ ท่านยังมีมโนปณิธานอย่างแรงกล้ามุ่งปฏิบัติที่จะปราบมารประหารกิเลสเพื่อพลิกโลกและจักรวาลทั้งหลายให้เป็นดินแดนแห่งวิชชาหลุดพ้นจากการครอบงําของวิชชาแห่งพญามารโดยสิ้นเชิง
ด้วยบารมีธรรมอันยิ่งใหญ่ของท่าน จึงควรที่จะได้รับการยกย่องและถือเป็นแบบแผนแห่งการประพฤติปฏิบัติ ดังเช่นบัดนี้ คณะศิษยานุศิษย์ผู้รักการสร้างบารมีทั้งหลาย ต่างมีศรัทธาอย่างแรงกล้า ที่จะพร้อมใจกัน หล่อรูปเหมือนทองคําของท่านด้วยทองคําขนาดเท่าองค์จริงจํานวน ๓ องค์ เพื่อนําไปประดิษฐาน ณ มงคลสถาน อันเป็นสถานที่ทําให้เกิดความรําลึกถึงพระเดชพระคุณหลวงปู่แห่งที่สอง คือ วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี อันเป็นสถานที่ที่ท่านเคยไปจําพรรษา และประพฤติปฏิบัติธรรมเอาชีวิตเป็นเดิมพันจนบรรลุถึงธรรมกาย ณ อุโบสถของวัดแห่งนี้ แห่งที่สาม คือ วัดบางปลา อําเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม อันเป็นวัดที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้แสดงธรรม จนมีผู้เห็นธรรม และเข้าถึงธรรมกายเป็นครั้งแรก
การหล่อรูปเหมือนหลวงปู่ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งสําคัญอย่างยิ่ง เพราะจะนําไปประดิษฐาน ณ สถานที่ที่มีความหมายและแสดงให้ชาวโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคตอีกยาวนาน ได้รับทราบและตระหนักว่า ได้มีการค้นพบวิชชาธรรมกายขึ้นในประเทศไทยในยุคปัจจุบัน และสถานที่แต่ละแห่งดังกล่าว คือ พยานทางวัตถุที่แสดงให้เห็นเส้นทางของมหาปูชนียาจารย์ที่ท่านได้บําเพ็ญกรณียกิจ นับตั้งแต่การบวช การค้นพบและเผยแผ่การปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงธรรมกาย
ทั้งนี้ การสถาปนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ก่อให้เกิดคุณค่าทางจิตใจ และทําให้จิตใจสูงส่ง ถือเป็นการบูชาสักการะที่ประมาณค่ามิได้ โดยเฉพาะความยิ่งใหญ่ในจิตใจอันเปี่ยมด้วยกตัญญูกตเวทิตาของเหล่าลูกหลานและ ศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ที่กําลังจะพร้อมกันแสดงให้ปรากฏออกมาด้วยการบูชาธรรมด้วยสิ่งที่ดีที่สุด และแสดงให้เห็นจิตใจอันสูงส่ง เปี่ยมด้วยความมีกตัญญูกตเวทิตา ด้วยการหล่อรูปเหมือนทองคําในครั้งนี้ ถือเป็นบุคคลที่แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังทรงสรรเสริญ ดังปรากฏในปิงคิยานีสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรว่าด้วยรัตนะที่หาได้ยากยิ่ง ๕ ประการว่า กตัญญูกตเวทีบุคคลนั้น เป็นหนึ่งในรัตนะ ๕ ประการ ที่หาได้ยากยิ่งในโลก
เพราะหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เกิดมาเพื่อประโยชน์อันสูงสุดสําหรับมหาชนชาวโลกโดยแท้ ดังนั้น การที่เราทั้งหลายร่วมกันบูชาคุณและสรรเสริญคุณท่าน นอกจากจะเป็นการบูชาพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว ยังเป็นการบูชาพระธรรม อันเป็นสิ่งพิสูจน์ยืนยันว่าพระธรรมเป็นสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติได้จริง และก่อให้เกิดความดีแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติจริง จนบุคคลธรรมดากลายเป็นบุคคลผู้มีคุณธรรมสูงส่ง เป็นที่ยกย่องบูชากราบไหว้ของมหาชนทั่วไป และในที่สุดก็เป็นการบูชาสักการะในพระพุทธองค์ ผู้ตรัสรู้และจําแนกธรรม นําเอาความประเสริฐนี้ออกเผื่อแผ่แก่มวลมนุษยชาติ ยังให้เกิดความสุขความเจริญ นําไปสู่สันติสุข อันแท้จริงแก่โลกได้ ดังนั้น การบูชาบุคคลผู้ควรบูชา ย่อมจะเป็นมงคลแก่ชีวิตอย่างสูงสุด
ประเทศหรือสังคมใดที่มีความเจริญ ล้วนย่อมยกย่องบัณฑิตนักปราชญ์ผู้เป็นคนดีมีศีลธรรม ทั้งนี้ทุกคนย่อมตระหนักดีว่า อนุสาวรีย์บุคคลสําคัญใดๆ ไม่ใช่จะเพียงแสดงความงดงามมีค่าของวัตถุที่สร้างขึ้นเท่านั้น แต่หากมุ่งประกาศความดีของท่านให้เป็นแบบอย่างแก่บุคคลทั้งหลาย พร้อมทั้งเตือนให้มหาชนต่างระลึกถึงคุณความดีของท่านเพื่อจะดําเนินรอยตาม
ดังนั้น การพร้อมใจกันหล่อรูปเหมือนพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำในครั้งนี้ ยิ่งน่าจะสะท้อนให้ทุกคนตระหนักว่า ถึงเวลาหรือยังที่พวกเราทั้งหลายจะยกย่องคนดี เพราะการยกย่องคนดีและการบูชาบุคคลผู้ควรบูชา ย่อมเป็นความประเสริฐและเป็นการยังความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ผู้กระทําการบูชานั้น ดังเช่น พระคาถาตอนหนึ่งที่ได้ยินเสมอๆ เวลาพระสวดให้พรว่า
อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน
จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ
ซึ่งอธิบายความหมายได้ว่า
ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้กราบไหว้เป็นปกติ และย่อมเจริญแก่ผู้อ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญ ด้วยคุณอยู่เป็นนิตย์ นั่นเอง
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้บันทึกประวัติของท่านเมื่อคราวดำรงสมณศักดิ์ที่ พระภาวนาโกศลเถร ว่า
“ชาติภูมิเดิมเป็นพ่อค้า เข้าตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านหมู่เหนือของวัดสองพี่น้อง มีคลองกั้น เป็นระหว่างวัดกับบ้าน ค้าขายมาตั้งแต่อายุ ๑๔ ปีเศษๆ นับตั้งแต่บิดาล่วงไปก็เป็นพ่อค้าแทนบิดา เลี้ยงมารดมาจนถึงอายุ ๑๙ ปี ตรงนี้ได้ปฏิญาณตัวบวชจนตาย"
ตั้งแต่นั้นมา ท่านก็ประกอบอาชีพตามปกติของพ่อค้ามาจนอายุครบ ๒๒ ปี จึงปรารภถึงการบวชในปีนั้น ครั้นถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๙ ต้นเดือน ๘ ท่านได้อุปสมบท ณ วัดสองพี่น้อง อําเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีฉายาว่า จนฺทสโร ได้จําพรรษาอยู่วัดสองพี่น้อง ๑ พรรษา ปวารณาพรรษาแล้วเดินทางมาจําพรรษา ณ วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ เพื่อเล่าเรียนพระธรรมวินัยต่อไป
“ถึงพรรษา ๑๑ ก็สำเร็จในการเล่าเรียน คันถธุระได้พอสมควรแก่ที่ตั้งใจไว้ว่าต้องเรียนแปลให้ออกจะได้ค้นธรรมในมคธภาษาได้ตามต้องการ ก่อนแต่จะมาเรียนคันถธุระนั้น ได้ตั้งหนังสือใบลานมหาสติปัฏฐานลานยาวไว้ที่วัดสองพี่น้องผูกหนึ่งว่า ถ้าไปเรียนคราวนี้ต้องแปลหนังสือผูกนี้ให้ออก..
แต่พอแปลออกก็หยุดในพรรษาที่ ๑๑ เมื่อหยุดต่อการเรียนปริยัติแล้ว ก็เริ่มทําจริงจังในทางปฏิบัติ ก็คิดว่าในวัดพระเชตุพนนี้ ในอุโบสถก็ดีมีบริเวณกว้างขวางดีมาก เป็นสถานที่ควรทําภาวนามาก แต่มาหวนระลึกถึงอุปการคุณของวัดบางคูเวียงในคลองบางกอกน้อย เจ้าอธิการชุ่มได้ถวายมูลกัจจายน์ แลคัมภีร์พระธรรมบทให้ ในตอนเล่าเรียนปริยัตินั้นก็มีอุปการคุณอยู่มาก ควรไปจําพรรษาแล้วจะได้แสดงธรรมแจกแก่ภิกษุ จึงได้กราบลาเจ้าคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน ไปจำพรรษาวัดบางคูเวียงในพรรษาที่ ๑๒
แต่พอได้กึ่งพรรษาก็มาหวนระลึกขึ้นว่า ในเมื่อเราตั้งใจจริงๆ ในการบวช จำเดิมอายุสิบเก้า เราได้ปฏิญาณตนบวชจนตาย ขออย่าให้ตายในระหว่างก่อนบวช บัดนี้ได้บอกลามาถึง ๑๕ พรรษา ย่างเข้าพรรษานี้แล้วก็พอแก่ความประสงค์ของเราแล้ว บัดนี้ของจริงที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ท่านเห็น เราก็ยังไม่ได้บรรลุ ยังไม่รู้ไม่เห็น สมควรแล้วที่จะต้องกระทําอย่างจริงจัง เมื่อตกลงใจได้ดังนี้แล้ว วันนั้นเป็นวันกลางเดือน ๑๐ ก็เริ่มเข้าโรงอุโบสถแต่เวลาเย็น ตั้งสัจจาธิษฐานแน่นอนลงไปว่า ถ้าเรานั่งลงไปครั้งนี้ไม่เห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าต้องการ เป็นอันไม่ลุกจากที่นี้จนหมดชีวิต เมื่อตั้งจิตมั่นลงไปแล้วก็เริ่มปรารภนั่ง จึงได้แสดงความอ้อนวอนแด่พระพุทธเจ้าว่า
“ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้า ทรงประทานธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้อย่างน้อยที่สุดแลง่ายที่สุดที่พระองค์ ได้ทรงรู้ แล้วแต่ข้าพระพุทธเจ้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้ว เป็นโทษแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์อย่าทรงพระราชทานเลย ถ้าเป็นคุณแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานแต่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์รับเป็นทนายศาสนาในศาสนาของพระองค์จนตลอดชีวิต”
ประมาณครึ่งหรือค่อนคืนไม่มีนาฬิกา เห็นผังของจริงของพระพุทธเจ้า ในขณะนั้นก็มาปริวิตกว่า ธรรมเป็นของลึกถึงเพียงนี้ ใครจะไปคิดคาดคะเนเอาได้ พ้นวิสัยของความตรึกนึกคิด ถ้ายังตรึกนึกคิดอยู่ ก็เข้าไม่ถึง ที่จะเข้าถึง ต้องทําให้รู้ตรึก นึกรู้คิด นั้น หยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ แต่พอดับแล้วเกิด ถ้าไม่ดับแล้วไม่เกิด ตรองดูเถิดท่านทั้งหลาย นี้เป็นของจริง วิตกอยู่ดังนี้สักครู่ใหญ่ๆ จึงเข้าที่ต่อไปใหม่ ราวสักสามสิบนาทีก็เห็นวัดบางปลาปรากฏ เหมือนตัวเองไปอยู่ที่วัดนั้น จึงมีความรู้สึกขึ้นมาว่า จะมีผู้รู้เห็นได้ยากนั้น ในวัดบางปลาจะต้องมีผู้รู้เห็นได้แน่นอน จึงมาปรากฏขึ้น จนถึงออกพรรษารับกฐิน แล้วก็ลาสมภารวัดบางคูเวียงไปสอนที่วัดบางปลา ราวสี่เดือน มีพระทําเป็นสามรูป คฤหัสถ์สี่คน นี้เริ่มต้นแผ่ธรรมกายของจริงที่แสวงหาได้มาจริงปรากฏอยู่จนบัดนี้”
(“ตัดตอนจากบันทึกพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ซึ่งบันทึกเอง ลงพิมพ์ใน “มงคลสาร” ปีที่ ๑ เล่ม ๑ เมื่อ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๗)
เมื่อมีประจักษ์พยานรู้เห็นในธรรมะที่ได้ค้นพบแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้มาปักหลักเผยแผ่อย่างจริงจัง ณ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีผู้ประพฤติปฏิบัติรู้เห็นความเป็นจํานวนมาก จวบจนกระทั่งสิ้นอายุขัยเมื่อวัย ๗๕ ปี คุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ศิษย์เอกผู้สืบสายธรรม พร้อมด้วยหมู่คณะมาพลิกผืนนา ๑๙๖ ไร่ ณ ทุ่งรังสิต จ.ปทุมธานี จนกลายเป็นวัดพระธรรมกาย และขยายเป็นศูนย์กลางธรรมกายแห่งโลก ยังประโยชน์และสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่ชาวโลกสืบต่อไป
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๗ ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***
คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ PDF
https://drive.google.com/file/d/1kd721vHUSOp4q4QOZdd5tSyuC-DKENE2/view
คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202546/07YNB_4605/07YNB_4605.html
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๗ ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้ที่นี่
คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202546/07YNB_4605/07YNB_4605.html
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๗ ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้ที่นี่
- งานของผู้รู้
- สังเวชนียธรรมสถาน
- มหาปูชนียาจารย์ ผู้เป็นต้นบุญต้นแบบของชาวโลก
- ตัวอย่างความสำเร็จที่เริ่มต้นด้วย "รัก"
- ฆ่าด้วยรัก
- ก่อนตายใจต้องใส
- วันวิสาขบูชา ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
- อนุโมทนา ๒๒ เมษายน วันอัศจรรย์ สร้างภูมิคุ้มกันให้โลก
- กตัญญูบูชา สถาปนาหล่อรูปเหมือนทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
- พระคุณอันไม่มีประมาณ ของหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
- สันติธรรมนำสู่สันติภาพ
- สัญญาณแห่งความสำเร็จ ในการสร้างอาคารหอฉัน
- การขยายเครือข่ายคนดี ภารกิจอันยิ่งใหญ่ของยอดนักสร้างบารมี
- วิธีรักษาใจให้..อยู่เหนืออารมณ์
กตัญญูบูชา สถาปนาหล่อรูปเหมือนทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
03:26
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: