วิธีอุทิศส่วนกุศล และทำไมต้องอุทิศส่วนกุศล


ทําไมต้องอุทิศส่วนกุศล
ยุคนี้เราเกิดกันโดยธรรมดาวิสัยของมนุษย์ กว่าเราจะเติบใหญ่มานั่งกันอยู่ ณ ที่นี้ มีหลายมือเหลือเกิน ที่ยื่นเข้ามาประคับประคองเรา

คนแรกคือ คุณพ่อคุณแม่ของเรา ตั้งแต่รู้ว่าเราเกิดอยู่ในครรภ์ท่านเท่านั้น ดีอกดีใจ น้ำหูน้ำตาไหล แล้วก็อดเปรี้ยวอดหวานประคับประคองเราตั้งแต่อยู่ในครรภ์อย่างดีทีเดียว ครั้นถึงเวลาคลอดออกมาแล้ว ลืมตามาดูโลกแล้ว ก็มีมือปู่ย่า ตาทวด ลุงป้าน้าอา อีกไม่รู้เท่าไร

ต่อมาก็มีมือครูบาอาจารย์ มีมือของผู้บังคับบัญชา มีมือพรรคพวกเพื่อนฝูง ช่วยกันประคับประคองเรามา จนกระทั่งได้ดิบได้ดีกันจนวันนี้ คือรุ่นพ่อรุ่นพี่ รุ่นปู่รุ่นย่าก็ช่วยดึงกันขึ้นมา รุ่นน้องรุ่นหลังก็ช่วยกันดัน รุ่นเดียวกันก็ช่วยกันประคอง แล้วเราก็เติบใหญ่ปีกกล้าขาแข็ง มีคุณธรรม มีความดี มาพร้อมหน้ากัน อยู่ที่สภาธรรมกายแห่งนี้

เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่า แต่ละท่านที่นั่งอยู่ ณ ที่นี้ ได้รับความเมตตากรุณา ได้รับพระคุณจากใครกันมาบ้าง ก็บอกได้ว่านับไม่ไหว ทั้งท่านที่ละโลกไปแล้วก็มี ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็มี

สําหรับท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ โอกาสที่ท่านเหล่านั้นจะสร้างคุณงามความดีของท่านต่อไปอีกก็ยังมี และเราเองก็ยังพอมีโอกาสที่จะไปทดแทนพระคุณของท่านในวันหน้า

แต่สําหรับผู้ที่เคยมีพระคุณกับเรามา และล่วงลับไปแล้ว จะเป็นคุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณทวด รวมจนกระทั่งครูบาอาจารย์ ลุงป้าน้าอาของพวกเรา หลายท่านลาโลกไปแล้ว และพระคุณของท่านก็ยังตรึงตาตรึงใจอยู่ในใจของพวกเรา แล้วเราจะทดแทน ตอบแทนพระคุณของท่านอย่างไรดี

เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน อย่าว่าแต่มนุษย์ธรรมดาอย่างกับพวกเรา แม้เทวดาก็ตอบไม่ได้ว่า จะต้องทดแทนพระคุณกันอย่างไร หากไม่พบพระพุทธศาสนา โชคดีที่ว่าปู่ย่าตาทวดของเรา เก็บรักษาคำสอนของพระพุทธศาสนา ส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ จนกระทั่งถึงพวกเรา จึงได้รู้คําตอบว่า การทดแทนพระคุณ หรืออุทิศส่วนกุศลผลบุญให้แก่ผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว ไม่ใช่หมดหนทางเสียทีเดียว

หลักการอุทิศส่วนกุศล
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงให้หลักเกณฑ์สั้นๆ ๓ ข้อ ดังนี้

ประการแรก ผู้ที่จะอุทิศส่วนกุศลต้องมีบุญก่อน ถ้าตัวเองไม่มีบุญ ไม่รู้จะเอาอะไรไปอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเหล่านั้น เหมือนคนไม่มีเงินแล้วจะเอาเงินที่ไหนไปช่วยคนอื่น แต่ถ้าเราเป็นเศรษฐีมีเงินอยู่ในกระเป๋าก็พร้อมจะควักเงินช่วยคนอื่นได้ ฉะนั้น เมื่อนึกถึงพระคุณใครขึ้นมา สิ่งแรกที่จะต้องทําคือตัวของเราเองจะต้องสร้างบุญก่อน เอาบุญตุนใส่กระเป๋า ตุนเอาไว้ในใจก่อน
๑) ซึ่งบุญนั้นมีลักษณะพิเศษอยู่ว่า แม้เกิดทีละน้อยก็ค่อยๆ สะสมได้ เหมือนน้ำฝนทีละหยดทีละหยาดก็รวมกันเข้า จนกระทั่งเต็มโอ่งเต็มตุ่มได้ บุญมีฤทธิ์อย่างนี้
๒) บุญนั้นสามารถอุทิศไปให้กับผู้อื่นได้ แม้อยู่กันคนละโลกคนละภพ เหมือนน้ำที่อยู่ไกลๆ บนยอดเขายอดป่า เมื่อรวมกันแล้วก็ไหลเป็นห้วยหนองคลองบึงลงไปสู่ทะเล แม้ทะเลจะอยู่ห่างไกลเป็นรอยเป็นพันไมล์ แต่น้ำจากยอดเขาก็ไหลไปถึงได้ บุญที่คนทำอยู่ในโลกมนุษย์นี้ ก็สามารถอุทิศให้กับคนที่ละโลกไปแล้วได้เช่นเดียวกัน

ประการที่ ๒ ผู้ที่ละโลกไปแล้ว จะต้องอยู่ในภาวะที่จะรองรับบุญได้ คือผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว จะเป็นลุงป้าน้าอา ปู่ย่าตาทวด หรือครูบาอาจารย์เรา ใครก็ตามที่เรารักเคารพคิดถึง ท่านเหล่านั้นจะต้องไม่ก่อกรรมหนักจนเกินเหตุไป เมื่อเขาละโลกไปแล้ว ถึงแม้จะลำบากอะไรไปบ้าง ก็พอรับบุญได้ทีเดียว

ไม่เฉพาะแต่คนที่เสียชีวิตไปแล้ว ขอยกตัวอย่างผู้ที่มีชีวิตอยู่นี่แหละ

สมมุติว่า เราเองไปทําการค้าต่างประเทศได้กําไรมากจึงซื้อรถเก๋งงามๆ มา ๓ คัน คันแรกก็ตั้งใจจะเอามาให้พี่ชายคนโต ปรากฏว่าที่ชายคนโตก่อกรรมหนักไว้ ไปค้าขายเฮโรอีน จึงต้องติดคุกตลอดชีวิต เราจะเอารถมาให้ แต่พี่ชายรับไม่ได้เพราะติดคุก เลยให้พี่สะไภ้และหลานๆ เอาไว้ใช้แทน นี่กรณีที่หนึ่ง

กรณีที่สอง ขับรถคันที่สองจะไปให้พี่ชายคนรอง ปรากฏว่ายังป่วยอยู่ เพิ่งจะลุกขึ้นเดินได้ ยังต้องใช้ไม้เท้าพยุงตัวอยู่ ส่งกุญแจรถให้ แต่พี่ชายยังขับรถไม่ได้ หายป่วยแล้วจะขับ

กรณีที่สาม คนที่สามน้องเล็ก แข็งแรงดี ขับรถก็เก่ง พอส่งกุญแจให้ กระโดดขึ้นรถขับไปเลย คนที่สามนี่เอารถไปใช้ได้

ญาติของเราที่ละโลกไปแล้วก็เหมือนกัน ถ้าใครทํากรรมหนักหนาสาหัส ชนิดฆ่าคนมาเป็นร้อยเป็นพันอย่างนั้นล่ะก็ เราจะอุทิศส่วนกุศลไปให้ก็ยากสักหน่อยที่เขาจะได้รับ ต้องรอญาติคนต่อๆ ไปนั่นแหละได้รับแทน

แต่ว่าถ้าคนไหนอยู่ในภาวะที่จะรับได้ เหมือนพี่ชายคนรองหรือน้องคนเล็ก เขาก็จะรับได้และก็จะมีสุขต่อไป เพราะฉะนั้นประการที่ ๒ ผู้ที่จะรับบุญที่เราจะอุทิศส่วนกุศลไปให้นั้น ต้องอยู่ในภาวะที่จะรับได้ ก็จะได้รับ

ประการที่ ๓ เราเองที่อยู่ในโลกมนุษย์นี้ ต้องทั้งเต็มใจและตั้งใจที่จะให้บุญนี้ด้วย ถึงเราจะสร้างบุญท่วมฟ้า แต่ถ้าเราไม่ตั้งใจไม่เต็มใจให้ เขาก็รับไม่ได้

เหมือนอย่างกับเรามีสมบัติอยู่ในบ้าน จะรวยเท่าไรก็ตาม ถ้าเราไม่เอ่ยปากอนุญาต ใครก็เอาของของเราไปไม่ได้ มันผิดกฎหมาย เช่นเดียวกันบุญของเรามีมากแต่ยังไม่ได้ตั้งใจอุทิศให้ใคร คนอื่นก็รับไม่ได้ แต่ถ้าเราตั้งใจ เต็มใจให้ เขาก็รับได้ นี้เป็นหลักใหญ่ๆ ในการอุทิศส่วนกุศล ๓ ประการ

ที่มาของการอุทิศส่วนกุศล
การกระทําบุพเปตพลีนี้ได้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แคว้นมคธ หลังจากได้ฟังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศนาแล้ว บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน จึงได้ยกอุทยานสวนไผ่ให้เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา แล้วถวายภัตตาหารพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นประธาน

เมื่อได้ถวายภัตตาหารแล้วก็ดีใจ ชื่นใจ แต่ตกกลางคืนเข้า ได้ยินเสียงเปรตร้องก็ตกใจ คิดว่าจะมีเหตุร้ายอะไรเกิดขึ้นกับเราหรือเปล่า รีบเข้าไปกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสให้ฟังว่า มหาบพิตรอย่าตกใจไปเลย เปรตที่มาร้องกรี๊ดอยู่เต็มวังเสียงลั่นไปหมดนั้นน่ะ ไม่ได้มาทําเหตุร้ายอะไรให้พระองค์หรอก แต่มาขอส่วนบุญ แล้วทําไมไม่ไปขอคนอื่น มาขออะไรกับพระองค์ ที่มาขอกับพระองค์ เพราะว่า
๑. พระองค์มีบุญเยอะ
๒. เป็นญาติเก่าๆ กัน

แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเล่าเรื่องหนหลังให้ฟังว่า ย้อนหลังไปเมื่อ ๙๒ กัป มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งบังเกิดขึ้น และพระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์แคว้นมคธก็เกิดในชาตินั้น ได้ตั้งใจถวายภัตตาหาร ทํานุบํารุงพระอย่างดี และด้วยความที่รักญาติ อยากจะให้ญาติได้บุญด้วย ก็ไปตามญาติทั้งหมดมาช่วยกันเลี้ยงพระ ใครมีทรัพย์ก็บริจาคทรัพย์ร่วมกัน ใครไม่มีทรัพย์ก็มาช่วยกันหุงข้าว ต้มแกง เลี้ยงพระกัน ทําอย่างนี้อยู่ ๓ ปี แต่ปรากฏว่า ญาติแบ่งออกเป็น 2 พวก ญาติพวกหนึ่งใจบุญ คนที่มีเงินก็ควักเงินมาร่วมทําบุญด้วย คนที่ไม่มีเงินไม่มีทองก็มาช่วยกันหุงข้าวต้มแกง มาจัดงานเลี้ยงกันเต็มที่ ญาติพวกนี้ละโลกไปแล้ว ไปเป็นเทวดาบ้างก็มี บางคนออกบวชไปเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่ชาตินั้นก็มี

แต่มีญาติอีกพวกหนึ่ง นอกจากตระหนี่แล้ว ยังยักยอกเอาทรัพย์เอาข้าวปลาอาหารที่ถวายพระมาเป็นของตัวเสียอีก เข้าทํานองที่เราล้อเลียนกันในปัจจุบันว่า วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่งอะไรทํานองนั้น ผลสุดท้าย ญาติพวกนี้ละโลกไปแล้ว ตกนรก พ้นจากนรกแล้วมาเกิดเป็นเปรต

เมื่อมาเกิดเป็นเปรตก็เดือดร้อน ทั้งหิวโหย ทั้งทรมาน หิวอยู่เป็นกัปๆ ต่อมามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นในกัปหนึ่ง ไปกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “เมื่อไร จึงจะหมดเวร”

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นก็บอกว่า “เจ้าโกงของพระ ยักยอกอาหารของพระอรหันต์ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวรของเจ้ามันหนักนัก ไปรอถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ข้างหน้าโน่นเถอะ”

เปรตพวกนี้ก็รอ น้ำตาตกเชียว กว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเกิดแต่ละพระองค์ก็แสนยาก ไปถามแต่ละพระองค์ๆ บอกว่า “ไปถามองค์ข้างหน้าโน่นเถอะเจ้ามันเวรหนักนัก”

เป็นอย่างนี้จนกระทั่งมาพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงบอกว่า “อีกไม่กี่กัปต่อจากนี้ จะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเกิดขึ้นชื่อว่า พระสมณโคดม แล้วญาติของเจ้าที่เจ้าไปโกงสมบัติเขาเอาไว้ตอนเลี้ยงพระนั่นแหละจะมาเกิดเป็นกษัตริย์ชื่อพิมพิสาร เมื่อถึงตอนนั้น เขาจะทำบุญใหญ่และอุทิศส่วนกุศให้กับพวกเจ้า ตอนนั้นจะพ้นวาระเป็นเปรตกัน”

เปรตพวกนี้ได้ฟังว่าอีกเป็นกัปๆ ข้างหน้าจึงจะพ้นเวร แม้กระนั้นก็ยังดีใจเพราะยังมีความหวัง

เวลาผ่านไปเป็นกัปๆ เรื่อยมา จนกระทั่งมาถึงวันที่พระเจ้าพิมพิสาร ถวายอุทยานเวฬุวันให้เป็นเวฬุวันมหาวิหาร เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา และถวายภัตตาหารพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ด้วย เปรตพวกนี้ก็มากันเต็มเชียว อดมา ๙๒ กัป คิดว่าวันนี้พระเจ้าพิมพิสารอุทิศส่วนกุศลผลบุญให้จะได้หมดเวร และหายหิวเสียที ปรากฏว่าพระเจ้าพิมพิสาร แม้ว่าจะเป็นพระโสดาบันแล้ว แต่เพราะยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ภูมิธรรมยังเป็นชั้นต้นอยู่ และกรรมของเปรตพวกนี้ก็ยังบังจิตท่านอยู่ด้วย ไม่สามารถระลึกถึงญาติของตัวเองที่เป็นเปรตได้ นึกถึงญาติเหล่านี้ไม่ออก เปรตพวกนี้ก็ปรึกษากันว่าขืนเงียบๆ อยู่อย่างนี้ ถ้าพระเจ้าพิมพิสารละโลกไปเสียก่อน เราจะต้องอยู่อย่างนี้ไปอีกกี่กัปกัน ไม่เอาล่ะ คืนนี้ต้องแสดงให้รู้ว่า ญาติของพระองค์อยู่ที่นี่ลําบากกันมาก ตกกลางคืน เปรตพวกนี้ก็เลยร้องลั่นขึ้นมา เพื่อให้พระเจ้าพิมพิสารได้รู้ว่ายังมีญาติที่ตกทุกข์ได้ยากอยู่

เมื่อรู้อย่างนี้แล้วพระเจ้าพิมพิสารก็เลยนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอีก ๑,๒๕๐ รูปในวันรุ่งขึ้น แล้วก็ทําบุญถวายภัตตาหารพระเป็นการใหญ่ แล้วพระเจ้าพิมพิสารก็กรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลให้ เมื่อเปรตพวกนี้อนุโมทนาบุญจากพระเจ้าพิมพิสารก็ไหลเข้าสู่ศูนย์กลางกายของเปรตพวกนี้ พอได้รับบุญเท่านั้น นอกจากจะเป็นสุขขึ้นแล้ว ยังพ้นจากสภาพเปรตไปเป็นเทวดา เป็นนางฟ้าไปได้ทีเดียว ตามกําลังบุญนั้นๆ มากราบพระเจ้าพิมพิสารกัน

เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลวิธีกรวดน้ำ และหลักเกณฑ์ต่างๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงให้ว่า
๑. ผู้ที่จะอุทิศส่วนกุศลต้องมีบุญมาก ถ้ามีบุญน้อยก็เหมือนกับมีเศษสตางค์นั่นเอง จะแจกใครก็ไม่เต็มที่ จึงต้องทําบุญก่อน
๒. ผู้ที่ละโลกโปแล้วก็อยู่ในสภาพที่พอจะรับบุญได้
๓. ผู้รับบุญได้ตั้งใจอนุโมทนาเมื่อเวลาเจ้าของบุญเขาอุทิศส่วนกุศลให้

เพราะฉะนั้น เมื่อมาถึงวันวิสาขบูชานี้ เราได้รําลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงสั่งสอนอบรมให้พวกเรามีบุญมีคุณธรรม รู้จักละชั่ว ทําดี กลั่นใจให้ใสตลอดมาแล้ว เราจึงไม่ควรลืมว่า กว่าที่เราจะมีความรู้ความดีเหล่านี้ เราได้รับการประคบประหงม ประคับประคอง โอบอุ้มค้ำชูมาจากหลายๆ มือ และเราก็ต้องยอมรับความจริงว่าเจ้าของมือนั้น แม้จะมีพระคุณต่อเราคนละมากๆ ก็ตาม แต่บางท่านก็เป็นประเภทที่ใจบุญ บางท่านก็เป็นประเภทบุญปนบาปด้วย ท่านที่เป็นผู้ใจบุญ สร้างบุญของท่านด้วยตนเองมาตลอด ท่านเหล่านั้นก็เอาตัวรอดของท่านได้

แต่ว่ายังมีอีกหลายๆ มือ อีกหลายๆ ท่าน ซึ่งก้ำกึ่ง มีทั้งบุญปนบาปอยู่ในตัว หรือบางท่านบาปหนักบุญน้อย บางท่านบุญมากแต่บาปก็พอประมาณทีเดียว ท่านเหล่านี้บางท่านละโลกแล้วไปไม่ดี บางท่านก็ยังก้ำๆ กึ่งๆ เมื่อเป็นเช่นนี้

ในฐานะที่เราเคยได้รับพระคุณจากบุคคลเหล่านั้นมา และเราก็อยู่ในสภาพที่สามารถจะทดแทนพระคุณท่านเหล่านั้นได้ เราก็น่าที่จะต้องหาทางตอบแทนพระคุณกัน จึงจะได้ชื่อว่า เป็นคนดีจริงๆ ท่านเหล่านั้นละโลก ตายไป แล้วก็ยังอุตส่าห์คิดถึงกันไม่ทิ้งกัน ทําอย่างนี้ จึงจะสมกับที่เราได้เข้าวัดปฏิบัติธรรม

ตัวอย่างการอุทิศส่วนกุศล
หลวงพ่อยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่จะเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ ๘-๙ เดือนที่ผ่านมา อุบาสกของเราคนหนึ่งซึ่งเข้าถึงพระธรรมกายมานาน และมีคุณแม่ซึ่งอายุมากแล้ว แต่ก็สมกับเป็นแม่ชาววัด คือท่านก็เข้าถึงพระธรรมกายมาเป็นปีๆ เหมือนกัน วันนั้นคุณแม่ป่วยหนัก ลูกชายก็ไปเยี่ยมที่จังหวัดอ่างทอง

แม่พูดว่า “แปลกนะลูก ลุงป้าน้าอา แม้แต่พ่อของเจ้าที่ตายไปแล้วตั้งหลายปี นั่นน่ะ เขามาอยู่ที่หน้าบ้านเต็มไปหมดเลย”

ลูกชายไม่เห็นก็ถามว่า “แม่ไม่ตาฝาดนะ แม่ตอบว่า “ไม่ฝาด ก็นั่นไง” ชี้มือไป นั่นลุง เอ็งนั่งตรงนั้น พ่อเอ็งอยู่นี่ แม่ชี้มือ

ลูกก็ถามต่อ “แม่เห็นชัดนะ

“เขาทําอะไรกันบ้างล่ะแม่”

“ก็คนโน้นนั่ง คนนี้ยืน คนนั้นเขาก็มองหน้าแม่เฉยๆ เขามาทําอะไรกันนะลูก” แม่ถามลูกบ้าง

ลูกชายศึกษาธรรมะมาพอควรทีเดียวก็ตอบแม่ไปว่า “เขาจะมาทําไม เขารู้ว่าแม่บุญเยอะ เมื่อมีชีวิตอยู่พวกเขาเหล่านั้นน่ะไม่ค่อยได้ทําบุญ ทํากันมาน้อย นิดๆ หน่อยๆ เพราะฉะนั้น ตายไปแล้ว บุญไม่พอจะขึ้นสวรรค์บ้าง บาปไม่พอจะตกนรกบ้าง พวกเขาอยากจะได้บุญจากแม่นั่นแหละ จะได้ไปสวรรค์บ้าง เขาจะพูดแม่ก็ไม่ได้ยิน ไม่รู้จะทําอย่างไร ก็เลยเก้ๆ กังๆ อยู่นั่น

“แล้วจะให้แม่ทําไงล่ะ" แม่ถาม

ลูกชายตอบว่า “แม่ก็นึกในใจสิ ไม่ต้องพูดออกมา บอกให้เขานั่งขัดตะหมาด เดี๋ยวจะสอนวิธีเอาบุญให้

พอนึกในใจเท่านั้น ญาติที่ตายไปแล้วกี่คนกี่คนนั่งกันหมด แม่ก็หันมาบอกว่า “พวกเขานั่งกันหมดแล้วล่ะ แล้วเอ็งจะให้ทําอย่างไรต่อล่ะ”

“แม่ก็บอกให้เขาภาวนาสัมมา อะระหัง แล้วนึกถึงองค์พระอย่างที่แม่ทำสิ ลองบอกเขาซิ เขาทำตามไหม”

“พวกเขาทําแล้วล่ะ”

“เขาทําแล้วเป็นอย่างไรบ้างแม่”

“ตัวเขาสว่างขึ้นเรื่อยๆ ล่ะ หน้าเขายิ้มกันหมดเลย แล้วเอ็งจะให้แม่ทําไงอีก”

“แม่ก็บอกให้เขาสัมมา อะระหัง นึกถึงองค์พระให้ต่อเนื่อง แล้วก็นึกแบ่งบุญให้เขาไปด้วย ที่แม่ได้ตั้งใจทําความดีมาเท่าไรๆ และที่จะทํากันต่อไป” พอแม่กระดิกจิตนึกตามไปอย่างนี้ แม่ก็เห็นพวกเขาสว่างโพลงขึ้นมาหมด แล้วหายวับ วับ วับไปเลย

ลูกบอกว่า “พวกเขาไปเป็นเทวดาเป็นนางฟ้ากันหมดแล้ว แม่ดีใจเถอะว่าแม่ได้ทดแทนพระคุณ ลุง ป้า น้า อา เหล่านั้นได้เต็มที่หมด”

เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ยิ่งเป็นการยืนยันว่า ที่เราศึกษามาจากพระไตรปิฎกกับปัจจุบันนี้ตรงกัน ยืนยันกันได้ทั้งปัจจุบันและอดีต ๒,๕๐๐ กว่าปี ว่าหลักธรรมในเรื่องของบุพเปตพลี เรื่องของการทําบุญอุทิศส่วนกุศลนั้นยังเป็นไปได้จริง

และก็ได้ตรวจสอบกับคุณยายแล้ว คุณยายบอกว่าการที่แม่ของอุบาสกในวัดนี้ทำได้อย่างนั้น เพราะแม่ของอุบาสกได้นั่งสมาธิต่อเนื่องมาเป็นปี และตั้งใจอุทิศส่วนกุศลจริงๆ ใจของเขานี่เพ่งจี๋เลย ทําให้ญาติเหล่านั้นซึ่งละโลกไปแล้วได้รับบุญเต็มที่

พอได้รับบุญเท่านั้นเป็นเทวดาเป็นนางฟ้าปุ๊ปเลยเหมือนกัน และพอเขาเป็นเทวดาเป็นนางฟ้าด้วยอํานาจบุญนั้น เนื่องจากญาณทัสสนะของคุณแม่อุบาสกนั้นยังแก่กล้าไม่พอ จึงไม่ทราบว่าเขาหายไปไหน ถ้าได้ฝึกมากอีกสักหน่อยก็จะเห็นชัดว่า เมื่อเป็นเทวดาแล้ว เป็นกายละเอียดยิ่งๆ ขึ้นแล้ว เขากราบผู้เฒ่า นั่นน่ะอย่างตั้งใจทีเดียว อ้อ! เทวดาก็กราบมนุษย์ เป็นเหมือนกัน ถ้ามนุษย์นั้นมีบุญมากพอ เรื่องก็เป็นอย่างนี้..

วันเสาร์ที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘

เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๖ ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖

***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ PDF
https://drive.google.com/file/d/1hWDTCw1IbXMZ3pWlOvMgRru3hheezCk9/view

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202546/06YNB_4604/06YNB_4604.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๖ ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้ที่นี่
วิธีอุทิศส่วนกุศล และทำไมต้องอุทิศส่วนกุศล วิธีอุทิศส่วนกุศล และทำไมต้องอุทิศส่วนกุศล Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 23:13 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.