ทำอย่างไร ? เมื่อถูกใส่ความ


ถาม : ทําอย่างไรเล่า เมื่อเผชิญหน้ากับการถูกใส่ความแล้ว เราจะไม่แก้ปัญหาผิดๆ จนกลายเป็นการเพิ่มปัญหาขึ้นมา?

ตอบ : เป็นธรรมดาของคนเรา ที่บางครั้ง แม้ว่าตั้งใจทํางาน แต่ก็มิวายถูกคนอื่นกลั่นแกล้ง ใส่ความเอาได้เหมือนกัน แล้วเป็นผลกระทบมาถึงหน้าที่การงาน ชีวิต ชื่อเสียง ตลอดจนครอบครัว

ปู่ย่าตายายให้หลักของนักสู้ไว้ ๓ ประการ พูดย่อๆ คือ ไม่สู้ ไม่หนี ทําความดีเรื่อยไป ดังนั้น เมื่อถูกใส่ความ สิ่งที่ต้องทําคือ

๑.ไม่ท้อแท้หนีหน้า ลาออก
เพราะถ้าทําอย่างนั้น จะกลายเป็นว่า เราผิดจริง เป็นคนชั่ว คนเลวจริง คนชั่วทั้งหลาย เมื่อใส่ความสําเร็จง่ายๆ ก็จะได้ใจ จะยิ่งใส่ความคนดีๆ ให้เดือดร้อน โดยหวังว่า เมื่อคนดีๆ เหล่านั้นลาออก เขาก็จะเข้ามาครองอํานาจ ครองบ้านครองเมืองแทน ความยุ่งยากเดือดร้ยน ก็จะเกิดขึ้นมาในสังคม เพราะฉะนั้น เมื่อถูกใส่ความ เราอย่าเป็นคนขี้รําคาญน้อยใจ สรุปแล้ว คือ อย่าหนี

๒. ไม่สาดโคลนเข้าใส่กัน
เมื่อถูกใส่ความแล้ว ก็ไม่จําเป็นต้องไปใส่ความกลับ มิฉะนั้นจะหาข้อยุติไม่ได้ ซ้ำยังเดือดร้อนไปทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนบริสุทธิ์ ก็พลอยเดือดร้อนไปด้วยกลายเป็นบาปติดตัวเราไปเสียอีก

๓. ตั้งใจทํางานของเราไปเรื่อยๆ
เมื่อมั่นใจว่าเราทํางานนั้นอย่างถูกต้องสุจริต ก็ให้ทํางานต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยความอดทน แต่มีข้อแม้ว่า ต้องทํางานด้วยความรัดกุมเป็นพิเศษ เช่น เคร่งครัดในระเบียบวินัยมากขึ้น และมีการตรวจสอบควบคุมมากเป็นพิเศษ แม้งานจะล่าช้าไปบ้าง ก็ต้องยอมรับ

คนโดยทั่วไป เมื่อถูกใส่ร้าย มักจะหวั่นไหว เปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีได้หนักขึ้น เพราะฉะนั้น เพื่อปิดช่องว่างรอยโหว่ต่างๆ ไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีได้ เราจึงต้องหมั่นปลุกปลอบให้กําลังใจตัวเอง อย่าให้เกิดความท้อแท้ได้ เมื่อเราไม่ท้อแท้เรรวน การงานยังคงดําเนินไปได้ตามปกติ ผู้ใหญ่ก็ดี บุคคลภายนอกก็ดี ย่อมเข้าใจความจริงได้ในไม่ช้า

ถ้าเราท้อแท้หมดกำลังใจ ปล่อยให้งานการเสียหาย ก็จะเกิดความผิดพลาดในงาน ทําให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีได้ ทั้งๆ ที่แต่เดิมเราไม่มีความผิดความชั่ว ก็จะเกิดความผิดความชั่วหลังจากท้อแท้นี่เอง

ถ้าอุปมาการใส่ความข้างต้น ก็เท่ากับนักมวยเขาต่อยหมัดแย็บ หลอกล่อให้รําคาญ แต่ยังไม่มีหมัดน็อคหมัดรุนแรง ที่จะทําร้ายคู่ต่อสู้ได้ ถ้าหมัดแย็บได้ผล ทําให้คู่ต่อสู้พะว้าพะวง ก็จะมีหมัดน็อคตามมาภายหลังแน่ๆ

เมื่อเราได้อดทนทําความดีอย่างไม่หยุดยั้งอย่างนั้นแล้ว ถ้าอุปมาเป็นนักมวย ก็เป็นนักมวยชั้นเยี่ยม แต่อย่าเพิ่งพอใจอยู่เพียงแค่นี้ ควรสร้างบุญกุศลเพิ่มขึ้นด้วยทุกๆ วัน แล้วบุญนั้นจะตามมาช่วยเราอีกแรงหนึ่ง

ฉะนั้น ในระยะเวลาที่กําลังถูกสอบสวน หรือถูกใส่ความให้พยายามตั้งใจ ให้ทาน รักษาศีต และเจริญภาวนาให้มากเป็นพิเศษ เพื่อที่ใจจะได้สงบนิ่ง ชุ่มเย็น ไม่หวั่นไหวง่าย

ถ้าทําครบ ๓ ประการนี้แล้ว ก็ทําให้ใจเย็นได้ จะช้าหรือเร็ว ก็ชนะแน่นอน และเป็นการชนะที่ใสสะอาด ไม่ก่อเวรกับใครด้วย

โบราณท่านสรุปวิธีต่อสู้ เมื่อถูกใส่ความ ๓ ประการนี้ว่า
๑. อย่าหนี
๒. อย่าสู้
๓. ทําความดีของเราเรื่อยไป

ยิ่งกว่านั้น ในระหว่างที่ก้มหน้าก้มตาทําความดี ให้พยายามพูดให้น้อย อย่าต่อความยาวสาวความยืด เพราะคําพูดผิดพลาดที่เกิดจากการพูดมาก ความพลั้งเผลอในคำพูด อาจเป็นชนวนให้เป็นเรื่องเสียหายใหญ่โตขึ้นได้ ถ้าทําได้ตามนี้ก็จะไม่เพิ่มปัญหา แก้ปัญหาได้ และพิสูจน์เนื้อแท้ของเราให้เห็นในที่สุด

เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยูในบุญ ฉบับที่ ๖ ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖

***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ PDF
https://drive.google.com/file/d/1hWDTCw1IbXMZ3pWlOvMgRru3hheezCk9/view

คลิกอ่านวารสารอยู่ในบุญ ในรูปแบบของ E-book
http://dhammamedia.org/YNB%202546/06YNB_4604/06YNB_4604.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๖ ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้ที่นี่
ทำอย่างไร ? เมื่อถูกใส่ความ ทำอย่างไร ? เมื่อถูกใส่ความ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:29 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.