“ พีซอาร์คิเทค ” ผู้ออกแบบแผนปฏิบัติการเพื่อสรรค์สร้างสันติภาพโลก
“
พีซอาร์คิเทค ”
ผู้ออกแบบแผนปฏิบัติการเพื่อสรรค์สร้างสันติภาพโลก
หากคุณอยู่ในช่วงวัยประมาณ ๒๕-๓๐ ปี
ตอนนั้นคุณกำลังทำอะไรอยู่ คนส่วนใหญ่ก็คงกำลัง
อยู่ในช่วงวัยทำงานที่แต่ละวันต้องทำมาหาเลี้ยงชีพใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน
บางคนทำงานแต่ละวันเพื่อรอคอยวันที่เงินเดือนออก และได้ไปสังสรรค์กับเพื่อนในคืนวันศุกร์
บางคนมีธุรกิจเป็นของตนเอง ทุ่มเททั้งกายใจบริหารจัดการ
และพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเพิ่มผลกำไร
แต่ยังมีคนหนุ่มสาวอยู่กลุ่มหนึ่งที่ยอมละทิ้งโอกาสในการประสบความสำเร็จในการทำงานที่จะทำให้พวกเขามีเงินทองมาก
ๆ เพื่อทุ่มเทเวลาให้กับการคิดและดำเนินโครงการที่จะแนะนำเพื่อนมนุษย์ให้รู้จักความสุขจากภายในโดยไม่เลือกเชื้อชาติ
ศาสนาและเผ่าพันธุ์ เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “พีซอาร์คิเทค”
พีซอาร์คิเทคเป็นส่วนหนึ่งของพีซเรฟโวลูชัน
มีหน้าที่สอนสมาธิเบื้องต้นให้แก่ผู้คนในประเทศที่ตนอาศัยอยู่และประเทศใกล้เคียงนับ
เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการขยายงานเผยแผ่เรื่องราวความสุขภายในให้กว้างไกลไปทั่วโลก
แต่กว่าคนคนหนึ่งจะกลายมาเป็นพีซอาร์คิเทคได้ไม่ใช่เรื่องง่าย
เขาจะต้องผ่านการทำโปรแกรมฝึกสมาธิออนไลน์ในเว็บไซต์มาจนครบ ๔๒ วัน
มาอบรมสมาธิเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ที่ประเทศไทย
เพื่อเป็นพีซเอเจนต์แล้วต้องกลับไปทำหน้าที่พีซโคช คอยให้คำแนะนำแก่คนใหม่ ๆ
ที่เข้ามาฝึกสมาธิออนไลน์ในเว็บไซต์
แล้วจึงได้รับคัดเลือกให้มาเข้าร่วมโครงการอบรมเป็นพีซอาร์คิเทคที่ประเทศไทย
และต้องผ่านการทดสอบที่เข้มข้นจากคณะกรรมการ เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะเป็นครูสอนสมาธิที่ดีจริง
ๆ
ฉบับนี้ผู้เขียนขอนำเรื่องราวของพีซอาร์คิเทค ๒
คน มาให้ท่านผู้อ่านได้สัมผัสคนแรกชื่อ แอนนา โอเลชเควิช พีซอาร์คิเทคชาวยูเครน
ผู้ทำหน้าที่จัดกิจกรรมสอนสมาธิในทวีปยุโรป แอนนาเล่าว่า
คืนหนึ่งในระหว่างที่เธอกำลังเรียนอยู่ระดับมหาวิทยาลัยทางด้านวัสดุศาสตร์
เธอฝันไปว่าได้ไปที่ประเทศไทยภาพในฝันชัดเจนมาก ทั้ง ๆ
ที่เธอไม่เคยไปที่ประเทศไทยมาก่อน ภาพในความฝันนั้นติดตาตรึงใจไปหลายปี
จนกระทั่งช่วงปีที่เธอกำลังทำวิทยานิพนธ์เพื่อจบดอกเตอร์
จู่ ๆ ก็มีเพื่อนคนหนึ่งส่งลิงก์ที่เกี่ยวกับโครงการอบรมสมาธิในประเทศไทยมาให้
เมื่อได้เห็นคำว่าประเทศไทยทำให้เธอนึกถึงความฝันครั้งนั้นขึ้นมาทันทีกอปรกับตัวเธอเองก็สนใจการฝึกสมาธิอยู่แล้วจึงทำให้อยากเข้าร่วมโครงการนี้มาก
แอนนาจึงเริ่มทำโปรแกรมนั่งสมาธิออนไลน์
และในที่สุดก็ได้รับคัดเลือกมาเข้าร่วมโครงการอบรม (GPM) ที่ประเทศไทย
กลายเป็นพีซเอเจนต์และได้เข้ารับการอบรมเป็นพีซอาร์คิเทคในเวลาต่อมา
จากนั้นเธอก็ตะลุยทำหน้าที่สอนสมาธิให้แก่ผู้คนมากมายในประเทศแถบยุโรปผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า
Mini PIPO ในหลายประเทศ เช่น อาเซอร์ไบจัน อาร์เมเนีย
และยูเครน แต่กิจกรรม Mini PIPO ที่แอนนาประทับใจที่สุดเห็นจะเป็นที่ประเทศอาร์เมเนีย
อาร์เมเนียเป็นประเทศเล็ก ๆ
อดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต อยู่ในทวีปเอเชียแต่ค่อนไปทางยุโรป
แอนนาไปจัดสอนสมาธิที่ประเทศนี้
โดยอาศัยความร่วมมือจากคนท้องถิ่นที่รู้จักโครงการพีซเรฟโวลูชันในการไปติดต่อขอความร่วมมือจากองค์กรอิสระในประเทศอาร์เมเนีย
เพื่อหาสถานที่และเชิญชวนคนให้มาเข้าร่วม มีการจัดสอนสมาธิทั้งหมด ๔ รอบ ใช้เวลา ๒
วัน ทั้งหมดจัดขึ้นในเมืองหลวงเยราวาน มีผู้เข้าร่วม ๙๒ คน
ผู้เข้าร่วมหลายคนมาด้วยความสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับสมาธิและอยากมาลองศึกษา
เมื่อได้ไปเข้าร่วมนั่งสมาธิกับแอนนาแล้ว
ก็รู้สึกว่าสมาธิไม่เกี่ยวกับศาสนาอย่างที่พวกเขากลัวกันหลายคนมีความสุข
รู้สึกผ่อนคลาย เบาสบาย
ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งกล่าวว่า “ตอนที่ฉันนั่งสมาธิ
ฉันจินตนาการว่าตัวเองอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ อย่างที่คุณ (แอนนา) บอก
ทำให้รู้สึกดีมาก ๆ สักพักฉันก็รู้สึกว่ามือหายไป
และรู้สึกว่าตัวเองอยู่ท่ามกลางแสงสว่าง” ผู้เข้าร่วมอีกคนหนึ่งกล่าวว่า “ฉันไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกอย่างไร
แต่ฉันรู้สึกมีความสุขมาก ๆ และใจก็สงบดี”
แอนนาพบว่า คนอาร์เมเนียใจดี และมีความไร้เดียงสาในบางแง่มุม
แต่ก็เคร่งศาสนาพอสมควร
คนอาร์เมเนียนับถือคริสต์เป็นหลักยึดมั่นในความเชื่อของตนเองโดยเฉพาะเรื่องพระเจ้า
ดังนั้นการเข้าไปบอกหรือสอนสมาธิจึงต้องทำอย่างนุ่มนวล ค่อย ๆ
อธิบายโดยไม่ทำให้พวกเขารู้สึกว่ากำลังถูกสอนให้เปลี่ยนความเชื่อของตนเอง การสอนสมาธิต้องอธิบายเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนาของพวกเขาจึงจะทำให้เปิดใจรับฟังมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีคำถามหลากหลายจากผู้เข้าร่วมอบรม เช่น
การสวดมนต์และทำใจให้เชื่อมั่นในพระเจ้าถือเป็นการนั่งสมาธิหรือไม่, จะทำอย่างไรให้สามารถหยุดคิดในสิ่งที่ไม่ดีและทำให้เศร้าใจซึ่งเป็นความคิดที่เข้ามาในใจครั้งแล้วครั้งเล่า,จะสามารถฝึกสมาธิต่อที่บ้านได้อย่างไร
ใกล้ ๆ
กับอาร์เมเนียมีอีกประเทศหนึ่งที่แอนนาเดินทางไปสอนทำสมาธิเช่นกัน คือ
อาเซอร์ไบจัน ซึ่งเป็นประเทศในแถบเทือกเขาคอเคซัส
บริเวณที่เป็นจุดเชื่อมต่อของภูมิภาคยุโรปตะวันออกกับเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ในเวลา
๓ วัน จัดรอบนั่งสมาธิไป ๔ รอบ มีคนเข้าร่วม ๕๖ คน มีองค์กรร่วมจัด ๒ องค์กร คือ Common
Sense และ Azerbaijan Youth Tourism
Organization คนส่วนใหญ่บอกว่าผ่อนคลายทั้งกายและใจ
เวลาผ่านไปเร็วมากคิดว่าแค่ ๑๕ นาที ทั้ง ๆ ที่นั่งไป ๓๐ นาที
อาจารย์คนหนึ่งบอกว่ารู้สึกเหมือนตัวเองกำลังบินอยู่บนท้องฟ้า
และบอกว่าถ้าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรต้องเริ่มต้นเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน
และเชื่อว่าสมาธิจะช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ ได้
อีกคนหนึ่งบอกว่าชอบวิธีการนี้ เชื่อว่าสมาธิทำให้มีสติดีขึ้น แต่ที่แปลกคือ
มีผู้ชายคนหนึ่งนั่งเสร็จแล้วถามแอนนาว่า เธอควบคุมใจฉันได้อย่างไร
แต่กลับมีผู้หญิงอีกคนพูดสวนว่า เธอเคยได้รับการอบรมสมาธิจากหลายที่ในหลายรูปแบบ
เธอขอยืนยันแทนแอนนาว่า แอนนาไม่ได้ควบคุมจิตของใครเลย
วิธีการนี้ไม่ใช่การควบคุมจิต
มีอยู่รอบหนึ่งที่มีคนเข้าร่วม ๑๐ คน
และใช้ภาษารัสเซียในการสอน แอนนาบอกว่าเป็นรอบที่เธอชอบที่สุด
เพราะบรรยากาศของคนกลุ่มนี้ดีมาก นั่งกันได้เงียบสุด ๆ ไม่มีใครกระดุกกระดิกเลย
แม้ว่าจะมี ๑ คนกรนอยู่ ๒ วินาที
เธอบอกว่าอาจเพราะเธอพูดภาษาท้องถิ่นเลยลื่นไหลเป็นพิเศษ ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งบอกว่า
เขามีความสุขมาก ๆ
เป็นประสบการณ์ที่เยี่ยมยอดและยังบอกว่าจะนั่งสมาธิต่อไปเพราะมันนำความรักและความสงบมาสู่ตัวเองทำให้ผ่อนคลายและพร้อมจะเริ่มต้นชีวิตใหม่
พีซอาร์คิเทคคนต่อมาที่ผู้เขียนอยากจะแนะนำให้รู้จัก
คือ ยานา ยานาเป็นหญิงชาวบัลแกเรียที่ทำหน้าที่สอนสมาธิในแถบเอเชียกลาง
บางครั้งก็ไปถึงแถบตะวันออกกลางยานาเล่าเรื่องราวความเป็นมาของเธอว่า เมื่อประมาณ
๔ ปีที่แล้ว เธอเคยทำงานตำแหน่งระดับสูงในบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่ง
และมีชีวิตแต่งงานที่ดี
เธอมีทุกอย่างที่สังคมมองว่านี้แหละคือผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตเหมือนคนที่สามารถทำฝันของตนเองให้เป็นจริงแล้ว
แต่ยานากลับรู้สึกว่าเธอไม่มีความสุขรู้สึกเหมือนบางสิ่งที่สำคัญในชีวิตขาดหายไปและเธอไม่สามารถหาคำตอบให้ตัวเองได้ว่าชีวิตเกิดมาทำไม
ต่อมาไม่นานเธอตัดสินใจลาออกจากงานที่เคยทำเพื่อแสวงหาสิ่งสำคัญที่ขาดหายไปในชีวิต
แล้ววันหนึ่งยานาก็ได้พบกับเว็บไซต์ของโครงการพีซเรฟโวลูชันและโปรแกรมนั่งสมาธิออนไลน์
เธอรู้สึกอัศจรรย์ใจมาก เมื่อพบว่าแต่ละวันที่ทำโปรแกรมออนไลน์ทำให้เธอได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของเธอเองได้ชัดเจนและลึกซึ้ง
ต่อมาเธอสมัครมาอบรมสมาธิ (GPM) ที่ประเทศไทย
ทำให้เธอได้เรียนรู้และพบความสุขภายในยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗
ยานาเข้ารับการอบรมและสอบผ่านเป็นพีซอาร์คิเทคอีกคนหนึ่งทำให้เธอสามารถนำเอาเรื่องสมาธิไปสอนผู้คนได้อีกมากมาย
ในปีที่ผ่านมายานาเดินทางไปสอนสมาธิในหลายประเทศ ได้แก่ บัลแกเรีย ดูไบ จอร์แดน
และเวสเทิร์นสะฮารา และอีกประเทศหนึ่งที่ยานาประทับใจจากการไปทำหน้าที่ครูสอนสมาธิ
คือ คีร์กีซสถาน ซึ่งเป็นประเทศในเอเชียกลาง เดิมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต
ยานาเล่าว่า เจ้าภาพท้องถิ่นผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมกิจกรรมน่ารักกันมากจริง ๆ
มีความสนใจเรื่องการพัฒนาตัวเองอย่างแท้จริง ทำให้เธอใช้เวลาแต่ละรอบนานถึง ๓
ชั่วโมง (ปกติจะจัดเพียง ๒
ชั่วโมง)เพราะต้องตอบคำถามหลังจากจบกิจกรรมแล้วอีกเกือบชั่วโมง
ซึ่งล้วนเป็นคำถามของคนกระหายความรู้ มีบางคนเป็นสมาชิกออนไลน์อยู่ด้วย
งานนี้จัดเพียง ๓ วัน ๓ รอบ โดยไม่ต้องมีการแปลเลย ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก
มีคนเข้าร่วม ๖๕ คน และมีเจ้าภาพถึง ๒ องค์กรที่อยากให้จัดกิจกรรมอีกครั้ง
ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ American University for Central Asia ส่วนอีกแห่ง
คือ EVS บอกว่าอยากจัดให้ใหญ่และนานกว่านี้
แต่บอกว่ายังไม่ควรนิมนต์พระมา
ถ้าเป็นพีซอาร์คิเทคน่าจะได้รับการตอบรับที่ดีกว่า
ซึ่งก็ดูจะเป็นความเห็นที่คล้าย ๆ กับที่พีซเอเจนต์เคยบอกไว้
ผู้เข้าร่วมหลายคนเขียนอีเมล์มาขอบคุณยานาด้วย
และบอกว่าสิ่งที่พวกเขาได้รับนั้นเป็นความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตมาก
แต่ก็มีบางรอบเช่นกันที่ผู้เข้าร่วมบางคนยังสงสัยสิ่งที่เธอสอนอยู่
แต่หลังจากนั่งกันเสร็จ ปฏิกิริยาก็เปลี่ยนไป หลายคนบอกว่าเห็นแสงสว่าง
ผ่อนคลายมาก ไม่ค่อยมีความฟุ้ง และมีอยู่ ๒ คนที่เห็นดวงกลม
มีอยู่รอบหนึ่งผู้เข้าร่วมเป็นสาวชาวอัฟกานิสถานทั้งหมด
เพราะได้รับทุนมาศึกษาที่นี่
พวกเขายิ้มร่าหลังจากนั่งสมาธิและยังปรบมือให้ยานาอย่างกึกก้อง ยานาบอกว่า
โยคะกับสมาธิกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในประเทศนี้และผู้คนในคีร์กีซสถานก็กำลังเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ
มีคนบอกว่าอยากศึกษาพระพุทธศาสนาแต่เธอพยายามเลี่ยงการตอบคำถามที่นำไปสู่เรื่องศาสนา
“ณ
วันนี้ฉันมีความสุขและสบายใจฉันมีความสุขที่ได้ส่งต่อความสุขให้แก่หลาย ๆ ชีวิต
และทำให้หลายชีวิตเริ่มเปลี่ยนแปลงรวมทั้งทำให้ผู้คนเข้าใจว่า ความสุขเป็นงานภายใน”
ยานากล่าว
เรื่องราวของแอนนาและยานาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพีซอาร์คิเทคกว่า
๔๐ ชีวิต
ในโครงการพีซเรฟโวลูชันที่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โลกอยู่ในขณะนี้
ด้วยการแผ่ขยายความรู้เรื่องการเข้าถึงสันติสุขภายในไปให้ผู้คนทุกชาติทั่วโลกได้สัมผัส
พีซอาร์คิเทคจึงถือเป็นบุคคลสำคัญยิ่งของโลก ที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้กงล้อแห่งการปฏิบัติเพื่อสันติภาพโลกหมุนต่อไปอย่างทรงพลัง
นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ต่อโลกและมวลมนุษยชาติ...
อ้างอิง: ทีมงานพีซเรฟโวลูชัน
Cr. วารสารอยู่ในบุญ เมษายน 2559 สำนักสื่อธรรมะ
คลิกอ่านพีซเรฟโวลูชันของวารสารอยู่ในบุญ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
พีซเรฟโวลูชั่นอินฟิลิปปินส์ ตอน : คอนนี เอ็มบอรอง...ครูไอดอลแห่งศตวรรษนี้ กับเรื่องราวที่น่าอัศจรรย์ในพีซวิลเลจ
Cr. วารสารอยู่ในบุญ เมษายน 2559 สำนักสื่อธรรมะ
เมื่อสันติสุขจากโลกออนไลน์ฯ |
|
คลิกอ่านพีซเรฟโวลูชันของวารสารอยู่ในบุญ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
“ พีซอาร์คิเทค ” ผู้ออกแบบแผนปฏิบัติการเพื่อสรรค์สร้างสันติภาพโลก
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
03:36
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: