ความหวังใหม่ ณ ทุ่งหญ้าและผืนทะเลทรายอันกว้างใหญ่แห่งแอฟริกา

ความหวังใหม่
ณ ทุ่งหญ้าและผืนทะเลทรายอันกว้างใหญ่แห่งแอฟริกา





บนถนนอันขรุขระในประเทศมาลาวี ประเทศเล็ก ๆ ทางตอนกลางของทวีปแอฟริกา รถบัสขนาด ๑๘ ที่นั่ง กำลังนำพาพระอาจารย์ ทีมงาน และผู้เข้าร่วมโครงการพีซเรฟโวลูชันเดินทางไปยังจุดหมายอย่างทุลักทุเล ในยามค่ำคืนที่มืดมิดเช่นนี้ ทุกคนต่างก็อยากไปถึงที่พักโดยเร็ว ซึ่งทางทีมงานวางแผนไว้ว่าน่าจะถึงไม่เกิน ๒๑.๐๐ น. เพราะระยะทางไม่ไกลมาก แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น  เมื่อรถบัสที่นั่งมาขับตกหลุมที่อยู่กึ่งกลางถนน  ยางล้อหน้าทางด้านขวาของรถบัสแตก เสียงระเบิดดังตูม  คนขับรถจึงนำรถเข้าข้างทางเพื่อเปลี่ยนยาง  ซึ่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะไม่มีไฟฟ้าและไฟทางหลวง จนกระทั่งสักครู่ใหญ่ ๆ จึงเปลี่ยนยางเสร็จและเดินทางต่อจนกระทั่งถึงจุดหมาย คือ โรงแรม Mpasta Lodge เมือง Salima (ซาลิมา) อย่างปลอดภัยในที่สุด แม้จะช้ากว่ากำหนดไปพอสมควร นี้เป็นเพียงหนึ่งในเหตุการณ์อันไม่คาดฝันที่ทีมงานพีซเรฟโวลูชันต้องเผชิญในการไปจัดโครงการปฏิบัติธรรมในทวีปแอฟริกาช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา




หากพูดถึงทวีปแอฟริกาแล้ว   คนส่วนใหญ่น่าจะนึกถึงความแห้งแล้ง สัตว์ป่า ทะเลทราย ความทุรกันดาร และผู้คนผิวดำ ความจริงแล้วหลาย ๆ พื้นที่ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ คนส่วนใหญ่ยังใช้ชีวิตด้วยความยากจน และอายุเฉลี่ยของประชากรโดยรวมยังค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับประชากรในส่วนอื่นของโลก ผู้คนมีอันตรายจากการปล้นจี้ ชาวต่างชาติมักถูกเรียกเก็บเงินหลายจุดในสนามบิน อย่างไรก็ตามความยากลำบากเหล่านั้นก็ไม่อาจหยุดยั้งความตั้งใจของทีมงานพีซเรฟโวลูชันที่จะเดินทางไปที่นั่น  เพราะเรามองเห็นถึงความจำเป็นและความต้องการสันติภาพและความสุขภายในของผู้คนในแอฟริกา



เฮนรี โมลิงเก

ฟิลิป ฮูอินซู

จุดหมายแรก คือ ประเทศแคเมอรูน  เป็นการจัดโครงการปฏิบัติธรรมระยะ ๓ วัน ให้แก่เยาวชนผู้มีใจรักสันติภาพในแถบแอฟริกากลางและตะวันตก (Central and  West Africa Fellowship) โดยทีมงานซึ่งเป็นพีซอาร์คิเทค (ครูสอนสมาธิเบื้องต้นที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรของพีซเรฟโวลูชัน) ได้แก่  พีซอาร์คิเทค เฮนรี โมลิงเก ชาวแคเมอรูน  พีซอาร์คิเทค ฟิลิป ฮูอินซู จากประเทศเบนิน และอาสาสมัครชาวแคเมอรูนอีก ๒ คน เป็นกำลังหลักในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้  โดยจัดร่วมกับองค์กรพันธมิตรในเชิงสัมมนาและทำเวิร์กชอปในหัวข้อ สันติภาพในหลากหลายมิติและมุมมองณ โรงแรมแห่งหนึ่งในประเทศแคเมอรูน ซึ่งมีบรรยากาศค่อนข้างเขียวขจี  มีสนามหญ้าและต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ๒๐ คน ที่เดินทางมาจาก ๘ ประเทศคือ แคเมอรูน เบนิน แกมเบีย กานา ไนจีเรีย  โตโก คองโก และชาด

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความสนใจในการฝึกสมาธิและความสุขภายในเป็นอย่างมาก ทุกคนมีความตั้งใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในทุก ๆ กิจกรรม ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความสงบสุข ทุกคนมีรอยยิ้มและให้ความอบอุ่นซึ่งกันและกัน แม้จะมาจากหลากหลายประเทศ แต่มีหัวใจดวงเดียวกันที่จะสร้างสันติภาพ หลังจากปฏิบัติธรรมจนถึงตอนนี้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่มีผลการปฏิบัติธรรมที่ดีหลายคน

อามันด์ จากประเทศเบนิน บอกว่า เขานึกวางดวงดาวเข้าไปทางปากและปล่อยให้ลงไปจนถึงศูนย์กลางกาย และประคองดวงดาวนั้นที่ศูนย์กลางกาย ดวงดาวนั้นก็สว่างขึ้นเรื่อย ๆ แล้วจึงแผ่เมตตา ทำให้รู้สึกว่ามีความสุขมาก  นอกจากนี้คนอื่น ๆ รู้สึกว่า ตัวขยาย และเห็นแสงสว่างที่สว่างขึ้นเรื่อย ๆ อวัยวะบางส่วนขยายออก บางคนก็รู้สึกเหมือนตัวขยายและเห็นพระอาทิตย์อยู่ในตัว หรือเห็นดวงดาวที่ยิ่งดูไปเรื่อย ๆ ก็ยิ่งสว่างมากขึ้น

วันสุดท้ายเป็นการปิดฉากอันอบอุ่น  ทุกคนที่มาปฏิบัติธรรมครั้งนี้รู้สึกดีใจที่ได้มาเรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับตนเอง ได้มานั่งสมาธิ ทำให้รู้จักตนเองและเห็นถึงข้อควรปรับปรุงของตนเอง หลาย ๆ คนมานั่งสมาธิแล้วรู้สึกว่าใจเย็นลง มีสติอยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้นและพร้อมที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขท่ามกลางวันที่สับสนวุ่นวาย อันเกิดจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน คือ ความคิดฟุ้งซ่าน ความกังวล และใจที่ไม่ใส ทุก ๆ คนที่เข้าร่วมกิจกรรมลงความเห็นตรงกันว่า  แนวทางของพีซเรฟโวลูชัน คือ Peace In  Peace Out เป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการที่จะเปลี่ยนโลกที่วุ่นวายให้กลับมาสู่สันติภาพได้

เสร็จจากที่แคเมอรูนแล้ว พระอาจารย์และทีมงานก็เดินทางมุ่งต่อไปที่ประเทศมาลาวี เพื่อจัดโครงการถัดไปให้แก่เยาวชนในแถบแอฟริกาตะวันออกและใต้ (Amandla East and Southern Africa Fellowship) เมื่อไปถึงเมืองลิลองเว  เมืองหลวงของประเทศมาลาวี ก็มีพีซอาร์คิเทค ทิโมที ออนยางโก ชาวเคนยามารอรับ และเดินทางต่อด้วยรถบัสที่ล้อระเบิดระหว่างทางดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น จนไปยังโรงแรม Mpasta Lodge เมือง Salima ซึ่งอยู่ติดทะเลสาบน้ำจืดมาลาวี ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา

ความท้าทายหนึ่งก็คือ ที่ทะเลสาบแห่งนี้มีการจ่ายไฟให้ใช้งานในเวลากลางคืนเท่านั้น ทำให้ขณะที่นั่งสมาธิรอบกลางวันต้องทำสมาธิไปพร้อม ๆ กับเสียงเครื่องปั่นไฟที่ดังกระหึ่ม  แต่เยาวชนกลุ่มนี้ก็มีความตั้งใจในการนั่งสมาธิและฟังธรรมมาก ไม่ได้คิดว่าเสียงเครื่องปั่นไฟเป็นสิ่งรบกวนแต่อย่างไร

เช้าวันที่สอง ทุกคนตื่นแต่เช้าไปนั่งสมาธิรอบเช้ามืดกันที่ริมหาด ด้วยอารมณ์สบายที่บริเวณหน้าโรงแรม หลาย ๆ คนตื่นเต้นที่จะได้ไปนั่งสมาธิบริเวณชายหาดเป็นครั้งแรก  เพราะปกติแล้ว เวลาพระอาจารย์นำนั่งก็จะให้นึกว่ากำลังอยู่คนเดียวในสถานที่ที่สบาย เช่น ในป่า บนเรือ ทอดสายตาไปบนเส้นขอบฟ้าหรือบนชายหาด ฟังเสียงคลื่นเพื่อการผ่อนคลาย แต่ว่าคราวนี้ไม่ต้องนึก เพราะกำลังนั่งสมาธิบนชายหาด ฟังเสียงคลื่นกระทบฝั่ง  ในเวลาที่พระอาทิตย์กำลังทอแสงอ่อน ๆ และค่อย ๆ โผล่ออกมาจากฟากฟ้าที่เงียบสงบในตอนเช้าตรู่แบบจริง ๆ ไม่อิงนิยายเลย และในวันสุดท้ายก่อนจากลากันไป ผู้เข้าอบรมได้มีการพูดคุยช่วยกันหาไอเดียว่าจะทำอย่างไรให้สันติภาพจากสันติสุขภายใน หรือ Peace In Peace Out ไปสู่ทุกคนในโลกได้ โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นแผ่นดินที่พวกเขาเกิดและเติบโต





ทีโมที ออนยางโก


แต่เส้นทางแห่งสันติสุขภายในของผู้นำสันติภาพแห่งดินแดนแอฟริกามิได้จบลงเพียงเท่านั้น ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลาย ๆ คนที่เคยเจอกันที่แคเมอรูนและมาลาวีก็เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมโครงการ African Armani Fellowship ครั้งที่ ๓ (Armani อ่านว่า อาร์มานี เป็นภาษาสวาฮีลี ภาษาท้องถิ่นที่ใช้ในหลายประเทศในแอฟริกา แปลว่า สันติภาพ) เมื่อมาถึงเมืองไทยแล้วก็ต้องนั่งรถลงใต้และนั่งเรือต่อไปยังเกาะสมุยซึ่งเป็นสถานที่จัดโครงการอบรม ๑๔ วันในครั้งนี้ เยาวชนจากทวีปแอฟริกาที่มา










มีทั้งหมด  ๒๗  คน จาก ๑๘ ประเทศ เช่น  ตูนิเซีย  อียิปต์  นามิเบีย  รวันดา  แซมเบีย  มาดากัสการ์  แคเมอรูน คองโก  โตโก  เป็นต้น  พวกเขาได้ฝึกสมาธิและฟังธรรมะแบบเข้มข้นจากพระอาจารย์ นอกจากนี้ยังได้ผ่านบทฝึกความดีสากลอีกด้วย ทำให้ได้รับความรู้และแนวทางในการพัฒนาตนเองให้มีสันติสุขภายใน เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีงามของคนรอบข้างในสังคม อีกทั้งได้นำความสุขและสันติภาพกลับไปสู่ผืนทะเลทรายและทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่แห่งแอฟริกา ทำให้เกิดกิจกรรม PIPO และ Mini PIPO มีผู้ร่วมปฏิบัติธรรมและเข้าถึงความสุขภายในอย่างมากมายในกาฬทวีปแห่งนี้  ซึ่งในปัจจุบันทีมงานทำให้เกิดแสงสว่างภายในแล้ว ๔๑ ประเทศ จากทั้งหมด ๕๔ ประเทศในทวีปแอฟริกา และเป็นก้าวแรกแห่งการสร้างสันติภาพที่แท้จริงให้เกิดในแอฟริกาอย่างมั่นคง

อ้างอิง : ทีมงานพีซเรฟโวลูชั่น 
Cr. อยู่ในบุญ  เดือนกันยายน  2559 สำนักสื่อธรรมะ









คลิกอ่านพีซเรฟโวลูชันของวารสารอยู่ในบุญ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมสันติภาพสากล
พลังสมาธิ พลังที่นุ่มนวลที่สุด
Peace Revolution กับพันธกิจพิเศษ ตอน รหัสลับอเล็กซานเดรีย
เมื่อดวงตะวันแห่งอินคาสว่างที่กลางใจชาวเปรู
อริยมรรค..เส้นทางที่รอคอยการค้นพบ
จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนโลกในปี พ.ศ. ๒๕๕๕
พีซเรฟโวลูชัน Peace Revolution ตอนเกาะกลางกาย
ภารกิจสร้างสันติภาพ ในแอฟริกาตะวันออก
ภารกิจสร้างสันติภาพในแอฟริกาตะวันตก
ปฏิบัติการก่อการดี ที่บัลแกเรีย
ก้าวแรก Peace Revolution ในเยอรมัน แดนคนจริง
เยาวชนในแอฟริกา ร่วมกันค้นหา “สันติสุขภายใน”
อีกครั้งในแอฟริกา กับการแสวงหา “สันติสุขภายใน”
ตำรับยารักษาใจ
Peace Architect กับภารกิจออกแบบสันติภาพโลก
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกในเม็กซิโก ดินแดนที่ผู้คนชอบขอพรพระ
ตามไปดู.. ชาวเปรูนั่งสมาธิกัน
สมาธิกับรอยยิ้มบนใบหน้า ที่เย็นชาของชาวรัสเซีย
จอร์เจีย กับสะพานแห่งสันติภาพ
เอกวาดอร์ ดินแดนบนเส้นศูนย์สูตร กับเส้นทางสู่ศูนย์กลางกาย
เมื่อสันติสุขจากโลกออนไลน์ กลายมาเป็นสันติภาพในโลกแห่งความจริง
“ พีซอาร์คิเทค ” ผู้ออกแบบแผนปฏิบัติการเพื่อสรรค์สร้างสันติภาพโลก
หลับตาและหยุดใจ.. สันติภาพที่แท้จริงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
สันติภาพที่ยั่งยืน ต้องเริ่มจากสันติสุขภายใน
ชีวิตคือสิ่งสวยงาม
อยู่ไกลเหมือนอยู่ใกล้ หากใจเกาะอยู่ที่ศูนย์กลางกาย
ความสุข ณ ศูนย์กลางกาย กลางทวีปอเมริกา
ความหวังใหม่ ณ ทุ่งหญ้าและผืนทะเลทรายอันกว้างใหญ่แห่งแอฟริกา ความหวังใหม่ ณ ทุ่งหญ้าและผืนทะเลทรายอันกว้างใหญ่แห่งแอฟริกา Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:09 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.