อีกครั้งในแอฟริกา กับการแสวงหา “สันติสุขภายใน”

อีกครั้งในแอฟริกา กับการแสวงหา
สันติสุขภายใน


วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ เครื่องบินทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าพาทีมงานพีซเรฟโวลูชันออกจากประเทศไนจีเรีย เดินทางไปยังประเทศสาธารณรัฐแคเมอรูน ตามด้วยประเทศยูกันดาและแทนซาเนียในลำดับถัดไป เพื่อตามหาผู้คนที่มีใจเดียวกัน คือใจรักในสันติภาพ

จากประสบการณ์ตรงเราพบว่า บุคคลเช่นนี้มีอยู่มากมาย และพวกเขากำลังรอเราอยู่ !!! อย่างไรก็ตาม ก่อนที่พวกเขาจะยอมรับเรา ก็ต้องมีการทำความรู้จักกันสักเล็กน้อย ดังเช่น  บางครั้งทีมงานอาจต้องตอบคำถามในทำนองที่ว่า  องค์กรของคุณคือใคร?  การที่เราเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรคุณเราจะได้อะไรบ้าง?”  ซึ่งในขั้นแรกทีมงานก็ให้คำตอบไปประมาณว่า  องค์กรของเรามุ่งผลประโยชน์ของคุณเป็นหลัก คุณจะมีความจำดี สุขภาพดี หายเครียด เรียนเก่ง ฯลฯ ถ้าเข้าร่วมกิจกรรมกับเรา  หลังจากได้นั่งสมาธิด้วยกันแล้ว  ช่องว่างที่มีอยู่ก็สลายไป  ตอนนี้คำถามมักจะกลายเป็น จะตั้งชมรมสมาธิได้อย่างไร?  จะมานำนั่งสมาธิอีกได้ไหม?”

ผลตอบรับดี ๆ ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นกำลังใจที่หนุนเนื่องไม่ขาดสาย ให้ทีมงานสืบสานภารกิจสร้างสันติสุขแก่มวลมนุษยชาติในประเทศต่าง ๆ ได้อย่างมีความสุขตลอดมา...


๑. วันรุ่งขึ้น ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ทีมงานลงมือจัดปฏิบัติธรรมที่ประเทศแคเมอรูนทันที ในแคเมอรูนเรามีพีซเอเจนต์เพียงคนเดียว คือเจ้าชายโมลิงเกะ ซึ่งเป็นบุตรของหัวหน้าเผ่าที่เปรียบเสมือนกษัตริย์องค์หนึ่ง ทำให้โมลิงเกะสามารถเข้าถึงกลุ่มคนสำคัญของประเทศได้ และประสานงานได้ยอดเยี่ยมมาก 

สำหรับการจัดกิจกรรมในแคเมอรูนครั้งนี้ใช้เวลาเพียง ๒ วัน จัดนั่งสมาธิได้ ๖ รอบ และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมถึง ๗๘๔ คน โดยมี อาสาสมัครช่วยงาน ๑๐ คน ซึ่งถือเป็นทีมงานที่ใหญ่และพร้อมมาก ๆ


๒. วันที่ ๘ นี้  เราจัดกิจกรรมถึง ๔ รอบ รอบแรก โมลิงเกะชวนอาสาสมัครมาลองนั่งสมาธิเพื่อชิมรสชาติของความสุขก่อนที่จะไปช่วยจัดกิจกรรมให้คนอื่น ซึ่งวันนี้พวกเขามากัน ๕ คน พระอาจารย์นำนั่งประมาณ ๑ ชั่วโมง ทุกคนนั่งได้ดี มีบางคนถึงกับน้ำตาไหลเพราะมีความสุขมาก

รอบที่ ๒ จัดกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยบัว (University of Buea) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของแคเมอรูน รอบนี้มีนักศึกษา เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย และสื่อมวลชนจาก Cameroon  Tribune เข้าร่วมกิจกรรมถึง ๔๒๘ คน โดยมีรองอธิการบดีมากล่าวเปิดและปิดงาน

ที่นี่พระอาจารย์นำนั่งสมาธิ ๓๐ นาที  ปิดท้ายด้วยการถาม-ตอบ ซึ่งมีคำถามเยอะมาก เนื่องจากไม่เคยมีใครเห็นพระมาก่อน

กิจกรรมในวันนี้ทำให้ทุกคนต่างประทับใจใน Concept ของ PIPO มาก (สันติสุขภายใน สู่การสร้างสันติภาพโลก) เพราะต่างได้สัมผัสกับสันติสุขภายในด้วยตนเองแล้ว

รอบที่ ๓  จัดที่โรงแรม Residence  Carlos-Muea  ที่นี่เป็นแหล่งที่พวกศิลปิน  นักแสดง ชอบมารวมตัวกัน  โมลิงเกะบอกว่า  คนพวกนี้มีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่มาก ถ้าทำให้พวกเขาเข้าใจสมาธิได้ จะมีผลต่อเยาวชนด้วย

วันนี้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ๓๑ คน นั่งสมาธิกันประมาณ ๓๐ นาที แล้วจึงเปิดโอกาสให้ ถาม-ตอบ ศิลปินคนหนึ่งบอกว่า  ผมรู้สึกผ่อนคลาย สบาย และสัมผัสได้ว่าเกิดสันติภาพขึ้นภายในตัวผม ผมเชื่อว่า เราต้องมีสันติสุขภายในก่อนจะขยายสู่ภายนอก

วันนี้ประธานอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของแคเมอรูนก็มาฟังการเทศน์สอนของพระอาจารย์ด้วยความสนใจอย่างยิ่ง

รอบที่ ๔ จัดกิจกรรมที่โรงเรียน Baptist High School โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประจำที่เก่าแก่และดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ  แต่เพิ่งเกิดกรณีรุ่นพี่ทำร้ายรุ่นน้องจนกระทั่งเสียชีวิต โมลิงเกะจึงอยากแนะนำการทำสมาธิให้พวกเขา จะได้ช่วยลดความรุนแรงในจิตใจลงบ้าง

วันนี้มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมถึง ๑๔๗ คน หลายคนให้สัมภาษณ์ว่ามีความสุขและรู้สึกผ่อนคลายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน


๓. วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ รอบแรก จัดกิจกรรมที่มหาวิทยาลัย St. Monica University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนสไตล์อเมริกันเพียงแห่งเดียวในแคเมอรูน รอบนี้ใช้เวลา ๒ ชั่วโมง มีนักศึกษาเข้าร่วมประมาณ  ๓๐ คน ทุกคนตั้งใจนั่งมาก มีคนหนึ่งบอกว่า รู้สึกสงบ สดชื่น และผ่อนคลายมาก ผมตั้งใจจะทำสมาธิต่อไปอีกคนบอกว่า ผมปล่อยวางได้ เราควรทำสมาธิสม่ำเสมอ เพราะจะทำให้ชีวิตเกิดสมดุลและควบคุมอารมณ์โกรธได้ดี ผมคิดว่าโลกต้องการโครงการพีซเรฟฯ มาก เพราะโลกต้องการมุมมองที่แตกต่างออกไปจากเดิม พวกคุณให้สิ่งที่แปลกใหม่กับพวกเรา

รอบที่ ๒ จัดกิจกรรมที่มหาวิทยาลัย Catholic University Institute of Buea มหาวิทยาลัยนี้เป็นมหาวิทยาลัยคาทอลิกที่ดีที่สุดของประเทศ ในรอบนี้มีนักศึกษาและคณาจารย์เข้าร่วมกิจกรรม ๑๒๕ คน

นักศึกษาชายคนหนึ่งบอกว่า ผมเพิ่งรู้ว่าสมาธิคือการทำความรู้จักกับตัวเอง สมาธิคือการทำให้ตัวเรามีความสุข ผ่อนคลาย สมาธิสอนให้เราลืมอดีตที่เราไม่สามารถแก้ไขได้  สอนให้เราอยู่กับปัจจุบัน และไม่กังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า ฉันเชื่อว่าสมาธิจะทำให้เราทำอะไรได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ขอบคุณมาก ๆ ที่แวะมาที่มหาวิทยาลัยของเรา



๔. ออกจากแคเมอรูนแล้ว  พวกเราไปจัดปฏิบัติธรรมกันที่ประเทศยูกันดา ที่ยูกันดาเรามีพีซเอเจนต์ทั้งหมด ๘ คน  กิจกรรมในครั้งนี้  ผู้ประสานงานหลักคือ พีซเอเจนต์โซโลนี อเทนยี และวิลสัน เซบูลิบา

ทีมงานจัดปฏิบัติธรรมในโรงเรียน ๔ แห่ง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ๗๙๐ คน

รอบแรก วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ จัดกิจกรรมที่โรงเรียนมาทูกามิกซ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนมุสลิม แต่ทางโรงเรียนให้ความร่วมมือดีมาก ให้เด็กทั้งโรงเรียนมาร่วมนั่งสมาธิ แต่เนื่องจากไม่มีห้องใหญ่พอสำหรับคนทั้งหมด จึงต้องออกมานั่งสมาธิกันที่สนามหญ้าหน้าโรงเรียน

กิจกรรมในวันนี้มีอุปสรรคอยู่บ้าง คือเรื่องภาษาอังกฤษ และเรื่องความกลัวคนขาว (คนเอเชียเขาก็ถือว่าเป็นคนขาว) พระอาจารย์จึงให้นั่งสมาธิ ๒ ครั้ง จะได้คุ้นเคยกัน ปรากฏว่าครั้งที่ ๒ ได้ผลดีขึ้น ดังนั้นจึงกลายเป็นสูตรไปแล้วว่าที่ยูกันดาต้องนั่งสมาธิแห่งละ ๒ ครั้ง

ผลการปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ดี บางคน  ตัวหาย ตัวลอยได้ บางคนเห็นพระอาทิตย์เป็นดวงสว่างอยู่ในท้อง มีความสุข ผ่อนคลาย และหายเครียด

รอบที่ ๒ ช่วงบ่ายของวันที่ ๒๕ เมษายน จัดกิจกรรมที่โรงเรียนมัธยมปลายตะวันออก โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประจำของเด็กที่เตรียมจะเข้ามหาวิทยาลัย วันนี้มีนักเรียนมาร่วมกิจกรรมนับร้อยคน เมื่อนั่งจบครั้งแรก หลายคนบอกว่านั่งดี และรู้สึกมีความสุขมาก ครั้งที่ ๒    หลาย ๆ คน นั่งได้ดียิ่งขึ้น

รอบที่ ๓ วันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ จัดกิจกรรมที่โรงเรียนมัธยมปลายอิมโบโก โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนมุสลิมล้วน วันนี้มีรองผู้อำนวยการโรงเรียนมานั่งสมาธิด้วย

ตอนแรกเด็ก ๆ รู้สึกเกร็งกับพระมากกว่า ๒ โรงเรียนที่ผ่านมา ซึ่งอาจเนื่องมาจากเป็นโรงเรียนมุสลิมล้วนก็ได้ แต่หลังจากนั่งสมาธิแล้ว รอยยิ้มของพวกเขาเป็นสัญญาณให้เราเห็นสภาวะของใจที่เปลี่ยนไปได้อย่างชัดเจน

ก่อนทีมงานเดินทางกลับ ผู้อำนวยการโรงเรียนออกมาคุยกับทีมงาน เมื่อทราบความรู้สึกในเชิงบวกของเด็ก ๆ และรองผู้อำนวยการแล้ว ผู้อำนวยการก็เชิญทีมงานให้กลับมาจัดปฏิบัติธรรมอีก และอยากให้เรามาตั้งชมรมพีซเรฟโวลูชันด้วย

รอบที่ ๔ วันที่ ๒๖ เมษายน จัดกิจกรรมที่โรงเรียนมุสลิมกินนาวา พระอาจารย์นำนั่ง สมาธิ ๒ ครั้ง หลาย ๆ คนนั่งดี และบอกว่า ผ่อนคลายมาก เหมือนอยู่ในสวรรค์ที่ปราศจากปัญหาและความเครียด บางคนมาสอบถาม    รายละเอียดกับทีมงานว่า จะตั้งชมรมสมาธิได้อย่างไร มานำนั่งสมาธิอีกได้ไหม ทีมงานจึงมอบ DVD ให้ไปเปิดในเวลาว่าง จะได้นั่งสมาธิร่วมกัน


๕. จากการสรุปผลการจัดปฏิบัติธรรมที่ประเทศยูกันดาทั้ง ๔ โรงเรียน พบว่า ศาสนาหรือความเชื่อที่ต่างกันไม่สามารถขวางกั้นความรู้สึกที่ดีต่อสมาธิได้ ทั้งครูและนักเรียนหลายคนอยากนั่งสมาธิทุกวัน บางคนบอกว่าสมาธิเปลี่ยนชีวิตของเขา เพราะว่าเขาไม่เคยมีความรู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขขนาดนี้มาก่อนเลย

การไปยูกันดาครั้งนี้   ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งชมรมสมาธิที่ยั่งยืนได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว เพราะหลาย ๆ โรงเรียนเริ่มเข้าใจประโยชน์ของสมาธิแล้ว นอกจากนี้ทีมงานยังเชื่อว่า ความทุ่มเทของโซโลนีและวิลสันจะเป็นแรงบันดาลใจให้พีซเอเจนต์ในแอฟริกาอีกหลาย ประเทศหันมาทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน ซึ่งจะนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนในแอฟริกาต่อไป


ประเทศสุดท้ายในการเดินทางไปจัดปฏิบัติธรรมในแอฟริกาครั้งนี้ของทีมงานพีซเรฟโวลูชัน คือประเทศแทนซาเนีย ในประเทศนี้เราจัดกิจกรรม ๒ วัน ทั้งหมด ๔ รอบ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ๒๐๐ กว่าคน โดยมีพีซเอเจนต์หนึ่งเดียวของแทนซาเนีย คือ อาอูนี อามินี  มิกิดาดี เป็นแกนนำ อายาเป็นผู้ประสานงาน  ครูเกอร์จากมาลาวีมาช่วยงาน และสังเกตการณ์เพื่อเตรียมจัดงานที่ประเทศมาลาวีต่อไป

รอบแรก วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ จัดกิจกรรมที่โรงเรียนมัธยมปลายจัมฮูรี ซึ่งเป็นโรงเรียนมุสลิมระดับมัธยมปลาย ที่นี่พระอาจารย์ ใช้สูตรเดียวกับที่ยูกันดา คือนั่ง ๒ ครั้ง ผลการปฏิบัติธรรมพบว่า เด็ก ๑๐๐ คน มีประมาณ  ๓๐ คนเท่านั้น ที่มีประสบการณ์ที่ดี เนื่องจาก มีอุปสรรคเรื่องภาษา และไม่มีเครื่องขยายเสียง ทำให้เสียงของพระอาจารย์ไปไม่ถึงหลังห้อง หลายคนจึงนั่งคุยกันขณะที่มีการปฏิบัติธรรม

รอบที่ ๒ จัดกิจกรรมที่โรงเรียนวิวันดานี รอบนี้พระอาจารย์แก้ปัญหาด้วยการให้ต่อลำโพงเล็กซึ่งเป็นเครื่องขยายเสียงของทีมงานให้อาอูนี และให้เขาช่วยแปลทุก ๆ ประโยค

รอบนี้มีนักเรียนมาร่วมกิจกรรม ๔๐ คน เด็ก ๆ ให้ความร่วมมือดีมาก เมื่อเริ่มนั่งสมาธิก็นั่งนิ่ง เงียบ และมีประสบการณ์ที่ดี รู้สึกเบา สบายเกือบทั้งห้องแม้ในครั้งแรก พระอาจารย์จึงนำนั่งครั้งที่ ๒ ต่อทันที

ขณะที่บรรยากาศกำลังเงียบสงบ เสียงออดก็ดังขึ้น เด็กทั้งโรงเรียนส่งเสียงดีใจที่จะได้กลับบ้าน แต่ทุกคนในห้องนี้ยังนั่งสมาธิต่อ เมื่อครบ ๒๐ นาที เด็ก ๆ ต่างประหลาดใจว่า เวลาผ่านไปไวมาก วันนี้หลายคนนั่งดีจนอายาเลือกไม่ถูกว่าจะสัมภาษณ์ใคร

รอบที่ ๓ จัดกิจกรรมที่ UMATI (Youth Action Movement) กลุ่ม ยูมาติเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมกับเยาวชน และมีเครือข่ายทั่วทั้งประเทศแทนซาเนีย

พระอาจารย์นำนั่ง ๒ ครั้ง และใช้คำว่า ฮากูนา มาตาตา” (อย่ากังวล) เป็นคำภาวนา ซึ่งดูเหมือนพวกเขารู้สึกผ่อนคลายมากเมื่อ ได้ยินคำนี้ หลายคนมีประสบการณ์ที่ดี บางคนบอกว่าเหมือนตัวหายไปอยู่ที่อื่น เป็นที่โล่ง ๆ กว้าง ๆ มีคนหนึ่งบอกว่าเห็นพระอาทิตย์สว่าง แล้วตรงกลางก็กลายเป็นจุดที่สว่างขึ้นมา เป็นต้น

รอบที่ ๔ วันที่ ๓๐ เมษายน จัดกิจกรรมที่เมืองโดโดมา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ วันนี้อาอูนีชวนเพื่อน ๆ มานั่งสมาธิ ๑๐ คน พระอาจารย์นำปฏิบัติธรรม ๒ ครั้ง พวกเขาต่างมีประสบการณ์ที่ดีและอยากให้จัดปฏิบัติธรรมอย่างนี้อีก พระอาจารย์จึงชวนให้เข้าเว็บไซต์   พีซเรฟโวลูชัน เพื่อพัฒนาพวกเขาให้เป็นกลุ่มพีซเอเจนต์ต่อไป


จากการทำกิจกรรมในแต่ละประเทศจะเห็นได้ว่า ทุกรอบการนั่งสมาธิเรามีเวลาให้กันไม่มาก แต่เวลาอันน้อยนิดที่มีล้วนเปี่ยมด้วยคุณภาพ ที่สามารถจุดประกายความสว่างในใจของหลาย ๆ คนให้ลุกโชนขึ้น และที่สำคัญหลายคนยังพร้อมที่จะจุดความสว่างต่อ ๆ ไป ให้สว่างไสวทั่วแผ่นดินถิ่นแอฟริกา

ทีมงานทุกคนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสไปร่วมทำภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้ในทวีปแอฟริกากับพีซเอเจนต์ทุกคน และอยากบอกว่า ตลอดการเดินทางในแอฟริกานั้น ซาฟารีสัตว์ป่า ทุ่งหญ้า หรือเนินเขา หาใช่สิ่งที่ทีมงานประทับใจไม่ แต่ความกระตือรือร้นของพี่น้องชาวแอฟริกันที่จะเปลี่ยนแปลงแอฟริกาทั้งทวีปให้เปี่ยมด้วยสันติสุขต่างหากที่สร้างความประทับใจให้พวกเราอย่างแท้จริง”..

อ้างอิง : พีซเรฟโวลูชัน
Cr. อยู่ในบุญ เดือนพฤศจิกายน 2557 สำนักสื่อธรรมะ









คลิกอ่านพีซเรฟโวลูชันของวารสารอยู่ในบุญ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมสันติภาพสากล
พลังสมาธิ พลังที่นุ่มนวลที่สุด
Peace Revolution กับพันธกิจพิเศษ ตอน รหัสลับอเล็กซานเดรีย
เมื่อดวงตะวันแห่งอินคาสว่างที่กลางใจชาวเปรู
อริยมรรค..เส้นทางที่รอคอยการค้นพบ
จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนโลกในปี พ.ศ. ๒๕๕๕
พีซเรฟโวลูชัน Peace Revolution ตอนเกาะกลางกาย
ภารกิจสร้างสันติภาพ ในแอฟริกาตะวันออก
ภารกิจสร้างสันติภาพในแอฟริกาตะวันตก
ปฏิบัติการก่อการดี ที่บัลแกเรีย
ก้าวแรก Peace Revolution ในเยอรมัน แดนคนจริง
เยาวชนในแอฟริกา ร่วมกันค้นหา “สันติสุขภายใน”
ตำรับยารักษาใจ
Peace Architect กับภารกิจออกแบบสันติภาพโลก
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกในเม็กซิโก ดินแดนที่ผู้คนชอบขอพรพระ
ตามไปดู.. ชาวเปรูนั่งสมาธิกัน
สมาธิกับรอยยิ้มบนใบหน้า ที่เย็นชาของชาวรัสเซีย
จอร์เจีย กับสะพานแห่งสันติภาพ
เอกวาดอร์ ดินแดนบนเส้นศูนย์สูตร กับเส้นทางสู่ศูนย์กลางกาย
เมื่อสันติสุขจากโลกออนไลน์ กลายมาเป็นสันติภาพในโลกแห่งความจริง
“ พีซอาร์คิเทค ” ผู้ออกแบบแผนปฏิบัติการเพื่อสรรค์สร้างสันติภาพโลก
หลับตาและหยุดใจ.. สันติภาพที่แท้จริงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
สันติภาพที่ยั่งยืน ต้องเริ่มจากสันติสุขภายใน
ชีวิตคือสิ่งสวยงาม
ความหวังใหม่ ณ ทุ่งหญ้าและผืนทะเลทรายอันกว้างใหญ่แห่งแอฟริกา
อยู่ไกลเหมือนอยู่ใกล้ หากใจเกาะอยู่ที่ศูนย์กลางกาย
ความสุข ณ ศูนย์กลางกาย กลางทวีปอเมริกา
อีกครั้งในแอฟริกา กับการแสวงหา “สันติสุขภายใน” อีกครั้งในแอฟริกา กับการแสวงหา “สันติสุขภายใน” Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:39 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.