สันติภาพที่ยั่งยืน ต้องเริ่มจากสันติสุขภายใน

                                                สันติภาพที่ยั่งยืน ต้องเริ่มจากสันติสุขภายใน
                      

ณ ห้องสมุดแห่งหนึ่งในประเทศออสเตรเลีย หญิงคนหนึ่งกล่าวหลังจากได้นั่งสมาธิกับพระอาจารย์จากโครงการพีซเรฟโวลูชันว่า เคยฝึกสมาธิด้วยวิธีการอื่นมาก่อน เป็นวิธีที่มักจะสอนให้รู้จักตัวเอง แต่สำหรับเธอยิ่งฝึกกลับยิ่งเครียด แต่วิธีการที่ปฏิบัติในวันนี้ก็สอนให้รู้จักตัวเองเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน คือ เมื่อเธอเอาใจกลับมาวางที่ศูนย์กลางกาย เธอกลับรู้สึกว่า ความเครียดที่แบกมาทั้งวันหายไปหมดเลย เธอรู้สึกถึงความสุขและความผ่อนคลายอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน และเมื่อถึงช่วงแผ่เมตตา เธอรู้สึกเบาสบาย ตัวขยายเหมือนลอยได้ ซึ่งทำให้เธอประหลาดใจมากเลยทีเดียว

เมื่อวันที่ ๒๖-๒๘ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ ปฐมบทแห่งการสร้างสันติภาพโดยเริ่มจากสันติสุขภายใน หรือกิจกรรมที่เรียกว่าไปโป (PIPO) ที่ประเทศออสเตรเลียได้เกิดขึ้นแล้วที่เมืองเมลเบิร์น โดยมีทีมงานชาวท้องถิ่นซึ่งเป็นพีซเอเจนต์ชาวออสเตรเลีย ๒ คนคอยอุปัฏฐากพระอาจารย์ ได้แก่ อะดิน และคาเอลา พวกเขาคือคนที่ติดต่อประสานงานและเตรียมการในการจัดกิจกรรมสุดพิเศษในครั้งนี้


อะดิน ได้พบกับพีซเรฟโวลูชันครั้งแรกในการอบรมเยาวชนยุโรปที่ประเทศเบลเยียมซึ่งพระอาจารย์กล่าวว่า ในตอนนั้นอะดินจัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีความคิดเสรีมาก แต่เมื่อเจอกันที่เมืองไทยอีกครั้ง เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ก็พบว่าอะดินเปลี่ยนไปพอสมควร คือ ยอมรับฟังพระอาจารย์มากขึ้น เรียกได้ว่าพระอาจารย์เองยังประหลาดใจว่า การที่อะดินยอมรับที่จะฝึกสมาธิอย่างต่อเนื่อง ทำให้เขาเปลี่ยนไปเป็นคนที่น่าพูดคุยด้วยมากยิ่งขึ้นถึงเพียงนี้


คาเอลา มีแม่เป็นชาวเมลเบิร์น เธอเกิดที่ประเทศออสเตรเลีย แต่ไปโตที่อเมริกาก่อนหน้าที่มาเจอพีซเรฟโวลูชัน เคยฝึกสมาธิสายทิเบตมาหลายปี เธอทำงานเป็นพยาบาลและคอยแนะนำสมาธิให้แก่ผู้ป่วยเสมอ ๆ ขณะที่เธอมาเข้าอบรมรุ่นเดียวกับอะดิน คือ รุ่นที่ ๑๕ ในรอบที่นั่งสมาธิยาว ๒ ชั่วโมง เธอมีผลการปฏิบัติธรรมที่ดีกว่าที่เคยนั่งมา ทั้งหมดนี้คงเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอยังคงวางใจไว้ที่ศูนย์กลางกายอย่างต่อเนื่อง

เมื่อทั้งอะดินและคาเอลาได้พบกับความสุขภายในจากการฝึกสมาธิอย่างต่อเนื่องความรู้สึกที่อยากจะแบ่งปันความสุขนี้ให้แก่คนอื่น ๆ ในออสเตรเลียจึงเกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อจบการอบรมที่เมืองไทยในรุ่นที่ ๑๕ แล้วอะดินจึงพูดคุยกับคาเอลาถึงการจัดกิจกรรมที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตัวเอง


ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีลักษณะเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในจำนวนประชากร ๒๓ ล้านคนของออสเตรเลียนั้น เกือบครึ่ง(ร้อยละ ๔๗) เกิดในต่างประเทศหรือมีพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเกิดในต่างประเทศ ออสเตรเลียจึงเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจหากท่านจะพบกับผู้คนหน้าตาเอเชียคล้ายคนจีนตามท้องถนนและย่านธุรกิจ

สำหรับกิจกรรมไปโปในออสเตรเลียครั้งนี้ จัดขึ้นที่เมืองเมลเบิร์น ที่เลือกจัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เพราะประจวบเหมาะกับที่เมืองเมลเบิร์นมีการจัดงาน Sustainable Living Festival หรือ การดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นหัวข้อที่ดังมากในกลุ่มประเทศตะวันตกในปัจจุบัน ดังนั้นอะดินและคาเอลาจึงร่างเอกสารนำเสนอโครงการ การพัฒนามนุษย์ด้วยสมาธิและได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการในที่สุด เพราะหัวข้อการพัฒนามนุษย์นั้น อยู่ภายใต้ร่มของ Sustainable Living Festival อยู่แล้ว กิจกรรมครั้งนี้อะดิน กับคาเอลาวางแผนว่าจะจัด ๓ วัน คือ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ มีรอบนั่งสมาธิ ๖ รอบ โดยได้รับการสนับสนุนทางด้านสถานที่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นห้องสมุด และยังมีศาลากลางของเมืองเคนซิงตันอีกด้วย แต่ในที่นี้จะขอนำมาเล่าสู่กันฟังเพียงบางรอบ


รอบแรกเปิดฉากที่ห้องสมุด Kathleen Syme ห้องสมุดนี้ตั้งอยู่ในแถบคาร์ลตัน ซึ่งถือเป็นย่านที่เก่าแก่ที่สุดย่านหนึ่งในเมลเบิร์น  ในแต่ละรอบจะมีหัวข้อบรรยายประกอบด้วยซึ่งหัวข้อทั้งหมดเป็นหัวข้อที่อะดินคิดขึ้นมาเพื่อทำการโปรโมตให้เห็นถึงความแตกต่างโดยหัวข้อในรอบนี้ คือการสร้างภราดรภาพและความเมตตาในโลกปัจจุบัน ซึ่งหัวข้อนี้อะดินกล่าวว่า ปัจจุบันแม้ชาวออสเตรเลียจะมีความเจริญทางวัตถุมากมาย แต่สังคมกลับเปลี่ยนไปเป็นต่างคนต่างอยู่ และสนใจที่จะปกป้องสิทธิของตนเองมากกว่าที่จะมีความกระตือรือร้นที่จะแบ่งปันให้แก่คนอื่น ๆ ที่ยังขาดอยู่

นอกจากนี้ พระอาจารย์ยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นต้องพึ่งปัจจัย ๔ แต่ปัจจุบันทางมาของปัจจัย ๔ ไม่ได้เหมือนกับในอดีต ทำให้มักจะหลงทางและไม่สนใจเป้าหมายที่แท้จริงในการดำรงชีพและหลงคิดไปว่าความเพลิดเพลินทางสัมผัสต่าง ๆ นั้น จะทำให้เข้าถึงความสุขในชีวิตได้  แต่การที่ใจของมนุษย์มีกิเลส คือ โลภ โกรธ หลง ทำให้มนุษย์เกิดความเห็นแก่ตัว จ้องแต่จะปกป้องความสุขของตัวเอง ทำให้ลืมไปว่าทุก ๆ คนในโลกต่างก็หลงทางในลักษณะเดียวกัน การที่ต่างคนต่างก็ยังทำหน้าที่ของตนเองไม่สมบูรณ์ (ซึ่งไม่มีใครทำให้สมบูรณ์ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์) ทำให้คนในสังคมต่างเพ่งโทษจับผิดกัน แทนที่จะมีความเข้าอกเข้าใจกัน


ทางแก้ไขปัญหานี้ก็คือ การทำใจให้ใส ๆ เพราะเมื่อใจใสก็จะสามารถมองเห็นเรื่องราวต่าง ๆ ตรงไปตามความเป็นจริง และเลิกสนใจมองความแตกต่างที่นำมาซึ่งความแตกแยก แต่กลับจะเห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเมื่อใจใสมากขึ้นไปตามลำดับ ความรักความเมตตาที่มีต่อชาวโลกก็จะเกิดขึ้นมาเอง

เมื่อจบการบรรยายเสียงปรบมือก็ดังขึ้นพระอาจารย์เสริมว่า สิ่งที่ทางพีซเรฟโวลูชันทำอยู่ก็คือ การเผยแพร่สิ่งเหล่านี้ให้ทุกคนทั้งโลกเข้าใจตรงกัน และแถมด้วยการเปิดเพลง Change the World ให้ฟัง ไม่น่าเชื่อว่าเพลงนี้กับภาพประกอบเพลงที่มีคนต่างชาติต่างศาสนา และต่างเผ่าพันธุ์หันมานั่งสมาธิสามารถเรียกน้ำตาให้คลอเบ้าของหลาย ๆ คนที่นั่งอยู่ในห้องนั้นได้


อีกรอบหนึ่งที่จะขอนำมาเล่าให้ฟังก็คือ รอบที่จัดที่โยคะสตูดิโอ ซึ่งเดินจากที่พักไปเพียง ๕ นาที และเป็นที่เดียวในไปโปออสเตรเลียที่จัดที่โยคะสตูดิโอ ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมดูเหมือนจะเป็นสมาชิกของโยคะสตูดิโอแห่งนี้อยู่แล้ว เมื่อพระอาจารย์ถามว่าใครเคยนั่งสมาธิมาก่อนหน้านี้แล้วบ้าง ก็ยกมือกันถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ท่านจึงชวนให้ทุกคนลองมานั่งสมาธิด้วยวิธีวางใจไว้ที่ศูนย์กลางกายกัน

พระอาจารย์พูดถึงการบริหารจัดการความเครียดด้วยสมาธิ ว่าแม้สมาธิจะช่วยขจัดความเครียด แต่ถ้าอยากจะเป็นคนไม่เครียดต้องรู้จักปล่อยวาง โดยการปล่อยวางนั้นก็ให้ดูว่า สิ่งใดเป็นหรือไม่เป็นปัญหา ถ้าไม่เป็นปัญหาก็อย่าเก็บมาคิด ส่วนที่เป็นปัญหาก็ให้ดูว่าเป็นปัญหาที่แก้ได้หรือไม่ ถ้าแก้ไม่ได้ก็อย่าเก็บมาคิด แต่ถ้าแก้ได้ก็ให้แก้ด้วยปัญญา  ไอน์สไตน์ยังบอกเลยว่า เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยใจที่ก่อให้เกิดปัญหานั้น ส่วนชีวิตของเรานั้น ปัญหามันไม่หมดไปหรอก มันจะมีตั้งแต่เราเกิดจนตายนั้นแหละ แต่ถ้าเราทำใจให้สงบ เราก็จะมีความสุขได้ แม้ปัญหาจะยังวนเวียนอยู่รอบตัวเรา แต่ความสงบของใจก็เปรียบเสมือนกับตาของพายุที่สงบนิ่งท่ามกลางโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว


เมื่อนั่งสมาธิเสร็จสิ้น ผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่าอยากจะแบ่งปันประสบการณ์ให้ฟัง คือในระหว่างที่เธอนั่ง เธอรู้สึกว่ามีแสงสว่างสีขาวปรากฏขึ้น จากนั้นแสงสีขาวก็ค่อย ๆ ดึงดูดตัวเธอให้เคลื่อนเข้าไปเจอสระน้ำ และที่สระน้ำนั้นเธอเห็นรูปเด็กสองคนกำลังมีความสุขปรากฏอยู่

ผู้ร่วมกิจกรรมอีกหลายคนบอกว่ารู้สึกตัวเบามาก ๆ เหมือนลอยได้ และใจเคลื่อนไปถึงจุดที่ปราศจากความคิดได้นาน ทางเจ้าของสตูดิโอโยคะก็บอกว่าประทับใจในแนวคิดเรื่องการปล่อยวาง ที่แม้จะฟังดูง่าย ๆ ไม่ได้ซับซ้อนอะไร แต่ก็ทรงพลังและสามารถใช้งานได้จริง


กิจกรรมการสอนสมาธิทั้ง ๖ รอบ ตลอดระยะเวลา ๓ วัน มีคนหน้าเดิม ๆ กลับมานั่งอีกเรื่อย ๆ ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ไม่เลวนักและมีหลายคนบอกว่าจะไปทำต่อในเว็บไซต์   ซึ่งถือได้ว่าทั้งอะดินและคาเอลาได้ทำสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ เป็นงานที่ทำเพื่อคนอื่นในสังคมโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนใด ๆ มีแต่เพียงความรักความปรารถนาดีที่จะมอบความสุขและรอยยิ้มจากสันติสุขภายในให้แก่เพื่อนร่วมชาติ ที่แต่ละวันต้องเผชิญกับเรื่องราวมากมายที่ทำให้ใจว้าวุ่นสับสน ทั้งหมดนี้จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งของการปฏิวัติแห่งความรักและสันติภาพ ที่กำลังแผ่ขยาย ณ ผืนเกาะใหญ่แห่งมหาสมุทรแปซิฟิกแห่งนี้

อ้างอิง: ทีมงานพีซเรฟโวลูชัน
Cr. วารสารอยู่ในบุญ เดือนกรกฎาคม 2559 สำนักสื่อธรรมะ








คลิกอ่านพีซเรฟโวลูชันของวารสารอยู่ในบุญ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
พีซเรฟโวลูชั่นอินฟิลิปปินส์ ตอน : คอนนี เอ็มบอรอง...ครูไอดอลแห่งศตวรรษนี้ กับเรื่องราวที่น่าอัศจรรย์ในพีซวิลเลจ
สันติภาพที่ยั่งยืน ต้องเริ่มจากสันติสุขภายใน สันติภาพที่ยั่งยืน ต้องเริ่มจากสันติสุขภายใน Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:54 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.