เยาวชนในแอฟริกา ร่วมกันค้นหา “สันติสุขภายใน”

เยาวชนในแอฟริกา
ร่วมกันค้นหา สันติสุขภายใน

คนเราเกิดมาแล้วต้องช่วยทำให้โลกดีขึ้น  ถึงจะคุ้มกับการเกิดมาเป็นมนุษย์  ผมค้นหาวิธีการมานาน  แต่ยังไม่พบอะไรที่โดนใจจริง ๆ เสียที  กระทั่งเมื่อมาเจอโครงการพีซเรฟโวลูชัน  ผมถึงรู้ว่าใช่เลย   คนเราจะแบ่งปันความสุขได้  ตัวเองต้องมีความสุขก่อน  การที่ผมจะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นแก่โลกนั้น  ตัวผมเองต้องรู้จักคำว่า สันติภาพที่แท้จริงก่อน


นี้คือความในใจของโมลิงเกะ เฮนรี เนียวคิ พีซเอเจนต์ผู้มีหัวใจกัลยาณมิตรจากประเทศแคเมอรูน หนึ่งในผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้มาร่วมโครงการปฏิบัติธรรมเยาวชนแอฟริกัน   ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ดินแดนที่วิชชาธรรมกายเฟื่องฟูที่สุดในยุคนี้


๑. โครงการพีซเรฟโวลูชันจัดปฏิบัติธรรมเยาวชนแอฟริกันขึ้น เมื่อวันที่ ๑๕-๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๗ ในชื่อว่า อามานี เฟลโลชิป หรือ  AMANI Fellowship  (คำว่า อามานีในภาษาสวาฮิลีแปลว่า สันติภาพ)

การจัดปฏิบัติธรรมครั้งนี้ มีเยาวชนชาย ๑๑ คน หญิง ๕ คน จาก ๑๑ ประเทศ ในทวีปแอฟริกา ได้แก่  ประเทศยูกันดา เคนยา แทนซาเนีย มาลาวี ซิมบับเว แคเมอรูน ไนจีเรีย บูร์กินาฟาโซ อียิปต์ โมร็อกโก และเคปเวิร์ด เดินทางมาปฏิบัติธรรมร่วมกันเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ ที่มุกตะวัน เกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นสถานที่ที่สัปปายะแห่งหนึ่งสำหรับการปฏิบัติธรรม คือ ดีทั้งสถานที่ อาหาร บุคคล และธรรมะ

ตลอดเวลา ๑๔ วัน ที่มุกตะวันจึงเป็นเวลาที่เปี่ยมด้วยความสุข และหล่อหลอมให้พวกเขาเปี่ยมด้วยคุณภาพ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงทวีปแอฟริกาทั้งทวีป


สำหรับการเลือกเยาวชนให้มาสัมผัส  สันติสุขภายในที่ประเทศไทย ผู้มาร่วมโครงการจะต้องผ่านระบบออนไลน์มาก่อน คือต้องนั่งสมาธิแล้วบันทึกผลการปฏิบัติธรรมในเว็บไซต์ของพีซเรฟโวลูชัน ซึ่งการทำเช่นนี้ไม่ใช่ของง่ายในบางประเทศในทวีปแอฟริกา

ที่ผ่านมา พีซเอเจนต์หลายคนต้องดิ้นรนเพื่อเรียนรู้เรื่องการทำสมาธิและ know-how   ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต  บางคนต้องนั่งรถประจำทางไป-กลับวันละ ๒ ชั่วโมง ระหว่างบ้านและอินเทอร์เน็ตคาเฟ  เพื่อไปทำบันทึกความดีออนไลน์ทุกวัน เป็นเวลานานถึง ๔๒ วัน ซึ่งต้องจ่ายทั้งค่ารถ และค่าใช้อินเทอร์เน็ตที่มีราคาแพงกว่าในประเทศไทยมาก

เยาวชนแอฟริกันที่มาปฏิบัติธรรมที่ประเทศไทยในครั้งนี้ มีโอกาสนั่งสมาธิวันละ ๔ รอบ  ได้รักษาศีล ๘ ได้ฟังธรรม ได้ฝึกฝนอบรมตัวเองผ่านหลักความดีสากล ๕ ประการ และได้รับประสบการณ์มากมายที่หาไม่ได้จากที่อื่น

เวลา ๑๔ วัน กับทะเลงาม ฟ้าใส อาหารอร่อย เพื่อนดี ธรรมะดี ทำให้ใจของทุกคนสว่างไสว และมีผลการปฏิบัติธรรมที่ดีขึ้นมาก เมื่อมาถึงจุดนี้พวกเขาไม่ได้คิดแค่เรื่องของตนเองหรือประเทศของตนเท่านั้น แต่พูดคุยกันถึงความเป็นไปได้ในการเผยแผ่วิธีทำสมาธิไปสู่พี่น้องชาวแอฟริกัน    ในระดับภูมิภาคย่อย ๆ อีกด้วย

เมื่อสิ้นสุดโครงการ  พวกเขาก็พร้อมทั้งกายและใจที่จะเป็นผู้นำแสงสว่างไปให้แก่ประเทศต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกาอันเป็นดินแดนเกิดของพวกเขาต่อไป

เชิญติดตามผลงานที่น่าประทับใจของเยาวชนเหล่านี้ โดยเริ่มจากประเทศไนจีเรียเป็นอันดับแรก...


โครงการปฏิบัติธรรมที่ประเทศไนจีเรีย : ประเทศไนจีเรียตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของทวีปแอฟริกา มีเมืองหลวงคือกรุงอาบูจา (Abuja) มีประชากรประมาณ ๑๖๗ ล้านคน ประกอบด้วยชนเผ่าต่าง ๆ ประมาณ ๒๕๐ เผ่า ประชากรร้อยละ ๕๐ นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ ๔๐ นับถือศาสนาคริสต์ อีกร้อยละ ๑๐ นับถือลัทธิดั้งเดิมของชนเผ่าต่าง ๆ

การจัดปฏิบัติธรรมที่ประเทศไนจีเรียของทีมงานพีซเรฟโวลูชันครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ ครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ ๒๕๕๕ ที่เมืองโอเวอร์รี รัฐอิโมะ

สำหรับครั้งนี้ พีซเอเจนต์คอลลิน (Collins G. Adeyanju) และพีซเอเจนต์จูด (Jude Chukwuma) ซึ่งเข้าร่วมปฏิบัติธรรมแอฟริกาตะวันตก และเคยมาปฏิบัติธรรมเยาวชนแอฟริกันที่มุกตะวัน เป็นหลักในการจัดงาน


๒. ภารกิจแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ที่โรงเรียน Government Secondary School (GSS)-Garki  ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมของรัฐ โดยมีนักเรียน ๒๒๙ คน ครูใหญ่ และครูอีก ๖-๗ คน เข้าร่วมกิจกรรม

ที่นี่เด็ก ๆ ตั้งใจฟังพระอาจารย์เทศน์สอนและนั่งสมาธิได้ดี นักเรียนหญิงคนหนึ่งบอกว่า ฉันมีความสุขมาก รู้สึกว่าตัวเองลอยได้ ถ้าเรามีความสุขจากภายในแล้ว มันยากที่จะโกรธใครง่าย ๆ ฉันนึกไม่ออกเลยว่าจะโกรธได้อย่างไร

ครูใหญ่ก็ประทับใจโครงการมากและอยากให้เด็กฝึกสมาธิอีกในอนาคต ส่วนครูอีกคนหนึ่งบอกว่า ฉันเชื่อเต็มร้อยเลยว่า เราต้องมีสันติสุขภายในก่อน ถึงจะสร้างสันติภาพภายนอกได้


๓. ภารกิจที่ ๒ วันที่ ๒๘ มีนาคม จัดกิจกรรมที่องค์กร Catholic Relief Services (CRS)  ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือในเรื่องภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน การต่อสู้กับความยากจนและโรคภัยไข้เจ็บ การสร้างสันติภาพและความยุติธรรมในสังคม รวมทั้งการพัฒนามนุษย์

ทีมงานได้รับอนุญาตให้นำเสนอสมาธิในแง่การจัดการกับความเครียดในชีวิตประจำวันแก่เจ้าหน้าที่ขององค์กร ซึ่งเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเล่าว่า ผมบอกตัวเองเสมอว่าต้องหาเวลาผ่อนคลายบ้าง แต่ก็ไม่เคยทำได้ วันนี้เมื่อได้มานั่งสมาธิกับพระอาจารย์ ผมรู้สึกหายเครียด ผ่อนคลายจนเหมือนจะหลับไปเล็กน้อย ผมรู้สึกเหมือนไม่ได้นั่งอยู่ในห้อง ผมตั้งใจจะฝึกสมาธิต่อไป ผมคิดว่าสมาธิช่วยลดความขัดแย้งได้แน่นอน เพราะส่วนใหญ่เวลาประชุม พวกเรามักโต้แย้งถกเถียงกัน อยู่เสมอ แต่ดูวันนี้สิ ทุกคนสงบ เยือกเย็น สุขุม บรรยากาศแตกต่างจากวันก่อน ๆ มากจริง ๆ


๔. ภารกิจที่ ๓  วันที่ ๒๙ มีนาคม จัดที่โรงเรียน Stella Maris College, Nigeria ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำระดับมัธยมต้นของคาทอลิก มีนักเรียนนับพันคน

รอบนี้พระอาจารย์ใช้เวลาถึง ๒ ชั่วโมง ในการเทศน์และแนะนำวิธีทำสมาธิ เพราะเด็ก ๆ ให้ความสนใจมาก และมีคำถามมากมาย เช่น สมาธิจะช่วยแก้ปัญหาสิทธิสตรีได้อย่างไร สมาธิจะช่วยควบคุมอารมณ์ได้อย่างไร สมาธิจะช่วยแก้ปัญหาครอบครัวได้อย่างไร ฯลฯ

นักเรียนหญิงคนหนึ่งบอกว่า ฉันรู้สึกสงบสุข และสามารถละความเศร้าออกจากใจได้ ฉันรู้สึกว่าตัวเองสามารถมีความสุขกับผู้คนได้มากขึ้นหลังจากได้นั่งสมาธิ จากนี้ไปฉันน่าจะมีขีดความสามารถในการยับยั้งความโกรธได้มากขึ้น ฉันเชื่อว่าสมาธิจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นด้วย เพราะถ้าคนเรามีความสุข   ก็จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ง่ายขึ้น

นักเรียนชายอีกคนบอกว่า  ผมรู้สึกว่าความตึงเครียดหายไปเหมือนได้กลับบ้าน  ผมควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ไม่โกรธง่าย ปกติผมมักจะโกรธอยู่ตลอดเวลา

๕. ภารกิจที่ ๔ วันที่ ๓๑ มีนาคม จัดที่ธนาคาร Aso Saving and Loans PLC โดยมีเจ้าหน้าที่ธนาคารเข้าร่วมกิจกรรม ๙ คน ซึ่งส่วนใหญ่มีผลการปฏิบัติธรรมที่ดี รู้สึกสบาย มีความสุข และอยากให้มีการจัดนั่งสมาธิเป็นประจำ

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอกว่า ผมรู้สึกสดชื่นมาก ผมคิดว่าเราต้องทำสมาธิ ก่อน หลัง และระหว่างทำงาน ควรต้องผ่อนคลายให้ได้ตลอดเวลา งานธนาคารกดดันมาก ผมอยากให้เพื่อน ๆ มาลองทำสมาธิกันมากกว่านี้ และทำอย่างสม่ำเสมอครับ

๖. ภารกิจที่ ๕ วันที่ ๓๑ มีนาคม จัดที่โรงเรียน Regina Pacis College ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำหญิงล้วนของคาทอลิก ระดับมัธยมต้น มีนักเรียนนับพันคน โดยมีนักเรียนเข้าร่วม  ๗๙๓ คน และครูอีก ๕ คน

กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับการตอบรับดีมาก ทางโรงเรียนเตรียมสถานที่ เตรียมเครื่องเสียง ไว้เป็นอย่างดี นักเรียนก็ให้ความตั้งใจในการ   ฟังเทศน์และฝึกสมาธิเป็นอย่างดี

นักเรียนคนหนึ่งบอกว่า ฉันรู้สึกว่า ปัญหาทั้งหมดที่มีหายไปหมดเลย เป็นอิสรเสรี ฉันมีความสุขมาก ฉันเชื่อเรื่อง PIPO (Peace in Peace out) เพราะคุณไม่สามารถให้ในสิ่งที่คุณไม่มี คุณต้องมีสันติภาพก่อน ถึงจะแจกจ่ายมันออกไปได้


๗. ระหว่างที่ทีมงานพีซเรฟโวลูชันปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ไนจีเรียนั้น ไวรัสอีโบลาระบาดขึ้นในประเทศกินี ขณะนั้นไม่มีใครบอกได้ว่า การแพร่ระบาดจะกว้างไกลเพียงใด และการควบคุมจะทำได้ดีแค่ไหน  ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในชีวิต และสนองนโยบาย กล้าได้ แต่อย่าบ้าบิ่น  ทีมงานจึงยกเลิกการจัดกิจกรรมในประเทศแกมเบีย แต่ก็ได้ทำภารกิจที่ไม่ได้วางแผนไว้ ๒ ประการ คือ เช้าวันที่ ๔ เมษายน เข้าพบเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงอาบูจา เพื่อขอความอนุเคราะห์วีซ่า หากมีเยาวชนจากไนจีเรียมายื่นขอ และแสดงความขอบคุณที่ทางสถานทูตช่วยอำนวยความสะดวกที่ผ่านมา

ช่วงเย็นจัดปฏิบัติธรรมที่ Hot Spot Yoga Class โดยมีคุณจูลี ครูสอนโยคะ ซึ่งเคยมาร่วมนั่งสมาธิ นิมนต์พระอาจารย์ไปสอนนักเรียน   ที่มาเรียนโยคะ ในรอบนี้มีผู้ร่วมกิจกรรมประมาณ ๑๐ คน ทุกคนสนใจการทำสมาธิมาก

๘. ตลอดระยะเวลา ๘ วัน ในประเทศไนจีเรีย ตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม - ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ทีมงานจัดกิจกรรมร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ๖ องค์กร โดยมีผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น ๑,๖๕๙ คน

ในตอนแรกแม้พีซเอเจนต์บางคนไม่แน่ใจว่า  โครงการปฏิบัติธรรมในประเทศไนจีเรียจะประสบความสำเร็จ แต่เมื่อทุกคนย้อนระลึกถึงสิ่งที่ได้รับจากการอบรมที่มุกตะวัน นึกถึงประสบการณ์ดีๆ ในช่วงที่ได้มาปฏิบัติธรรมร่วมกัน  ก็เกิดแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ที่จะจัดกิจกรรมนี้ให้ได้ และในที่สุดก็สามารถทำได้ดีกว่าที่คิด คือจากการประเมินงานพบว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ๗๙ เปอร์เซ็นต์ ชื่นชอบกิจกรรมนี้มาก และ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ขององค์กรที่เข้าร่วมกิจกรรม ต้องการทำโครงการปฏิบัติธรรมอีกในอนาคต


. โครงการปฏิบัติธรรมที่ประเทศสาธารณรัฐแกมเบีย : แกมเบียเป็นประเทศที่จัดว่าเล็กที่สุดในทวีปแอฟริกา มีพื้นที่ประมาณ ๑๐,๕๐๐  ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว ๆ ๑,๗๐๐,๐๐๐ คน อาชีพหลักคือ การเกษตร การประมง และการท่องเที่ยว ประชากรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน

สำหรับการจัดปฏิบัติธรรมที่ประเทศแกมเบียนั้น ถึงแม้ทีมงานของเรายกเลิกไปแล้ว เพราะการระบาดของไวรัสอีโบลา แต่เชอริโฟซึ่งเป็นพีซเอเจนต์หนึ่งเดียวประจำประเทศนี้     ก็พยายามจัดขึ้นจนได้

เชอริโฟเคยมาร่วมปฏิบัติธรรมที่มุกตะวัน และมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นกัลยาณมิตรนำแสงสว่างไปสู่ใจของเพื่อนร่วมชาติ เขาจึงพร้อมที่จะฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ โดยไม่หวั่นไหว

ภารกิจแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ที่โรงเรียน St. Therese’s Upper Basic School    มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม ๔๐๐ คน ต่อมาในวันที่ ๓ เมษายน มีกิจกรรมที่โรงเรียน Ndows and BAKAU Upper Basic School โดยจัดขึ้น ๒ รอบ มีนักเรียนเข้าร่วม ๒๐๐ คน ในวันสุดท้าย วันที่ ๔ เมษายน จัดที่โรงเรียน Abuko Upper Basic School มีนักเรียนเข้าร่วม ๖๕๐ คน

รวมทั้ง ๓ วัน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ๑,๒๕๐ คน พีซเอเจนต์เชอริโฟนำนั่งสมาธิเองทุกรอบ


๑๐. ในการจัดปฏิบัติธรรมที่แอฟริกา จากการสัมผัสกับผู้ร่วมโครงการ  ทีมงานพบว่า    ชาวแอฟริกันมักให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องความโกรธมากกว่าคนผิวขาว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครถามนำเลย นั่นอาจเป็นเพราะสภาวะทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการดำรงชีพอย่างแร้นแค้น ทำให้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะชาวพื้นเมืองต้องดิ้นรนมากเป็นพิเศษ ใจของผู้คนจึงเต็มไปด้วยความทุกข์ระทม ความขุ่นมัว และโทสะที่พร้อมจะระเบิดออกมาทุกขณะจิต

ด้วยตระหนักถึงสภาพความเป็นจริงที่พี่น้องชาวแอฟริกันเผชิญอยู่ตลอดมา ทีมงานพีซเรฟโวลูชันและพีซเอเจนต์ทั้งหลาย จึงมุ่งมั่นที่จะนำความสุขไปสู่ใจของพวกเขา ด้วยการวางแผนจัดโครงการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง เพราะเราเชื่อว่า สมาธิคือ ความหวังเดียวที่จะสร้างสันติสุข และแก้ปัญหาความทุกข์ในใจของมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่แอฟริกาหรือที่ใด ๆ บนโลกสีน้ำเงินใบนี้..

อ้างอิง : ทีมงานพีซเรฟโวลูชัน
Cr. อยู่ในบุญ เดือนตุลาคม 2557 สำนักสื่อธรรมะ









คลิกอ่านพีซเรฟโวลูชันของวารสารอยู่ในบุญ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมสันติภาพสากล
พลังสมาธิ พลังที่นุ่มนวลที่สุด
Peace Revolution กับพันธกิจพิเศษ ตอน รหัสลับอเล็กซานเดรีย
เมื่อดวงตะวันแห่งอินคาสว่างที่กลางใจชาวเปรู
อริยมรรค..เส้นทางที่รอคอยการค้นพบ
จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนโลกในปี พ.ศ. ๒๕๕๕
พีซเรฟโวลูชัน Peace Revolution ตอนเกาะกลางกาย
ภารกิจสร้างสันติภาพ ในแอฟริกาตะวันออก
ภารกิจสร้างสันติภาพในแอฟริกาตะวันตก
ปฏิบัติการก่อการดี ที่บัลแกเรีย
ก้าวแรก Peace Revolution ในเยอรมัน แดนคนจริง
อีกครั้งในแอฟริกา กับการแสวงหา “สันติสุขภายใน”
ตำรับยารักษาใจ
Peace Architect กับภารกิจออกแบบสันติภาพโลก
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกในเม็กซิโก ดินแดนที่ผู้คนชอบขอพรพระ
ตามไปดู.. ชาวเปรูนั่งสมาธิกัน
สมาธิกับรอยยิ้มบนใบหน้า ที่เย็นชาของชาวรัสเซีย
จอร์เจีย กับสะพานแห่งสันติภาพ
เอกวาดอร์ ดินแดนบนเส้นศูนย์สูตร กับเส้นทางสู่ศูนย์กลางกาย
เมื่อสันติสุขจากโลกออนไลน์ กลายมาเป็นสันติภาพในโลกแห่งความจริง
“ พีซอาร์คิเทค ” ผู้ออกแบบแผนปฏิบัติการเพื่อสรรค์สร้างสันติภาพโลก
หลับตาและหยุดใจ.. สันติภาพที่แท้จริงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
สันติภาพที่ยั่งยืน ต้องเริ่มจากสันติสุขภายใน
ชีวิตคือสิ่งสวยงาม
ความหวังใหม่ ณ ทุ่งหญ้าและผืนทะเลทรายอันกว้างใหญ่แห่งแอฟริกา
อยู่ไกลเหมือนอยู่ใกล้ หากใจเกาะอยู่ที่ศูนย์กลางกาย
ความสุข ณ ศูนย์กลางกาย กลางทวีปอเมริกา
เยาวชนในแอฟริกา ร่วมกันค้นหา “สันติสุขภายใน” เยาวชนในแอฟริกา ร่วมกันค้นหา “สันติสุขภายใน” Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:52 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.