จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมสันติภาพสากล

จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมสันติภาพสากล



นับตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน - ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เยาวชนต่างชาติต่างภาษากว่าร้อยชีวิต และกัลยาณมิตร ลูกพระธัมฯ ทั่วทุกมุมโลกต่างเข้าสู่เว็บไซต์ www.peacerevolution2010.org ซึ่งเป็นโครงการนำร่องน้องใหม่ ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนทั่วโลกเข้ามาสมัครและเรียนรู้หนทาง สันติภาพแนวใหม่ที่มีจุดกำเนิดจากความสุขภายใน โดยบันทึก ความดีผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตเป็นเวลา ๓๐ วัน เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกก็จะมีโอกาสมาศึกษา วิธีการนั่งสมาธิที่ถูกต้อง ที่ประเทศไทย ก่อนจะไปทำหน้าที่เป็นแสงสว่างในประเทศของตน

ในการบันทึกความดีที่เรียกในเว็บไซต์ว่า มิชชันล็อก (Mission Log) นั้นจะต้องบันทึกข้อมูล ๓ ส่วนคือ

๑) ศีล หรือเดลีเรสโซลูชัน (Daily Resolution) ให้กรอกว่าในวันหนึ่งๆ รักษาศีลได้กี่ข้อ
๒) เวลาแห่งสันติสุขภายใน หรืออินเนอร์พีซไทม์ (Inner Peace Time) ให้กรอกผลการปฏิบัติธรรมประจำวัน
๓) ปัญญา หรือเดลีเควสชัน (Daily Question) ให้ตอบคำถามประจำวันที่สอดแทรกธรรมะในพุทธศาสนา

นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมโครงการยังจะต้องปฏิบัติพันธกิจเพื่อสันติภาพ  หรือที่เรียกในเว็บไซต์ว่าสเปเชียล ออปส์ (Special OPs) ซึ่งเป็นการทำหน้าที่กัลยาณมิตรแนะนำสมาธิให้กับท้องถิ่นของตน ซึ่งเป็นเกณฑ์สำคัญอีกข้อหนึ่งที่ทีมงาน ใช้คัดเลือกให้เยาวชนเดินทางมานั่งสมาธิและทำกิจกรรมสัมมนา พีซ เรฟโวลูชันที่ประเทศไทย

ในสัปดาห์แรกของการบันทึกผลการปฏิบัติธรรมออนไลน์พบว่า มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ที่ทำให้มิชชันล็อกมีข้อมูล ที่คาดไม่ถึงมากมาย เช่น สุภาพสตรีรายหนึ่งกล่าวว่า เธอทำสมาธิโดยการนอนราบลงกับพื้นหญ้า แล้วเอามือทั้งสองข้าง ปิดตาทั้งสองของเธอไว้ หรือเยาวชนจำนวนหนึ่งไม่สามารถระลึกถึงความดีของคนรอบข้างได้เลย นอกจากนี้เยาวชนทั้งหมด ยังมีสถิติการรักษาศีล ๕ โดยรวมเฉลี่ยทุกคนที่ ๓.๗ ข้อ แต่เมื่อ พีซโคช อาสาสมัครลูกพระธัมฯ จากทุกที่ทั่วโลก ได้อ่านมิชชันล็อกและสนทนาโต้ตอบกับเยาวชนเหล่านี้แล้ว เยาวชนหลายคนก็เริ่มนั่งสมาธิได้ถูกต้องมากขึ้น เริ่มจับดีคนรอบข้าง รู้จักการให้ และที่น่าสนใจคือในสัปดาห์ที่ ๒ ที่ ๓ และ ๔ สถิติการรักษาศีลโดยเฉลี่ยนั้นเพิ่มจาก ๓.๗ เป็น ๓.๙, ๔.๑ และ ๔.๔ ข้อตามลำดับ

เฟรมมาชวนเพื่อนๆ มานั่งสมาธิร่วมกัน
เยาวชนพีซเรฟโวลูชันร่วมกันปล่อยโคม
แอนิตา นุส นั่งสมาธิกับเพื่อนในวัน Full Moon ที่ประเทศแอฟริกาใต้

ไม่น่าเชื่อว่า แม้เวลาผ่านไปเพียงครึ่งเดือน หลายๆ คนก็สามารถมีผลการปฏิบัติธรรมที่ดีเช่น ลูซ มาเรีย แอมพูเอโร อายุ ๒๗ ปี ชาวเปรู กล่าวในวันที่ ๑๗ ของการร่วมโครงการว่า วันนี้ฉันได้สัมผัสถึงความสุข และความว่างเปล่าที่เกิดขึ้น ภายในตัวอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้รู้สึกว่า ใจของฉันนิ่งกว่าวันก่อนๆ จากที่เคยหลับตาแล้วเห็นแต่ความมืด น่าแปลกที่วันนี้เมื่อฉันหลับตาลง ฉันเห็นแสงสว่าง เหมือนใจของฉันส่องแสงสว่างมากๆ ออกมา ฉันรู้สึกถึงความสุขภายในที่งดงามและท่วมท้น เมื่อเลิกนั่งก็ต้องประหลาดใจอีก เพราะฉันคิดว่าผ่านไปแค่ ๕ นาที แต่นาฬิกาบอกว่าผ่านไป ๓๐ นาทีแล้ว

ซูซานนา เทลโล รายกาดา ชาวเปรู เป็นคุณแม่ของลูซ มาเรีย ได้กล่าวถึงลูซว่า ลูซเป็นเด็กที่น่ารักเสมอ แต่มีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ในบางครั้ง แต่ตอนนี้สมาธิช่วยเธอได้มาก เช่น เมื่อวานนี้ ขณะที่เธอกำลังเข้าเว็บพีซ เรฟโวลูชัน เพื่อส่งข้อมูลสำคัญ เธอทำมาเป็นชั่วโมงๆ เกือบจะเสร็จแล้ว แต่ปรากฏว่าคอมพิวเตอร์หยุดทำงานแล้วรีสตาร์ทเอง ถ้าเป็นลูซคนเดิมคงจะโวยวาย และอยากทำลายคอมพิวเตอร์ทิ้ง แต่ลูซคนใหม่กลับบอกอย่างสงบว่า โอเค เธอจะเริ่มทำใหม่ทั้งหมด ลูกสาวฉันพูดโดยปราศจากความโกรธเคืองใดๆ ทั้งสิ้น ฉันจึงอยากยืนยันว่า สมาธิช่วยเธอได้จริงๆ ฉันได้ติดตามอ่านบันทึกความดีของเธอทีละตัวอักษร และภาคภูมิใจในตัวเธอมาก เธอได้ค้นพบ วิธีที่จะปฏิบัติตามที่ใจ ของเธอเฝ้าหวังจะให้เป็น ฉันดีใจและอยากขอบคุณพีซเรฟโวลูชัน ที่ทำให้เกิดสิ่งดีๆ เหล่านี้


ในอีกซีกโลกหนึ่ง ท่ามกลางความวุ่นวายภายใต้ของสงครามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในทวีปแอฟริกา เฟรดเอมมานูเอล หรือเฟรมมา เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการชาวยูกันดา หลังจากที่เริ่มนั่งสมาธิกับพีซเรฟโวลูชัน ก็เกิดความคิดดีๆ ที่จะนำสมาธิไปสอนในค่ายผู้ลี้ภัยสำหรับชาวคองโกที่ชื่อ นากิเวล และ กิซูลา ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงคัมปาลา ของยูกันดาไปทางตะวันตก ใช้เวลาเดินทางด้วยรถ ๘ ชม. ผู้ลี้ภัยในค่ายทั้งสองต่างก็เต็มไปด้วยความเครียด รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง และผิดหวังในชีวิต ซึ่งในทีแรกผู้คุมค่ายไม่เห็นด้วย และกล่าวว่า ไม่นานมานี้มีการระบาดของอหิวาตกโรค และมีคดีข่มขืนถึง ๑๓ คดี ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไม่น่าจะมีสภาพจิตใจดีพอที่จะเรียนสมาธิ เฟรมมาต้องใช้เวลามากทีเดียว ที่จะอธิบายว่า สมาธิจะดีต่อผู้ลี้ภัยอย่างไร เฟรมมาได้เริ่มแนะนำสมาธิ โดยให้เด็กๆ นึกถึงสิ่งที่พวกตัวเองชอบ ซึ่งหลังจากการนั่งสมาธิพวกเด็กๆ กล่าวว่า นาซิเกีย มวิลี อีนา ปูมูซิกา (Nasikia Mwili Ina Pumuzika) ซึ่งเป็นภาษาสวาฮิลี แปลว่า ร่างกายของพวกฉันสดชื่นขึ้น และยังกล่าวต่ออีกว่า ทูนา ทากา อามานี ซึ่งแปลว่าพวกเขาต่างต้องการสันติภาพจริงๆ

เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกได้เดินทางมาร่วมกันปฏิบัติธรรมในโครงการ The Middle Way รุ่นพิเศษ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑-๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ ณ สวนป่าหิมวันต์ อ.ภูเรือ จ.เลย และมีผลการปฏิบัติธรรมที่ดีตั้งแต่วันแรกๆ เช่น แอนนิตา นุส จากแอฟริกาใต้ อายุ ๒๖ ปี เล่าว่า เมื่อเริ่มนั่งสมาธิ ทำใจผ่อนคลายได้ไม่นาน เธอก็รู้สึกเหมือนมือหายไป ต่อมาแขนหาย และสุดท้ายตัวก็ละลายหายไปด้วย ใจเข้ากลางได้มากขึ้น รู้สึกเหมือนศูนย์กลางกายไม่มีจุดสิ้นสุด ศูนย์กลางกายมีแสงสว่างมากกว่าพระอาทิตย์ แต่ขนาดเล็กเหมือนดวงดาว วันต่อมาดวงดาวนั้นขยายขนาดขึ้นเท่าลูกเทนนิส และตรงกลางนั้นก็มีจุดขนาดเท่าดวงดาวที่สว่างมากกว่าลูกเทนนิสปรากฏขึ้นมาเรื่อยๆ หลังจากนั่งสมาธิ เมื่อแอนนิตาลืมตาขึ้นมา ก็ปรากฏว่าแสงสว่างยังอยู่ที่ตัวและยังรู้สึกโล่งโปร่งสบายตลอด แอนนิตาคิดว่าการทำสมาธิ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดและสำคัญที่สุดที่ต้องทำในชีวิต และอยากเชิญชวนเยาวชนทั่วโลกได้มาเข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

หลังจากความประทับใจที่ได้มาร่วมงานมาฆบูชาที่วัดพระธรรมกาย ได้เข้ากราบพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย และพระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตชีโว เยาวชนพีซเรฟโวลูชันต่างก็มีแรงบันดาลใจที่จะสานฝัน สร้างวัฒนธรรมสันติภาพสากล ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นของตนจากการทำสมาธิ ตัวอย่างเช่น เฟรมมา ก็ไม่ลืมที่จะนำวิธีการฝึกสมาธิที่ได้ เรียนมากลับไปสอนผู้ลี้ภัย ในประเทศของตนทันทีเมื่อกลับไปถึง นอกจากนั้น เยาวชนทั้งหมดยังได้ริเริ่มไอเดียดีๆ ที่จะนั่งสมาธิในวันพระจันทร์เต็มดวง (Peace Revolution Full Moon Live Meditation) ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตไปพร้อมๆ กันทั่วโลกเมื่อวันพุธที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๒ และเลือกเวลาที่เหมาะสมกันทั่วโลก คือ ๑๒.๐๐ GMT ซึ่งตรงกับเวลาเมืองไทยหนึ่งทุ่มตรง นั่งพร้อมกัน ๑ ชั่วโมงเต็ม ปรากฏว่าได้กระแสตอบรับการถ่ายทอดสด มานั่งสมาธิร่วมกันครั้งนี้ถึง ๒๐ คอนเน็กชัน จำนวน ๑๒ ประเทศทั่วโลก ประมาณ ๓๕ คน ตามคำมั่นสัญญาที่เยาวชนพีซเรฟโวลูชันได้ให้ต่อกันระหว่างที่มาเยือนเมืองไทยว่า แม้ตัวจะห่างไกล แต่ใจก็จะขอมาตั้งอยู่ที่ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ร่วมกัน

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งดีๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในโลกใบนี้จากโครงการนำร่องพีซเรฟโวลูชัน และในปีนี้โครงการพีซเรฟโวลูชันตัวจริงกำลังจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น กับระดับศีลธรรมของชาวโลก และร่วมสานฝัน สรรค์สร้างวัฒนธรรมสันติภาพสากลให้เป็นประวัติศาสตร์ฝากไว้บนโลกใบนี้

อ้างอิง : ทีมงานพีซเรฟโวลูชัน     
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๗๗ ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒




คลิกอ่านพีซเรฟโวลูชันของวารสารอยู่ในบุญ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
พลังสมาธิ พลังที่นุ่มนวลที่สุด
Peace Revolution กับพันธกิจพิเศษ ตอน รหัสลับอเล็กซานเดรีย
เมื่อดวงตะวันแห่งอินคาสว่างที่กลางใจชาวเปรู
อริยมรรค..เส้นทางที่รอคอยการค้นพบ
จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนโลกในปี พ.ศ. ๒๕๕๕
พีซเรฟโวลูชัน Peace Revolution ตอนเกาะกลางกาย
ภารกิจสร้างสันติภาพ ในแอฟริกาตะวันออก
ภารกิจสร้างสันติภาพในแอฟริกาตะวันตก
ปฏิบัติการก่อการดี ที่บัลแกเรีย
ก้าวแรก Peace Revolution ในเยอรมัน แดนคนจริง
เยาวชนในแอฟริกา ร่วมกันค้นหา “สันติสุขภายใน”
อีกครั้งในแอฟริกา กับการแสวงหา “สันติสุขภายใน”
ตำรับยารักษาใจ
Peace Architect กับภารกิจออกแบบสันติภาพโลก
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกในเม็กซิโก ดินแดนที่ผู้คนชอบขอพรพระ
ตามไปดู.. ชาวเปรูนั่งสมาธิกัน
สมาธิกับรอยยิ้มบนใบหน้า ที่เย็นชาของชาวรัสเซีย
จอร์เจีย กับสะพานแห่งสันติภาพ
เอกวาดอร์ ดินแดนบนเส้นศูนย์สูตร กับเส้นทางสู่ศูนย์กลางกาย
เมื่อสันติสุขจากโลกออนไลน์ กลายมาเป็นสันติภาพในโลกแห่งความจริง
“ พีซอาร์คิเทค ” ผู้ออกแบบแผนปฏิบัติการเพื่อสรรค์สร้างสันติภาพโลก
หลับตาและหยุดใจ.. สันติภาพที่แท้จริงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
สันติภาพที่ยั่งยืน ต้องเริ่มจากสันติสุขภายใน
ชีวิตคือสิ่งสวยงาม
ความหวังใหม่ ณ ทุ่งหญ้าและผืนทะเลทรายอันกว้างใหญ่แห่งแอฟริกา
อยู่ไกลเหมือนอยู่ใกล้ หากใจเกาะอยู่ที่ศูนย์กลางกาย
ความสุข ณ ศูนย์กลางกาย กลางทวีปอเมริกา
จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมสันติภาพสากล จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมสันติภาพสากล Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:47 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.